เสขิยธรรม -
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

พาสปอร์ตพระ: ทำไมถึงได้กันยากนัก?
โดย เมตฺตานนฺโท ภิกขุ

มติชนรายวัน วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ หน้า ๗
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01act04250246&show=1&sectionid=0130&day=2003/02/25

 

          ประเทศไทยมีพระภิกษุสามเณรกว่า ๓ แสนรูป แต่ในขณะนี้พระภิกษุสามเณรชาวไทยทั้งประเทศ กำลังได้รับความยากลำบากอย่างมากในการทำหนังสือเดินทาง เนื่องจากถูกระเบียบการเดินทางของพระภิกษุสามเณร กำหนดได้ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย กินเวลาหลายสัปดาห์หรือบางแห่งหลายเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าพระภิกษุรูปนั้น รู้จักและเป็นที่ชอบพอของพระผู้ใหญ่ ที่ทำหน้าที่ควบคุมการออกหนังสือเดินทางมากน้อยเพียงใด หากมิรู้จักผู้ใดหรือที่ร้ายกว่านั้นคือ เป็นที่ไม่โปรดปรานของพระผู้ใหญ่บางท่านแล้ว การยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากเจ้าหน้าที่กองหนังสือเดินทางของกองการกงสุลจะไม่นำพาคำร้องขอทำหนังสือเดินทางของพระภิกษุ หากปราศจากเอกสารรับรองจากกรมการศาสนา โดยที่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทนิกายอื่น เช่น ศรีลังกา เมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกัมพูชา มิได้มีเลือกปฏิบัติต่อพระภิกษุในลักษณะนี้เลย

          ในขณะเดียวกันนักบวชชายและหญิงในคริสต์ศาสนา และโต๊ะครูในศาสนาอิสลาม สามารถยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง ณ สำนักงานสาขาต่าง ๆ ของกองการกงสุลได้โดยตรง พร้อมด้วยค่าธรรมเนียมอีกหนึ่งพันบาทและบัตรประจำตัวประชาชน ก็สามารถรับหนังสือเดินทางตามต้องการได้โดยสะดวก ใช้เวลาไม่เกิน ๒ วันทำการของระบบราชการไทย ความสะดวกเหล่านี้เนื่องจากระบบตรวจสอบ ผ่านศูนย์ข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งสามารถตรวจสอบประวัติของประชาชนไทยได้อย่างรวดเร็ว

          เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่ อานิสงส์แห่งการเป็นประชาชนไทยนั้น หาได้ตกลงมาถึงพระภิกษุสามเณรที่เกิดเป็นคนไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ ในทางปฏิบัติพระภิกษุสามเณรซึ่งมีจำนวนกว่า ๓ แสนรูป มีฐานะเท่ากับประชาชนชั้นสองในแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชาชนนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาหลายร้อยปี (แม้จะไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญก็ตาม) การเลือกปฏิบัติต่อพระภิกษุสามเณรในการขอรับหนังสือเดินทางนี้ มิได้มีข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎกหรือพระธรรมวินัยข้อใดข้อหนึ่งรับรองอยู่เลย

 

ขั้นตอนการขอหนังสือเดินทางของพระภิกษุ

          กฎระเบียบว่าด้วยการเดินทางไปต่างประเทศของมหาเถรสมาคมนี้ กำหนดแนวทางการขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุและสามเณรไว้สองกรณีด้วยกัน คือ ในกรณีที่กิจที่จำเป็นในการเดินทางนั้นเป็นกิจส่วนตัว เช่น การไปแสวงบุญในประเทศอินเดีย การไปศึกษาต่อ หรือการไปงานกุศลในวัดไทยในต่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้ผ่านคณะกรรมการศูนย์ตรวจสอบพระภิกษุ (ศ.ต.ภ.) เป็นผู้พิจารณา หรือหากไปกิจที่เป็นทางการของการคณะสงฆ์ เช่น ปฏิบัติการพระธรรมทูตในสังกัดวัดไทยในต่างประเทศ คือ มหาเถรสมาคมเป็นผู้พิจารณา ซึ่งการดำเนินเรื่องยังต้องผ่านแม่กองพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ว่าเป็นพระภิกษุในสังกัดของมหานิกายหรือธรรมยุติกนิกาย

          อนึ่ง ระเบียบปฏิบัติดังกล่าวมิได้กำหนดเงื่อนไขแก่ผู้พิจารณาว่า มีคุณสมบัติอย่างไร หรือมีมาตรฐานในการพิจารณาการอนุญาตหรือไม่อนุญาต พระภิกษุผู้ขอหนังสือเดินทางรูปนั้น ๆ ด้วย ทำให้กระบวนการทั้งหมดปราศจากมาตรฐาน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพระผู้ใหญ่เพียงประการเดียว เป็นการเปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติได้มากยิ่งขึ้น

          หากมีความจำเป็นส่วนตัวในการขอหนังสือเดินทาง พระภิกษุจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบ จากบุคคลต่างๆ ตามลำดับดังต่อไปนี้ คือ เจ้าอาวาสที่ตนสังกัดอยู่ เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค คณะกรรมการศูนย์ตรวจสอบพระภิกษุ (ศ.ต.ภ.) แล้วจึงนำเรื่องเข้ากรมการศาสนาเพื่อทำหนังสืออนุญาตให้ทำหนังสือเดินทางได้ ไปขอทำหนังสือเดินทาง ณ กองหนังสือเดินทางต่อไป ในการผ่านการอนุมัติตามขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ หากสะดุดเพียงขั้นเดียว ย่อมส่งผลให้การขออนุมัติหนังสือเดินทางนั้นล้มเหลวลงทันที แม้พระภิกษุรูปนั้นผ่านขั้นตอนการอนุมัติหนังสือเดินทางแล้วทั้งหมด ก็หาได้มีสิทธิในการรับหนังสือเดินทางฉบับที่เท่าเทียมกับประชาชนธรรมดาไม่ แต่จะได้รับหนังสือเดินทางราชการ (ปกสีน้ำตาลเข้ม) ซึ่งมีอายุหนังสืออยู่เพียง ๒ ปี ในขณะที่ของประชาชนธรรมดามีอายุ ๕ ปี ทั้ง ๆ ที่พระภิกษุมิได้เป็นข้าราชการแต่ประการใดไม่ และเป็นการขัดต่อพระธรรมวินัยโดยตรง ที่ออกหนังสือเดินทางราชการให้แก่พระภิกษุ เพราะเป็นข้อห้ามโดยตรงตั้งแต่แรกของการอุปสมบทว่าผู้ที่มาบวชนั้น ต้องไม่เป็นข้าราชการ และการปฏิบัติในลักษณะนี้เท่ากับเป็นการกระทำการอันเป็นเท็จ โดยตรงอีกด้วย

          ในการเดินทางต่างประเทศนั้น สถานภาพของหนังสือเดินทางข้าราชการนั้น ไม่แตกต่างอะไรกับหนังสือเดินทางสามัญของประชาชนเลย ประเทศบางประเทศอาจให้สิทธิแก่หนังสือเดินทางข้าราชการบ้าง เป็นต้นว่าไม่จำเป็นที่ต้องมีวีซ่าก็สามารถเข้าประเทศได้ แต่ก็มีเป็นส่วนน้อย การขอวีซ่าเข้าประเทศปลายทางยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อพระภิกษุผู้ถือหนังสือเดินทางข้าราชการอยู่นั่นเอง

          สำหรับพระธรรมทูตก็เช่นเดียวกัน ไม่สามารถรับหนังสือเดินทางสามัญของประชาชนได้ แม้ว่าการขั้นตอนการขอหนังสือเดินทางจะไม่ต้องผ่าน เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะภาค แต่ก็ต้องผ่านเจ้าอาวาสและแม่กองพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ซึ่งมีทรรศนะในการใช้อำนาจในการตัดสินใจแบบเดียวกันและขาดมาตรฐานในการดำเนินงาน

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่พระภิกษุที่จำพรรษาต่างประเทศ

          การคุมเข้มการออกหนังสือเดินทางของพระภิกษุไทยนี้ ได้สร้างความเสียหายและความยุ่งยากลำบาก แก่พระภิกษุไทยที่จำพรรษาในต่างประเทศอย่างมาก เนื่องจากตามกฎระเบียบฉบับนี้ สถานกงสุลไทยในต่างประเทศไม่มีอำนาจที่จะออกหนังสือเดินทางใดๆ แก่พระภิกษุได้เลย เจ้าหน้าที่กงสุลจะยืนยันตามกฎระเบียบว่าต้องได้รับการอนุมัติจากมหาเถรสมาคม หรือ ศ.ต.ภ.ก่อนเท่านั้น หากพระรูปดังกล่าวมีญาติโยม ช่วยวิ่งเต้นในเมืองไทยก็ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ กว่าจะขอเอกสารรับรองส่งไปยืนยันกับเจ้าหน้าที่สถานกงสุลในประเทศนั้นๆ ได้ หาไม่แล้วก็ต้องเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อกลับมาวิ่งเต้นทำหนังสือเดินทางของตนเองใหม่อีกครั้งทุก ๆ สองปี

          สถานการณ์ดังกล่าวนี้ เป็นสภาวะที่จำยอม ที่สร้างความทุกข์ทรมานและหดหู่ใจอย่างมาก แก่พระภิกษุไทยที่กำลังศึกษาต่อในต่างประเทศ หากสถาบันการศึกษาที่ตนกำลังเรียนอยู่นั้นอยู่ในเมืองเดียวกับสถานกงสุลไทย ก็เป็นเรื่องสะดวกหน่อยหนึ่ง แต่โดยทั่วไปแล้วจะอยู่ห่างไกลกันมาก ทำให้ต้องเดินทางกลับไปกลับมาอยู่หลายเที่ยวเพียงเพื่อขอต่ออายุหนังสือเดินทางของตนเองเท่านั้น กรณีที่เป็นพระหนุ่มที่ไม่มีญาติโยมในเมืองไทยวิ่งเต้นให้ ก็เป็นอันต้องลำบากเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า แม้ว่าประเทศที่ตนกำลังเรียนต่ออยู่นั้นได้ให้วีซ่ารับรองให้อยู่ต่อในประเทศนั้นได้ แต่อาจต้องเดินทางกลับ โดยที่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไม่นำพาหรืออำนวยความสะดวก อ้างว่าไม่มีอำนาจในการดำเนินการ นอกจากพระรูปนั้นลาสิกขาเป็นฆราวาส แล้วตนเองจึงจะสามารถออกหนังสือเดินทางให้ได้

          พระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมมักให้เหตุผลว่า เพราะรับเรื่องร้องทุกข์ในเรื่องพระทำตัวไม่ดีในต่างประเทศบ่อยจึงต้องคุมกันเข้มเพื่อให้ภาพลักษณ์ที่ดีเกิดขึ้น อันที่จริงแล้วมหาเถรสมาคมไม่เคยมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเป็นสถิติตามหลักวิชาการแต่ประการใด และยังเป็นเหตุผลยกอ้างที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากพระผู้บริหารเหล่านี้ นอกจากมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารแล้ว ยังต้องรับผิดชอบในเรื่องการอบรมภิกษุทั้งหลายอีก เท่ากับให้ผู้ที่ไม่มีความเป็นกลางเป็นผู้วินิจฉัยสิทธิอันชอบธรรมของผู้ใต้ปกครองของตน การออกกฎเหล็กในการควบคุมเช่นนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งฐานันดรของผู้มีอำนาจ มากกว่าที่จะเป็นประโยชน์กับพระศาสนา อันที่จริงการหากปราศจากระเบียบนี้ การศึกษาของคณะสงฆ์จะดีและทันสมัยขึ้น หากพระผู้น้อยทั้งหลายประพฤติตัวไม่เหมาะสม ก็น่าจะหาวิธีการให้การศึกษาอบรมพระภิกษุให้ดียิ่งขึ้นไป มิใช่แก้ไขปัญหาโดยการกำจัดสิทธิของนักบวชผู้น้อย เพื่อปกปิดความบกพร่องซึ่งตนเองมีส่วนรับผิดชอบโดยตรง

          ระเบียบว่าด้วยพระภิกษุสามเณรผู้จะเดินทางไปต่างประเทศนี้ ขัดต่อหลักการและตัวมาตราแห่งรัฐธรรมนูญ

          เนื่องจากหนังสือเดินทางเป็นเอกสารราชการ ที่รัฐบาลออกให้แก่ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยทุกคน ภายใต้หลักการและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓๐, มาตรา ๓๖, มาตรา ๓๘ ความในมาตราทั้ง ๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน กำหนดสิทธิให้ประชาชนไทยทุกคน ไม่ว่านับถือศาสนาใด ๆ ต้องได้รับการปฏิบัติโดยเสมอภาค พระภิกษุไทยมีสัญชาติไทย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับสิทธินี้ด้วย หาไม่แล้วจะถือว่ามหาเถรสมาคมมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญแห่งชาติกระนั้นหรือ?

          หากพิจารณาว่า มหาเถรสมาคมคือ องค์การบริหารงานทางศาสนาองค์กรหนึ่ง ที่มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะออกกฎหมายใดก็ได้ เพื่อควบคุมสมาชิกในองค์การของตน และเป็นสิทธิอันชอบธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การที่เจ้าหน้าที่กรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศ เรียกร้องให้พระภิกษุที่ยื่นขอหนังสือเดินทางให้ต้องมีเอกสารรับรองจากศูนย์ตรวจสอบพระภิกษุ หรือกรมการศาสนา จนทำให้เกิดความล่าช้าและเดือดร้อนกันมากนั้น เป็นการเลือกปฏิบัติโดยมูลเหตุของศาสนาเป็นที่ตั้งและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๓ มาตรา อย่างชัดเจน

 

ระเบียบของมหาเถรสมาคมขัดต่อพระธรรมวินัย

          แม้ระเบียบของมหาเถรสมาคมฉบับนี้ อ้างเหตุเพื่อเป็นการเกื้อกูลแห่งพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา แต่ในความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ด้วยไม่ปรากฏว่าในพระธรรมวินัยแห่งใดที่ห้ามการเดินทางของพระภิกษุเลย เว้นไว้แต่การเข้าไปสู่ที่ที่เรียกว่า "อโคจร" อันได้แก่สถานเริงรมย์ แหล่งอบายมุข หรือที่ฝึกหัดทหารหรือสมรภูมิ เป็นต้น

          พระธรรมวินัยยังได้ให้สิทธิแก่พระภิกษุผู้ที่บวชมานาน ในการอบรมสั่งสอนหรือการให้เกียรตินั่งในแถวหน้าก่อนพระภิกษุที่มีอายุพรรษาน้อย แต่กระนั้นเองระเบียบการควบคุมการออกหนังสือเดินทางของพระภิกษุนั้น มิได้เกื้อกูลต่อหลักการนี้ในพระธรรมวินัยแต่ประการใด อีกทั้งยังกำหนดเงื่อนไขแก่พระภิกษุที่อายุพรรษาไม่ครบห้าให้ต้องมีหนังสือรับรองเป็นพิเศษ

          การกำหนดให้พระภิกษุรับหนังสือเดินทางข้าราชการ ทั้งที่บรรพชิตในพระพุทธศาสนามิใช่ข้าราชการนั้นเป็นการผิดหลักการของพระธรรมวินัยโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น เงื่อนไขตามที่กำหนดให้พระภิกษุสามารถขอหนังสือเดินทางจากกระทรวงการต่างประเทศได้นั้น กำหนดเงื่อนไขที่ปฏิบัติได้ยาก ทำให้พระภิกษุผู้มีกิจจำเป็นในการเดินทางไม่อาจปฏิบัติได้ ต้องอ้างเหตุว่าตนจะเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน เป็นต้น เพื่อให้ได้การอนุมัติเพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือเดินทางให้ เท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไขที่เป็นปฏิปักษ์แก่การประพฤติธรรมวินัย สนับสนุนให้เกิดการเล่นพวกพ้อง และการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงการดงขมิ้นอีกด้วย

          การยกเลิกกฎระเบียบของมหาเถรสมาคมที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชนของพระภิกษุไทย ย่อมส่งผลดีในระยะยาว นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาทางสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้อง ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ แล้วยังจะเป็นการพัฒนาสังคมสงฆ์ให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย ระบบอุปถัมภ์อันเป็นบ่อเกิดของการคอร์รัปชั่นอันเน่าเฟะในสังคมจะได้ลดกำลังลงไปอีกสักหน่อยหนึ่ง หากต้องการให้พระภิกษุประพฤติตัวให้ดีถูกต้องตามพระธรรมวินัยให้มาก พระเถรทั้งหลายจะได้เวลามากขึ้น ในการพัฒนาหลักสูตรการคัดเลือกและอบรมพระภิกษุให้ดียิ่งขึ้นไป มิต้องเสียเวลาพิจารณาว่าภิกษุรูปใดเป็นพวกของใคร สมควรหรือไม่ควรได้หนังสือเดินทาง อันเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่รัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติกำหนดไว้

          ซึ่งนอกจากจะเป็นการสูญเสียเวลาในการบริหารอย่างมาก ยังเป็นการกดขี่พระผู้น้อย แทนที่จะทำตัวให้เป็นผู้ใหญ่ที่เป็นแบบอย่างของผู้ใหญ่ผู้เจริญด้วยพรหมวิหารธรรม .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :