เสขิยธรรม -
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

สงครามที่ไม่มีวันชนะ
โดย พระไพศาล วิสาโล

คอลัมน์ มองอย่างพุทธ มติชนรายวัน วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๑๑๖
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01bud01230246&show=1&sectionid=0121&day=2003/02/23

          ถ้าหากว่าพวกค้ายาบ้าถูกสังหารไปสัก ๓๐,๐๐๐ คน แล้วทำให้คนทั้งประเทศอยู่เย็นเป็นสุขอย่างที่หลายคนเชื่อกัน ผู้ที่คัดค้านนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลเวลานี้ ก็สมควรทำใจปล่อยวางหรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่สักพัก แล้วทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง

          แต่จริงหรือที่ว่าการสังหารพวกค้ายาบ้า ๓๐,๐๐๐ คน (หากทำได้จริง) จะทำให้บ้านเมืองปลอดพ้นจากยาเสพติด แน่ใจอย่างไรว่า จะไม่มีผู้ค้ายาบ้ากลุ่มใหม่ผุดขึ้นมาอีกนับพันนับหมื่นคน ในเมื่อตัวการระดับสูงนั้นยังลอยนวลอยู่ถ้วนหน้า

          ลิดใบไม้นับหมื่นนับแสนใบ ก็ไม่มีทางทำให้ต้นไม้ใหญ่ตายได้ ตราบใดที่รากยังอยู่ครบ ไม่นานใบไม้ก็จะผลิขึ้นเต็มต้นเหมือนเดิม ถึงแม้จะพยายามลิดใบใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ก็จะไม่มีวันลิดหมด เพราะพรุ่งนี้มะรืนนี้ใบก็จะผลิขึ้นมาใหม่ สุดท้ายก็คงต้องเลิกลิด และปล่อยให้ต้นไม้เติบใหญ่ไปตามครรลองของมัน

          สงครามกับยาเสพติดนั้นเริ่มต้นด้วยกำหนด ๓ เดือน แต่ถ้าทำด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า มิใช่แค่หาเสียง ในที่สุดอาจลงท้ายกลายเป็นสงครามเวียดนามที่ยืดเยื้อนานถึง ๓๐ ปี สุดท้ายผู้ประกาศสงครามก็ต้องถอนตัวไปเองอย่างบอบซ้ำโดยไร้ชัยชนะ

          การใช้ความรุนแรงต่อสู้กับยาเสพติดนั้นถ้าจะได้ผลจริง ต้องจัดการกับ "ราก" ของขบวนการ มิใช่เอาแต่คอยเด็ด "ใบไม้" ที่พร้อมจะหลุดร่วงจากต้นอยู่แล้ว ผู้ที่สนับสนุนสงครามต่อต้านยาเสพติดของรัฐบาล ไม่ควรยินดีปรีดาจนกว่าตัวการเบื้องหลังขบวนการนี้จะถูกจัดการอย่างเด็ดขาด คนเหล่านี้มิได้หายากหาเย็นเลย หลายคนมีชื่อเสียงในแวดวงการเมือง ราชการ และธุรกิจ ที่เคารพนบไหว้ท่านนายกฯ อยู่บ่อย ๆ ก็คงมีไม่น้อย อย่าว่าแต่ ป.ป.ส.ของไทยเลย ป.ป.ส.ของอเมริกาก็คงมีรายชื่อของคนเหล่านี้พร้อมมูล

          แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว มีความเป็นไปได้สักเพียงใด ที่ตัวการเหล่านี้จะมีชะตากรรมเหมือนผู้ค้ายาบ้ารายเล็กรายน้อย ที่ถูกยิงทิ้งกลางถนน (แค่ถูกจับกุมก็เป็นเรื่องยากเสียแล้ว)

          ที่พูดมาทั้งหมดนี้มิได้สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับใครทั้งนั้น แต่ต้องการบอกว่าความรุนแรงหรือการฆ่านั้นไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้ เพราะถึงที่สุดแล้ว ตัวการใหญ่เบื้องหลังขบวนการค้ายาเสพติดระดับประเทศก็ยังลอยนวลอยู่ดี มาตรการเด็ดขาดรุนแรงของรัฐบาลไหน ๆ (แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา) ไม่มีวันกระทบไปถึงคนระดับนี้ได้เลย ไม่ว่าจะใช้ความรุนแรงแค่ไหน มีแต่ใบกับกิ่งเท่านั้นที่ถูกลิด ส่วนรากนั้นห่างไกลจากคมขวานเสมอ

          ไม่มีที่ไหนในโลกที่ความรุนแรงหรือการใช้กำลังสามารถจัดการกับยาเสพติดได้ แต่ละปีสหรัฐทุ่มเงินปีละ ๓๕,๐๐๐ ล้านเหรียญ หรือเกือบ ๑.๕ ล้านล้านบาทเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด โดย ๓ ใน ๔ ของเงินจำนวนนี้ใช้ไปกับการไล่ล่าจับกุมและลงโทษผู้ค้ากับผู้เสพยา แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าปัญหานี้จะลดลงเลย

          อย่าว่าแต่ยาเสพติดเลย แม้แต่สุรายาเมา การใช้กำลังก็ไม่สามารถเอาชนะได้ เมื่อ ๘๐ ปีก่อน สหรัฐเคยประกาศสงครามกับสุรา สั่งห้ามขายทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่และงบประมาณจำนวนมหาศาลถูกนำมาใช้ปราบปรามผู้ผลิตและผู้ค้าอย่างขนานใหญ่ ไม่ต่างจากที่ทำกับยาเสพติดเวลานี้ แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกนโยบายดังกล่าว หลังจากปราบหนัก ๑๒ ปี (พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๗๖) รัฐบาลสหรัฐก็ต้องยอมให้ค้าสุราได้ โดยใช้มาตรการควบคุมแทนการปราบปราม

          สหภาพโซเวียตก็เคยมีนโยบายคล้าย ๆ กัน ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจมหาศาล แต่ก็ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปราบปรามสุรายาเมา ในที่สุดก็ต้องเปิดให้มีการค้าสุราภายใต้การควบคุมของรัฐเช่นกัน

          สหภาพโซเวียตและอีกหลายประเทศไม่ยอมเรียนรู้จากประสบการณ์ของสหรัฐว่า การใช้ความรุนแรงในการประกาศสงครามกับสิ่งเสพติดนั้น นอกจากจะไม่สามารถหยุดยั้งสิ่งเสพติดได้แล้ว ยังก่อผลร้ายแรงตามมาอีกมากมาย อาทิ การเติบใหญ่ของเครือข่ายอาชญากรรมและมาเฟีย (หนึ่งในนั้นคือเจ้าพ่ออัลคาโบ่น) การคอร์รัปชั่นแพร่ระบาดในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจและนักการเมือง ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการสังหารโหดตามท้องถนนเพราะแย่งชิงผลประโยชน์และเพื่อสร้างผลงาน แน่นอนว่าผู้ตายมีทั้งอาชญากรและผู้บริสุทธิ์

          ใช่หรือไม่ว่าปรากฏการณ์ข้างต้นก็กำลังเกิดขึ้นกับเมืองไทยเช่นกัน ยิ่งปราบหนักมากเท่าไหร่ ยาเสพติดยิ่งมีราคาแพง ยาเสพติดราคาแพงมากเท่าไหร่ ยิ่งให้กำไรงาม และจูงใจให้ผู้อิทธิพลเข้ามาหากินในทางนี้มากขึ้น ตามมาด้วยการติดสินบนเจ้าหน้าที่และนักการเมืองในทุกระดับ "ยิ่งเสี่ยง ผลตอบแทนยิ่งสูง" (high risk, high return) คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้คอร์รัปชั่นแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ ระบบยุติธรรมที่บิดเบี้ยวล้มเหลว และการทำร้ายผู้บริสุทธิ์

          สงครามปราบยาเสพติดกับการคอร์รัปชั่นนั้นเป็น ๒ ด้านของเหรียญเดียวกัน ยิ่งทำสงครามกับยาเสพติดมากเท่าไหร่ การคอร์รัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่ก็ยิ่งสูง ในประเทศเม็กซิโก มีผู้ประมาณว่าในบรรดาเจ้าหน้าที่ที่ปราบปรามยาเสพติดนั้น มีอย่างน้อยร้อยละ ๒๐ ที่รับเงินจากขบวนการค้ายา (แต่คนในของขบวนการดังกล่าวที่ถูกจับได้บอกว่า ตัวเลขสูงถึงร้อยละ ๘๐) คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยรับเงินไม่ใช่เพราะความโลภ แต่เพราะต้องเลือกระหว่างเงินกับลูกปืน ในเมืองไทยหากมีการทำวิจัยเรื่องนี้อาจได้ข้อสรุปที่น่าตกใจ

          ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ขณะที่ประกาศสงครามกับยาเสพติด ทำให้มีเจ้าหน้าที่ต้องพัวพันกับขบวนการค้ายามากขึ้น แต่แล้วเจ้าหน้าที่เหล่านี้เองกลับได้รับอำนาจมากขึ้นเพื่อปราบปรามยาเสพติด อะไรจะเกิดขึ้น ในเมื่อต้องมีผลงานเสนอผู้บังคับบัญชาให้ได้มากๆ ประชาชนจะคาดหวังความสำเร็จได้อย่างไร และผู้บริสุทธิ์จะรอดพ้นจากการเป็นแพะสังเวยนโยบายนี้ได้มากน้อยเพียงใด

          ความรุนแรงนั้นดูเหมือนให้ผลรวดเร็ว แต่เป็นผลที่ฉาบฉวย หากก่อผลเสียที่ลึกซึ้งและร้ายแรง มันให้ความสะใจแก่ผู้ดู แต่ก่อความทุกข์ทรมานแก่ผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นแพะ แน่นอนว่ายาเสพติดนั้นมีโทษมหันต์ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าความรุนแรงนั้นก็มีอันตรายเช่นกัน แม้จะใช้เพื่อจุดมุ่งหมายที่ดีก็ตาม ขณะที่เราตั้งคำถามต่อผู้ที่ท้วงติงนโยบายปราบปรามเฉียบขาดของรัฐบาลว่า "คุณจะรู้สึกอย่างไร หากญาติพี่น้องของคุณติดยา" เราก็ควรถามตัวเองด้วยว่า "ฉันจะรู้สึกอย่างไร หากญาติพี่น้องหรือตัวฉันเองตกเป็นแพะ" ติดยานั้นยังอาจมีทางรักษาให้กลับคืนเป็นปกติได้ แต่ถ้าถูกสังหารเสียแล้ว ใครเล่าจะเอาชีวิตกลับคืนมาได้ แม้ความบริสุทธิ์จะเปิดเผยในเวลาต่อมาก็ตาม

          เราควรช่วยกันเรียกร้องรัฐบาล ให้มีมาตรการป้องกันมิให้ผู้บริสุทธิ์ต้องกลายเป็นแพะจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ เช่น จัดตั้งหน่วยงานพิเศษให้ราษฎรเข้ามาร้องทุกข์ได้อย่างสะดวกและมั่นใจ หรือสนับสนุนให้มีหน่วยงานอิสระทำหน้าที่นี้ (ยิ่งรัฐบาลมั่นใจในความรัดกุมรอบคอบของตน ยิ่งไม่มีอะไรต้องกลัวหากจะตั้งหน่วยงานดังกล่าวขึ้นมา) แต่เท่านั้นยังไม่พอ เราควรต้องตั้งคำถามกับตัวเองและกับรัฐบาลด้วยว่า การใช้ความรุนแรงในการปราบปรามยาเสพติดนั้นให้ผลจริงหรือ แน่ใจได้อย่างไรว่ายารักษาโรคนั้นมีอันตรายน้อยกว่าตัวโรค

          การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องที่ต้องใช้สติปัญญามาก เพราะเกี่ยวกันกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและการศึกษาอย่างแนบแน่นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่คนซึ่งพัวพันกับยาเสพติดก็ขึ้นไปมีอำนาจในโครงสร้างดังกล่าวมากขึ้นเช่นกัน ความรุนแรงนั้นแก้ปัญหาโครงสร้างไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ยากที่จะจัดการกับมิจฉาชีพที่มีอำนาจในโครงสร้างได้อย่างเด็ดขาด การแก้ปัญหายาเสพติดนั้น ต้องอาศัยการคิดใหม่ ทำใหม่ มิใช่เดินตามความล้มเหลวของสหรัฐ ซึ่งมุ่งลดจำนวนผู้ผลิตและผู้ค้า (supply) ด้วยการปราบปรามอย่างหนัก แทนที่จะเน้นการลดจำนวนผู้เสพ (demand) โดยใช้วิธีป้องกันและบำบัดควบคู่กับการสร้างภูมิคุ้มกันทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน บทเรียนจากหลายประเทศซึ่งกำลังคิดใหม่ทำใหม่โดยใช้วิธีการหลัง (รวมทั้งยุโรปซึ่งหันมาเน้นการควบคุมยาเสพติดมากกว่าการปราบปราม) น่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าความรุนแรงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

          วิธีการแก้ปัญหายาเสพติดโดยไม่ถือเอาความรุนแรงเป็นสรณะนั้น มีอยู่ แต่เราจะยอมเปิดใจศึกษาและช่วยกันทุ่มเทเพื่อให้เกิดผลจริงจังหรือไม่ เป็นคำถามที่ขอฝากให้คนไทยทั้งหลายช่วยกันตอบ .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :