เสขิยธรรม
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เปิดแผน "สื่อ" พระสงฆ์ไทย
เตรียมตั้งเครือข่ายทีวี-วิทยุ
ต่อ "อินเตอร์เน็ต" วัดทั่วประเทศ


ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุ
มติชนรายวัน วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๔๐๖ หน้า ๑๗

          ผ่านมาห้าปีเศษแล้วคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นมาเป็นตัวเป็นตน

          ขณะที่เวลาหมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอๆ กับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น การผลักดันให้เกิด กสช.ยังเป็นความหวังของทุกฝ่ายที่อยากเห็นเรื่องของสื่อเป็นเรื่องของประชาชน

          ไม่เฉพาะประชาชนธรรมดาสามัญ พระภิกษุสงฆ์เอง ก็มีความหวังในเรื่องนี้เช่นกัน

          เชื่อหรือไม่? สถาบันศาสนา หรือพระสงฆ์ของไทยเราเวลานี้ได้วางแผนงานเรื่อง "สื่อ" ที่จะใช้ในการดำเนินกิจการทางพุทธศาสนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว

          รอเพียงว่าแต่งตั้ง กสช.ขึ้นมาเมื่อไหร่ แผนงานสื่อของพระสงฆ์สามารถนำออกมาวางแบบใช้งานได้เมื่อนั้น

          สื่อที่พระสงฆ์วางแผนงานไว้เรียบร้อยแล้วนั้น ตั้งเป้าว่า ให้เป็นช่องทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ดำรงสืบต่อไป

          โดยเป็นความร่วมมือหารือกันระหว่างพระภิกษุสงฆ์ นักวิชาการ นักการเมือง มีชื่อว่า "แผนแม่บทการจัดตั้งศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย"

          เวลานี้แผนได้ส่งต่อไปยังสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วเช่นกัน รอแค่ กสช.เกิดเท่านั้น

          สมเกียรติ อ่อนวิมล ส.ว.สุพรรณบุรี อธิบายถึงรายละเอียดแผนแม่บทการจัดตั้งศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ว่าสองปีที่แล้วก่อนปฏิรูปกระทรวง ทบวง กรม ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง พระสงฆ์ ช่วยกันร่างแผนดังกล่าวขึ้น โดยประสานกับทางพระคุณเจ้าที่มหาจุฬาฯ

          "อธิการบดีมหาจุฬาฯนั้นรับคำสั่งจากมหาเถรสมาคมให้ดำเนินการ ผมก็ไปร่วมวางแผนด้วย และยังมีพระผู้ใหญ่ เช่น พระศรีปริยัติโมลี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ พระมหาต่วน สิทธิธัมโม อาจารย์คณะพุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการขององค์การศาสนา ๒ สำนักงาน อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ก็ไปประชุมด้วย ประชุมกันหลายครั้งจนได้แผนออกมา

          อาจารย์สมเกียรติเล่าถึงแผนว่า มีองค์ประกอบแบ่งเป็น ๕ ส่วน ประกอบด้วย ๕ สื่อ คือ สื่อที่ ๑.วิทยุกระจายเสียง จะมีสตูดิโอส่งสัญญาณ เสาอากาศคลื่นส่งอยู่ที่พุทธมณฑล เพราะมีอาคารว่างอยู่เยอะแยะ แล้วให้ทำงบประมาณผูกพันในการศึกษาเตรียมการงบประมาณปีละ ๓-๕ ล้านบาท ไปเรื่อยๆ

          ๒.สื่อโทรทัศน์ มีศูนย์ส่งสัญญาณกลาง หรือแม่ข่ายอยู่ที่พุทธมณฑลเช่นเดียวกัน แล้วมีสตูดิโอห้องส่งอีก ๒-๓ แห่ง เป็นเครือข่ายในต่างจังหวัด ตามภาคบริหารของสงฆ์ เป็นเครือข่ายเน็ตเวิร์กคล้ายของสถานีไอทีวี แต่จัดเป็นภาคคณะสงฆ์ ภาคเหนือ ใต้ กลาง เจ้าคณะภาคต่างๆ อันนี้ใช้เงินเยอะหน่อย

          ๓.ศูนย์อินเตอร์เน็ต ให้เริ่มปรับมาใช้เซิร์ฟเวอร์ของมหาจุฬาฯเป็นหลัก หลักการคือ ให้พระสงฆ์ทุกวัดมีชั่วโมงอินเตอร์เน็ตฟรีพระทั้งประเทศเข้าได้ฟรี สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็น อ่านข้อมูลต่างๆ เป็นอินเตอร์เน็ตของพระสงฆ์ที่ใช้ติดต่อกันได้ทั้งประเทศ หรือทั้งโลกก็ได้ จะมีความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ พื้นฐานพระไตรปิฎกอยู่ในนั้นหมด

          ส่วนเว็บไซต์ของพระพุทธศาสนา จะมีหลายภาษาทั้งอังกฤษ ไทย และอื่นๆ โดยให้มหาจุฬาฯเป็นศูนย์เช่นเคย ให้บริการคล้ายเป็นเซิร์ฟเวอร์ เป็นไอเอสที

          และจะมีสำนักพิมพ์ของพระสงฆ์ เป็นเหมือนสำนักงานคณะกรรมการที่คอยเลือกสรรงานดีๆ แล้วพิมพ์ออกมา ตั้งแต่ ตำรา พุทธประวัติ และอื่นๆ พิมพ์แจกเป็นหลัก ไม่ได้พิมพ์ขาย ทำเป็นลักษณะแจกแหลก ถ้าได้เงินบริจาคมาแจกแหลก อันนี้ให้กรมการศาสนา และมหาจุฬาฯ ร่วมกันเดินหน้า เพราะมีโครงสร้างของเดิมอยู่แล้ว

          สุดท้ายเป็นห้องสมุด โดยมีโครงการจะพัฒนาหอสมุดกลางของพุทธมณฑล ให้เป็นหอสมุดด้านศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จะมีตำราภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และหนังสือเก่าแก่ เป็นภาษาบาลี สันสกฤต เท่าที่จะสะสมได้ สามารถถ่ายสำเนาต้นฉบับได้เพื่อให้นักศึกษา ผู้สนใจจะศึกษาศาสนาพุทธทั้งโลกได้มานั่งอ่าน มีหอพัก มีคณาจารย์ พระสงฆ์ ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาฟรี

          "คนทั่วโลกอาจมานั่งค้นคว้า วิจัย เขียนหนังสือ เขียนบทความ ทำวิทยานิพนธ์ ของมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของเขา ที่นี่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยให้ปริญญาแต่เป็นที่ให้ความรู้ เพราะฉะนั้นพุทธมณฑลจะถูกปรับสร้างใหม่ ให้มีรูปโฉมกลายเป็นมณฑลแห่งความรู้ ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านมานั่งปูเสื่อป้อนข้าวลูก หรือมีลักษณะเป็นเช่นถนนอักษะ ที่กลายเป็นแหล่งเริงรมย์ไปแล้ว" ส.ว.สุพรรณบุรีอรรถธิบาย

          เมื่อเปิดโอกาสให้พระสงฆ์เข้าถึงโลกของข่าวสารได้อย่างหมดเปลือกเช่นที่กล่าว จึงทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับเรื่องของเว็บโป๊ อนาจาร

          อาจารย์สมเกียรติไม่มีทีท่าหนักใจ และบอกว่าคนที่จะมาถึงขั้นนี้ได้ ถูกขัดเกลาด้านจิตใจมาแล้ว แต่การจะไปห้าม สั่งไม่ให้เปิดดู คงเป็นไปไม่ได้ แต่ก็จะมีการป้องกัน โดยมีพระอาจารย์ หรือคณะกรรมการคอยตรวจสอบ

          "เรื่องของเว็บโป๊ ต้องป้องกันที่คนรับ เพราะมนุษย์ทุกคนในโลกอยากจะดูภาพโป๊ทั้งนั้น ใครอยากดูก็เข้าไปในเว็บโป๊นั้นๆ ไม่ว่า คุณ ผม หรือพระ ถึงไม่เปิดดูก็จะมีอีเมล์ส่งมาให้ดู ก็อยู่ที่คนรับว่าจะรับหรือไม่รับ"

          ส่วนพระศรีปริยัติโมลีมองเรื่องนี้ว่า เรื่องเว็บโป๊ไม่มีการควบคุมได้อย่างจริงจัง เพราะมีจำนวนมาก ที่มหาจุฬาฯก็มีการควบคุมดูแล แต่ยอมรับว่าดูแลลำบาก เวลาที่พระนิสิตเข้าเรียนฝึกโปรแกรมต่างๆ ที่ มจร.จะมีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลว่าพระนิสิต เปิดดูอะไร หรือเล่นอะไร จากนั้นจะมีการตักเตือน และคิดว่าน่าจะมีการล็อกไม่ให้เข้าไปในเว็บโป๊

          "เรื่องนี้ในสถาบันการศึกษาของพระไม่น่าห่วง แต่ที่น่าห่วงคือ วัดทั่วไป ที่บรรดาพระหนุ่มไม่ได้รับการฝึกฝนขัดเกลาก็จะเหมือนกับหนังสือโป๊ ซีดีโป๊ ที่หลุดเข้าไปในวัดตลอด หากจะแก้ปัญหาก็แก้ได้ โดยขึ้นอยู่กับการบริหารของแต่ละวัด"

          การจัดทำแผนสื่อแม่บทของพระสงฆ์ ก็เพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่พุทธศาสนา ซึ่งเป็นหัวใจหลักของศาสนาพุทธ

          ในโลกยุคปัจจุบัน ที่เป็นโลกยุคข่าวสารไร้พรมแดน ยุคของเทคโนโลยี

          การเผยแผ่พุทธศาสนาจะให้เหมือนเดิม โดยให้พระขึ้นนั่งเทศนาบนธรรมาสน์ คงไม่ได้แล้ว

          พระต้องประยุกต์สื่อในปัจจุบันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเช่นเดียวกับฆราวาส

 

พระมหาโชว์ ทัสสนีโย
ผอ.ส่วนธรรมนิเทศ มจร.

          "เรื่องของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางสถานีวิทยุ ทางอินเตอร์เน็ต เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ แต่เนื่องจากในปัจจุบันสถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์ที่พระไปจัดรายการ ต้องเสียค่าใช้จ่าย มีการเก็บเงินจากพระ เช่น สถานีวิทยุภาคเอฟเอ็ม ตกชั่วโมงละ ๓,๐๐๐ บาท ภาคเอเอ็มตกชั่วโมงละ ๒,๐๐๐ บาท ซึ่งถ้าพระไปจัดเองแบบนี้งบประมาณก็มีไม่มาก ต้องบังสุกุลไม่รู้กี่ศพถึงจะได้ค่าสถานี เพราะฉะนั้นการให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนา เมื่อรัฐบาลมีนโยบายจัดสรรคลื่นความถี่ ควรเปิดทางให้พระในส่วนนี้ด้วย ซึ่งเวลานี้ได้เตรียมแผนงานไว้หมดแล้ว

พระมหาต่วน สิริธัมโม
อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ มจร.

          "มีพระผู้ใหญ่บางท่านเป็นห่วงว่าเอาคลื่นมาแล้วใครจะทำ จะอยู่ได้หรือไม่ แต่บอกท่านไปว่ามีศูนย์ข้อมูลทั้งหมด ไม่ขึ้นกับอะไรทั้งสิ้น ส่วนตัวของอาตมาเห็นว่าสื่อวิทยุเข้าถึงง่ายกว่า ส่วนสื่อโทรทัศน์นั้น ปกติ มจร.มีรายการโทรทัศน์อยู่แล้ว คือรายการ "เพื่อแผ่นดินไทย" ออกอากาศวันจันทร์ เวลา ๑๔.๐๐-๑๕.๐๐ น. อาตมาเห็นว่ารายการโทรทัศน์ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก และถ้าพระได้คลื่นมาแล้ว ก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลอีก"

 

แผนการใช้สื่อของพระสงฆ์

          การจัดตั้งศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย มีสองระยะใช้เงินงบประมาณ ๓,๙๐๐ ล้านบาท ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๔๙

          เพื่อลงทุนจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ๒๐๐ ล้านบาท สถานีโทรทัศน์ ๑๐๐ ล้านบาท หอสมุดและพิพิธภัณฑ์ ๑๔๖ ล้านบาท ศูนย์อินเตอร์เน็ต ๑๐ ล้านบาท สำนักพิมพ์ ๒๐ ล้านบาท การจัดการบริหารอีก ๒๐ ล้านบาท

          สำหรับสถานีวิทยุกระจายเสียง มีสถานีกลางอยู่ที่พุทธมณฑล ผลิตรายการ ๒๔ ชั่วโมง มีพระสงฆ์และฆราวาส ออกอากาศด้วยความถี่เอเอ็ม และเอฟเอ็ม มีเครือข่ายในต่างจังหวัด ๓๐ สถานี

          กระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่ไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังออกอากาศเป็นภาษาต่างประเทศ ผ่านสัญญาณดาวเทียมสองช่องคลุมพื้นที่ทวีปเอเชีย

          สถานีโทรทัศน์ มีสถานีโทรทัศน์เพื่อพระพุทธศาสนาเป็นกลาง ๑ สถานีที่พุทธมณฑล ผลิตรายการประจำวันละ ๑๘ ชั่วโมง และมีสถานีเครือข่ายในต่างจังหวัด ๓๐ สถานีและออกอากาศเป็นภาษาไทย ภาษาต่างประเทศผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมสองช่อง คลุมพื้นที่ทวีปเอเชีย

          ศูนย์อินเตอร์เน็ต คอยจัดทำข้อมูลอินเตอร์เน็ต เว็บ เซิร์ฟเวอร์ บรรจุข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทุกรูปแบบและเนื้อหาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เชื่อมโยงเว็บ เซิร์ฟเวอร์ของวัดและชุมชน ส่งสัญญาณรายการวิทยุและโทรทัศน์ออกอากาศ ๒๔ ชั่วโมง .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :