เสขิยธรรม -
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

สัมภาษณ์พิเศษ : พระศรีปริยัติโมลี

การเมือง (ไม่ใช่) เรื่องของสงฆ์

กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

 

          'ขนาดที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ทุกอย่างก็จะเอาหมด อย่างนี้ถามว่าพระไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือเปล่า ทุกอย่างล้ำเส้นเข้ามาหมดเลย อยู่ๆมายุ่งกับพระหลายเรื่องมาก'

พระต้องปรับตัวเองสู้ทุนนิยม

          ในโลกยุคทุนนิยม พระนอกจากจะต้องตามความคิดของนักการเมืองให้ทันแล้ว ก็จะต้องทำให้ชาวบ้านมีความเข้าใจ เพื่อจะได้มีพลังในการต่อรองด้วย เพราะถ้าพระเซ็นชื่อทำหนังสือร้องเรียนหรือขอร้องเฉยๆรัฐบาลมักจะไม่ค่อยให้ความสนใจ

          วาทะร้อนแรงของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ว่า 'พระไม่ควรยุ่งการเมือง และถ้ายุ่งการเมืองก็ไม่ควรเป็นพระ'พร้อมประโยคที่ตามมาติดๆ ที่ว่า' ....ถ้าอยากเล่นการเมืองก็เข้ามาได้เลย อย่าไปมีพรรคพิเศษ'ที่เกิดขึ้นหลังจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งทางวาจาถึงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์และผอ.สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ให้ตรวจสอบและแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมดูแลการออกรายการปาฐกถาธรรมของพระนักเทศน์

สอนผู้นำ เหมือนตักน้ำรดหัวตอ  

อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม กล่าวว่า การที่พระมาเทศน์ให้ฟังต้องถือว่า พระเป็นเทวทูตมาเตือน เหมือนตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเห็น การเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วจึงออกแสวงหาสัจธรรม ดังนั้นจึงอยากให้พระนำคำเตือนของพ.ต.ท.ทักษิณ มาเป็นคำท้าทาย เพื่อพระเองก็จะได้แจ่มชัดขึ้น ในเรื่องบทบาทของตัวเอง

'คงต้องพูดว่า การเมืองก็คือ วัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่มีการเอาเปรียบซึ่งกันและกัน แต่การเมืองที่ดีจะต้องมีการแบ่งสรรผลประโยชน์ ในทางศีลธรรมให้มากขึ้น จริงๆแล้วในปี ๒๔๗๕ ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การให้อำนาจสงฆ์ก็เกือบจะสำเร็จแล้ว แต่บังเอิญมีปัญหาตรงที่ พระยังถูกมองว่าอยู่ฝ่ายศักดินา และได้ถูกกำหนดให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยตรง'

อาจารย์สุลักษณ์ กล่าวว่า การเมืองที่ดีพระจะต้องมีบทบาท ในการปลุกจิตสำนึกประชาชน เพราะสอนผู้นำก็เหมือนกับตักน้ำรดหัวตอ และในฐานะที่พระเป็นลูกชาวบ้าน ก็จะต้องปลุกชาวบ้านให้ตื่น และพร้อมที่จะท้าทายอำนาจ ต้องสั่งสอนชาวบ้านรู้ทันอยู่เสมอ เมื่อชนชั้นล่างตื่นขึ้น เขาก็จะสามารถปลุกชนชั้นกลาง ให้หลุดพ้นจากการครอบงำของอำนาจทุนนิยมได้

หมายเหตุ: ตัดตอนจากคำกล่าวปัจฉิมกถาของอ.สุลักษณ์การเสวนา "บทบาทพระกับการเมืองไทย กรณีห้ามพระวิจารณ์การเมืองฎ

 

          และห้ามพระแสดงปาฐกถาธรรม ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับด้านการเมือง และการบริหารประเทศ และเบื้องต้นมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงพระนักเทศน์ 3 รูป คือหลวงพ่อปัญญานันทะภิกขุ เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ พระพิพิธธรรมสุนทร เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์และพระภาวนาวิสุทธิสุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

          ทำให้เกิดคำถามว่า จริงๆแล้ว'สงฆ์'ในฐานะผู้สืบต่อคำสอนต่อจากพระศาสดา ไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจของฆราวาสจริงหรือไม่ หาก'กิจ'นั้นๆถือเป็นประโยชน์ต่อศาสนิกชน และในโลกแห่งทุนนิยมที่รุกคืบเข้ามาเรื่อยๆ ไม่เว้นแต่ในศาสนจักร 'พระสงฆ์'ควรจะปฏิบัติอย่างไร เพื่อทำให้สังคมเกิดความสมดุลที่สุด

          พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตโต) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สงฆ์ผู้ซึ่งเคยเป็นแกนในการเรียกร้อง กระทรวงพุทธศาสนาและคัดค้านพ.ร.บ.การจัดรูปที่ดิน และเคยขึ้นธรรมาสน์เทศน์ให้ชาวบ้านปากมูลฟัง ที่หน้ารัฐสภามาแล้ว จะให้คำอธิบาย

          'คงแยกไม่ได้ว่า การเมืองเป็นเรื่องเฉพาะฆราวาส แต่ต้องถือว่าเป็นเรื่องของทุกคน และพระก็ยังเป็นประชาชน พลเมืองอยู่ การเมืองโดยเนื้อหาจริงๆ แล้วก็คือ ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน การไม่เอารัดเอาเปรียบ การแบ่งปัน ซึ่งทั้งหมดเป็นคำสอนทางศาสนาทั้งสิ้นอยู่ในหลัก ของ ทาน ศีล ดังนั้น การเมืองถ้ามีอำนาจมาก การเมืองก็เบียดเบียนแล้วใช่ไหม' พระศรีปริยัติศรีปริยัติโมลี กล่าว

          และย้ำว่าโดยธรรมชาติของศาสนา เวลาพูดถึงการเมือง คนที่พูดหากเวลาพระเข้าไปพูดแล้วช่วยให้ตัวเองได้เปรียบ ก็บอกว่าพระเข้าไปได้ โดยเฉพาะเวลาหาเสียงกับพระ หรือจะไปขอให้พระบอกชาวบ้านว่า เลือกพรรคนี้ดีซิ ก็มักไม่บอกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ แต่ถ้าพระยืนยันหลักการ หรืออาจจะไปเข้าข้างฝ่ายที่เขาถูกต้อง ฝ่ายที่ไม่ถูกต้องก็จะบอกว่า พระไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างนี้ก็มี

          รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศมหาจุฬาฯกล่าวว่า การห้ามพระไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองก็เหมือนกับเกลียดตัวกินไข่ กินปลาไหลกินน้ำแกง ทั้งๆในโลกนี้แยกกันไม่ออก เพราะหลักการของศาสนาก็เป็นหลักการเดียวกับการเมือง เวลาสอนญาติโยม พระก็จะเริ่มด้วยการยกตัวอย่างทางการเมือง แต่พออธิบายเนื้อหา ก็คือ ศาสนานั่นเอง

          นอกจากนี้ผู้นำส่วนใหญ่ อาจจะเข้าใจการเมืองยังไม่ค่อยทะลุปรุโปร่ง มองว่า รัฐธรรมนูญ คือ ประชาธิปไตย และการเมืองในความเข้าใจของนักการเมืองก็เป็นแค่รูปแบบ ยังไม่ได้เป็นสารัตถะ ดังนั้นที่ผ่านมาเรามักจะไม่ได้ยินว่า การพัฒนาประชาธิปไตย จะต้องพัฒนาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต การไม่ซื้อสิทธิขายเสียง การมีสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้คนมีศีลธรรม เพราะศีลธรรม คือรากฐานของประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่เรากลับไม่เคยเห็นนักการเมือง หรือนักพัฒนาประชาธิปไตยพูดอย่างนี้เลย

          'นักการเมืองบอกว่า เป็นผู้แทนฯ เพราะประชาชนเลือกมา แต่ถามว่า ชาวบ้านเลือกมาด้วยความเข้าใจ ด้วยการเห็นคุณค่า ด้วยความศรัทธา หรือด้วยความมีคุณธรรมของคุณหรือเปล่า หรือว่าเขาเลือกมาด้วยสาเหตุอย่างอื่น หรือเอาอามิสสินจ้างไปล่อเขา'พระศรีปริยัติโมลี กล่าว

          ในฐานะที่ได้รับเชิญให้ไปเทศน์ในรายธรรมะกับการเมืองที่วิทยุรัฐสภา พระศรีปริยัติโมลี เล่าว่า ระยะๆแรกไม่เคยมีปัญหา แต่หลังจากมีการเรียกร้องขอให้มีกระทรวงพระพุทธศาสนาและรัฐบาลพยายามจะออกกฎหมายจัดรูปที่ดิน ๒-๓ ครั้ง แต่พระไม่เห็นด้วย ทางรัฐสภาจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น'ธรรมะในพุทธศาสนา' โดยก็ส่งคนมาช่วยจัดแล้วบอกว่า 'หลวงพ่อช่วยพูดธรรมะเยอะๆหน่อย อย่าพูดเรื่องการเมือง'

          ส่วนการที่พระเทศน์แล้วไปกระทบผลประโยชน์ของนักการเมือง จนกระทั่งถูกวิจารณ์ว่า เป็น'พระการเมือง'นั้น รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ มหาจุฬาฯ บอกว่า อาจเกิดจากการที่นักการเมืองรู้สึกว่า ตัวเองเก่ง มีประสบการณ์มาก แล้วทุกคนก็เป็นนักพูด เกิดไปสำคัญตัวเองว่า รู้ดีกว่าพระหมดแล้ว

          'เวลาพระไปพูดเรื่องการเมือง ก็มักถูกมองว่า เป็นพระจะมาพูดการเมืองทำไม อย่างนี้เป็นพระการเมือง คือนักการเมือง เขาไม่อยากให้พูด เรื่องโกงกิน คอร์รัปชันว่า อย่าทำไม่ดี เขาก็เลยมาติดป้ายให้ แต่ความจริงพระไม่มีเจตนาที่จะไปพูดกระทบตัวบุคคล แต่อาจยกตัวอย่างบ้าง ก็พูดด้วยความหวังดี ดังนั้นพระเทศน์ ถ้าเราไม่ใจบอด ใจมืด ว่า ท่านเมตตาเรา แล้วคิดว่าธรรม คือ อะไรก็ได้ เรารู้หมดแล้ว อย่างนี้แสดงว่าตีคุณค่าของธรรมต่ำมาก'พระศรีปริยัติโมลี กล่าว

          เมื่อถามว่า ในวงการพระนักเทศน์มีบ้างหรือไม่ที่อิงอยู่กับพรรคการเมือง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาจุฬาฯ กล่าวว่า อาจจะมีบ้างที่พระอาจชอบส่วนตัว แต่การแสดงธรรมเพื่อสนับสนุนกันอย่างโจ่งแจ้ง หรือตั้งตัวว่าเป็นพระของพรรคนั้นพรรคนี้คงไม่มี

          และพระก็ค่อนข้างจะระมัดระวังเรื่องนี้ เนื่องจากนักการเมืองไทยกลับไปกลับมาได้ การจะบอกว่า คนนี้ดี เวลาเขาเป็นรัฐบาลแล้ว อาจจะไม่ดีก็ได้ หรือตอนที่เป็นฝ่ายค้านนักการเมืองบางคนก็เอาใจใส่ประชาชนดีมากทั้งกับเอ็นจีโอ สมัชชาคนจน เห็นอกเห็นใจไปด้วยหมด แต่พอเป็นรัฐบาล กลับเห็นเป็นศัตรูอย่างนี้ก็มี

          'พระจะคำนึงถึงเรื่องอนิจจังตรงนี้มาก ดังนั้นคงไม่ถึงกับไปอิงจนเสียความเป็นพระ หรือเสียหลักการของพระ '

          ส่วนความจำเป็นที่จะต้องเทศน์เกี่ยวกับการเมืองบ้างนั้น เนื่องจากการเมืองเป็นผู้กำหนด เพราะการเมืองมีอำนาจออกกฎหมาย นโยบาย และคุมทรัพยากร เงิน บุคลากร สื่อฯลฯ ไว้ทั้งหมด ดังนั้นหากการเมืองไม่สัมมาทิฐิ ไม่รับใช้ศาสนา พระสงฆ์แล้ว โอกาสที่ศาสนาจะเข้าถึงประชาชนก็เป็นไปได้ยากมาก

          'บ้านเมืองจะเจริญหรือเสื่อมก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้นำ คือ นายกฯคนเดียวก็ชี้เป็นชี้ตายได้เลย ดังนั้นถ้าพ.ต.ท.ทักษิณไม่เป็นนายกฯ พระก็จะไม่พูดถึงเลย ไม่ว่าจะดีจะชั่วอย่างไรก็อยู่ที่ตัวท่านเอง แต่เขาก็มีข้อดี คือ ถ้ารู้ว่าตัวเองผิดแล้วก็จะเงียบไป นานๆก็จะออกมาอีกครั้งหนึ่ง '

          พระศรีปริยัติโมลี กล่าวว่า ตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐบาลมา ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับศาสนจักร เท่ารัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการพยายามออกพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดิน โดยอ้างว่าการปฏิรูปที่ดินเลียนแบบมาจากญี่ปุ่น โดยมีสมมติฐานว่าวัดมีที่ดินเยอะ มีที่ตาบอด ไม่มีทางเข้า ซึ่งประเทศไทยไม่มีวัดไหนที่ไม่มีทางเข้า เพราะวัดถือเป็นศูนย์กลางของชุมชน

          'อาตมาว่า จริงๆเขามีเจตนาร้าย ต้องการจะจัดประโยชน์ฮุบที่ดิน หลายคนบอกว่า ถ้าพ.ร.บ.จัดรูปที่ดินสำเร็จ วัดที่จะถูกยึดก่อน คือวัดปทุมวนาราม เนื่องจากวัดปทุมฯกั้นอยู่ระหว่างศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และสยาม วัดเลยกลายเป็นที่ๆไม่เหมาะสมที่จะอยู่ เขาสามารถรวมทุนกันได้เลย ตั้งสมาคมจัดรูปที่ดินแล้วก็โหวตกัน ๒ คนจัดที่ให้วัดไปอยู่ที่อื่น ซึ่งกฎหมายให้ง่ายเลย ทั้งๆที่สมัยก่อนการจะเอาที่วัดจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติต้องผ่านสภา และพระเจ้าแผ่นดินเมื่อพระราชทานที่แล้วสมัยไหนก็ไม่เคยเอาคืน '

          แต่สำหรับยุคนี้แล้วพระศรีปริยัติโมลี บอกว่า ขนาดที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ทุกอย่างก็จะเอาหมด อย่างนี้ถามว่าพระไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือเปล่า ทุกอย่างล้ำเส้นเข้ามาหมดเลย อยู่ๆมายุ่งกับพระหลายเรื่องมาก ดีไม่ดีจะยึดจีวร ยึดบาตรไปขายหมด

          ส่วนทำอย่างไรจะไม่ให้การเมืองล้ำเส้นเข้ามานั้น พระศรีปริยัติ บอกว่า พระสงฆ์เองก็จำเป็นต้องปรับตัวด้วยการศึกษาและติดตามข่าวสารเพื่อให้รู้ทันเหตุการณ์บ้าง รัฐก็จะถอยจะยอม เหมือนเช่น การเคลื่อนไหวของพระเรื่องการจัดรูปที่ดิน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้รัฐบาลมองทุกอย่างเป็นเงินหมด แม้แต่สิทธิการเช่าก็เอาไป แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ทั้งที่พื้นที่ว่างๆที่สาธารณสมบัติทางสำนักงานพุทธศาสนาก็นำไปจัดประโยชน์อยู่แล้ว

          ดังนั้นหากร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาได้ พวกนายทุนที่แวดล้อมก็สามารถเข้าไปเลือกพื้นที่ได้เลย ถือเป็นการหาเงิน และถ้ารวมที่วัดทั่วประเทศจะได้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้บรรพบุรุษเขาถวายเป็นพุทธบูชา ไม่ได้มีการตีค่าเป็นตัวเงิน แต่พวกนักเศรษฐกิจกลับคิดเป็นตัวเงินตลอดว่า ทำอย่างไรจะแปลงให้เป็นเงินทั้งหมด

          พระศรีปริยัติโมลี ยังกล่าวอีกว่า ในโลกทุนนิยมแล้ว พระนอกจากจะตามความคิดของนักการเมืองให้ทันแล้ว ก็จะต้องทำให้ชาวบ้านมีความเข้าใจ เพื่อจะได้มีพลังต่อรองด้วย เพราะถ้าพระเซ็นชื่อทำหนังสือร้องเรียนหรือขอร้องเฉยๆ รัฐบาลมักจะไม่ค่อยให้ความสนใจ

          'การเคลื่อนไหวของพระที่ผ่านมา ไม่ถือว่าผิดวินัยสงฆ์...ไม่มีข้อไหนห้าม ไม่ให้พระทำอย่างนี้ เพียงแต่ว่ามันใหม่สำหรับสังคมไทย เพราะแต่ก่อนนี้เวลามีปัญหา พระเจ้าแผ่นดินจะทรงแก้ปัญหาให้หมด พระไม่ต้องไปทำ ในสมัยโบราณพระสงฆ์จะไม่ค่อยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบ้านการเมือง แต่ปัจจุบันถ้าพระไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ที่วัดที่ธรณีสงฆ์ก็จะถูกยึดหมด'

          '..มีคำถามว่า พระจะอยู่นิ่ง หรือรอให้เขามายึดวัดแล้วจึงออกไป ระหว่างจะให้ญาติโยมหรือรัฐบาลชมว่า ฉันมายึดวัดแล้ว พระยังอุเบกขาดีเหลือเกิน และเหตุการณ์ในทำนองนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พระก็ไม่อยากให้เกิด เรื่องนี้พระสงฆ์ส่วนใหญ่จะมองสถานการณ์คล้ายๆกันว่าต้องรวมตัวกันหรือเปลี่ยนท่าที เพราะแม้แค่พระผู้ใหญ่บางรูปยังบอกว่า ภัยพระศาสนาปัจจุบันนี้ไม่เหมือนก่อนแล้ว'พระศรีปริยัติโมลี กล่าว

          และอธิบายว่า ต่อไปนี้พระก็จะอยู่เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว หากยังเหมือนเดิมก็จะรักษาพระศาสนาเอาไว้ไม่ได้ พระเองต้องปรับวิธีการทำงานและการสื่อสารด้วย ซึ่งในมหาวิทยาลัยสงฆ์ครูบาอาจารย์ ก็สั่งสอนพระนิสิตให้มีความเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย

          'เวลาสอนวิชาการก็จะสอนพระนิสิตด้วยว่า อย่ากลัวการเมือง หรือนักการเมืองจนกระทั่งไม่กล้าที่จะสอน เมื่อเห็นว่าเขาทำผิด หรือถ้าเห็นว่าอะไรถูกต้อง สมควรที่จะทำก็ต้องทำ จะมัวนิ่งรอแต่สวดบังสุกุลอย่างเดียวไม่ได้ แต่กิจของสงฆ์ คือ การช่วยกันบำรุงพุทธศาสนา' รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทิ้งท้าย.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :