เสขิยธรรม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ไทย-ลาว-กัมพูชา
รณรงค์พระเตือนพระเพื่อวัดปลอดบุหรี่

ที่มา :

          ประชุมร่วมไทย-ลาว-กัมพูชา เห็นตรงกัน บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดอันตรายต่อสุขภาพ และผิดศีลข้อ ๕ ควรให้มีโครงการเลิกสูบบุหรี่ในพระสงฆ์ และประกาศให้วัดทุกวัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ พร้อมเผยผลการวิจัยพบพระสงฆ์ภาคตะวันออกและภาคกลางสูบบุหรี่สูง รณรงค์พระเตือนพระเลิกบุหรี่

          รศ.เนาวรัตน์ เจริญค้า ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และอบรมนานาชาติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปร่วมสัมมนาสากลครั้งที่ ๒ เรื่อง "พระพุทธศาสนากับการควบคุมการบริโภคยาสูบ" ซึ่งมีพระสงฆ์จากประเทศกัมพูชา ลาว และไทย รวมทั้งผู้แทนพุทธสมาคมจากมาเลเซีย เข้าร่วมการประชุมที่ประเทศกัมพูชา เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมมีข้อตกลงร่วมกันในการรับรองสัตยาบรรณจากการประชุมครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๔๕ คือ บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดและอันตรายต่อสุขภาพที่รวมอยู่ในศีลข้อ ๕ ซึ่งพระสงฆ์และฆราวาสไม่ควรสูบ เนื่องจากขัดต่อศีลและทำให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมโดยรวม นอกจากนี้ ยังต้องการให้มีโครงการเลิกบุหรี่ในพระสงฆ์และฆราวาสที่ต้องการจะบวช เพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ รวมทั้งประกาศให้วัดทุกวัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งผู้สูบและผู้ใกล้ชิด

          รศ.เนาวรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการสูบบุหรี่ของพระสงฆ์ในประเทศไทยนั้น นักวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำวิจัยเป็นเวลา ๑ ปี โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิ และมหาวิทยาลัยต่างประเทศ สำรวจพระภิกษุและสามเณรที่บวชมาแล้วอย่างน้อย ๑ พรรษา อายุระหว่าง ๑๒-๖๕ ปี จำนวน ๖,๒๑๓ รูป ในประเทศไทย ทั้ง ๖ ภาคการปกครองของสงฆ์ รวม ๒๔ จังหวัด และในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการศึกษาครั้งแรกในระดับประเทศและเพิ่งจะเสร็จสิ้นก่อนนำเสนอในที่ประชุมครั้งนี้ พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศมีจำนวนร้อยละ ๒๔.๔ โดยสูงสุดพบที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง ร้อยละ ๔๐.๕ และร้อยละ ๔๐.๒ ตามลำดับ ภาคใต้ร้อยละ ๓๓.๕ กรุงเทพฯ ร้อยละ ๒๙.๓ ภาคตะวันตกร้อยละ ๒๒.๘ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ ๒๐.๔ ต่ำสุดพบที่ภาคเหนือร้อยละ ๑๔.๖

          ส่วนอัตราการสูบบุหรี่ของพระสงฆ์ในประเทศกัมพูชา เพิ่งจะทำการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ในพระสงฆ์ของกัมพูชา มีจำนวนร้อยละ ๓๖ ส่วนลาวยังไม่มีการศึกษาตัวเลขที่ชัดเจน แต่พระสงฆ์ทั้งหมดของลาวที่ร่วมประชุม มีความเห็นร่วมกันคือ ต้องการรณรงค์ให้วัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ และให้พระสงฆ์และฆราวาสมีส่วนร่วมในงานด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ

          สำหรับการต่อยอดผลจากการประชุมครั้งนี้ในประเทศไทย รศ.เนาวรัตน์ กล่าวว่า มีหน่วยงานทั้งกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ทำมานานพอสมควร เช่น โครงการรณรงค์ให้ฆราวาสเลิกถวายบุหรี่ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ที่มีโปสเตอร์แจกไปทั่วว่า การถวายบุหรี่แด่พระสงฆ์เป็นบาป บุหรี่มีพิษร้ายอย่าถวายแก่พระสงฆ์ ซึ่งได้ผลมาก เพราะทำให้การสูบบุหรี่ในหมู่พระสงฆ์ขณะนี้เหลือเพียงประมาณร้อยละ ๒๔ หรือโครงการรณรงค์ให้วัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ ระหว่างปี ๒๕๔๕-๒๕๔๖ ใน ๒๕ จังหวัดรวม ๙,๑๗๓ วัด เป็นต้น

          รศ.เนาวรัตน์ กล่าวอีกว่า ความจริงแล้ว ตามกฎหมายของประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ กำหนดให้สถานที่ที่ประกอบพิธีทางศาสนาเป็นเขตปลอดบุหรี่ แต่จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่าพระสงฆ์ร้อยละ ๓๓ ไม่ทราบว่ามีกฎหมายข้อนี้ และร้อยละ ๙๓.๗ ทราบถึงพิษภัยของบุหรี่ รวมทั้งทราบว่าบุหรี่มีผลต่อบุคคลข้างเคียง และร้อยละ ๕๓ คิดว่าประชาชนไม่ชอบที่พระสูบบุหรี่ อีกทั้งเห็นตรงกันว่า ไม่ควรรับบุหรี่ที่ประชาชนนำมาถวาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งการศึกษาพบว่า การถวายบุหรี่ให้แก่พระสงฆ์มีน้อยลงจริง ๆ เพราะพระสงฆ์ร้อยละ ๙๖ ต้องไปซื้อบุหรี่เอง และร้อยละ ๙๑ ต้องการให้มีโครงการเลิกบุหรี่สำหรับพระสงฆ์ที่ติดบุหรี่ และร้อยละ ๘๐ ต้องการให้ประชาชนเลิกถวายบุหรี่ แสดงว่าการสูบบุหรี่ไม่เป็นที่ต้องการของหมู่สงฆ์ แต่สาเหตุที่ตัวเลขของพระสงฆ์ที่สูบบุหรี่ ยังมีถึงร้อยละ ๒๔.๔ เพราะพระสงฆ์ส่วนใหญ่สูบมานานมากกว่า ๒๕ ปี คือ ติดมากเกินกว่าที่จะเลิกได้ ซึ่งพบถึงร้อยละ ๓๒ ส่วนพระสงฆ์ที่เลิกได้มีร้อยละ ๕๐ ที่เลิกสำเร็จเพราะได้รับคำแนะนำจากเพื่อนพระด้วยกัน เป็นสิ่งบ่งบอกสำคัญว่าโครงการรณรงค์เลิกบุหรี่ในหมู่พระสงฆ์ ควรเป็นโครงการที่พระสงฆ์มีบทบาทในการแนะนำพระสงฆ์ด้วยกันเอง มากกว่าเป็นโครงการที่ฆราวาสนำเข้าไปแนะนำพระสงฆ์

          "ควรมีการอบรมให้พระสงฆ์มีทักษะที่เกี่ยวกับการแนะนำการเลิกบุหรี่ แต่อีกตัวเลขหนึ่งที่ทำให้เป็นห่วง คือ พระสงฆ์มากกว่าร้อยละ ๖๐ ที่ยอมรับเพื่อนพระสงฆ์ที่ยังสูบบุหรี่ อาจจะด้วยความเกรงใจหรืออะไรบางอย่าง จากการสัมภาษณ์ขอความเห็นเจ้าอาวาสประมาณ ๑๔๔ รูป บอกว่า ส่วนใหญ่พระสงฆ์ที่เลิกสูบบุหรี่ไม่ได้เพราะเมื่อเห็นสิ่งแวดล้อมสูบบุหรี่ก็อดไม่ได้ ก็คิดว่า ถ้าหากการรณรงค์ให้วัดเป็นเขตปลอดบุหรี่กับกฎหมายที่มีอยู่แล้วผนวกรวมกัน และการที่ฆราวาสเลิกถวายบุหรี่คงได้ผลในระดับหนึ่งที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมนั้นดีขึ้น และการสูบบุหรี่ของพระสงฆ์จะมีน้อยลง" รศ.เนาวรัตน์ กล่าว...

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :