เสขิยธรรม
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
การนั่งสมาธิแฟชั่นล่าสุดของตะวันตก
สิทธพงศ์ อุรุวาทิน แปลและเรียบเรียงจาก นิตยสารไทม์ ฉบับ ๔ ส.ค.๒๕๔๖
จุดประกายสารคดี วันพฤหัสที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๖
กรุงเทพธุรกิจ : จุดประกาย หน้า ๓

 

          การนั่งสมาธิกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในซีกโลกตะวันตก ขณะที่ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันว่า การทำสมาธิ ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย หากยังทำให้ความเครียดในใจลดลงด้วย

          ทุกวันนี้ในอเมริกา มีคนวัยผู้ใหญ่มากกว่า ๑๐ ล้านคน ที่นั่งสมาธิเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิในแบบพุทธ ฮินดู เต๋า หรือการสวดภาวนาในแบบคริสต์ ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เพิ่มขึ้นจากเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วถึงเท่าตัว ขณะเดียวกันชั้นเรียนการนั่งสมาธิ ก็เต็มไปด้วยนักเรียนที่มาจากทุกชนชั้นอาชีพ ไม่เฉพาะแต่คนที่ฝักใฝ่ในทางธรรมเท่านั้น หากยังรวมไปถึงนักกฎหมาย และคนทำงานออฟฟิศทั่วไปด้วย

          ในปัจจุบัน การนั่งสมาธิ ไม่ได้เป็นเรื่องยากลำบาก ถึงขั้นต้องบุกป่าฝ่าดงเพื่อฝากตัวเป็นสาวกท่านมหาฤาษีเหมือนในสมัยก่อน ว่ากันจริงๆ แล้ว การนั่งสมาธิกลายเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงแล้วด้วยซ้ำ ตามโรงเรียน โรงพยาบาล สำนักงานกฎหมาย หน่วยงานราชการ สำนักงานบริษัท และแม้แต่ในเรือนจำ

          การนั่งสมาธิ กลายเป็นหัวข้อวิชาในหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อแนะนำของฟิลแจ็คสัน โค้ชทีมแอลเอ.เลเกอร์ส ส่วนที่มหาวิทยาลัยมหาริชชี (หรือมหาฤาษี) ในเมืองแฟร์ฟิลด์ รัฐไอโอวา นักเรียน นักศึกษาของที่นี่ จะนั่งสมาธิร่วมกันทุกวันๆๆ ละ ๒ ครั้ง ขณะที่ศูนย์ชัมบาลา เมาน์เทน ในโคโลราโด ซึ่งดูเหมือนสถานกาสิโนในสไตล์ทิเบต มีคนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก ๑,๓๔๒ คน ในปี ๒๕๔๑ เป็น ๑๕,๐๐๐ คน ในปีนี้

          ดารา นักการเมือง และผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากในอเมริกาหันมานั่งสมาธิอย่างจริงจัง อาทิ โกลดี้ ฮอว์น ดาราสาวใหญ่ที่ยังสวยไม่สร่าง, ชาไนยา ทเวน นักร้องคันทรีสาวสวย, ฮีทเธอร์ แกรมห์ ดาราสาวหุ่นเซกซี่, ริชาร์ด เกียร์ นักแสดงมากฝีมือ และ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดี ซึ่งเกือบๆ จะได้เป็นประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

          ขณะที่การนั่งสมาธิกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้น รูปแบบและวิธีการของมัน ก็ถูกทำให้เรียบง่าย และตัดส่วนที่เป็นเรื่องลี้ลับออกไปด้วย ทุกวันนี้ การนั่งสมาธิไม่จำเป็นต้องมีการจุดธูปเทียน หรือพิธีกรรมเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ แต่ยังคงส่วนที่เป็นแก่นสำคัญอยู่ คือ ความเชื่อที่ว่า การนั่งเงียบๆ เป็นเวลา ๑๐-๔๐ นาที โดยให้ใจจดจ่ออยู่กับรูปภาพ ถ้อยคำหรือแม้แต่ลมหายใจ จะทำให้คุณเกิดสมาธิที่อยู่กับภาวะปัจจุบัน โดยไม่วอกแวกไปกับอดีตที่ผ่านไปแล้วหรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง รวมทั้งทำให้คุณสามารถเข้าสู่สัจธรรมได้

          ความนิยมในการนั่งสมาธิที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นแค่กระแสในทางวัฒนธรรมเท่านั้น หากยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ด้วยเนื่องจากแพทย์หลายคนแนะนำว่า การนั่งสมาธิช่วยป้องกัน หรืออย่างน้อยก็ยับยั้งความเจ็บปวดจากโรคเรื้อรัง อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ การนั่งสมาธิ ยังเป็นสิ่งที่แพทย์แนะนำให้ทำ เพื่อแก้อาการทางจิต อาทิ ภาวะซึมเศร้า (depression) ภาวะไฮเปอร์แอคทีฟ (hyperactivity) และอาการสมาธิสั้น(attention deficit disorder)

          การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องการนั่งสมาธิ มีขึ้นเป็นครั้งแรก ในช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐-๒๕๑๐ ซึ่งได้ผลลัพธ์ยืนยันว่า การนั่งสมาธิทำให้จิตใจ "อยู่กับปัจจุบัน" อย่างแท้จริง

          ในอินเดีย นักวิจัยชื่อ พี.เค.อนันต์ พบว่า บรรดาโยคีที่อยู่ในภาวะ "สมาธิ" จะไม่มีปฏิกิริยาใดๆ แม้ว่าจะถูกวัตถุร้อนแนบเข้าที่ต้นแขน ขณะที่ในญี่ปุ่น ผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชื่อ ที.ฮิราอิ แสดงให้เห็นว่า ผู้นั่งสมาธิแบบ "เซน" จะอยู่ในภวังค์ จนไม่ได้ยินเสียงนาฬิกาปลุกที่ดังติดต่อกันนานถึงชั่วโมง

 

ประวัติศาสตร์การนั่งสมาธิ

          การนั่งสมาธิเป็นศาสตร์เก่าแก่เกือบจะพอๆ กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับศาสตร์ของโลกตะวันออก

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ - ความเชื่อของพ่อมดหมอผี

ไม่มีใครรู้แน่ว่า การนั่งสมาธิเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ แต่คาดว่า น่าจะมีขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายพันปีที่แล้ว และอาจเป็นพิธีกรรมที่จำกัดเฉพาะพ่อมดหมอผี หรือคนที่เชื่อว่ามีอำนาจติดต่อกับโลกวิญญาณที่คนทั่วไปมองไม่เห็น

๒๐๐๐-๓๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล-ศาสนาพราหมณ์

การนั่งสมาธิมีกล่าวถึงในคัมภีร์พระเวทของศาสตร์พราหมณ์ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดูนับตั้งแต่นั้นมา

๕๘๘ ปี ก่อนคริสตกาล-ศาสนาพุทธ

หลังจากนั่งสมาธิใต้ต้นโพธิ์ เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงบรรลุนิพพานเข้าถึงสัจธรรมของศาสนาพุทธ ทำให้การนั่งสมาธิกลายเป็นส่วนสำคัญของศาสนาพุทธทุกนิกาย

คริสต์ศตวรรษที่ ๒ -ศาสนาคริสต์

บาทหลวงชาวคริสต์ที่เรียกตัวเองว่า เดสเสิร์ท ฟาเธอร์ หรือคุณพ่อแห่งท้องทะเลทราย ปลีกวิเวกจากสังคมเมือง และใช้การทำสมาธิในรูปของการสวดภาวนา เป็นหนทางเข้าใกล้พระเจ้า นับจากนั้นเป็นต้นมา การทำสมาธิ ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาคริสต์

คริสต์ศตวรรษที่ ๒ -ศาสนายิว

นิกายบาลิสติค อันเป็นนิกายลึกลับของศาสนายิว ให้ความสำคัญกับการทำสมาธิ เพื่อติดต่อสื่อสารกับพระเจ้า

คริสต์ศตวรรษที่ ๒ -ศาสนาอิสลาม

ในช่วงเวลาเดียวกัน ชาวมุสลิมนิกายซูฟี ทำให้การทำสมาธิ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา

ค.ศ.๑๙๖๗ หรือ พ.ศ. ๒๕๑๐ โยคะตามแบบมหาริชชี

มหาริชชี หรือมหาฤาษี ทำให้การนั่งสมาธิกลายเป็นแฟชั่นของโลกตะวันตก เมื่อสมาชิกวงเดอะ บีทเทิลส์ กลายเป็นสานุศิษย์ของท่าน

          ในปี ๒๕๑๐ ดร.เฮอร์เบิร์ท เบนสัน ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ จากฮาร์วาร์ด ใช้เครื่องมือแพทย์ ตรวจวัดการทำงานของร่างกาย ผู้นั่งสมาธิ ๓๖ คน พบว่าเมื่อคนเราอยู่ในภาวะสมาธิ ร่างกายจะใช้ออกซิเจนน้อยลง ๑๗% ขณะที่อัตราการเต้นของหัวใจจะลดลง จากภาวะปกตินาทีละ ๓ ครั้ง ขณะที่คลื่นสมอง "เธต้า" อันเป็นคลื่นสมองที่เกิดขึ้น ในภาวะหลับสนิท จะเพิ่มสูงขึ้น

          เบนสัน สรุปว่า การนั่งสมาธิช่วยให้คนเรามีจิตใจที่สงบขึ้น และมีความสุขมากขึ้น

          "สิ่งที่ผมทำ" เบนสัน ระบุ "เป็นการอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ ต่อเทคนิคที่คนเราได้เรียนรู้ และนำมาประยุกต์ใช้ ตั้งแต่เมื่อหลายพันปีที่แล้ว"

          การศึกษาเรื่อง การนั่งสมาธ ิเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เมื่อเดือน มี.ค ๒๕๔๓ เมื่อองค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งธิเบต ได้พบปะพูดคุยกับนักจิตวิทยา และนักวิทยาศาสตร์ด้านระบบประสาท ที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ซึ่งพระองค์เสนอให้มีการศึกษาเรื่อง ภาวะสมาธิ โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ในการตรวจวัดคลื่นสมอง ซึ่งจะมีการหารือผลของการศึกษานี้ ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

          สิ่งหนึ่งที่วงการวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้ ก็คือการปฏิบัติสมาธิในระยะหนึ่ง จะทำให้ระบบประสาทในสมอง ปรับตัวให้เข้ากับกิจกรรมในสมองส่วนตัว ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การคิดโดยใช้เหตุผล การตระหนักรู้ และการควบคุมอารมณ์มากขึ้น

          "การศึกษาวิจัยในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ทำให้เราพบว่า การนั่งสมาธิ เป็นยารักษาอาการเครียดได้ชะงัดนัก" แดเนียล โกลแมน ผู้เขียนหนังสือ Destructive Emotions ซึ่งรวบรวมบทสนทนาระหว่างองค์ทะไล ลามะ กับคณะนักประสาทวิทยากล่าว "แต่ที่น่าตื่นเต้นกว่านั้น ก็คือ นั่งสมาธิ ยังช่วยปรับสภาพจิตใจและสมองได้อีกด้วย"

          ทั้งนี้ ผลการวิจัย ซึ่งรวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน พบว่า การนั่งสมาธิทำให้สมองกลับมาอยู่ในสภาพ "สด-ใหม่" รวมถึงขจัดอาการ "ปัญหาจราจรติดขัด" ในเส้นเลือด หรืออาการเส้นเลือดอุดตัน และที่สำคัญ ต้นทุนในการนั่งสมาธิ ซึ่งใช้เพียงแค่เบาะรองนั่งใบเดียว ก็ถูกกว่าการผ่าตัดใหญ่หลายเท่าตัว

          "การนั่งสมาธิเป็นเหมือนการเติมน้ำมันให้กับสมอง" โรเบิร์ท เธอร์แมน ผู้อำนวยการสถาบันทิเบต เฮาส์ กล่าว "การนั่งสมาธิในแบบเอเซีย อาจเป็นวิธีที่เป็นธรรมชาติที่สุด"

          "อีกอย่างที่ผมอยากจะเสนอ ก็คือเราควรแยกออกจากกัน ระหว่างการนั่งสมาธิกับการนับถือศาสนาพุทธ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาหรือความเชื่อแบบใด คุณก็สามารถนั่งสมาธิในแบบพุทธได้" เธอร์แมน กล่าว.. .

 
หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :