เสขิยธรรม -
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
ประเพณีการถวายสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์

พระมหาสุวิทย์  ธัมมสิริ
ที่มา : http://www.geocities.com/staliban45/document/samasak.htm

 

บทนำ

            ในภาคอีสานมีประเพณีการถวายสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์  เรียกว่า การรดสรง (ภาษาพื้นบ้านฮดสง) ซึงประเพณีเก่าแก่มาแต่โบราณ แต่ได้ถูกยกเลิกในสมัยการปฏิวัติการศึกษาและวัฒนธรรมจากภาคกลาง แต่ในปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่แต่ไม่เป็นทางราชการ  แม้ว่าทางราชการจะไม่รับรอง แต่ประเพณีนี้ยังมีอยู่ทั่วไป ในเขตภาคอีสานเหนือ อีสานกลาง

มูลเหตุของการรดสรง

            เมื่อพระภิกษุบวชมาแล้ว ย่อมต้องมีการเรียนรู้ปฏิบัติในพระธรรมวินัย สมควรแก่ความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวบ้าน สำหรับการศึกษานั้น ในสมัยโบราณแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ

            ขั้นต้น  ขั้นกลาง และขั้นปลาย มีรายละเอียดดังนี้ [๑]

 ขั้นต้น

            พระภิกษุต้องเรียนและศึกษา ดังต่อไปนี้

            ๑. สูตรมนต์น้อย   คือตั้งมงคลน้อย ได้แก่ เจ็ดตำนาน สูตรมนต์หลวง  คือ ๑๒ ตำนาน ไชยน้อย ไชยใหญ่ต้องจบบริบูรณ์ 

            ๒. สูตรมนต์กลาง คือ ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร  มหาสมยสูตร  อาทิตยปริยายสูตร  อนัตตลักขณสูตร  มาติกา  สวดแจง  อภิธรรมเจ็ดคัมภีร์  พระวินัย พระสูตร

            ๓. สูตรมนต์ปลาย คือ สัททา (บาลีมูลกัจจายนะสูตร อภิธรรมสังคหะ บาลี ปาฏิโมกข์บาลี)

 ขั้นกลาง

            ๑. สูตรมูลกัจจายนะ เริ่มจากสมัญญาภิธาน

            ๒. แปลคัมภีร์อรรถกถาบาลีทั้ง ๕ คือ อรรถกถาวินัย อาทิกรรม อรรถกถาปาจิตตีย์ อรรถกถาจุลวรรค

            ๓. อรรถกถาธรรมบท ๘ ภาค

ขั้นปลาย

            ๑. ทศชาติชาดก

            ๒. มังคลัตถทีปนี

            ๓. อรรถกถาวิสุทธิมรรค

            ๔. อรรถกถาอภิธัมมัตถสังคหะ

ผู้สำเร็จการศึกษาในแต่ละขั้นจะได้รับการรดสรงยกย่อง ได้รับสมณศักดิ์ดังนี้

ฝ่ายปริยัติ  มี  ๔ ขั้น คือ

            ๑. สำเร็จ (มาจากการสำเร็จในการเรียน  ผู้เขียน)

            ๒. ซา (มาจากคำว่า ปริญญา ซึ่งหมายถึงปรีชาได้แก่ความรู้)

            ๓. คู (น่าจะมาจาก ครู  แต่อีสานไม่ออกเสียง ร) [๒]

            ๔. ราชคู (ได้มีโอกาสเข้าไปสอนพระมหากษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ในวัง จะได้รับการยกย่องว่า ราชครู )

ฝ่ายบริหาร มี ๔ ขั้น คือ

            ๕. คูฝ่าย (ไม่ทราบที่มา)

            ๖. คูต้าน (ครูท่าน ผู้เขียน)

            ๗. คูหลักคำ

            ๘. คูลูกแก้ว

            ๙. คูยอดแก้ว (สมเด็จพระสังฆราช)

 

วิธีการทดสอบและแต่งตั้ง

            เมื่อพระภิกษุสามเณรเรียนจบ และครูอาจารย์ทดสอบจนพอใจ ว่ามีความรู้ความสามารถก็จะแต่งตั้งให้เป็นตามขั้นตอนลำดับไป  โดยเริ่มจากขั้นที่ ๑ ที่เรียกว่า สำเร็จ  ถ้าเป็นพระภิกษุจะเรียกว่า เจ้าหัวสำเร็จ  เป็นสามเณรเรียกว่า จัวสำเร็จ  เป็นฆราวาสเรียกตามชื่อแต่มีคำว่าสำเร็จไว้ชื่อ  เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้วก็จะเรียนต่อไปในขั้นสูงๆ ต่อไปอีก

 เครื่องประกอบในพิธีการถวาย

            ๑. บริขารที่สำคัญ คือ ผ้านุ่ง (สบง) ผ้าครอง (จีวร) ผ้าห่ม (สังฆาฎิ) บาตร  มีดโกน ประคตเอว กล่องเข็ม  ผ้ากรองน้ำ (เรียกว่า ธรรมกรก, อ่านว่า ทำ-มะ-ก-รก)

            ๒. ตาลปัตร  รูปใบโพธิ์ปักด้วยเส้นไหม  ในสมัยก่อนผ้าดิ้นเงินดิ้นทองหายาก

            ๓. หลาบเงิน ไม้เท้าเหล็ก ที่นอน เตียงนอน (ภาษาอีสานเรียกว่า กองเม็ง)

สำหรับหลาบนั้น คือ แผ่นแร่เงินแท้ๆ มาตีเป็นแผ่นบางๆ กว้าง ๑ นิ้ว หนาประมาณครึ่งเซ็นติเมตร ใช้เป็นบริขารประกอบ โดยจารึกชื่อลงไป [๓]   มี ๓ ระดับ ดังคำพังเพยอีสานว่า

            “สำเร็จเพียงตา ซาเพียงหู คูฮอบง่อน”   มีคำอธิบายดังนี้

            ๑. ถวายชั้นสำเร็จ ตีแผ่นเงินกว้าง ๑ นิ้ว หนา ครึ่งเซ็นติเมตร โดยวัดความยาวจากคางถึงตา  ดังนั้นจึงเรียกว่า สำเร็จเพียงตา

            ๒. ซาเพียงหู ตีแผ่นเงินกว้าง ๑ นิ้ว หนา ครึ่งเซ็นติเมตร โดยวัดความยาวจากหูซ้ายผ่านท้ายทอยไปถึงหูขวา   ดังนั้นจึงเรียกว่า ซาเพียงหู   และมีสามระดับ คือ  ซา ๑ หลาบ, ซา ๒ หลาบ, ซา ๓ หลาบ

            ๓. คูฮอบง่อน ตีแผ่นเงินกว้าง ๑ นี้ว หนา ครึ่งเซ็นติเมตร  โดยวัดความยาวเวียนศรีษะ จาก ท้ายทอย (ภาษาอีสานเรียก ง่อนต่อ) จากทางซ้ายถึงขวา 

            ในปัจจุบันพิธีการแบบนี้ได้หายไปจากภาคอีสานแล้ว ในสมัยการปฏิรูปการศึกษาแบบตะวันตก พร้อมกับการศึกษาพระปริยัติธรรมนักธรรมบาลีแบบกรุงเทพฯ เข้ามาแทน แต่การถวายสมณศักดิ์แบบชาวบ้านนี้ เหลือเพียง ๒ ชั้นคือ ยาคูและยาซา เท่านั้น พร้อมๆ กันอิทธิพลของระบอบสมณศักดิ์สมัยใหม่ได้เข้ามาแทนที่ สมณศักดิ์ไม่ได้วัดการกันการการศึกษาหรือการปฏิบัติแต่ดูที่ว่าโบสถ์ วิหาร หรือเสนาสนะของวัดไหนจะใหญ่กว่ากัน 

เปรียบเทียบการศึกษาเพื่อถวายสมณศักดิ์แบบอีสานและแบบกรุงเทพฯ

อีสาน

กรุงเทพ (เรียนบาลี)

เรียกว่า

ขั้นต้น

๑. สูตรมนต์น้อย   คือตั้งมงคลน้อย ได้แก่ เจ็ดตำนาน สูตรมนต์หลวง  คือ ๑๒ ตำนาน ไชยน้อย ไชยใหญ่ต้องจบบริบูรณ์ 

๒. สูตรมนต์กลาง คือ ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร  มหาสมยสูตร  อาทิตยปริยายสูตร  อนัตตลักขณสูตร  มาติกา  สวดแจง  อภิธรรมเจ็ดคัมภีร์  พระวินัย พระสูตร

๓. สูตรมนต์ปลาย คือ สัททา (บาลีมูลกัจจายนะสูตร อภิธรรมสังคหะ บาลี ปาฏิโมกข์บาลี)

ขั้นต้น (เปรียญตรี)

ประโยค ๑-๒ 

  • ไวยากรณ์ (แบบย่อและท่องจำ)
  • ธรรมบทภาคที่ ๑-๔

ประโยค ป.ธ.๓

  •  ๑.ไวยากรณ์แบบความเข้าใจ
  •   ๒.ธรรมบทภาคที่ ๕-๘
  •   ๓. วากยสัมพันธ์ (อธิบายรูปประโยคแต่ละประโยค หน้าที่ของศัพท์ และความสัมพันธ์กับคำอื่นๆ
  •   ๔.การเขียนจดหมายราชการ

สอบได้ประโยค ๑-๒ ไม่เรียกว่า มหา สอบได้ประโยค ๓ จึงเรียกว่า มหา ถ้าเป็นพระภิกษุเรียกว่า พระมหา

ถ้าเป็นสามเณร ใช้คำว่า เปรียญต่อท้ายชื่อและนามสกุล

ถ้าได้รับสมณศักดิ์ ขั้นต่ำจะได้เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี

ขั้นกลาง

 ๑. สูตรมูลกัจจายนะ เริ่มจากสมัญญาภิธาน

 ๒. แปลคัมภีร์อรรถกถาบาลีทั้ง ๕ คือ อรรถกถาวินัย อาทิกรรม อรรถกถาปาจิตตีย์ อรรถกถาจุลวรรค

 ๓. อรรถกถาธรรมบท ๘ ภาค

ประโยค ป.ธ.๔ (เปรียญโท)

  • ๑. แปลภาษาไทยเป็นภาษาบาลี (ธรรมบทภาคที่ ๑)
  • ๒. แปลบาลีเป็นไทย (มงคลัตถทีปนี ภาคที่ ๑)

ประโยค ป.ธ.๕

  • ๑. แปลภาษาไทยเป็นบาลี (ธรรมบทภาค ๒-๔)
  • ๒. แปลบาลีเป็นไทย (มงคลัตถทีปนีภาคที่ ๒)

ประโยค ป.ธ.๖

  • ๑. แปลไทยเป็นบาลี (ธรรมบทภาคที่ ๕-๘)
  • ๒. แปลอรรถกถาพระวินัย มหาวรรค จุลวรรค ปริวาร

ประโยค ป.ธ.๔ ถ้าได้รับสมณศักดิ์ขั้นต่ำสุด พระครูสัญญาบัตรชั้นโท

ประโยค ป.ธ.๕ ถ้าได้รับสมณศักดิ์ ขั้นต่ำสุด คือ พระครูสัญญาบัตร ชั้นเอก

ประโยค ป.ธ.๖ ถ้าได้รับสมณศักดิ์จะได้ขั้นต่ำสุด คือ พระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ หรือบางครั้ง อาจจะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ

ขั้นปลาย

 ๑. ทศชาติชาดก

 ๒. มังลัตถทีปนี

 ๓. อรรถกถาวิสุทธิมรรค

 ๔. อรรถกถาอภิธัมมัตถสังคหะ

ประโยค ป.ธ.๗ (เปรียญเอก)

  • ๑. แปลไทยเป็นบาลี (มงคลัตทีปนี ภาคที่ ๑)
  • ๒. แปลบาลีเป็นไทย (อรรถกถาพระวินัย มหาวิภังค์)

ประโยค ป.ธ.๘

  • ๑. แปลไทยเป็นมคธ (อรรถกถาพระวินัย มหาวิภังค์)
  • ๒. แปลมคธเป็นไทย (วิสุทธิมรรค)
  • ๓. แต่งฉันทลักษณะ บาลี

ประโยค ป.ธ.๙

  • ๑. แปลไทยเป็นมคธ (วิสุทธิมรรค)
  • ๒. แปลมคธเป็นไทย (อภิธัมมัตถสังคหะ)
  • ๓. แต่งไทยเป็นมคธ

ตั้งแต่ประโยค ป.ธ.๗ ขึ้นไป ถ้าได้รับสมณศักดิ์ จะได้รับขั้นต่ำสุด คือ พระราชาคณะชั้นสามัญ

กฎนี้ไม่ตายตัว เพราะในการพิจารณาจริงๆ อาจจะมีข้อปลีกย่อยเข้ามาอีก  เช่น มีปริญญาบัตร หรือผลงานด้านอื่นๆ เช่นเผยแผ่ การศึกษา ก่อสร้าง สาธารณสงเคราะห์  ฯลฯ และต้องมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไปและต้องมีตำแหน่งปกครองอย่างต่ำคือ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ๒ ข้อสุดท้ายนี้สำคัญมาก

 

สมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ นครเชียงตุง [๔]

๑. สมเด็จพระอาชญาธรรม

สงฆ์ผู้ทรงอำนาจตามธรรมวินัย  และเป็นใหญ่ที่สุดในหมู่คณะสงฆ์ เป็นผู้มีอายุ ๗๐ และมีพรรษา ๕๐ ขึ้นไป

๒. พระครูบา

สงฆ์ผู้ทรงวัยวุฒิ  คุณวุฒิ และเป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ เป็นผู้มีอายุ ๔๐ มีพรรษา ๒๐ ขึ้นไป

๓. พระสวามี

สงฆ์ผู้ทรงวัยวุฒิ  คุณวุฒิ และศีล สมาธิ ปัญญา  เป็นผู้มีอายุ ๓๕ มีพรรษา ๑๕ ขึ้นไป

. พระสวาทิ 

สงฆ์ผู้ทรงศีล สมาธิ ปัญญา เป็นผู้มีอายุ ๓๐ พรรษา และมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป

          ทั้งนี้ การถวายสมณศักดิ์จะอยู่ในดุลยพินิจของคณะสงฆ์นครเชียงตุง ซึ่งในบางกรณี อาจมีการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษเพื่อความเหมาะสม

อธิบายศัพท์เฉพาะ

จัว (ภาษาอีสาน)

หมายถึง สามเณร

ประโยค ป.ธ.

เป็นคำเรียกชั้นในการเรียนบาลี

ป.ธ.

เป็นคำใช้เรียกวุฒิเปรียญธรรมที่สอบได้  เช่น พระมหาวีรศักดิ์ ป.ธ. ๙ หมายความว่า พระมหาวีรศักดิ์ สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค


[๑] วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา  จังหวัดร้อยเอ็ด โรงพิมพ์คุรุสภา กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๔๒

[๒] ผู้เขีนเคยเห็นประเพณีในภาคอีสานปัจจุบัน มีพิธีรดสรงเพียง สองขั้น คือ  ยาซา  และยาคู 

[๓] ในสมัยปัจจุบัน มีการจารึกชื่อแบบนี้ ถวายพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ เรียกว่า หิรัญญบัตร (แต่ทางการเขียนเป็น หิรันยบัตร)

[๔] ข้อมูลจากหนังสือ เขมรัฐนครเชียงตุง พิมพ์ในงานถวายมุทิตาสักการะฉลองสมณศักดิ์ สมเด็จพระอาชญาธรรมเนครเชียงตุ ง องค์ที่ ๑๔ พ.ศ. ๒5๔๑  โรงพิมพ์ดาวคอมพิวกราฟฟิค   เชียงใหม่

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :