เสขิยธรรม -
เสขิยบุคคล
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
ซินเธีย หม่อง
สัตยา พงศาสุมิตร, ชุติมา ซุ้นเจริญ
กรุงเทพธุรกิจ เสาร์สวัสดี ฉบับที่ ๒๓๘ วันเสาร์ที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๖

 

          หลังๆ เราก็เริ่มรู้ว่ามีขบวนการนักศึกษาที่ทำกิจกรรมการเมืองอยู่ แต่เป็นเรื่องอ่อนไหวและอันตรายมาก เลยไม่กล้าเข้าไป เพราะเราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่า เด็กดีต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหากคุณต้องการประสบความสำเร็จด้านการศึกษาและชีวิตการงาน

          ฉันคิดว่าเรายังไม่มีระบบสาธารณสุขที่ดีพอที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในกลุ่มแรงงานพม่า ที่สำคัญคือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งโดยลำพังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ปัญหานี้ซับซ้อนและต้องการความร่วมมือหลายระดับ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ยั่งยืน

คนส่วนใหญ่ รู้จักคุณหมอในฐานะ ผู้ที่ทุ่มเททำงานเพื่อมนุษยธรรม แต่ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักชีวิตครอบครัว?

     ฉันมีลูก ๓ คนแล้ว อายุ ๑๑ ขวบ ๙ และ๔ ขวบ สามีก็ทำงานที่นี่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านงานสังคม ที่นี่เรามีโรงเรียน จ้างครูทั้งไทยและพม่า มาสอนเด็ก ๆ ตอนนี้ก็มีเด็กราว ๒๐๐ คน ทั้งหมดล้วนเป็นคนต่างด้าว อยู่อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

รวมทั้งลูกของคุณหมอ

     ใช่ ลูกๆ ของฉันถือเป็นเด็กไร้สัญชาติ

ในฐานะที่เป็นแม่ ห่วงความมั่นคงของลูกไหม

     แม่ทุกคนห่วงเรื่องความมั่นคงของลูก แต่จะทำอย่างไรได้ ตอนนี้ก็ให้พวกเขาเรียนประถมกันก่อน เราอยากจะให้เรียนโรงเรียนที่นี่ สามารถไปเรียนต่อ กับระบบการศึกษาไทยได้ ในอนาคต ตอนนี้เราสอนถึง ป.๖ จ้างครูคนไทยมาสอนด้วย แต่เราก็อยากให้โรงเรียนที่นี่ สอนภาษาพม่าด้วย อยากให้เด็กเราไม่ทิ้งภาษาพม่า เหมือนเด็กพม่าบางคน ที่ข้ามมาเรียนในโรงเรียนไทย แล้วไม่สามารถพูดและเขียนพม่าได้ นี่เป็นโครงการอนาคตของเรา แต่เท่าที่คุยกัน เจ้าหน้าที่การศึกษาไทยก็ยอมรับว่า ระบบการศึกษาไทย ก็กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงด้วย มีการปฏิรูปการศึกษา

ตลอด ๑๐ กว่าปีที่ทำงานที่นี่ คุณมองการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

     ในพม่าสถานการณ์แย่ลง มีคนมาที่นี่มากขึ้น อย่างที่เล่าให้ฟังตอนแรก ฉันคิดว่าทุกอย่างจะจบภายใน ๓ เดือนแล้วฉันก็กลับบ้านได้ ต่อมาก็เป็น ๑ ปี ๓ ปี ๕ ปี ตอนนี้มีชาวนามามากขึ้น พวกเขาไม่มีที่ทำกิน เด็ก ๆ ก็ต้องออกจากโรงเรียน เราก็กำลังขบคิดทางออกที่ยั่งยืน ทั้งเรื่องสาธารณสุขและการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก

          กันยายน ๑๕ ปีก่อน ๑ เดือนหลังเหตุการณ์นองเลือดครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อรัฐบาลทหารพม่าเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนในเมืองย่างกุ้ง คุณหมอสาววัย ๒๐ กว่าจากครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองเมาะละแมงคนหนึ่ง ติดขบวนผู้ลี้ภัยสงคราม เข้ามาอาศัยในตะเข็บชายแดนไทยพม่า

          เธอไม่รู้เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองมากนัก และไม่อยากรู้ เธอตั้งใจและเชื่อว่าอีก ๓ เดือนหลังเหตุการณ์คงสงบ เธอจะได้กลับไปใช้ชีวิตตามสูตรชนชั้นกลางที่ดี เป็นคุณหมอในคลินิกเอกชนและมีครอบครัวน่ารักอบอุ่น

          วันนี้เธอยังอยู่ที่ชายแดน ความหวังที่จะพาสามีและลูกทั้งสาม กลับบ้านเกิดอย่างปลอดภัยดูจะยังห่างไกล แต่ใช่ทุกอย่างจะเลวร้ายไปเสียหมด สัญชาตญาณความเป็นหมอ และฐานะประชาชนพม่าคนหนึ่ง ที่เห็นความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติ อันเป็นผลพวงจากสงคราม แทนที่จะขมขื่นและเคืองแค้นกับโชคชะตา เธอเลือกที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่เธอพอจะทำได้

          นั่งอยู่ที่ชายแดน เธอเห็นคนเจ็บไข้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไป ที่อาจไม่เคยรู้จักหรือมีอุดมการณ์การเมืองอะไรเลยก็ได้ แต่ถูกพิษสงคราม ทำให้ต้องหนีข้ามมาเพื่อรักษาชีวิตและครอบครัว บางคนรอนแรมอยู่กลางป่า เพื่อหนีทหารพม่ามาถึงชายแดนไทยพร้อมไข้มาลาเรีย พวกเขาต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน ในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมด้านยาและเครื่องมือ ซึ่งหมายถึงโรงพยาบาลในฝั่งไทย

          เธอและเพื่อนชาวกะเหรี่ยง จึงตัดสินใจตั้งศูนย์ขึ้นมา เพื่อประสานพาคนเจ็บส่งโรงพยาบาล อาการเจ็บไข้เล็กน้อยที่เธอพอช่วยรักษาได้ เธอก็จะทำ นอกจากช่วยชีวิตคนเจ็บชาวพม่า งานของเธอยังช่วยคุมไม่ให้ไข้มาลาเรีย ระบาดติดต่อไปในวงกว้างอีกด้วย

          งานเล็กๆ ที่เธอทำเงียบๆ ไม่ใช่งานที่เงียบๆ เล็กๆ อีกต่อไปเมื่อเริ่มมีคนรู้จัก 'สื่อ' ทั้งไทยและเทศเริ่มกล่าวถึงความสำคัญของศูนย์แห่งนี้ พร้อมกับชื่อเธอ กระทั่งเมื่อเดือนสิงหาคมปี ๒๕๔๕ คนทั้งโลกก็รู้จักชื่อ หมอซินเธีย หม่อง (Cynthia Maung) ในฐานะผู้ที่ได้รับรางวัลแมกไซไซอันทรงเกียรติ และต้นปีที่ผ่านมา นิตยสารไทม์ ก็ได้มอบรางวัลเพื่อเป็นให้กำลังใจกับเธอด้วย

          ในระดับสากล คุณหมอซินเธียเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับสูงอย่างไม่ต้องสงสัย เช่นเดียวกับระดับพื้นที่ เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอและจังหวัดต่างรู้จักเธอเป็นอย่างดี และแม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พวกเขาจะทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข และการศึกษาของชาวพม่าต่างด้าว ที่เข้ามาขายแรงงานและลี้ภัย แต่ดูเหมือนกฎหมายไทยก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ

          ทั้งนี้เพราะคุณหมอซินเธียและเจ้าหน้าที่ราว ๔๐๐ คนในศูนย์ล้วนมีสถานภาพ 'คนต่างด้าวเข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย'

          ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเมืองในพม่า และ 'นโยบาย' ของรัฐบาลไทย ที่ไม่อาจให้ความมั่นใจได้ว่าคลินิกที่ทำงานด้านมนุษยธรรมแห่งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป คุณหมอซินเธีย เปิดใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอ ตลอดจนแสดงความเห็นต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของตนเอง

ชีวิตก่อนที่จะมาอยู่เมืองไทยเป็นอย่างไรบ้างครับ

          บ้านเกิดของฉันอยู่ในรัฐมอญ เมาะละแมงเป็นเมืองที่ราบ ตอนนี้รัฐบาลทหารเขาเปลี่ยนชื่อเป็นเมาะลำไย พม่าก็เปลี่ยนเป็นเมียนมาร์ เหมือนเมืองอื่นๆ ก็เปลี่ยนหมดหลังปี ๒๕๓๑ เมาะละแมงเป็นเมืองใหญ่อันดับสามของพม่า บ้านเกิดฉันอยู่ย่านชานเมือง คุณพ่อเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่ใช่หมอนะคะ คือเขาเข้าฝึกอบรม ๓ ปีจบมาก็ได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำหน้าที่ควบคุมโรคติดต่ออย่างมาลาเรีย วัณโรค ไม่ได้รักษาคนไข้ คุณแม่เป็นแม่บ้านดูแลลูกๆ ๗ คน ฉันเป็นคนที่ ๓ พี่น้องฉันตอนนี้ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ที่เมาะละแมง

          พออายุ ๑๘ ฉันก็ย้ายเข้าไปเรียนโรงเรียนแพทย์ที่ย่างกุ้ง คือหลังจากจบมัธยม ฉันต้องไปเรียนวิทยาลัยประจำภูมิภาค ๒ ปี ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย (โรงเรียนแพทย์) ในปี ๒๕๒๓ หลังจากนั้นก็ย้ายไปทำงานในคลินิกเอกชน ๑ ปี เพราะมีญาติทำงานที่นั่น ก่อนที่จะย้ายไปทำงานในรัฐกะเหรี่ยงอีก ๑ ปี หลังจากนั้นถึงได้ลี้ภัยมาชายแดนไทย

คุณหมอเลือกเรียนแพทย์เองหรือทางครอบครัวต้องการให้เรียน ?

          ตอนแรกก็เป็นพ่อฉันที่อยากให้เรียน เพราะท่านต้องการเรียนแต่ไม่มีโอกาส ท่านเป็นพี่ชายคนโต ตามกฎของครอบครัว เขาต้องดูแลพี่น้องทั้งหมด ต่อมาเขาเลยไปฝึกหัดเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

          เหตุผลอีกอย่างเป็นตัวฉันเองที่อยากเรียน เพราะตอนเด็ก ๆ ช่วง ๕-๑๐ ขวบ เวลาวันหยุดพ่อมักพาฉันติดตามไปทำงานตามพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในชนบท ทำให้ฉันเกิดประทับใจในอาชีพนี้

ตอนเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาบ้างไหม

          ฉันใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยรวม ๖ ปีครึ่ง ที่นั่นก็มีชมรม มีกิจกรรมบ้าง แต่ส่วนใหญ่มีไว้สำหรับสังสรรค์รวมกลุ่มกันมากกว่า ไม่มีกิจกรรมทางการเมือง มีแต่ชมรมทางวัฒนธรรมทำนองนั้น อีกอย่างมหาวิทยาลัยแพทย์ของฉันก็อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในย่านนั้นมาก ค่อนข้างตั้งโดดเดี่ยวแยกตัวออกไป ประมาณ ๒๕ กิโลเมตรจากตัวเมือง จะเดินทางไปไหนก็ลำบาก รถโดยสารประจำทางก็มักจะแน่นเอียดไปด้วยผู้โดยสาร ต้องใช้เวลาไปกลับถึง ๓ ชั่วโมง เพราะรถหยุดรับคนขึ้นลงตลอดทาง

          นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่ก็จะหมดเวลาไปกับการเรียน การเตรียมสอบและฝึกงาน ไม่ค่อยมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมเท่าไหร่ คิดดู ถ้าต้องไปฝึกงานแต่ละวันเราต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมงไปกลับ ต้องออกแต่เช้า ๗ โมง กลับก็มืดแล้ว ต้องรอรถไฟหรือรถประจำทาง บางทีรถไฟไม่มาก็ต้องเดินไกลเป็นชั่วโมงๆ

ในฐานะที่เป็นคนกะเหรี่ยง เวลาเข้าไปเรียนรวมกับคนเชื้อสายพม่าในมหาวิทยาลัย ถูกดูถูกบ้างไหม

          เราไม่มีการเหยียดเชื้อชาติที่นั่น ปกติคนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มักจะอยู่ในเขตชนบท ไม่มีระบบการศึกษาที่ดีรองรับเพียงพอ ทำให้มีเด็กที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนน้อยมากที่มีโอกาสได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย แต่พวกเขาก็ไม่ถูกเหยียดเชื้อชาติที่นั่น บรรยากาศในมหาวิทยาลัยเป็นมิตรกันดีมาก ปัญหาจะมีก็เพียงระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่จำกัดไม่ให้พวกเขาเข้าไปได้

          ระบบการศึกษาในชนบทไม่เปิดโอกาสให้เด็กส่วนใหญ่สามารถแข่งขันเข้าไปเรียนต่อได้ แม้จะไม่มีระบบการสอบเอนทรานซ์ แต่เด็กที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็ต้องทำเกรดดี ๆ ตอนจบมัธยม เด็กหัวกะทิจะถูกคัดเข้าไปสอบสัมภาษณ์ ในแต่ละปีก็จะมีเด็กที่ผ่านการคัดเลือกราว ๕๐๐ คนเข้ามหาวิทยาลัยแพทย์

ในพม่ามีมหาวิทยาลัยแพทย์กี่แห่ง

          มี ๓ แห่ง อยู่ที่ย่างกุ้ง ๒ แห่ง ที่มัณฑะเลย์อีกแห่ง ในย่างกุ้งก็จะมีมหาวิทยาลัยที่ ๑ และ ๒ มหาวิทยาลัยที่ ๑ อยู่ในเมืองก็จะมีไว้สำหรับเด็กในเขตย่างกุ้งเป็นหลัก มหาวิทยาลัยของฉันอยู่นอกเมือง (มหาวิทยาลัยที่ ๒) มีไว้สำหรับเด็กรอบนอก ส่วนเด็กทางตอนเหนือแถวรัฐฉานก็จะเข้าไปเรียนในมัณฑะเลย์ เพื่อนส่วนใหญ่ของฉันมาจากภูมิภาคอิระวดี บรรยากาศก็ดีมาก ไม่มีการเหยียดเชื้อชาติกันอย่างที่บอก

คุณหมอจบมหาวิทยาลัยในปี ๒๕๒๙ ๒ ปีก่อนเกิดเหตุการณ์นองเลือด ๘-๘-๘๘ ซึ่งนักศึกษาเองก็มีบทบาทมาก คุณหมอได้เข้าไปมีส่วนร่วมบ้างหรือไม่

          ปกตินักศึกษาแพทย์มักจะไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีบางคนที่กล้าประกาศตัวเข้าร่วมซึ่งเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก คุณอาจถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยได้ง่ายๆ จริงๆ ก็อาจจะมีขบวนการนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงนั้น แต่ฉันไม่รู้จักเลย ชีวิตนักศึกษาแพทย์ทำให้เราต้องยุ่งอยู่เฉพาะการใช้ชีวิตแต่ละวัน ต้องเดินทางไกล ต้องแก้ปัญหาปากท้อง เพราะบางคนบางครั้งที่บ้านไม่สามารถส่งเงินมา แล้วไหนจะต้องเรียนหนักอีก แค่นี้ก็หนักหนากินเวลาแต่ละวันของเราเกือบทั้งหมดแล้ว

          แต่หลังๆ เราก็เริ่มรู้ว่ามีขบวนการนักศึกษาที่ทำกิจกรรมการเมืองอยู่ แต่ก็เป็นเรื่องอ่อนไหวและอันตรายมาก เลยไม่กล้าเข้าไป เพราะเราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่า เด็กดีต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหากคุณต้องการประสบความสำเร็จด้านการศึกษาและชีวิตการงาน

แล้วในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ล่ะ มีขบวนการแบบนี้หรือเปล่า

          ใช่เขามีกัน แต่ไม่ใช่ในมหาวิทยาลัยแพทย์ ซึ่งถึงจะมีก็จะเงียบๆ และไม่ค่อยมีผลงานชัดเจน

ในแง่ของสื่อ ทราบว่าถูกปิดกั้นค่อนข้างมาก เวลานั้นเขาใช้เครื่องมืออะไรกันในการเผยแพร่แนวคิดทางการเมือง

          พวกสิ่งพิมพ์ทางการเมืองก็มีบ้าง พวกชมรมต่างๆ จัดทำขึ้นมา แต่บทความต้องระมัดระวังมากๆ เพราะมันจะถูกจับตามองและแก้ไขก่อนพิมพ์ แต่ก็อย่างที่บอก ฉันไม่ค่อยรู้เรื่องชมรมและกิจกรรมของขบวนการนักศึกษามากเท่าไหร่

หลังจากเรียนจบทำไมคุณหมอไม่ทำงานในโรงพยาบาล เห็นบอกว่าไปทำงานในคลินิกเอกชนเป็นที่แรก ?

          ในพม่า มีบัณฑิตแพทย์เพียงไม่กี่คนที่จะมีโอกาสได้ทำงานในโรงพยาบาล เพราะเขาจะรับเพียง ๕๐-๑๐๐ จากจำนวน ๕๐๐ คนที่จบการศึกษา บัณฑิตส่วนใหญ่ก็มักจะเปิดคลินิกเป็นของตัวเองแทน

การตั้งคลินิกเอกชนในพม่ายากไหม

          เป็นการยากหากคุณไม่มีเพื่อนฝูงช่วยเหลือ ฉันมีเพื่อนช่วย ส่วนใหญ่หากจะตั้งเองต้องหาสถานที่ หาชุมชนที่จะทำงานด้วย (ให้บริการ) หาระดับและประเภทของการให้บริการทางการแพทย์ที่คุณจะให้บริการในคลินิกเอง

          มันไม่มีระบบชัดเจนสำหรับภาคเอกชนขณะนั้น อยากทำก็ทำได้เลยแต่ก็ต้องได้รับใบอนุญาตด้วย ซึ่งขั้นตอนการขอใบอนุญาตคุณก็ต้องระบุว่าจะตั้งที่ไหน ให้บริการชุมชนไหน ประชากรเท่าไร จะเน้นรักษาโรคอะไรไหม ให้บริการอะไรบ้าง บางทีเราก็ต้องให้บริการที่มากกว่าความเชี่ยวชาญของเรา อย่างงานประเภทการสาธารณสุข เราถนัดด้านการรักษาเป็นหลัก แต่ก็ต้องทำ หากทำคลินิกในบางย่าน โดยเฉพาะในชนบท คนไข้ไม่สามารถเดินทางไกลไปโรงพยาบาลได้ก็มาคลินิกแทน เมืองที่ฉันเปิดคลินิกชื่อเมืองบะซีน (Bassein) ไม่รู้ว่าตอนนี้ชื่อจะเปลี่ยนไปแล้วหรือยัง

          แต่ตอนมาทำงานในรัฐกะเหรี่ยงงานยากกว่า เพราะตอนอยู่บะซีนก็ทำงานทั่วไปด้านสาธารณสุข ซึ่งพวกเขามีคลินิกกันอยู่แล้วฉันแค่ไปแทนคนที่ออก มันเป็นย่านชนบท

แล้วทำไมถึงได้ลาออกจากที่เดิม

          บะซีนเป็นเมืองเล็กๆ ห่างจากบ้านเกิดฉันในเมาะละแมงถึง ๒ วัน คือต้องเดินทางราว ๖-๘ ชั่วโมงจากเมาะละแมงไปย่างกุ้ง และจากย่างกุ้งไปบะซีนในอิระวดีอีกราวเท่าๆ กัน แต่บางทีก็ต้องใช้เวลามากถึง ๓-๔ วันเพราะหาตั๋วรถไฟ รถโดยสารไม่ได้ ช่วงนั้นแม่ฉันไม่สบาย ฉันอยากย้ายไปอยู่ใกล้ๆ แม่มากกว่านี้ เลยย้ายไปทำงานในเอ็นดุ (Eaindu) ในรัฐกะเหรี่ยงแทน

หลังจากย้ายมาแล้ว ลักษณะการทำงานแตกต่างกันมากไหม

          ที่เอ็นดุ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากตัวเมืองและโรงพยาบาล มีประชากร ๓๕,๐๐๐ คน ก่อนหน้านั้นมีโรงพยาบาลอยู่หนึ่งแห่งในชุมชน แต่มีหมอมาประจำแค่ปีละ ๓ เดือนเท่านั้น ที่เหลือก็จะมีพยาบาลทำงานประจำอยู่ ๑ คน ยาก็ขาดแคลน ในรายที่อาการหนัก พยาบาลก็จะจัดการส่งตัวไปโรงพยาบาลในเมือง ปัญหาก็จะหนักหากคนไข้ป่วยตอนกลางคืน เพราะเดินทางลำบากถึง ๒๐ กิโลเมตร ฉันก็เลยต้องทำงานใกล้ชิดกับพยาบาล บางครั้งเธอก็จะขอให้ฉันไปช่วยงาน เพราะที่คลินิกเราไม่มีอุปกรณ์มากนัก มีเฉพาะอุปกรณ์พื้นฐาน ฉันก็ทำงานที่นั่นเกือบปี ก่อนเกิดเหตุการณ์ ๘-๘-๘๘ ที่ทำให้ฉันต้องอพยพมาเมืองไทย

ช่วงเวลาก่อนที่คุณหมอจะเดินทางมาเมืองไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง

          ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยปิดหมด เด็กนักศึกษาจากหมู่บ้านก็พากันกลับบ้าน จากมหาวิทยาลัยในย่างกุ้งบ้าง พะอันบ้าง พวกเขาเริ่มรวมตัวกันประท้วงในหมู่บ้าน เด็กมัธยมก็ร่วมด้วย

คุณหมอก็ร่วมด้วย ?

          ใช่

ทำไมครั้งนี้ถึงได้ตัดสินใจเข้าร่วม ในเมื่อที่ผ่านมาคุณหมอเองไม่ค่อยได้ข้องเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองมาก่อน

          ตอนนั้นคนทั้งประเทศร่วมกันเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่มีใครกลัวอีกต่อไป ก่อนนั้นคนส่วนใหญ่กลัวที่จะถูกจับติดคุกหากเข้าร่วม แต่ตอนนั้นทุกคนร่วมกันหมด ทั้งสมาคมพยาบาล สมาคมแพทย์ สมาคมพระสงฆ์ แต่บรรดาพ่อแม่ก็ยังคงเป็นห่วงลูกอยู่ ดีที่ว่าฉันอยู่ไกลบ้าน ที่บ้านก็ไม่รู้ว่าฉันเข้าร่วมด้วย

          ในหมู่บ้านตอนนั้น พวกพ่อแม่ก็วิตกกังวลเป็นห่วงลูกตน แต่การชุมนุมก็จัดในศาสนสถาน การจราจรถูกตัดขาดจากภายนอกหมด คนก็ตื่นเต้นกันใหญ่ มันไม่ใช่การชุมนุมที่มีการจัดตั้ง

จริงๆ แล้วถึงแม้จะไม่ได้เข้าไปมีส่วนในกิจกรรมทางการเมืองระหว่างที่เรียนแพทย์ แต่คุณหมอเองก็ตระหนักถึงสถานการณ์การเมืองในพม่าที่เป็นชนวนของความรุนแรง ?

          ความจริงตั้งแต่เด็ก ครอบครัวเราก็จะมีการพูดคุยเรื่องนี้บ้าง พ่อแม่ฉันชอบเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาของพวกเขาให้เราฟังเสมอ พวกเขารู้เรื่องการเมืองในอดีตตั้งแต่ยุคญี่ปุ่น หลังการประกาศอิสรภาพของประเทศ เราก็ได้เรียนรู้เรื่องการเมืองเยอะพอสมควร พ่อฉันมักชอบคุยให้ฟัง แม่บ้างบางที แต่พูดๆ ไป แม่มักจะหยุดเสียเฉยๆ เพราะกลัวจะโดนจับเข้าคุก พวกเขาห่วงว่าเราจะเรียนไม่จบ หากทำกิจกรรมการเมืองระหว่างเรียน

          หลังจากทำงานในหมู่บ้าน ฉันก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองผ่านคนไข้ คนในชุมชน พวกเขาเริ่มจากบ่นเรื่องชีวิตของพวกเขาให้ฉันฟัง หลายคนต้องทำงานในแคมป์ทหารหลายแห่งที่อยู่รอบๆ ชุมชน มิเช่นนั้นก็ต้องจ่ายเป็นภาษีแทน

          พวกเขาก็จะบ่นเรื่องต้องออกไปทำงานตั้งแต่เช้าตรู่กลับมืด ต้องเดินไกล ส่วนใหญ่ก็อายุมากกันแล้ว แต่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ไม่มีเงินมากพอจะจ่ายค่ารักษาให้ครบจนหาย มาหาหมอพอเริ่มรู้สึกดีขึ้นหน่อยก็จะหายไปไม่มาอีก ในแง่หมอเราก็รู้สึกไม่ดีที่คนไข้ทำอย่างนั้น แต่ก็เข้าใจ

คุณหมอก็เลยต้องทำหน้าที่รับฟังปัญหาของคนไข้ไปด้วย ?

          ใช่ บางครั้งคนหนุ่มหลายคนไม่มีเงิน ต้องออกจากโรงเรียนไปทำงาน เป็นงานขนสินค้าจากชายแดนไทยไปขายในพม่า โดยต้องขนผ่านเส้นทางป่า เพราะถ้าขนเส้นทางปกติต้องจ่ายค่าด่านหลายด่าน ทำให้ไม่ได้กำไร บางคนทำเพื่อช่วยครอบครัว บางคนทำเพื่อการศึกษาของตัวเอง ขนแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลา ๓-๗ วัน เพื่อให้ได้เงิน ๑,๐๐๐-๓,๐๐๐ จ๊าดต่อเที่ยว บางคนกลับมาป่วยเป็นมาลาเรีย มาที่คลินิกก็คุยให้ฉันฟังเรื่องประสบการณ์พวกเขา

          เด็กบางคนก็ไปรับจ้างเป็นแรงงานในค่ายพม่า คือทหารจะบังคับให้แต่ละหมู่บ้านส่งแรงงานจำนวนหนึ่งไปเป็นแรงงานในค่ายทหาร หลายครอบครัวไม่อยากไปก็ลงขันกันจ้างคนหนุ่มให้ครบตามจำนวนไปทำงานแทน หลายรายป่วยกลับมา ก็ไม่เหลือเงินพอค่ารักษา ก็หายหน้าไป

          ภาพอย่างนี้ฉันไม่ค่อยเห็นนักในย่างกุ้ง มันเป็นภาพของชุมชนในชนบทส่วนใหญ่ แต่ก็พอมีบ้าง ช่วงที่ทำงานที่บะซีน ฉันต้องเดินทางไปกลับบ่อยๆ ระหว่างย่างกุ้งกับเมาะละแมง ระหว่างทางก็จะเห็นเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียน ขายน้ำขายของบนรถไฟ บ่อยครั้งรถไฟหยุดระหว่างทาง ตำรวจก็จะเข้ามาตรวจบัตรเด็กเหล่านั้น พวกเขาก็ไม่มี ถูกจับไปทำงานแรงงานในกองทัพ

นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณหมอตัดสินใจเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง แล้วหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นถึงได้อพยพมาที่เมืองไทย

          ตอนนั้นฉันรู้เรื่องสถานการณ์บ้านเมืองน้อยมาก มีเพื่อนที่ทำงานในกองทัพบอกให้ฉันร่วมอพยพไปชายแดน เขาบอกจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในสองปี หลังจากนั้นฉันค่อยกลับมา

          ตอนแรกฉันคิดว่าสัก ๓ เดือนฉันคงได้กลับ ฉันมาชายแดนในเดือนกันยายนปี ๒๕๓๑ ๓ วันหลังจากทหารยึดอำนาจ ฉันออกจากชายแดนในวันที่ ๒๒ กันยายน ไปอยู่ในหมู่บ้านกะเหรี่ยงตรงข้ามท่าสองยาง อยู่ที่โรงพยาบาลของเคเอ็นยู ๒ สัปดาห์ ฉันอยากติดต่อกับเพื่อนคนอื่นเลยย้ายไปที่วังข่า ตรงข้ามห้วยกะโหลกเจอเพื่อนก็อยู่ที่นั่นเดือนหนึ่ง

          จากนั้นฉันก็เริ่มทำงานช่วยผู้นำกะเหรี่ยงด้านให้คำปรึกษาและฝึกอบรมนักศึกษาด้านการแพทย์ ที่นั่นขาดหมอ ต่อมาฉันก็ตัดสินใจย้ายมาที่แม่สอด เพราะนักศึกษาจำนวนมากป่วยเป็นมาลาเรียและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (แม่สอด) พวกเขาต้องการคนประสานงานกับโรงพยาบาล และระบบการส่งตัวที่ดี

          เดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๓๒ เราก็ร่วมกันตั้งศูนย์พักฟื้นและส่งตัวคนไข้จากพม่าไปโรงพยาบาล บางครั้งก็จัดฝึกอบรมให้นักศึกษาด้านการแพทย์ควบคู่กันไป

หลังจากตั้งศูนย์ฯ มีปัญหากับเจ้าหน้าที่ไทยบ้างไหม

          ตอนนั้นเราก็แค่เข้ามาและจัดตั้งศูนย์ ไม่ได้มีการรายงานทางการ เขารู้แต่ที่นี่แรงงานต่างด้าวพม่าเต็มเมืองไปหมด หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่งเราก็เริ่มติดต่อกับทางโรงพยาบาล พวกเขารู้จักฉัน และเข้าใจระบบส่งตัวของเรา

เรียกว่าทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี ?

          ใช่ ตั้งแต่เริ่มต้นถึงตอนนี้

เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์นี้ส่วนใหญ่เป็นใคร มาจากไหน

          มีนักศึกษาแพทย์จากพม่าจำนวนมาก บางคนก็เป็นเด็กนักศึกษาทั่วไป เราก็นำมาฝึกอบรม ตอนนี้มีหมออยู่ ๖ คนที่ศูนย์ แล้วก็มีหมอที่ไปๆ มาๆ ด้วย

แล้วเจ้าหน้าที่ไทยเริ่มรู้จักศูนย์นี้จริงๆ จังๆ เมื่อไหร่

          ช่วงปี ๒๕๓๘ เราก็เริ่มทำงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมากขึ้น เมื่อก่อนเราเน้นงานจัดส่งตัวคนไข้เป็นหลักซึ่งต้องประสานงานกับทางโรงพยาบาล ตอนหลังเราก็ริเริ่มโครงการด้านเด็กทั้งด้านสาธารณสุขและการศึกษา หลังจากปี ๒๕๓๒ เป็นต้นมาศูนย์ก็เป็นที่รู้จักดีในหมู่แรงงานต่างด้าว ก็ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่มา เด็กก็มาด้วย เราเลยตั้งศูนย์สุขภาพเด็กขึ้นมา ด้วยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จากนั้นความร่วมมือก็มีมาตลอดทั้งกับโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุข

ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดกี่คน

          เดือนนี้เรามีหมอ ๖ คน แบ่งงานกันทำทั้งรักษาและฝึกอบรม มีอาสาสมัครจากออสเตรเลีย ๕ คนมาช่วยงานเราด้วย คนไข้ก็มาราว ๒๐๐ คนต่อวัน ช่วงฉีดวัคซีนก็มากถึง ๔๐๐ ก็มี ตอนนี้เรามีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ๑๔๐ คน ซึ่งเราต้องให้อาหารและที่พักให้ด้วย พวกเขาได้รับรายได้ราว ๘๐๐-๑,๐๐๐ ต่อเดือน แล้วก็มีบางส่วนที่ทำงานในฝั่งพม่า ทุกๆ ๖ เดือนจะมาฝึกอบรมที่นี่ ส่วนนี้เป็นเจ้าหน้าที่นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ประจำ

เจ้าหน้าที่ทั้งหมดนี้ถือว่ามีสถานภาพไม่ถูกกฎหมาย ?

          ส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ตัวฉันเองได้ใบอนุญาตให้อยู่ได้ชั่วคราวจากกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ แต่ต้องต่ออายุเป็นระยะๆ เป็นบัตรสำหรับนักศึกษา บัตรผู้อพยพชั่วคราว

คุณหมอก็เลยพยายามที่จะขอใบอนุญาตทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในศูนย์นี้ ?

          แค่ราว ๑๒๐ คนที่ต้องทำ คือเราจะทำให้เฉพาะคนที่ต้องเดินทางบ่อยๆ ทำให้หมดทุกคนก็ไม่ได้ เราไม่มีปัญญาจ่าย เจ้าหน้าที่ที่มาแค่ฝึกอบรมก็ไม่ต้อง รวมทั้งครูและเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องออกนอกศูนย์ด้วย

แต่ตอนนี้ทั้งคุณหมอและเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ได้รับการต่อใบอนุญาต หลังจากที่ปีที่แล้วได้รับใบอนุญาตทำงานไปแล้วบ้าง

          ยังค่ะ หลังจากกฎหมายไทยเปลี่ยนแปลง เราก็ไม่สามารถต่อใบอนุญาตทำงานได้ เพราะมีการกำหนดประเภทของงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ และงานที่อนุญาตให้ทำ แต่หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่อยู่ในทั้งสองเงื่อนไข ก็เลยยังเป็นปัญหาอยู่

เลยเป็นที่มาของรายงานข่าวที่ว่ามีเจ้าหน้าที่เข้ามาที่ศูนย์เพื่อกดดัน จนทำให้กรรมาธิการต่างประเทศวุฒิสภาต้องลงพื้นที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริง ?

          ไม่จริงค่ะ เหตุการณ์จริงคือเนื่องจากเราไม่สามารถต่อใบอนุญาตทำงานได้ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งก็เลยแจ้งไปทางจังหวัด เขาก็มาเยี่ยมพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีการใช้กำลังข่มขู่อย่างที่เป็นข่าว

ในสถานการณ์เช่นนี้คุณหมอคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป

          ตอนนี้เราก็พยายามไม่ออกไปข้างนอกศูนย์โดยไม่จำเป็น ขณะที่กำลังพยายามหาทางทำให้มันถูกกฎหมาย อีกอย่างสถานการณ์ในพม่าเองก็เปลี่ยนแปลงเร็ว เราต้องการทำงานที่นี่ต่อไป ช่วงนี้เราก็มีการประชุม พูดคุยกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เริ่มคุยกันว่าจะทำอย่างไรดี แต่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน

โดยส่วนตัวคุณหมอมีข้อเสนออะไรไหม

          ความจริงก็มีการริเริ่มโครงการบางอย่างเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว มีเอ็นจีโอไทยและสากลร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ไทย เราเองก็พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมในการแก้ปัญหา แต่ก็คงต้องหาทางว่าจะร่วมมือกันอย่างไร

เป็นไปได้ไหมว่าโรงพยาบาลแม่สอดอาจพิจารณาให้ศูนย์ของคุณเป็นหน่วยพยาบาลเบื้องต้น (PCU, Primary Care Unit) ตามกฎหมายใหม่ของไทย ซึ่งก็อาจทำให้ศูนย์ของคุณถูกกฎหมายมากขึ้น

          ฉันคงต้องเรียนรู้ระบบสาธารณสุขไทยมากกว่านี้ ก่อนให้ความเห็น แต่อย่างหนึ่งก็คือปัญหาแรงงานต่างด้าวพม่าเป็นข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่ เป็นปัญหาสำคัญที่เราไม่สามารถแกล้งมองข้ามได้ และจะแก้ปัญหานี้ได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่ไทย องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งระดับชาติและสากล ทั้งหมดต้องร่วมกัน

หลายคนเป็นห่วงว่ารัฐบาลพม่าอาจไม่พอใจการทำงานของศูนย์ โดยเฉพาะการที่คุณหมอได้ให้การช่วยเหลือทุกคนรวมทั้งชาวกะเหรี่ยง และอาจขอร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการผลักดันออกจากประเทศ คุณหมอคิดว่าเป็นไปได้ไหม

          ฉันคิดว่าเรายังไม่มีระบบสาธารณสุขที่ดีพอที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในกลุ่มแรงงานพม่า ที่สำคัญคือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งโดยลำพังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ปัญหานี้ซับซ้อนและต้องการความร่วมมือหลายระดับ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ยั่งยืน ที่สำคัญอย่างที่บอก เราต้องตระหนักว่าปัญหานี้มีอยู่

          ศูนย์ของเราเน้นให้บริการด้านสาธารณสุขการศึกษาแก่แรงงานพม่า โดยเฉพาะกลุ่มเด็กซึ่งสำคัญมาก คนพม่าส่วนใหญ่ไม่ได้รับบริการเช่นนี้ในบ้านเขา โดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากชนบทซึ่ง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ไม่มีระบบด้านนี้เลย การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องจำเป็น และฉันเองก็ไม่สามารถทำงานโดยลำพังได้ เราต้องร่วมมือกัน

คุณหมอคิดว่ารัฐบาลทหารพม่ารู้เรื่องศูนย์นี้ไหม

          รู้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะรู้มากแค่ไหน ความจริงมีองค์กรพัฒนาเอกชนหลายกลุ่มทำงานในพม่า รวมทั้งเอ็นจีโอพม่าเองทำงานกระจายกันอยู่ เพียงแต่ไม่มีการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากนัก ทำงานค่อนข้างเป็นอิสระต่อกันเกินไป

คนไข้ของคุณหมอส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไหน

          ราวร้อยละ ๒๕-๓๐ มาจากพม่า ที่เหลือร้อยละ ๖๐-๖๕ ทำงานที่นี่ เราไม่มีระบบลงทะเบียนชัดเจน แต่ก็สอบถามที่ทำงานพวกเขาเอาไว้ติดตามให้การรักษามากว่า

หลังจากขยายงานออกไปทำให้มีคนไข้เข้ามารับบริการมาก คุณหมอได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากที่ไหน

          ก่อนปี ๒๕๓๕ เราได้รับความช่วยเหลือหลักจากกลุ่มโบสถ์และนักศึกษาพม่าในต่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชนยังไม่ค่อยรู้จักงานของเรา แล้วก็มีคนไทยบางส่วนบริจาคข้าว บริจาคอาหารให้ศูนย์บ้าง

          หลังปี ๒๕๔๕ เป็นต้นมาเราก็ได้รับความช่วยเหลือรายปีจากองค์กรพัฒนาเอกชนอย่าง บีบีซี ไออาร์ซี และบีอาร์ซี (Burma relief centre) งบประมาณสำหรับการรักษาก็ราว ๒๐ ล้านบาทต่อปี

สถานการณ์ปัญหาด้านสาธารณสุขของแรงงานต่างด้าวที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง

          มาลาเรียยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่นี่ รองลงมาก็ภาวะทุพโภชนาการในเด็ก การขาดสารอาหาร แล้วก็ปัญหาเรื่องเพศในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเรื่องนี้ฉันคิดว่ามันเป็นปัญหาของทั้งไทยและพม่า ที่เราไม่สามารถแกล้งละเลยได้ เพราะหากปล่อยไว้ก็จะเป็นปัญหาใหญ่กับทั้งสองประเทศภายหลัง กฎหมายแรงงานที่เข้มงวดขึ้นทำให้ผู้หญิงเข้าสู่เพศพาณิชย์มากขึ้น ภาวะการว่างงานเป็นปัญหาของพวกเขา สถานการณ์ในพม่าก็เหมือนกัน แม้กฎหมายจะไม่อนุญาต แต่ก็มีเพศพาณิชย์ในพม่าเอง ส่วนเด็กชายก็เข้าเป็นแรงงานในค่ายทหาร หากเป็นเช่นนี้นับวันพวกเขาก็ยิ่งยากที่จะหันกลับมาอยู่ในสังคมปกติได้

          ส่วนสถานการณ์สาธารณสุขภายในประเทศพม่าเอง ด้านอื่นๆ ก็ไม่ต่างกันมากนัก มีบ้างก็ตรงเรื่องปากท้อง ภาวะขาดอาหารหนักกว่า นอกจากนั้นก็ปัญหาเรื่องขาดระบบการศึกษา เด็กบางคนก็ข้ามมาเรียนฝั่งไทย

คนไข้ที่มารับการรักษาที่นี่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไหม

          เขาต้องจ่าย ๑๐ บาทเป็นค่าลงทะเบียน เราให้อาหารและที่พักเขา บางครั้งหลังจากจ่ายค่ายาแล้ว บางคนก็ไม่เหลือเงินเดินทางกลับบ้าน เราก็ต้องจัดการเรื่องการเดินทางกลับของเขา เพราะบางทีพวกเขาก็ถูกจับระหว่างทางและกลับมาอีก เราไม่เพียงรักษาโรคภัยให้เขา ต้องทำอะไรมากกว่านั้น

บางคนบอกว่าเวลานี้แม่สอดเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นจังหวัดหนึ่งของพม่า คุณหมอรู้สึกว่าการอยู่ที่นี่เหมือนอยู่บ้านของตัวเองหรือเปล่า

          ไม่ เราไม่มีสถานภาพที่นี่ เรายังเป็นคนนอกกฎหมาย และเราก็ไม่สามารถตั้งชุมชนจริงๆ ขึ้นมาได้ คนพม่าที่มาที่นี่ก็ไปๆ มา ๆ เปลี่ยนหน้ากันไป ยากที่จะรวมกลุ่มจริงๆ จังๆ

๑๕ ปีในประเทศไทย คุณหมอมองรัฐบาลไทยอย่างไร

          นานแล้วที่รัฐบาลไทยเอื้อเฟื้อให้ที่พักพิงชั่วคราวกับผู้อพยพพม่า ฉันคิดว่าตอนนี้เราน่าจะคิดถึงเรื่องการให้การคุ้มครองพวกเขาด้านสาธารณสุขและการศึกษา มิเช่นนั้นมันอาจเป็นปัญหาแก่ประเทศไทยในระยะยาวได้ ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าการแก้ปัญหาด้วยการส่งกลับไม่ใช่ทางออก ส่งไปสักพักเขาก็ต้องกลับมาอีก มันไม่มีทางเลือก

          ที่ผ่านมาก็ยังไม่ชัดว่าเราจะทำอย่างไรกับผู้อพยพเหล่านี้ ระยะใกล้ๆ นี้เราก็น่าจะให้การคุ้มครองพวกเขาไปก่อน ระยะยาวค่อยหาทางส่งพวกเขากลับอย่างปลอดภัย หากสถานการณ์การเมืองในพม่าดีขึ้น.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :