เสขิยธรรม
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ชีอะฮ์

จรัญ มะลูลีม
มุมมุสลิม มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑๑๘๕ หน้า ๒๕

 

         อีกไม่ช้าไม่นานผู้อ่านจะได้พบว่า พลังที่จะขึ้นมาท้าทายอำนาจของสหรัฐ และรัฐบาลหุ่นของสหรัฐ ก็คือ ประชากรผู้มาจากสำนักคิดชีอะฮ์ ซึ่งมีอยู่ร้อยละ ๖๐ ในอิรัก และนับวันการไม่ยอมรับสหรัฐจะมาจากคนเหล่านี้มากขึ้นทุกที

          อิมามโคมัยนีเคยประกาศนโยบายไม่เอาทั้งตะวันตกและตะวันออก (Neither East Nor West) มาแล้ว เวลานี้ชาวชีอะฮ์อิรักประกาศไม่เอาสหรัฐ แต่ยืนยันที่จะใช้แนวทางอิสลามมาปกครองประเทศ ดังที่เราจะได้เห็นสโลแกน Yes to Islam และ No to American อยู่ทั่วไป

          ในขณะที่สหรัฐก็ยืนยันว่าจะไม่ให้มีการใช้แนวทางประชาธิปไตยหรือ Political Islam แบบอิหร่านเข้ามาในหมู่ประชาชนอิรัก ทั้งๆ ที่สหรัฐบอกว่าจะให้เสรีภาพต่ออิรัก แต่กลับไม่ยอมให้ชาวอิรักเลือกวิธีการปกครองของตนเอง ทั้งนี้ก็เพราะสหรัฐรู้ว่าถ้าอิรักปกครองแบบรัฐอิสลาม สหรัฐก็จะสูญเสียผลประโยชน์อย่างที่เคยสูญเสียมาแล้วในอิหร่านตลอด ๒๕ ปีที่ผ่านมา

          ดังนั้น อนาคตของอิรักจะมาจากอิทธิพลหลากหลาย ทั้งจากสหรัฐ อิหร่าน และโลกมุสลิม

          อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นพลังผลักดันสำคัญของชาวชีอะฮ์ ที่ยืนหยัดต่อสู้มาตลอดนั้นน่าจะอยู่ในคำสอนของสำนักคิดชีอะฮ์เอง

          ในบทความนี้จะพยายามชี้ให้เห็นว่าแนวคิดชีอะฮ์ (Shi"ism) มีบทบาทต่อความนึกคิดของผู้คนอย่างไร

          ความแตกต่างระหว่างกลุ่มชีอะฮ์กับกลุ่มมุสลิมกลุ่มอื่นๆ เป็นปัญหาในเรื่องผู้นำของชุมชนมุสลิม ถึงแม้ว่าความคิดเห็นแตกต่างกันนี้จะมีมาตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว แต่ก็ปรากฏชัดเจนขึ้นในสมัยของผู้นำที่ชื่อ มุอาวิยะฮ์ (MU"AWIYAH)

          เมื่อมุอาวิยะฮ์ ยึดอำนาจเป็นประมุขของมุสลิมได้ กลุ่มพรรคพวกของท่านอาลี (ALI) ที่สูญเสียอำนาจก็เริ่มเรียกตัวเองว่า ชีอะฮ์อาลี (พรรคพวกของอาลี) ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าชีอะฮ์

          ความแตกแยกนี้เกิดชัดเจนขึ้นหลังจากการต่อสู้ที่เมืองกัรบาลา (KARBALA) เมื่อวันที่ ๑๐ เดือน มุหัรร็อม ฮศ.๖๑ หรือ วันที่ ๑๐ ตุลาคม ค.ศ. ๖๘๐

          เหตุการณ์ที่กัรบาลานี้คือการฆ่าหมู่ โดยกองทหารจำนวน ๔,๐๐๐ คนของยาซิด (YAZID) บุตรชายของมุอาวิยะฮ์ได้เข้าล้อมอิมามฮูเซน (HUSAYN) บุตรชายของท่านอาลี ผู้เป็นหลานของท่านศาสดามุฮัมมัดซึ่งมีกองกำลังประมาณ ๒๐๐ คนเท่านั้น

          เมื่อฝ่ายของท่านฮูเซนไม่ยอมแพ้ฝ่ายของยาซิด กองทัพฝ่ายยาซิดก็ได้ปราบฝ่ายของท่านฮูเซนอย่างรุนแรงจนฝ่ายหลังสิ้นชีวิตไปทุกคนไม่มีเหลือ เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์นี้ มุสลิมชีอะฮ์จึงได้จัดวันแสดงความเศร้าในเดือนนี้ ขึ้นเป็นวันแห่งการไว้อาลัยถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

          ความปรารถนาที่จะมีความยุติธรรมและเกลียดกลัวการปกครองอย่างกดขี่นี้ มิใช่จะเกี่ยวข้องเฉพาะแต่ผู้นำของชีอะฮ์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องในระดับคนธรรมดาด้วย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแนวเรื่องที่สำคัญของนิกายชีอะฮ์ก็คือ การสละชีพเพื่อศาสนาของอิมามฮูเซนที่กัรบาลา (Karbala) หลังจากที่ท่านแข็งข้อต่อยาซิด (Yazid) แต่ไม่ได้ผล ท่านก็ต้องสิ้นชีวิตด้วยน้ำมือของพวกอุมัยยะฮ์ (Umayyad) นั้นฝังอยู่ในความสำนึกของชาวชีอะฮ์อย่างลึกซึ้ง

          ไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ หรือเป็นข้อที่น่าจดจำในเรื่องความเคร่งศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นความเป็นจริงอันมีชีวิตชีวาที่มีอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ด้วย ในตัวของท่านอิมามฮูเซน จะแลเห็นความปรารถนาที่จะได้รับความยุติธรรม กำลังเผชิญหน้ากับผู้ปกครองที่กดขี่ และผู้ที่ร้องไห้คร่ำครวญ เมื่อนึกถึงการสิ้นชีวิตของท่าน ก็ต้องร่ำไห้ให้แก่ความพ่ายแพ้ของความปรารถนานั้นในโลกปัจจุบันนี้ด้วย และเพื่อที่พวกเขาจะไม่เพียงแต่เศร้าโศกในการสิ้นชีพของท่าน

          พวกเขาก็จะต้องพิสูจน์ว่าการเสียสละของท่านนั้นเป็นสิ่งที่มีค่า พวกเขาจะต้องทำตามตัวอย่างของท่านและต่อสู้กับการกดขี่ที่กำลังมีอยู่ในปัจจุบัน

          ดังนั้น การต่อสู้ของอิมามฮูเซนต่อพวกอุมัยยะฮ์ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างความยุติธรรมกับการปกครองแบบกดขี่ รัฐบาลเผด็จการทุกรัฐบาลถูกถือว่าเป็นเหมือนกับกษัตริย์ในราชวงศ์อุมัยยะฮ์ และในบางครั้งก็สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์นั้นจริงๆ ด้วย

          ในสมัยกอญัรเมื่อนักการศาสนาต่อสู้กับกษัตริย์ก็ได้ขนานนามกษัตริย์ว่า "ยาซีดแห่งสมัยนั้น"

จุดยืนของกลุ่มชีอะฮ์

          ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าปัญหาเรื่องผู้สืบต่อจากท่านศาสดามุฮัมมัด ศาสดาท่านสุดท้ายของอิสลามก็คือจุดเริ่มของความแตกต่างระหว่างกลุ่มชีอะฮ์กับมุสลิมคนอื่นๆ ฝ่ายชีอะฮ์ถือว่าผู้สืบต่อจากท่านศาสดานั้นท่านศาสดาเองเป็นผู้เลือกท่านอาลีไว้แล้ว

          เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ท่านศาสดามุฮัมมัดมิได้กำหนดผู้ใดไว้เป็นคอลีฟะฮ์หรือที่ตะวันตกเรียกว่ากาหลิป (Caliph) สืบต่อจากท่าน

          การที่ท่านแต่งตั้งท่านอบูบักร์ ให้เป็นอิมานผู้นำการละหมาดในระหว่างที่ท่านกำลังป่วยนั้น บางคนถือว่าเป็นการแต่งตั้งผู้สืบต่อของท่าน

          แต่ทางกลุ่มชีอะฮ์ถือว่าท่านศาสดาได้แต่งตั้งท่านอาลีไว้แล้ว เพราะเมื่อท่านศาสดากลับมาจากการทำฮัจญ์ครั้งสุดท้ายของท่าน ท่านศาสดาได้หยุดอยู่ที่เมืองกูม (QUM) และที่นั่นท่านก็ได้กล่าวแก่ผู้คนที่เดินทางมากับท่านด้วยว่า "สำหรับฉัน อาลีนั้นเป็นเหมือนที่ศาสดาฮารูนเป็นต่อศาสดามูซา โอ้อัลลอฮ์ผู้ทรงอานุภาพ ! จงเป็นมิตรต่อผู้ที่เป็นมิตรของเขาและเป็นศัตรูต่อศัตรูของเขา จงช่วยผู้ที่ช่วยเขา"

          และยังกล่าวไว้ด้วยว่า ในอีกโอกาสหนึ่งท่านศาสดาได้กล่าวว่า "ฉันคือเมืองแห่งความรู้ และอาลีคือประตูของเมืองนั้น"

          เรื่องนี้รวมกับเรื่องที่ว่า ท่านอาลี เป็นลูกพี่ลูกน้องของท่านศาสดาและยังเป็นสามีของบุตรีของท่านศาสดาผู้เป็นที่น่านับถือที่สุด คือท่านหญิงฟาติมะฮ์ด้วย จึงทำให้เรื่องราวที่กลุ่มชีอะฮ์กล่าวมาดูมีเหตุผลอย่างมาก ทั้งๆ ที่อิสลามมีแนวโน้มในทางประชาธิปไตยก็ตาม

          กลุ่มชีอะฮ์ถือว่าผู้สืบต่อจากท่านศาสดา ควรจะเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าเช่นเดียวกับท่านศาสดา พวกเขาถือว่าผู้สืบต่อท่านศาสดา และประมุขของชาวมุสลิมไม่ควรได้รับการแต่งตั้งจากประชาชน เพราะการเลือกตั้งของประชาชนมักจะผิดพลาดอยู่บ่อยๆ ดังนั้น พวกชีอะฮ์จึงเชื่อว่าตำแหน่งผู้นำต้องเป็นของท่านอาลีไม่ใช่ผู้อื่นใด

          ความแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างกลุ่มชีอะฮ์กับกลุ่มซุนนี ก็คือ ทางฝ่ายชีอะฮ์ถือว่าประมุขของพวกเขา (อิมาม) ไม่เคยมีอะไรผิดพลาด ไม่มีที่ตำหนิเลย แต่ฝ่ายซุนนีถือว่าถึงแม้คอลีฟะฮ์ก็ยังถูกปลดได้

          กลุ่มซุนนีมักจะตีความกุรอานตามตัวอักษร ในขณะที่กลุ่มชีอะฮ์เน้นถึงความหมายภายในของอัล-กุรอาน พวกเขายอมรับความมีอำนาจของหะดีษ (คำสอนของท่านศาสดา) ในฐานะที่เป็นต้นกำเนิดของกฎหมายอิสลาม (ชาริอะฮ์) แต่พวกเขายอมรับเฉพาะหะดีษซึ่งผู้ถือตามท่านอาลีเท่านั้นเป็นผู้รายงาน

          สำหรับมุสลิมชีอะฮ์นั้น ศาสนาอิสลาม ก็คือวิถีทางอันสมบูรณ์ของชีวิตซึ่งเพียงพอที่จะเป็นทางนำแก่ผู้มีศรัทธาทั้งปวงซึ่งจะพบในพระคัมภีร์กุรอาน หะดีษ และสุนนะฮ์ (คือการปฏิบัติตน) ของอิมามรวมทั้งความคิดและบัญญัติของทายาททางด้านจิตวิญญาณของอิมาม นักการศาสนาของชีอะฮ์จะต้องเป็นแหล่งแห่งความรู้ทั้งมวล และเป็นแนวนำสำหรับการประพฤติปฏิบัติตน

          หน้าที่ของนักการศาสนามีอยู่สองอย่าง หน้าที่อันสำคัญอันดับแรกคือ ปลูกฝังด้วยการสั่งสอนให้ซึมซาบซึ่งอุปนิสัยบางอย่าง ในเรื่องความคิดการพิจารณาซึ่งสอดคล้องกับอุดมคติแก่คนทุกกลุ่มในสังคม หน้าที่อันดับที่สองคือสร้างและรักษาไว้ ซึ่งกลุ่มนักวิชาการและครูบาอาจารย์จะเป็นผู้ที่รักษาหลักการของสถาบันแห่งศาสนาไว้ด้วยความรู้ของเขา และจะได้รับความนับถือและความไว้วางใจจากประชาชนโดยแบบอย่างแห่งชีวิตอันทรงคุณค่าของพวกเขา

          ที่ผ่านมาฐานแห่งอำนาจของนักการศาสนาชีอะฮ์ในอิหร่านลำดับแรกก็คือ การสร้างหลักการชีอะฮ์สาขาอิมามสิบสอง และทฤษฎีด้านกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นก่อนการสร้างรัฐชีอะฮ์ในอิหร่านตั้งหลายศตวรรษ หลักการของชีอะฮ์จึงเป็นอิสระไม่เหมือนกับหลักการของซุนนี ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล ซึ่งอ้างว่ามีอำนาจสูงสุดทางการปกครองและการเมือง กลุ่มชีอะฮ์ไม่มีผู้ปกป้องทางการเมืองซึ่งจะทำให้อำนาจของนักการศาสนาอ่อนแอลง และตามทฤษฎียังสามารถปฏิเสธอำนาจสูงสุดที่อ้างโดยรัฐใดๆ ได้ด้วย มาติดตามดูว่าชาวชีอะฮ์ในอิรักภายใต้แรงกดดันจากสหรัฐ จะเดินตามแนวทางของชาวชีอะฮ์ในอิหร่านได้หรือไม่ ?

          ชาวอิรักในวันนี้ยังตกอยู่ในภาวะสับสนอลหม่าน บ้านเมืองยังไม่สงบ กลุ่มอุดมการณ์กำลังสร้างความเข้มแข็งและอำนาจการต่อรองมากขึ้น แต่ที่น่าจับตามากที่สุดก็คือชาวชีอะฮ์ในอิรักที่นิยมแนวทางการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน และต้องการให้แนวทางดังกล่าวได้หยั่งรากลงในอิรัก

          อย่างไรก็ตาม อีกร้อยละ ๔๐ ที่เหลือของชาวอิรักนั้นเป็นทั้งชาวซุนนีและชาวเคิร์ด ดังนั้น ในอนาคต ถ้าชาวอิรักจะได้มีโอกาสปกครองตนเอง คนทุกกลุ่มชาติพันธุ์และทุกศาสนา ทุกสำนักคิดจะต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ มิฉะนั้น ความไม่สงบอย่างถาวรก็จะคงอยู่ต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :