เสขิยธรรม -
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
นักบวชขบถ
ร่องรอยความคิด ชีวิต และงานของไอวาน อิลลิช
ทิพย์นภา หวนสุริยา แปลและเรียบเรียงจาก www.infed.org
จาก http://www.kledthai.com/cgi-bin/article/show.pl?0005

 

          ไอวาน อิลลิช เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในทศวรรษที่ ๑๙๗๐ ด้วยงานเขียนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันหลักในโลกอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาบทบาทหน้าที่และผลกระทบของระบบการศึกษา (Deschooling Society) การพัฒนาทางเทคโนโลยี (Tools for Conviviality) พลังงาน การขนส่ง และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Energy for Conviviality) การแพทย์ (Medical Nemesis) และงาน (The Right to Useful Employment and its Professional Enemies และ Shadow Work)

          คุณประโยชน์ที่อิลลิชสร้างไว้คือ การชำแหละเนื้อแท้และเปิดเผยให้เห็นผลเสียที่สถาบันเหล่านี้สร้างขึ้น เป็นต้นว่า สถาบันการศึกษาและการแพทย์มีแนวโน้มที่จะก่อผลตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม งานของเขาก็เป็นเป้าโจมตีของทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เช่น การวิพากษ์ความไร้ประสิทธิภาพของสถาบันสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ ทำให้เขาถูกฝ่ายซ้ายโจมตีมาก

          ตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๘๐ ไอวาน อิลลิชก็กลายเป็นนักคิดที่ถูกลืม แต่ก็ยังมีนักคิดนักเขียนและนักปฏิบัติอีกหลายคนที่เห็นคุณค่าในงานของเขา แอนดริว ทอดด์ และ ฟรานโก ลา เซอกลา กล่าวว่า อิลลิชเหมือนกับนักมานุษยวิทยาทางความคิด ซึ่งช่วยให้เราเห็นปัจจุบันในมุมมองที่ลึกซึ้ง ชัดเจนและเป็นจริงขึ้นกว่าเดิม ในบทความนี้เราจะมาตามรอยชีวิต ความคิด และงานของเขาด้วยกัน

* ชีวิตวัยเด็ก

          ไอวาน อิลลิช เกิดที่เวียนนา ไอวาน ปีเตอร์ พ่อของเขาเป็นวิศวกรโยธา ทำให้อิลลิชกับน้องชายฝาแฝดของเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการศึกษาที่ดี และได้เดินทางไปหลายประเทศทั่วยุโรป

          อิลลิชเข้าเรียนที่ Piaristengymnasium ในกรุงเวียนนาตั้งแต่ปี ๑๙๓๖ ถึง ๑๙๔๑ แล้วก็ถูกขับออกจากโรงเรียนในยุคนาซี เพราะแม่ของเขามีเชื้อสายยิว (ส่วนพ่อเขาเป็นโรมันคาทอลิก) จากนั้นเป็นต้นมา อิลลิชก็กลายเป็นคนร่อนเร่พเนจรโดยมีสมบัติติดตัวน้อยที่สุด

          เขาจบการศึกษาระดับมัธยมในเมืองฟลอเรนซ์ แล้วเข้าศึกษาต่อด้าน Histology และ Crystallography ที่มหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์ จากจุดนี้เองอิลลิชได้ตัดสินใจจะเป็นนักบวช เขาเริ่มเรียนเทววิทยาและปรัชญาที่มหาวิทยาลัยเกรกอเรียนในกรุงโรม (๑๙๔๒-๖) ในปี ๑๙๕๑ เขาก็จบปริญญาเอกเกี่ยวกับการสำรวจค้นคว้าพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย Salzburg ในช่วงเวลาเหล่านี้ เขาได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อกำเนิดสถาบันโบสถ์ของศาสนาคริสต์ในศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งเขาได้นำไปใช้ในงานวิพากษ์วิจารณ์ของเขาในเวลาต่อมา

          ระหว่างที่เรียนปริญญาเอก อิลลิชก็เริ่มเป็นนักบวชสอนศาสนาในเมืองวอชิงตัน ไฮท์ รัฐนิวยอร์ก เขาอยู่ที่นั่นจนถึงปี 1956 จนเขาพูดภาษาสเปนและภาษาอื่น ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว ที่นี่เองที่อิลลิชเริ่มรณรงค์สนับสนุนวัฒนธรรมเปอร์โตริโก และต่อต้านการละเลยทางวัฒนธรรม

* ไอวาน อิลลิชกับศูนย์ข้อมูลเอกสารระหว่างวัฒนธรรม
(Centre for Intercultural Documentation - CIDOC)

          อิลลิชเป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งเมืองปอนซ์ ในเปอร์โตริโกอยู่ ๔ ปี แล้วก็ถูกขับออกจากมหาวิทยาลัยในปี ๑๙๖๐ เพราะไปขัดแย้งกับสังฆราชแห่งปอนซ์ ซึ่งห้ามชาวคาทอลิกไปลงคะแนนให้ผู้ว่าการรัฐลูอิส มูนอส มาริน ที่มีนโยบายควบคุมอัตราการเกิดของประชากร

          ต่อมาอิลลิชได้ก่อตั้งสถาบัน Centre for Intercultural Formation ขึ้นเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม เพื่อฝึกหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันให้ไปทำงานในแถบละตินอเมริกา แม้ว่าในขณะนั้นเขาจะยังขึ้นอยู่กับโบสถ์ แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยกับการที่สันตะปาปา จอห์น ที่ ๑๓ ที่ประกาศให้หมอสอนศาสนาชาวอเมริกาเหนือเข้าไปปรับปรุงโบสถ์แถบละตินอเมริกา "ให้ทันสมัย" อิลลิชต้องการให้หมอสอนศาสนาทั้งหลายทบทวนงานที่ตนต้องทำ ให้เรียนรู้ภาษาสเปน ให้รู้จักและยอมรับข้อจำกัดด้านประสบการณ์ของตัวเอง และให้ระลึกเสมอว่าหน้าที่ของตนคือเป็นนักการศึกษาที่อ่อนน้อมถ่อมตน และเคารพวัฒนธรรมละตินอเมริกา

          ต่อมาเขาได้ย้ายสถาบันไปตั้งในละตินอเมริกาที่เมืองกัวนาวากา ประเทศเม็กซิโก หลังจากเดินเท้าและโบกรถสำรวจหาสถานที่นับเป็นพัน ๆ ไมล์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากฟีโอโดรา สแตนคอฟ และภราดาเกอรี่ มาร์ริส และได้เปลี่ยนชื่อสถาบันเป็น Centre for Intercultural Documentation (CIDOC) ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ สถาบันดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้หมอสอนศาสนาหลายร้อยคนเข้าร่วมในสิ่งที่อิลลิชเรียกว่า "สมาคมอิสระเพื่อการแสวงหาแรงกระตุ้นเพื่อความตื่นเต้น สำหรับคนที่ต้องการความช่วยเหลือให้มองเห็นปัญหาของตนเองได้ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่การตอบปัญหาด้วยคำตอบสำเร็จรูป"

          การตั้งตัวเป็นองค์กรอิสระ พร้อมกับท่าทีวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่อศาสนจักร ทำให้ CIDOC ถูกจับตามองจากพระชั้นผู้ใหญ่ในคณะปกครองของคาทอลิก ในที่สุดสำนักวาติกันก็สั่งขับไล่เขาออกจาก CIDOC แต่เขายืนยันที่จะอยู่ โดยลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดของโบสถ์ และสึกจากการเป็นนักบวชในปี ๑๙๖๙ ศูนย์ CIDOC ได้ขยายงานออกไปอย่างกว้างขวาง และเป็นที่รู้จักในการศึกษาและแสวงหาแนวคิดในแนวทางของอิลลิช

          แนวความคิดของอิลลิชเรื่องผลเสียของโรงเรียนได้รับการตอบรับดีมาก มีคนเชิญเขาไปปาฐกถามากมาย หนังสือที่เขาเขียน เช่น The Celebration of Awareness และ Deschooling Society ทำให้ความคิดของเขาแพร่หลายไปยังผู้คนมากขึ้น บันทึกเกี่ยวกับผลเสียของโรงเรียนและการวิพากษ์วิจารณ์การผูกขาดของเทคโนโลยีทางการศึกษาในหนังสือเรื่อง Deschooling Society สะท้อนสิ่งที่ทั้งนักเสรีนิยมและพวกอนาธิปไตยกำลังกังวลได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เขายังเขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์การบริโภคพลังงาน, การแพทย์, และการพัฒนาไว้ด้วย

* แนวความคิดหลักของอิลลิช

          เอียน ลิสเตอร์กล่าวไว้ในคำนำหนังสือ After Deschooling, What ? ว่า หัวใจหลักของแนวคิดการล้มเลิกระบบโรงเรียน (Deschooling) ของอิลลิช คือการวิพากษ์สถาบันและนักวิชาชีพ และกระบวนการที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ สถาบันสร้างความต้องการและควบคุมความพึงพอใจของมนุษย์ ทำให้มนุษย์และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์กลายสภาพเป็นวัตถุ ข้อโต้แย้งต่อต้านสถาบันของไอวานอิลลิชแบ่งออกได้เป็น ๔ ด้าน คือ

          ๑. การวิพากษ์กระบวนการสร้างสถาบัน สังคมสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะสร้างสถาบันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายอย่างในวิถีชีวิตของเราถูกทำให้เป็นสถาบัน กระบวนการนี้ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ลดความมั่นใจของมนุษย์ที่มีต่อตัวของตัวเอง ต่อความสามารถของตัว และกัดกินความคิดสร้างสรรค์เหมือนกับเนื้อร้าย

          ๒. การวิพากษ์ผู้เชี่ยวชาญกับความเชี่ยวชาญ ข้อวิพากษ์ของเขาเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาชีพเริ่มต้นจากหนังสือเรื่อง Disabling Professional และ Medical Nemesis ซึ่งในเล่มหลังนี้ เขากล่าวไว้ว่า การก่อตั้งวิชาการแพทย์เป็นภาวะคุกคามที่รุนแรงต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดผลเสียหายมากกว่าผลดี เมื่อระบบการแพทย์ได้อาศัยอำนาจทางการเมืองทำให้เกิดภาพว่าคนในสังคมโดยรวมนั้นสุขภาพไม่ดี แล้วได้เข้ามายึดอำนาจการเยียวยารักษา และการจัดสภาพแวดล้อมของตนเองไปจากมือประชาชน ผู้เชี่ยวชาญและวัฒนธรรมความเชี่ยวชาญมักเรียกร้องให้มีผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญก็มีแนวโน้มจะยกตนขึ้นด้วยการสร้างกำแพงและเรียกตัวเองว่าเป็นผู้รักษาประตู ควบคุมการผลิตความรู้ และเป็นผู้ตัดสินว่าอะไรคือความรู้ และนอกเหนือจากนั้นย่อมไม่ใช่ความรู้

          ๓. การวิพากษ์กระบวนการเปลี่ยนสภาพสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสินค้า นักวิชาชีพและสถาบันต่าง ๆ มักจะมองกิจกรรม หรือในที่นี้คือการเรียนรู้ ว่าเป็นสินค้า ซึ่งตนเป็นผู้ผูกขาดการผลิต ควบคุมการจัดจำหน่ายจ่ายแจก และตั้งราคาที่สูงเกินกว่าที่ชาวบ้านธรรมดาหรือแม้แต่รัฐบาลของประเทศทั้งหลายจะสามารถเป็นเจ้าของได้ อิลลิชกล่าวว่า การเรียนที่หมายถึงการผลิตและการขายความรู้ซึ่งโรงเรียนเป็นผู้ผูกขาด ได้จูงสังคมไปติดกับดักทางความคิด ว่าความรู้คือสิ่งที่บริสุทธิ์ สะอาด น่าเคารพยกย่อง ที่มนุษย์เป็นผู้ผลิตขึ้นและเก็บรักษาไว้ในคลัง การศึกษาภาคบังคับหล่อหลอมให้ผู้มีการศึกษาดูถูกคนที่เรียนรู้ด้วยตนเอง ให้เชื่อว่าการเรียนรู้และการเติบโตของศักยภาพทางปัญญาจะเป็นไปได้นั้น จำเป็นต้องบริโภคสินค้าของอุตสาหกรรมการบริการที่ถูกออกแบบ และวางแผนโดยผู้เชี่ยวชาญ นั่นหมายความว่าการเรียนรู้คือสินค้า ไม่ใช่กระบวนการ เป็นสิ่งที่สามารถจับต้องและตวงวัดได้ และเชื่อว่าการมีความรู้มากจะเป็นเครื่องวัดความมีประสิทธิผลของบุคคลในสังคม ข้อนี้ตรงกับข้อวิพากษ์ของอีริค ฟรอมม์ ที่มองว่าสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่กำลังมุ่งหน้าไปสู่ "Having Mode" ที่ผู้คนเน้นการมี การครอบครองเป็นเจ้าของวัตถุ พวกเขาจึงมองความรู้เป็นทรัพย์สินสำหรับครอบครอง กอบโกย แทนที่จะเป็นกระบวนการในการใช้ชีวิตอยู่ในโลก (Being Mode)

          ๔. กฎ Counterproductivity จัดว่าเป็นแนวคิดใหม่ของอิลลิชที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง Counterproductivity หมายถึงกระบวนการที่น่าจะก่อประโยชน์ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งกลับกลายเป็นให้ผลตรงกันข้าม เช่น เมื่อถึงจุดหนึ่ง กระบวนการก่อตั้งสถาบันต่าง ๆ มาก ๆ เข้า ก็จะเกิดผลทางลบขึ้นมาแทน อิลลิชยังนำแนวคิดนี้ไปใช้กับประเด็นอื่น ๆ ด้วย เช่น สำหรับการเดินทางนั้น เมื่อถึงระดับความเร็วหนึ่ง เป็นไปไม่ได้ที่ใครจะไปได้เร็วขึ้นโดยไม่ทำให้คนอื่นเสียเวลา เป็นต้น

          เมื่อนำความคิดของอิลลิชมาจัดหมวดหมู่เช่นนี้ เราจะเห็นว่าความคิดของเขาชัดเจนดี แต่ในงานเขียนช่วงแรก ๆ ของเขาออกจะเข้าใจยาก เขามักใช้การอุปมาอุปไมยและภาษากวี และใครที่ไม่ได้อ่านงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของเขา มักจะสับสนว่าการล้มล้างระบบโรงเรียน (Deschooling) คืออะไรกันแน่ นอกจากนั้น งานเขียนของเขาส่วนมากเกิดจากการคิด ไม่ได้มีข้อมูลอ้างอิงจากการวิจัย หรือทฤษฎีใด ๆ มารองรับ กาจาริโดบอกว่า นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมข้อเสนอหรือทฤษฎีเกี่ยวกับการศึกษาของเขา จึงได้รับการยอมรับในวงจำกัด

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่สุดอาจจะอยู่ที่อิลลิชให้ความสำคัญกับโรงเรียนมากเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับอิทธิพลของครอบครัว งาน โทรทัศน์ และโฆษณา ซึ่งข้อนี้อิลลิชเองก็ตระหนักในเวลาต่อมา เขาเขียนไว้ว่าโรงเรียนเพียงแต่เป็นเป้าหมายที่เห็นได้ชัดที่สุด อาจจะเรียกได้ว่างานที่ผ่านมาของเขานั้น วิพากษ์วิจารณ์โรงเรียนในแง่ลบมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ฟิงเกอร์และอาชุน (๒๐๐๑) กล่าวว่าอิลลิชไม่ได้ต่อต้านโรงเรียนหรือโรงพยาบาลขนาดนั้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง โรงเรียนทำให้คนโง่ลง และโรงพยาบาลก็ทำให้คนสุขภาพแย่ลงจริง ๆ เช่นเดียวกับสถาบันต่าง ๆ ที่ยิ่งมีผู้เชี่ยวชาญมาก ๆ เข้า เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดผลตรงกันข้ามกับที่วางเป้าหมายไว้

* ทางออกที่ดีกว่า

          อิลลิชเชื่อว่าอนาคตที่พึงปรารถนาขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกชีวิตแห่งการทำงาน (กระทำ) แทนที่จะเป็นชีวิตแห่งการบริโภค เพื่อสร้างรูปแบบชีวิตที่ทำให้เราตื่นตัว มีชีวิตชีวา เป็นอิสระ แต่ยังคงสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ใช่ชีวิตที่เพียงแต่ผลิตและบริโภค ซึ่งนำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้หมดเปลือง และสร้างมลภาวะให้สภาพแวดล้อมไปวัน ๆ สถาบันที่พึงปรารถนาควรจะสนับสนุนการติดต่อสัมพันธ์ที่มีอิสระและสร้างสรรค์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ควรจะรับใช้ปัจเจกบุคคลที่ติดต่อสัมพันธ์กันอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่รับใช้แต่ผู้นำ หรือผู้บริหาร สมาชิกในสังคมทุกคนต้องสามารถมีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์จากบริการของสถาบันได้

          จะว่าไปแล้วแนวคิดนี้ของอิลลิชก็เป็นการสะท้อนความคิดของนักเขียนนักคิดเก่า ๆ ก่อนหน้านั้น เช่น Basil Yeaklee ซึ่งให้ความสำคัญกับอำนาจขององค์กรและเครือข่ายท้องถิ่นในการสร้างและจัดการเรียนรู้ แต่อิลลิชเพิ่มเติมต่อไปอีก โดยเสนอให้จัดสถาบันการศึกษาอย่างเป็นทางการในรูปแบบใหม่ และยังเสนอว่า ถ้าจะล้มระบบผูกขาดของโรงเรียน สถาบันอื่น ๆ จะต้องปรับตัว ปรับทีท่าเสียใหม่ด้วย

* เครือข่ายการเรียนรู้ : สถาบันการศึกษาที่เป็นทางการแบบใหม่

          ปกติทรัพยากรทางการศึกษามักจะถูกจัดไว้ตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรที่ผู้สอนกำหนดขึ้น อิลลิชเสนอให้ทำตรงกันข้าม คือให้ผู้เรียนกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของตนเอง และต้องช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงทรัพยากรการศึกษาที่ช่วยให้เขาบรรลุเป้าหมายนั้น ใน Deschooling Society (ที่นี่ไม่มีโรงเรียน นพ.สันต์ สิงหภักดีและสันติสุข โสภณสิริ แปล พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก) อิลลิชกล่าวว่า ระบบการศึกษาที่ดี ต้องมีวัตถุประสงค์ ๓ อย่าง คือ ต้องให้ผู้ที่ต้องการเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ทุกขณะ ทำให้ผู้ที่ต้องการแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่ต้องการเรียนรู้สามารถสื่อสารกันได้ และให้ทุกคนที่ต้องการนำเสนอประเด็นใด ๆ ได้มีโอกาสสื่อสารกับสาธารณะ เขาเสนอว่าช่องทางการเรียนรู้หรือแลกเปลี่ยนความรู้ที่สำคัญที่เขาเรียกว่าเครือข่ายการเรียนรู้ มี ๔ ช่องทาง คือ

          ๑. การอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงแหล่งข้อมูล และกระบวนการที่ใช้ในการศึกษา ทั้งที่เป็นทางการ เช่น ห้องสมุด ร้านเช่า ห้องแล็บ พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ หรืออาจเป็นแหล่งความรู้ในชีวิตประจำวัน เช่น ในโรงงาน สนามบิน ฟาร์ม และให้นักเรียนเข้าถึงได้ด้วยการฝึกงานภาคปฏิบัติ

          ๒. การแลกเปลี่ยนทักษะ โดยให้บุคคลระบุรายการทักษะที่ตนมี เงื่อนไขในการสอน และสถานที่ติดต่อให้กับผู้ที่อยากเรียนรู้ทักษะเหล่านั้นสามารถเข้าถึงได้

          ๓. เครือข่ายการสื่อสารที่เปิดโอกาสให้บุคคลระบุกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตนสนใจ เพื่อหาเพื่อนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน

          ๔. มีการรวบรวมรายชื่อนักวิชาชีพ ผู้มีคุณวุฒิเทียบเท่านักวิชาชีพ รวมทั้งนักวิชาชีพอิสระ โดยมีเงื่อนไขการสอนและสถานที่ติดต่อ ให้ผู้สนใจเลือกเข้าไปเรียนด้วยได้ โดยมีการจัดอันดับความนิยม หรือให้ผู้เรียนสามารถสอบถามจากผู้ที่เคยใช้บริการมาแล้ว

          ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดเหล่านี้ปรากฏในนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิต และสังคมการเรียนรู้บ้างแล้ว นักคิดนักเขียน เช่น Leadbeater (๒๐๐๐) ได้นำแนวคิดของอิลลิชมาใช้ในการวิพากษ์สังคมที่ทำการล้มล้างระบบโรงเรียนบางส่วน โดยบอกว่า การเรียนรู้ส่วนมากควรจะเกิดขึ้นที่บ้าน ที่ทำงาน และในครัว ในบริบทที่ความรู้จะถูกนำไปใช้ในการแก้ปัญหาและเพิ่มคุณค่าให้ชีวิตของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวอาจกลายเป็นผลร้ายไปได้ ถ้าไม่เข้าใจหลักการหรือแนวคิดที่แท้จริง การ Deschooling อาจกลายเป็น Reschooling คือ แทนที่จะถูกล้มล้างลง ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสินค้าอาจจะยิ่งแทรกซึมเข้าไปกับการเรียนรู้ในชีวิตประจำอย่างลึกซึ้งขึ้น

* การศึกษาแบบไม่เป็นทางการ : การเปลี่ยนรูปแบบและบทบาทของสถาบันอื่น ๆ

          อิลลิชกล่าวว่าสถาบันต่าง ๆ ควรจะปรับตัวให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เพราะทางเลือกใหม่ที่จะมาแทนโรงเรียน ไม่เพียงแต่จะต้องมีกลไกใหม่ในการถ่ายทอดทักษะความรู้กันอย่างเป็นทางการ แต่จะต้องมีการศึกษาแบบไม่เป็นทางการ หรือวิธีการเรียนและการสอนแบบใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นด้วย น่าเสียดายที่อิลลิชไม่ได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้โดยละเอียด ในทางปฏิบัติจึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามที่นักการศึกษาและผู้วางนโยบายตัดสินใจ

          ในช่วงเวลาไม่นานที่ผ่านมานี้ แม้จะมีนักคิดใหม่ ๆ เสนอให้ตรวจสอบและพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของสถาบันต่าง ๆ เช่น Peter Senge ซึ่งเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจเปลี่ยนบทบาทของตนให้เป็นองค์กรการเรียนรู้ (Learning Organization) และ Robert Putnam (๒๐๐๐) ที่พูดถึงเรื่องทุนทางสังคม (Social Capital) แต่ส่วนมากก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่อิลลิชเรียกว่า "Convivial"(เป็นมิตร น่าพึงปรารถนา) สักเท่าไหร่ เช่น ทุนทางสังคมนั้นอาจจะฟังดูใกล้เคียงกัน แต่หัวใจของ Convivial Institution (สถาบันที่ส่งเสริมความงอกงามของมนุษย์) คือการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง แต่ทุนทางสังคมยังต้องเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจด้วย แนวคิดเรื่องทุนทางสังคมจึงมักเข้าไปรับใช้กิจกรรมที่ non-convivial (ไม่เป็นมิตรกับความงอกงามของมนุษย์) มากกว่า

* ชีวิตและงานในช่วงหลัง

          ในช่วงบั้นปลายชีวิตของอิลลิช ผู้คนเริ่มให้ความสนใจในความคิดเรื่องการศึกษาของเขาน้อยลง มีผู้เชิญให้ไปปาฐกถาหรือให้เขียนบทความน้อยลง และเมื่อจำนวนหมอสอนศาสนาที่จะไปละตินอเมริกาลดลง CIDOC ก็ซบเซาลงด้วย ในช่วงหลัง ๆ งานของเขามีประเด็นหลากหลาย แต่ยังคงแนวคิดหลักจากงานในช่วงแรก ๆ ของเขา

          หลังจากปี 1980 ไอวาน อิลลิชใช้ชีวิตอยู่ในเม็กซิโก อเมริกา และเยอรมัน ล่าสุดเขาเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาปรัชญา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม ที่มหาวิทยาลัยเพนน์สเตท และยังสอนที่มหาวิทยาลัย Bremen ด้วย เขายังคงใช้ชีวิตสมถะ และทำกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษาอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา

          ในต้นทศวรรษที่ ๑๙๙๐ หมอวินิจฉัยว่าเขาเป็นมะเร็ง อิลลิชยืนยันตามความคิดของตนที่จะรักษาโรคร้ายด้วยตัวเอง นั่นเป็นการตัดสินใจที่สวนทางกับคำแนะนำของหมอ ซึ่งเสนอให้เขารับการรักษาขนานใหญ่ที่อาจจะทำให้เขาไม่สามารถทำงานที่เขารักได้ ในที่สุดเขาก็เขียนหนังสือเรื่อง a history of pain จนจบ (ไม่แน่ใจว่าเป็นชื่อหนังสือหรือเปล่า แต่เขาบอกว่าจะตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส) (ซึ่งจะตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสในปี ๒๐๐๓ นี้)

          ไอวาน อิลลิชเสียชีวิตในวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๐๐๒

          อีริค ฟรอมม์กล่าวถึงไอวาน อิลลิชไว้ในคำนำหนังสือเรื่อง Celebration of Awareness (Illich,๑๙๗๓) ว่า อิลลิชเป็นบุคคลที่กล้าหาญ มีชีวิตชีวา ฉลาดและเปี่ยมจินตนาการ ความคิดของเขาล้วนมีพื้นฐานอยู่บนความห่วงใยที่เขามีต่อความงอกงามของมนุษย์ ทั้งทางร่างกาย จิตวิญญาณ และปัญญา ความคิดของเขามีพลังช่วยปลดปล่อยจิตใจของมนุษย์ให้เป็นอิสระ โดยชี้ทางเลือกใหม่ ๆ และเปิดประตูที่นำผู้อ่านออกไปจากคุกของความคิดสำเร็จรูปที่มีแบบแผนตายตัว สำหรับอิลลิช การล้มล้างระบบสถาบันจะช่วยนำเราไปสู่ความท้าทายในการเรียนรู้ เพื่อหาทางออกจากภาวะสังคมที่ป่วยไข้อย่างเช่นทุกวันนี้ .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :