เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ศาสนธรรมในกระแสแห่งกลียุค

พระไพศาล วิสาโล
ปรับปรุงจากเค้าโครงการบรรยายในหัวข้อเดียวกัน จัดโดยโครงการ Asian Public Intellecutal Fellowship ของมูลนิธินิปปอน ณ ห้องประชุมจุมภฏ บริพัตร จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๖

 

          การพูดถึงศาสนธรรมท่ามกลางความร้อนแรงของสงครามในขณะนี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันมาก แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งแล้ว ทั้ง ๒ ประเด็นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันมาก แม้ว่าการบรรยายในวันนี้ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อรับกับสงครามที่กำลังเกิดขึ้นในอิรัก หากเป็นความบังเอิญที่มาประจวบเหมาะกัน แต่ก็คงจะให้แง่มุมบางประการที่ช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดีขึ้น

 

ยุคแห่งความสุดขั้ว

          กลียุคนั้นมีลักษณะสำคัญประการหนึ่ง คือมีลักษณะสุดขั้วมาก ๆ ถ้าดูให้ดี ยุคนี้จะมีลักษณะสุดขั้วหลายประการ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งความสุดขั้ว ที่จริงคำว่า "ยุคแห่งความสุดขั้ว" นี้ เป็นสมญานามของศตวรรษที่แล้ว อิริค ฮอบสบอม ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ลือชื่อคนหนึ่งเป็นผู้ขนานนามนี้ เนื่องจากศตวรรษที่แล้วมีสงครามและการทำลายล้างที่สุดขั้วมากมายเป็นประวัติการณ์ เช่น สงครามโลกทั้ง ๒ ครั้ง การล้างเผ่าพันธุ์ในยุคนาซี ในอาฟริกา เขมรและ คาบสมุทรบัลข่าน การทำลายชีวิตผู้คนนับแสนในพริบตาด้วยระเบิดปรมาณูในฮิโรชิม่าและนางาซากิ อีกทั้งยังมีการปราบปรามทางการเมืองที่เหี้ยมโหดจนคนตายเป็นล้าน ๆ ในรัสเซียและจีน รวมทั้งความอดอยากหิวโหยจนคนล้มตายอย่างมหาศาลในอาฟริกา

          อย่างไรก็ตามยุคแห่งความสุดขั้วไม่ได้ยุติไปพร้อมกับศตวรรษที่ ๒๐ แต่ยังตามมาถึงศตวรรษนี้ แม้ปรากฏในรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ความสุดขั้วในยุคโลกาภิวัตน์

          ในยุคที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์นี้ มีความสุดขั้วเกิดขึ้นหลายประการ ประการแรกก็คือความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างคนรวยกับคนจน อาทิ

  • คนรวยที่สุดในโลก ๓ คนมีทรัพย์สินรวมกันแล้วมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของประเทศที่ยากจนที่สุด ๔๘ ประเทศรวมกัน
  • คนรวยไม่กี่ร้อยคนมีสินทรัพย์รวมกันเท่ากับคนยากจน ๒,๕๐๐ ล้านคน หรือเกือบครึ่งโลก
  • ในยุคที่มั่งคั่งล้นเหลือ คน ๓,๐๐๐ ล้านคนกลับขาดสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในจำนวนนี้ ๑,๓๐๐ ล้านขาดน้ำ ๘๐๐ ล้านขาดอาหาร

          ความแตกต่างอย่างสุดขั้วทางเศรษฐกิจนี้ ยังเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า ในขณะที่คนนับพันล้านขาดน้ำและสาธารณูปการ ซึ่งหากจะให้คนมีน้ำสะอาดและสาธารณูปโภคพื้นฐานใช้อย่างทั่วถึง ต้องใช้เงิน ๙,๐๐๐ ล้านเหรียญ แต่ปรากฏว่าเงินจำนวนนี้เทียบไม่ได้เลยกับเงินที่คนในยุโรปและสหรัฐจ่ายค่าน้ำหอม ซึ่งมากถึง ๑๒,๐๐๐ ล้านเหรียญ ในทำนองเดียวกันเงินค่าไอศครีมของคนยุโรปรวมกันแล้ว ๑๑,๐๐๐ ล้านเหรียญ ยังมากกว่าเงินที่จำเป็นสำหรับจัดการศึกษาให้แก่คนทั่วโลก คือ ๖,๐๐๐ ล้าน

          นอกจากความสุดขั้วทางเศรษฐกิจแล้ว ยุคนี้ยังมีการแบ่งออกเป็นขั้ว ๆ หลายด้าน เช่น

    • ขั้วตรงข้ามระหว่างสำนึกเรื่องพลโลกและความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนทั้งโลก (globalism) กับการติดยึดกับหมู่พวกแคบ ๆ ของตัว ตามลักษณะเชื้อชาติ ภาษาและศาสนา (tribalism) เช่น ในคาบสมุทรบัลข่าน อาฟริกา อินเดีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา
    • ในขณะที่มีการขยายตัวขององค์การและเครือข่ายระดับโลกทั้งภาครัฐและประชาชน เช่น WTO และสหประชาชาติ ซึ่งนับวันจะอยู่เหนือรัฐทั้งหลาย ก็มีการขยายตัวของเครือข่ายอาชญากรรมใต้ดินระดับโลก เกิดองค์กรแบบอารยะ พร้อมไปกับ องค์กรแบบอนารยะ
    • การแบ่งเป็นขั้วระหว่างโลกแห่งวัตถุนิยมและเทคโนโลยี กับโลกแห่งความเคร่งศาสนาจารีตและพระเจ้า ซึ่งมีผู้ตั้งฉายาว่า McWorld กับ Jihad
    • ความคิดวัตถุนิยมแบบสุดขั้วที่เห็นว่า พฤติกรรมและชะตากรรมทั้งหมดของคนเรา (ไม่เว้นแม้กระทั่งความเจ้าชู้และความเสียสละ) ถูกกำหนดโดยยีนซึ่งอยู่ในเซล ส่วนจิตใจก็เป็นเรื่องของปรากฏการณ์ทางชีวเคมีของก้อนเนื้อที่เรียกว่าสมอง แม้แต่ความเชื่อเรื่องพระเจ้าก็ถูกปลูกฝังมาอยู่ในโครงสร้างของสมองตั้งแต่เกิด ขณะเดียวกันก็เกิดความคิดแบบจิตนิยมสุดขั้วที่มอบชีวิตไว้กับการดลบันดาลของพระเจ้า สำนักทรง ไสยศาสตร์ ลัทธิพิธีที่มีใหม่ ๒-๓ ศาสนาทุกวัน เฉพาะในญี่ปุ่นซึ่งเจริญด้วยเทคโนโลยีมีศาสนาและลัทธิพิธีถึง ๑๒๐,๐๐๐ ศาสนา

 

ลักษณะร่วมในยุคแห่งความสุดขั้ว

          การแบ่งฝ่ายหรือจับกลุ่มกันเป็นขั้ว ๆ โดยมีเส้นแบ่งที่ชัดเจน จะเป็นเส้นแบ่งทางเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา สีผิว และความเชื่อก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันก็คือ เกิดการแบ่งเป็นเขาเป็นเราอย่างชัดเจน และทั้ง ๒ ฝ่ายถูกแยกห่างจากกันมากขึ้นทุกที จนยากที่จะติดต่อสื่อสารกันได้ และทำให้เกิดอคติและความเป็นปฏิปักษ์รุนแรงมากขึ้น ดังเห็นได้จากเหตุการณ์ในบอสเนีย เซอร์เบีย และโครเอเชีย ในอนุทวีป(ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน) ในตะวันออกกลาง (อิสราเอลกับปาเลสไตน์และรัฐอาหรับ) ที่ว่ามาข้างต้นเป็นคู่ปฏิปักษ์ที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีเป็นอย่างน้อย แต่ที่เพิ่มมาใหม่ก็มี อาทิ การพยายามทำให้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับหลายประเทศที่นับถืออิสลามหลังกรณี ๑๑ กันยา ให้กลายเป็นความขัดแย้งทางอารยธรรม ระหว่างอิสลามกับผู้ที่ไม่ได้นับถืออิสลาม แม้กระทั่งสงครามต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งนำโดยสหรัฐ ก็กำลังพาโลกถลำเข้าสู่ยุคสุดขั้วลึกขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีบุชประกาศว่าว่า ถ้าไม่อยู่ข้างสหรัฐ ก็เท่ากับอยู่ข้างพวกก่อการร้าย ในยุคแห่งความสุดขั้ว จะมีการขีดเส้นแบ่งฝักฝ่ายชัดเจน ไม่มีที่ว่างสำหรับฝ่ายที่สามหรือบริเวณที่เป็นสีเทา

 

บทบาทของศาสนา

          น่าสังเกตว่า ความสุดขั้วในศตวรรษก่อน อุดมการณ์การเมืองมีส่วนมาก อาทิ ลัทธินาซี คอมมิวนิสต์ สังคมนิยม ฟาสซิสต์ ลัทธิการเมืองเหล่านี้ทำให้เกิดการแบ่งกันเป็นขั้ว ๆ

          ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยที่ตัวลัทธิการเมืองเหล่านี้ก็มีลักษณะสุดขั้วหรือสุดโต่งอย่างยิ่ง

          แต่ในปัจจุบัน ศาสนากำลังมีบทบาทอย่างสำคัญในการแบ่งผู้คนออกเป็นขั้ว ๆ ดังจะเห็นได้ว่า สงครามและความขัดแย้งในคาบสมุทรบัลข่าน ในอินเดียและปากีสถาน ในตะวันออกกลาง เป็นต้น ล้วนเป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวพันกับศาสนา ในทำนองเดียวกัน คู่ขัดแย้งในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งมีบินลาเดนและบุช เป็นตัวแทน ก็ล้วนอ้างอิงศาสนาหรือพระเจ้าเท่านั้น บุชนั้นเชื่อมั่นเลยว่าพระเจ้าเลือกสรรเขาให้มาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้เขาเปลี่ยนจากคนขี้เมามาเป็นผู้นำโลกในการทำสงครามขจัด "แกนแห่งความชั่วร้าย" ได้แก่อิรัก อิหร่าน และเกาหลีเหนือ บุชนั้นเชื่อว่าการทำสงครามกับอิรักนั้นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าเลยทีเดียว (และเป็นความประสงค์ของบรรษัทข้ามชาติด้านน้ำมันด้วยเช่นกัน) ศรัทธาแนบแน่นในพระเจ้าทำให้เขามั่นอกมั่นใจมากในนโยบายนี้ และไม่ใช้เวลานานเลยในการตัดสินใจประกาศสงครามกับอิรัก ซึ่งหมายถึงการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนนับหมื่นนับแสน (ในทางตรงกันข้าม เขากลับใช้เวลาครุ่นคิดมากเมื่อจะต้องตัดสินใจขัดขวางการวิจัยเซลต้นกำเนิด ซึ่งอาจทำให้การทำแท้งมีมากขึ้น)

 

สาเหตุที่ศาสนามามีบทบาทในการต่อสู้ทางการเมือง

          การที่ศาสนาเข้ามามีบทบาทในการแบ่งฝักฝ่ายและต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ มีสาเหตุหลายประการ อาทิ

๑) ความล้มเหลวของรัฐ การพัฒนา สถาบันและอุดมการณ์ทางการเมืองสมัยใหม่ ในการสร้างความผาสุกแก่ประชาชนโดยเฉพาะระดับล่าง

          ในอดีตประชาชนเคยฝากความหวังไว้กับรัฐว่าจะนำการพัฒนามาสู่ประชาชน แต่ปรากฏว่าความยากจนกลับแพร่ระบาด ประชาชนพลัดที่นาคาที่อยู่ มาแออัดในเมืองโดยไร้อนาคต และหางานทำแทบไม่ได้ ผู้คนเห็นชัดว่าสถาบัน(และอุดมการณ์)ประชาธิปไตย เช่นรัฐสภาเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะถูกควบคุมโดยคนส่วนน้อยที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ส่วนสังคมนิยมก็มิใช่คำตอบอีกต่อไป แม้แต่ลัทธิชาตินิยม ในหลายประเทศเช่นในตะวันออกกลาง ประชาชนรู้สึกว่าลัทธิอุดมการณ์นี้ไม่ได้เป็นทางออกของเขาอีกต่อไป

๒) สิ่งเดียวที่ประชาชนระดับล่างจะไขว่คว้าหาที่พึ่งได้ในยามนี้ ก็คือทุนดั้งเดิม ได้แก่ศาสนา และชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ผูกติดมาแต่ดั้งเดิม ศาสนาได้กลายเป็นเครื่องมือของประชาชน ในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด และต่อต้านการเอาเปรียบทั้งจากชนชั้นนำและจากต่างประเทศ เมื่อศตวรรษที่แล้วลัทธิชาตินิยมก็เคยเป็นเครื่องมือที่ผู้คนในอาณานิคมต่าง ๆ นำมาใช้ในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยม แต่มาถึงศตวรรษนี้ชาตินิยมเริ่มแผ่วเบาลง และมักถูกผูกขาดโดยรัฐหรือผู้ปกครอง ประชาชนระดับล่างหรือคนชายขอบจึงหันไปพึ่งศาสนา ในตะวันออกกลาง สุเหร่าเป็นที่เดียวที่จะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมืองได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำรวจจับ

๓) ประชาชนไม่ได้เข้าหาศาสนาฝ่ายเดียว ศาสนาก็เข้าหาประชาชนด้วย เพราะต้องการประชาชนเป็นกำลังให้แก่ศาสนาในการต่อสู้กับการรุกรานของความคิดแบบโลกย์ (secularism) กับความคิดแบบเสรีนิยม ซึ่งขัดแย้งกับศาสนาในหลายเรื่อง เช่น การเปิดเสรีทางเพศ หรือแม้แต่เสรีในการทำแท้ง ยิ่งกว่านั้นศาสนาในหลายประเทศยังถูกลิดรอนโดยรัฐ และถูกผลักดันให้อยู่ชายขอบ หมดอิทธิพลในสถาบันต่าง ๆ ของสังคม เช่นระบบการศึกษา ทำให้ศาสนารู้สึกว่ากำลังถูกบ่อนทำลาย นับวันจะไม่มีที่ยืนในสังคม จึงจำเป็นต้องลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องตนเอง จึงเกิดลัทธิเคร่งคัมภีร์ หรือ fundamentalism ขึ้นในตะวันออกกลาง อินเดีย ปากีสถาน แม้แต่สหรัฐก็ไม่เว้น ศาสนิกชนที่เคร่งศาสนารวมตัวกันได้มากขึ้นด้วยความรู้สึกดังกล่าว เมื่อผสมกับคนชายขอบที่หันไปหาศาสนาเป็นที่พึ่ง ดังที่กล่าวในข้อ ๒ ได้ทำให้กลุ่มศาสนามีพลังมากขึ้นจนกลายเป็นกลุ่มสำคัญในสังคม

 

ศาสนากับการเมืองแบบอัตลักษณ์

          การเมืองที่ชูประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ (เช่นศาสนา ชาติพันธุ์) กำลังเป็นกระแสใหญ่ในโลกปัจจุบัน เป็นการตอบโต้ของฝ่ายที่รู้สึกว่าตนถูกคุกคามมานาน เป็นการพยายามสู้เพื่อความอยู่รอด และดังนั้นจึงมีลักษณะที่ก้าวร้าว โกรธเกรี้ยว และนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย ต้องไม่ลืมว่าคนเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็รู้สึกแบบนี้ คือเชื่อว่าเยอรมันกำลังถูกคุกคามจากคนยิว ซึ่งด้านหนึ่งร่วมมือกับพวกคอมมิวนิสต์ในรัสเซียซึ่งอยู่ทางตะวันออก ส่วนด้านตะวันตกก็มีภัยจากอังกฤษซึ่งถูกพวกยิวเชิด ความคิดแบบนี้ทำให้ลัทธินาซีของฮิตเลอร์เป็นที่นิยม ยังไม่ต้องพูดถึงคนยิวอีกมากมายในประเทศที่คุมเศรษฐกิจและสื่อมวลชนเอาไว้ ผลก็คือเกิดการทำลายล้างคนยิวถึง ๖ ล้านคนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมไปถึงการทำสงครามทั่วยุโรปตั้งแต่รัสเซียไปถึงอังกฤษ

          การเมืองที่ชูประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ รวมทั้งความรู้สึกว่า ตนกำลังถูกคุกคาม จากศัตรูทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง"ขึ้น ซึ่งกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก และได้รับความนิยมแพร่หลายในแต่ละประเทศ มีอิทธิพลต่อชนชั้นกลางและผู้มีการศึกษามากขึ้นทุกที (ในอินเดียและ ตะวันออกกลาง พวกเคร่งคัมภีร์ซึ่งเคยกระจุกอยู่ในกลุ่มคนยากจน ได้กระจายไปสู่ชนชั้นกลางที่มีการศึกษามากขึ้น ประจักษ์พยานข้อหนึ่งก็คือผู้ที่ก่อเหตุ ๑๑ กันยา หลายคนมีการศึกษาสูงและมาจากครอบครัวที่มีฐานะดี) วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังได้กลายเป็นกระแสใหญ่ในระดับประเทศ ทั้งนี้โดยมีเชื้อจากการแบ่งขั้วในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนุน

 

ความสำคัญของศาสนธรรม

          ศาสนธรรม หรือมิติด้านจิตวิญญาณ ที่เรียกว่า spituality นั้น ไม่ใช่เรื่องผูกขาดหรือจำกัดเฉพาะศาสนาเท่านั้น หากเป็นสิ่งที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน เป็นสภาวะที่แนบแน่นอยู่กับความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน

          ในยุคที่วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังชังแพร่ระบาด ในรูปของเผ่านิยม เชื้อชาตินิยม ศาสนานิยม ศาสนธรรมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยทัดทานกับวัฒนธรรมดังกล่าว จะตระหนักข้อนี้ได้ จำต้องเข้าใจคุณลักษณะของศาสนธรรมหรือความลุ่มลึกในทางจิตวิญญาณ

          คุณลักษณะของศาสนธรรมมีดังนี้

    • การตระหนักถึงความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ ที่ไปพ้นเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา เพศ หรืออุดมการณ์การเมือง รวมไปถึงการตระหนึกในความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพชีวิต
    • เห็นทุกชีวิตมีคุณค่า ที่ควรได้รับความปกป้อง
    • จิตใจแผ่กว้าง มีเมตตากรุณาอันกว้างใหญ่ ไม่เห็นแก่ตัว
    • สัมผัสกับสภาวะที่เหนือกาละและเทศะ เหนือประสบการณ์สามัญของชีวิตประจำวัน
    • ไปพ้นจากการแบ่งแยกเป็นเราเป็นเขาหรือการมองแบบทวิภาวะ .(dualism)

 

วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังกับการมองแบบทวิภาวะ

          วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังตั้งอยู่บนความคิดแบบทวิภาวะ แบ่งเราแบ่งเขา เห็นคนที่ไม่ใช่พวกเดียวกับตนเป็นศัตรู และมองโลกแบบเป็นขาว-ดำชัดเจน โดยเฉพาะคนที่เคร่งศาสนา มักจะตกอยู่ในกับดักแห่งความคิดดังกล่าว คือขีดเส้นความดี-ความชั่วชัดเจน ใครที่ไม่ดีเหมือนตัวหรือคิดเหมือนตัว ก็ประณามว่าเป็นคนชั่ว และเมื่อเป็นคนชั่วเสียแล้ว ย่อมเป็นการชอบธรรมที่จะกำจัดเขาด้วยวิธีใด ๆ ก็ได้

          บินลาเดน มองโลกเป็นขาว-ดำชัดเจน ว่าอเมริกาคือตัวแทนแห่งความเลวร้าย ที่นำความเสื่อมโทรมมาสู่โลกอิสลาม สมควรที่จะถูกทำลายให้สาสม ส่วนบุชก็มองโลกแบบนี้เช่นเดียวกัน คือเห็นอัลเคด้าและอิรัก อิหร่าน เกาหลีเหนือเป็นตัวแทนความชั่วร้าย ที่ต้องจัดการ

          การมองโลกเป็นขาว-ดำ ขีดเส้นความดี-ความชั่วชัดเจน นอกจากจะทำให้มีเหตุผลและความชอบธรรมในการจัดการกับคนที่คิดไม่เหมือนตัว โดยติดฉลากว่าเป็นตัวชั่วร้ายแล้ว คนที่คิดแบบนี้ยังมีแนวโน้มที่จะหมกมุ่นกับการไล่ล่ากำจัดคนชั่วร้าย เพราะทำให้รู้สึกสบายใจว่าได้ทำหน้าที่คนดี และมั่นใจในความเป็นคนดีของตัว ยิ่งกำจัดคนชั่วมากเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกเป็นคนดีมากขึ้นเท่านั้น

          แต่ในความเป็นจริง โลกและชีวิตไม่ได้ขีดเส้นความดีความชั่วได้ง่ายอย่างนั้น ความดีกับความชั่วไม่ได้แยกจากกันเด็ดขาด คนเรามีทั้งดีและชั่วอยู่ด้วยกัน โซลเชนิตซิน นักเขียนรางวัลโนเบลชาวรัสเซีย ซึ่งเคยถูกจองจำในค่ายกักกันของสตาลิน พูดไว้อย่างน่าฟังว่า

          "มันจะง่ายดายสักเพียงใด ถ้าเพียงแต่ว่าคนชั่วร้ายอยู่ที่ไหนสักแห่ง และคอยทำแต่สิ่งชั่วร้าย เราก็แค่แยกคนพวก นั้นออกจากพวกเราแล้วก็ทำลายเขาเสีย เท่านั้นก็จบกัน แต่เส้นแบ่งความดีและความชั่วนั้นผ่าลงไปในใจของมนุษย์ทุกคน ใครเล่าที่อยากจะทำลายส่วนเสี้ยวในใจของตน?"

          ในการกำจัดคนชั่ว เรามีหลักประกันได้อย่างไรว่า เราจะไม่กลายเป็นคนชั่วเสียเอง เหมือนกับที่สตาลิน ฮิตเลอร์ เหมา พอลพต ได้พยายามชำระล้างความชั่วร้ายออกไปจากประเทศของเขา ด้วยการสังหารคนเป็นล้าน ๆ แต่แล้วคนเหล่านี้กลับกลายเป็นตัวแทนแห่งความชั่วร้ายในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ทุกครั้งที่ใช้ความรุนแรงกำจัดคนชั่วร้าย ใช่หรือไม่ว่าความโกรธเกลียดและพยาบาทที่เกิดขึ้นในใจเราจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเราให้กลายเป็นคนชั่วร้ายไปด้วย สุดท้ายกลายเป็นว่าคนชั่วร้ายคนเก่าตายไป แต่คนชั่วร้ายคนใหม่เกิดขึ้นมาแทน ได้แก่เรานั่นเอง

 

การต่อสู้กับวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง

          วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางมาก เพราะให้คำตอบสำเร็จรูป เข้าใจง่ายเนื่องจากมองอะไรเป็นขาว-ดำชัดเจนเจน เช่น ให้คำตอบว่าที่เยอรมันเสื่อมโทรมก็เพราะยิว ศาสนาฮินดูในอินเดียตกต่ำก็เพราะมุสลิม ศาสนาพุทธในเมืองไทยวุ่นวายก็เพราะศาสนาคริสต์และอิสลามอยู่เบื้องหลัง

          ใช่แต่เท่านั้น วัฒนธรรมแบบนี้ยังได้รับการหนุนหลังจากนักการเมือง ที่ต้องการหาคะแนนเสียงด้วยการสร้างความเกลียดชัง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ต้องการหาแพะรับบาปหรือโยนความผิดพลาดไปให้ผู้อื่น ยิ่งสร้างศัตรูภายนอกมาก ๆ ความจงเกลียดจงชังก็จะพุ่งเป้าไปที่คนเหล่านั้น แทนที่จะพุ่งมาที่รัฐบาล

          เราจะต้องถือเป็นภารกิจในการต่อสู้ทัดทานวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง เริ่มต้นด้วยการไม่หลงติดกับการมองแบบทวิภาวะ แบ่งฝักฝ่ายหรือ ขีดเส้นขาว-ดำชัดเจน ตระหนักว่าเราเองก็มีส่วนแห่งความชั่วร้ายที่สามารถแปรเปลี่ยนเราให้กลายเป็นคนชั่วร้ายไม่ต่างจากคนอื่น ๆ

          ความเกลียดชังนั้นเป็นปฏิปักษ์กับความจริง และชอบบิดเบือนความจริง กล่าวคือถ้าอยากจะทำให้ผู้คนเกลียดชังใครสักคนก็ต้องสร้างภาพคน ๆ นั้นให้เป็นยักษ์เป็นมาร และเมื่อเกิดความเกลียดชังแล้ว ก็เห็นเขาไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป ดังนั้นเราจึงต้องพยายามแสวงหาความจริงอยู่เสมอ และปกป้องความจริงมิให้เป็นเหยื่อของความเกลียดชัง

          ในการรักษาใจไม่ให้ถูกครอบงำด้วยความเกลียดชัง นอกจากปัญญาที่แลเห็นความจริงแล้ว เมตตากรุณาก็สำคัญมาก ไม่ใช่เมตตากับคนใกล้ตัวเท่านั้น หากรวมไปถึงคนที่อยู่ไกลออกไป ไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่เป็น "ศัตรู" หรือคนชั่วร้าย ที่มีพฤติกรรมน่ารังเกียจ เมตตากรุณาเช่นนี้แหละที่จะทำให้เรามั่นคงในความเป็นมนุษย์ ไม่เห็นคนเป็นผักปลา แม้เขาจะเป็นคนชั่วร้ายก็ตาม

          เดี๋ยวนี้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะมองคนบางประเภท อาทิอาชญากรว่าไม่ใช่คน ไม่มีสิทธิใด ๆ แม้กระทั่งสิทธิในชีวิต และสมควรถูกกำจัดโดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ใด ๆ ทั้งสิ้น กรณี "ฆ่าทั่วไทย"ในสงครามยาเสพติดเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ผู้คนแทบจะทั้งประเทศพากันแซ่ซร้องสนับสนุนเมื่อเกิดการฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาเสพติด โดยไม่สนใจว่าผู้ฆ่านั้นจะเป็นโจรด้วยกันหรือเป็นตำรวจ เราต้องไม่ลืมว่าแม้ผู้ค้ายาจะเป็นอาชญากรร้ายแรง อย่างน้อยเขาก็ยังมีสิทธิในชีวิตซึ่งอย่าว่าแต่ศาสนาที่ลุ่มลึกเลย แม้แต่กฎหมายอย่างโลก ๆ ก็ให้ความคุ้มครองคนเหล่านั้น ดังนั้นจึงไม่สมควรด้วยประการทั้งปวงที่ประชาชนเรียกร้องสนับสนุนให้รัฐยิงทิ้งคนเหล่านั้น ไม่ว่าด้วยการกระซิบหรือส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นผู้ลงมือโดยอ้างว่าเป็นการฆ่าตัดตอน และสามารถนำยอดคนตายไปเป็นผลงานได้ ถึงอย่างไรเขายังก็เป็นมนุษย์ รัฐไม่มีสิทธิยิงทิ้งเขาตามใจชอบ และถึงแม้ว่าผู้ฆ่าตัดตอนเป็นผู้ค้ายาบ้าเอง เราก็ยังจำต้องค้านนโยบายดังกล่าว ที่เปิดโอกาสให้ผู้ค้ายาบ้าไล่ฆ่ากันเองโดยตำรวจไม่สนใจติดตามดำเนินคดี ทั้งนี้เพราะเขาเป็นประชาชน มีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินว่าเขาเป็นผู้ผิด แม้ถูกตัดสินว่าผิดแล้ว ก็ยังมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ใครจะยิงทิ้งเขาในคุกตามอำเภอใจไม่ได้

          เวลานี้ใครที่ค้านนโยบายดังกล่าวจะถูกกล่าวหาว่า เป็นแนวร่วมผู้ค้ายาบ้าง เห็นว่าชีวิตของพวกค้ายามีความสำคัญมากกว่าตำรวจหรือผู้เสพยาบ้าง นี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าความจริงมักตกเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง แท้ที่จริงการคัดค้านนโยบายดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะรักษาหลักนิติธรรม และการเคารพในสิทธิ ศักดิ์ศรี และคุณค่าของทุกชีวิต ที่สำคัญนี้เป็นการพยายามสถาปนาวัฒนธรรมแห่งสันติและสมานฉันท์ เพราะหากวันนี้ฆ่าคนค้ายาบ้าได้เสรี ต่อไปก็ฆ่าขโมยย่องเบาได้ไม่ยาก จากนั้นก็เป็นการง่ายที่จะฆ่าใครก็ได้ที่เห็นต่างจากรัฐหรือคนส่วนใหญ่ เมื่อไม่มีความอดกลั้น ไม่มีเมตตาธรรม ไม่เคารพกฎหมายหรือหลักนิติธรรม อะไร ๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น ดังที่พวกก่อการร้ายฆ่าคนบริสุทธิ์หากเป็นประโยชน์ต่อแผนการของเขา ทั้งนี้โดยอ้างศาสนา ความยุติธรรม หรือเหตุผลที่สวยสดงดงาม

 

อีกด้านหนึ่งของความสุดขั้ว วัฒนธรรมแห่งความละโมบ

          ในยุคแห่งความสุดขั้ว ไม่ได้มีแค่วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังอย่างเดียว ควบคู่กับวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังก็คือ วัฒนธรรมแห่งความละโมบ ซึ่งมีอิทธิพลไม่น้อยในปัจจุบัน ทั้ง ๒ วัฒนธรรมมีลักษณะตรงข้ามกันหลายอย่างจนอยู่คนละขั้วก็ว่าได้ ขั้วหนึ่งมีลักษณะผลักไส อีกขั้วมีลักษณะพุ่งเข้าหา ขั้วหนึ่งต้องการทำลายให้ดับสูญ อีกขั้วต้องการยึดถือครอบครองให้เป็นอมตะ

          ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งความละโมบ คือ ลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งกลายเป็นกระแสใหญ่อีกกระแสหนึ่งที่ครอบงำทั่วทั้งโลก มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนตั้งแต่เด็กไปถึงผู้ใหญ่ แม้แต่วัยรุ่นก็ยอมขายตัวเพื่อจะได้มีโทรศัพท์มือถือ หรือกระเป๋ายี่ห้อแพง ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่เอาอัตลักษณ์ของตนไปผูกติดอยู่ที่การบริโภค ตัวเองจะมีคุณค่าน่าภาคภูมิใจแค่ไหน ไม่ได้อยู่ที่ว่าทำดีหรือชั่ว แต่ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของสินค้าที่สวมใส่หรือครอบครอง เวลาจะรวมกลุ่ม ก็รวมกลุ่มเพื่อบริโภคมากกว่า เช่นเที่ยวห้าง ดูคอนเสิร์ต หรือรวมกลุ่มในหมู่คนที่ใช้ของยี่ห้อเดียวกัน

          แทบไม่มีมุมไหนของโลกที่ปลอดจากบริโภคนิยม อันเป็นผลจากโทรคมนาคมยุคโลกาภิวัตน์ ดาวเทียมเป็นพาหะอย่างดีสำหรับการโฆษณาและรายการโทรทัศน์ที่กระตุ้นบริโภคนิยม

          เงินกลายเป็นสรณะอย่างใหม่ ผู้คนต่างมุ่งถือเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่ ก่อให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย สังคมจึงเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ การคอรัปชั่น สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ขณะเดียวกันครอบครัวก็ร้าวฉาน ชุมชนแตกแยก เงินกลายเป็นตัวกลางความสัมพันธ์แทนที่ความรักความเอื้ออาทร ต่างเห็นซึ่งกันและกันเป็นเหยื่อที่จะเอาประโยชน์ หรือเป็นศัตรูที่จะมาแย่งผลประโยชน์ ใช่แต่เท่านั้นลึก ๆ ในจิตใจผู้คนก็แปลกแยกกับตัวเอง มีความเครียดและความกลัดกลุ้ม

 

วัฒนธรรมความละโมบกับความยากจน

          วัฒนธรรมแห่งความละโมบทำให้ปัญหาความยากจนเพิ่มขึ้น ในด้านหนึ่งผู้คนตกเป็นทาสของบริโภคนิยม ถอนตัวได้ยากเหมือนติดยาเสพติด เกิดปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะ การมีเครดิตการ์ดอย่างง่ายดายทำให้ภาวะหนี้สินและล้มละลายเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ

          อีกด้านหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งความละโมบ ก็คือการตักตวงทรัพยากร เช่น ที่ดิน แร่ธาตุ ธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อมาตอบสนองลัทธิบริโภคนิยม ในกระบวนการดังกล่าว ทุกสิ่งทุกอย่างถูกแปรให้เป็นสินค้า ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิง เด็ก ประเพณี สัญลักษณ์ทางศาสนา

          สิ่งที่ตามมาคือการทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เกิดปัญหาความยากจน ควบคู่กับการกระจุกตัวของทรัพย์สิน

          โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้ทำให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้น อาทิ

    • การเปิดเสรีทางด้านการนำเข้า ทำให้ชาวนาชาวไร่ขายพืชผลได้น้อยลง
    • การเปิดเสรีทางด้านการลงทุนทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายเร็วเข้า
    • การเปิดเสรีให้แก่อุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้เกษตรกรรายย่อยล้มละลาย หาไม่ก็ต้องพึ่งวัตถุดิบ เช่น ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง ทำให้อาหารมีต้นทุนสูงขึ้น
    • การแปรรูปรัฐวิสาหกิจทำให้สาธารณูปโภคมีราคาแพงขึ้น
    • การลดสวัสดิการและเงินอุดหนุนทางด้านสาธารณูปโภค มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านระดับล่างโดยตรง

 

สองวัฒนธรรมในยุคแห่งความสุดขั้ว ความต่างและความเหมือน

          กล่าวโดยสรุปในยุคแห่งความสุดขั้ว มีวัฒนธรรม ๒ ขั้วที่กำลังบั่นทอนชีวิตและผู้คนทั้ง ๒ มีที่มาและแรงสนับสนุนต่างกัน ในหลายประเทศ วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง เป็นความพยายามของคนชายขอบที่ปกป้องตนเองและตอบโต้ภัยคุกคาม โดยอาศัยอัตลักษณ์และประเพณีดั้งเดิม ขณะที่วัฒนธรรมแห่งความละโมบ มักถูกกำหนดและกำกับโดยกลุ่มอิทธิพลในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติ ทั้งนี้โดยอาศัยเทคโนโลยีและค่านิยมใหม่เป็นเครื่องมือ

          สองกระแสใหญ่ยังมีความแตกต่างกันอีกหลายด้าน กล่าววัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง พยายามปลุกเร้าความกลัว เน้นความมั่นคง ความเป็นกลุ่มก้อน ขาดขันติธรรม และมีเส้นแบ่งความดีความชั่วชัดเจน ขณะที่วัฒนธรรมแห่งความละโมบ ปลุกเร้าความฝัน เน้นเสรีภาพ มีลักษณะปัจเจกนิยม และถือว่าไม่มีอะไรถูก อะไรผิด

          อย่างไรก็ตาม ทั้ง ๒ วัฒนธรรม มีสิ่งหนึ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ต่างมีองค์ประกอบหรือลักษณะของศาสนา เช่น พิธีกรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังทำหน้าที่เหมือนศาสนา กล่าวคือ ทำให้ชีวิตมีค่า มีความหมาย สร้างความเต็มอิ่มให้แก่ชีวิต วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังมีแรงดึงดูดไม่น้อยสำหรับคนที่ต้องการให้ชีวิตของตนมีคุณค่า คนเหล่านี้พร้อมตายได้เพื่อลัทธิศาสนา และเชื้อชาติของตน ส่วนวัฒนธรรมแห่งความละโมบแพร่หลายได้ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้คนรู้สึกว่าวัตถุหรือสิ่งเสพต่าง ๆ ทำให้ชีวิตมีเป้าหมายน่าภาคภูมิใจ ทั้ง ๒ วัฒนธรรมสามารถสร้างความปีติเอิบอิ่มให้แก่ผู้คนได้โดยเฉพาะเมื่อรวมกลุ่มกัน ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มประท้วงและทำลายศัตรูอีกฝ่ายหนึ่ง หรือการรวมกลุ่มกันชมคอนเสิร์ตหรือดูฟุตบอลโลก

          ที่สำคัญคือทั้ง ๒ วัฒนธรรมต่างตอบสนองความต้องการส่วนลึกของตัวตน วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังอาทิ ลัทธิเชื้อชาตินิยมและความเชื่อทางศาสนาแบบเคร่งจารีตหรือ fundamentalism เป็นที่นิยมเพราะตอบสนองความต้องการของผู้คนที่อยากมีตัวตนอมตะ ความเชื่อและความหวังว่า "ตัวตายแต่ชื่อยัง" ทำให้ผู้คนจำนวนมากมายยอมตายเพื่อเชื้อชาติหรือศาสนาของตน ขณะที่คนอีกมากรู้สึกว่าการเอาตัวตนไปผูกติดกับวัตถุสิ่งเสพทำให้รู้สึกว่าตัวตนมั่นคงไม่ว่างเปล่าหรือเคว้งคว้าง

          จะเห็นได้ว่าทั้ง ๒ วัฒนธรรมมีแรงดึงดูดทางด้านศาสนา จึงสามารถจับจิตใจคนได้มาก แม้ในหมู่คนที่ไม่เชื่อศาสนาก็ตาม จะเรียกว่าทั้งสองเป็นศาสนาสมัยใหม่ก็ได้ แต่เป็นศาสนาเทียม ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการส่วนลึกซึ้งของมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน แค่ให้ความสุขชั่วครั้งชั่วคราว อีกทั้งไม่ได้ก่อให้เกิดความสงบสันติแก่โลกได้อย่างแท้จริง

 

เราจะทำอะไรได้บ้าง

          สิ่งที่เราทำได้ในสถานการณ์ดังกล่าวก็คือ

๑) ไม่หลงตกเป็นเหยื่อของศาสนาเทียมเหล่านี้ ดังได้กล่าวแล้วว่าวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังและความละโมบมีแรงดึงดูดทางศาสนา และสามารถมีอิทธิพลในหมู่คนที่ต้องการแสวงหาความหมายของชีวิต นี้ก็ไม่ต่างจากลัทธินาซีที่สามารถดึงดูดหนุ่มสาวและปัญญาชนเยอรมัน ที่มีอุดมคติ จำนวนมาก ให้มาสนับสนุนฮิตเลอร์อย่างสุดจิตสุดใจ ในทำนองเดียวกันลัทธิคอมมิวนิสต์ในรัสเซียและจีน ก็ได้รับความสนับสนุนจากหนุ่มสาวจำนวนมากมาย

          พร้อมกันนั้นเราก็ต้องมีความมั่นคงในจิตใจพอที่จะไม่ยอมให้วัฒนธรรมทั้ง ๒ ขั้วบีบบังคับให้เราเข้าไปสนับสนุนมัน หรือเป็นทาสของมัน แม้จะถูกกล่าวหาว่าไม่รักชาติ รักศาสนา หรือถูกค่อนแคะว่าไม่ทันสมัย ไม่เอาเพื่อนก็ตาม

๒) พยายามเข้าถึงศาสนธรรมที่แท้จริง ซึ่งมีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน ศาสนาที่แท้จริงนั้นสามารถนำทางให้เราเข้าถึงได้ศาสนธรรมหรือความลุ่มลึกทางจิตวิญญาณได้ แต่ศาสนาเทียม รวมทั้งลัทธิเคร่งจารีต อาจนำไปผิดทางได้

          ศาสนธรรมที่แท้ ต้องมีพื้นฐานอยู่ที่สำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ อันได้แก่ความเมตตา ไม่มุ่งเบียดเบียน จิตไม่คับแคบ และมีทัศนะที่ไปพ้นทวิภาวะ ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา หรือขีดเส้นแบ่งดีชั่วชัดเจน จนเป็นสูตรสำเร็จรูป หรือเป็นกลไก ศาสนธรรมที่แท้ยังจะช่วยให้เราเข้าถึงความสุขประณีตจากภายใน ทำให้เราไม่ตกเป็นทาสของวัตถุหรือบริโภคนิยม

          ศาสนธรรมที่แท้ต้องช่วยให้เราตระหนักถึงจุดอ่อนหรือความชั่วร้ายที่แฝงฝังอยู่ในตัวเรา และไม่ปล่อยให้มันเข้ามาเป็นใหญ่ ตระหนักว่ากิเลสอาทิ ความมักใหญ่ใฝ่สูงอาจจะแฝงตัวมาในคราบของอุดมคติหรือแม้แต่กระแสเสียงของพระเจ้าได้ เช่นเดียวกับความโกรธเกลียดสามารถจะผลักดันให้ผู้คนเข่นฆ่าเพื่อนร่วมชาติในนามของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ดังกรณี ๖ ตุลา

๓) ตีแผ่และเปิดเผยความจริงที่ถูกบิดเบือนและปิดบัง ทั้งนี้เพราะความจริงมักเป็นเหยื่ออันดับแรกของวัฒนธรรมทั้ง ๒ขั้ว ขณะที่วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังทำให้คนกลุ่มหนึ่งถูกวาดภาพว่าเป็นตัวเลวร้าย เพียงเพราะต่างเชื้อชาติต่างศาสนา (หรือเพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคนที่มีความเชื่ออันคับแคบดังกล่าว) วัฒนธรรมแห่งความละโมบ ก็ใช้สื่อเพื่อวาดภาพสินค้าให้ดูสวยหรูเลอเลิศ และสามารถดลบันดาลให้ผู้บริโภคกลายเป็นคนใหม่ได้

๔) ร่วมกันยับยั้งมิให้วัฒนธรรมทั้ง ๒ ขั้วแพร่กระจาย ไม่ว่าจะสร้างความเกลียดชัง ความเป็นปฏิปักษ์ในสังคม หรือกระตุ้นตัณหาจนเกิดการเอารัดเอาเปรียบและแย่งชิงทรัพยากร ในการนี้เราควรยับยั้งขัดขวางกลไก มาตรการ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่ส่งเสริมให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ในทางเชื้อชาติศาสนา หรือมุ่งแต่ความเจริญทางวัตถุโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตและความผาสุกในสังคม

๕) ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติและสมานฉันท์ อันมีพื้นฐานอยู่ที่ศาสนธรรมที่แท้จริง กล่าวคือเคารพคุณค่าของชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เห็นสรรพชีวิตเป็นพี่น้องกัน ควรส่งเสริมให้เกิดระบบการศึกษาและสื่อสารมวลชนที่ตั้งมั่นในสัจจะและส่งเสริมภราดรภาพ ไม่ตกเป็นเหยื่อของลัทธิบริโภคนิยมตลอดจนเชื้อชาตินิยมแบบคับแคบ

๖) ผสานศาสนธรรมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการและเครือข่ายภาคประชาชน ทั้งในด้านวิสัยทัศน์และในด้านปฏิบัติการทางสังคม

          การมีวิสัยทัศน์ที่อิงอยู่กับศาสนธรรมหมายถึงการมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ความผาสุกทางจิตใจ มิใช่มุ่งแต่ความเจริญมั่งคั่งทางโภคทรัพย์ ทั้งนี้โดยตระหนักว่าความสุขขั้นสูงสุดคืออิสรภาพทางจิตใจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดชีวิตที่ดีงามทั้งทางกายและใจ ไม่หยุดเพียงแค่อยู่ดีกินดีทางวัตถุ พร้อมกันนั้นก็ช่วยให้ตระหนักถึงความเป็นเอกภาพของมนุษยชาติ ไม่แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย เห็นว่ามนุษย์กับธรรมชาติต้องอยู่อย่างบรรสานสอดคล้อง

          ในด้านปฏิบัติการทางสังคมก็ควรอิงอยู่กับศาสนธรรม กล่าวคือมั่นคงในสันติวิธี มีเมตตาธรรมเป็นพื้นฐาน ไม่ถือเอาความรุนแรงเป็นคำตอบ เปิดโอกาสให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกขั้นตอน มิใช่รวมศูนย์อยู่ที่ผู้นำ ทั้งนี้โดยตระหนักว่าวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังและความละโมบนั้น มีรากเหง้าที่ลึกลงลึกไปในจิตใจของผู้คน ขณะเดียวกันก็ครอบงำกำกับผู้คนผ่านโครงสร้างที่อยู่เหนือตัวบุคคล ความรุนแรงนั้นขจัดได้แค่ตัวบุคคล แต่ไม่สามารถขจัดความเกลียดชังและความละโมบไปจากจิตใจของผู้คนได้ อีกทั้งไม่สามารถสถาปนาโครงสร้างและวัฒนธรรมอันสันติขึ้นมาได้ มีแต่สันติวิธีเท่านั้นที่จะเปลี่ยนจิตใจของผู้คนและนำโครงสร้างใหม่มาแทนที่ได้

          พลังของศาสนธรรมอีกประการหนึ่งก็คือ ความสามารถในการประสานผู้คนให้เชื่อมโยงถึงกันจนเกิดเป็นเครือข่ายระดับโลก ดังเห็นได้จากกระแสต่อต้านสงครามอิรักที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นทุกมุมโลก และกำลังจะเชื่อมโยงกันหนาแน่นมากขึ้นทุกที ทั้งนี้เพราะมีความสำนึกร่วมกัน อันได้แก่ความเอื้ออาทรและความสำนึกในภราดรภาพระหว่างมนุษยชาติ แม้คนเหล่านี้จะต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างภาษาก็ตาม สำนึกดังกล่าวได้ทำให้คนเล็กคนน้อยกลายเป็นพลังระดับโลกที่มหาอำนาจนึกไม่ถึง แม้วันนี้จะยังไม่อาจยับยั้งผู้นำที่คลั่งอำนาจได้ แต่หากสงครามยืดเยื้อนานวัน พลังของเครือข่ายสันติภาพทั่วทั้งโลกย่อมแข็งแกร่งจนอาจยุติสงครามนี้ได้ในที่สุด

          สงครามฉันใด วัฒนธรรมสุดขั้วทั้ง ๒ กระแสก็ฉันนั้น เครือข่ายประชาชนระดับโลกที่มีศาสนธรรมเป็นพื้นฐาน ย่อมสามารถทัดทานมิให้นำพาโลกสู่หายนะได้ในที่สุด แต่จะทำเช่นนั้นได้เราต้องเริ่มต้นด้วยการกลับไปค้นหาศาสนธรรมในตัวเราให้พบ และนำมาเป็นพลังในการฝึกฝนตนและสร้างสรรค์สังคมอย่างไม่รู้จักย่อท้อหรือสิ้นหวัง.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :