เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

สันติภาพในมือเรา

พระไพศาล วิสาโล
ที่ปรึกษากลุ่มเสขิยธรรม

          สงครามระหว่างสหรัฐกับอิรัก ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด ทุกวันนี้รอบตัวเรากำลังอบอวลด้วยบรรยากาศแห่งสงครามโดยผ่านสื่อนานาชนิด ประสาทตาและหูของเรากำลังถูกกระหน่ำด้วยข่าวการสู้รบและการทำลายล้าง ซึ่งถูกนำเสนอให้น่าตื่นเต้นและติดตาม ยิ่งไปกว่านั้นสมรภูมิสงครามยังแผ่ขยายและตามลึกลงไปถึงห้วงความคิดและจิตใจของเรา สงครามกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว ใกล้อย่างที่นึกไม่ถึง

          ทุกขณะที่เราติดตามข่าวคราวและความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอิรัก ในจิตใจของเรานั้นสมรภูมิอย่างใหม่ได้เกิดขึ้น ในสมรภูมินี้ความเป็นมนุษย์ของเรา กำลังถูกกระหน่ำทำลายด้วยผัสสะแห่งความรุนแรงที่มากับภาพและเสียง เมื่อใดที่รับรู้ผัสสะเหล่านั้นอย่างขาดสติ คิดแต่จะเสพความตื่นเต้นจากข่าว จิตใจของเราก็จะด้านชามากขึ้นเรื่อย ๆ กับการสังหารผู้คน ไร้ความอนาทรต่อผู้คนที่ทุกข์ยากจากภัยสงคราม นั่นหมายความว่าเราได้สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปมากแล้ว

          แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อย สมรภูมิกลางใจกำลังร้อนแรงด้วยอำนาจแห่งความโกรธแค้นชิงชัง และความอาฆาตพยาบาท ซึ่งนับวันจะกินแดนลึกเข้าไปเรื่อย ๆ หรืออาจยึดครองจิตใจไปเบ็ดเสร็จแล้วก็ได้ ไม่ว่าสนับสนุนหรือคัดค้านสงคราม ไม่ว่าถือหางสหรัฐหรืออิรัก สิ่งหนึ่งที่อาจไม่แตกต่างกันเลยก็คือ ความรู้สึกเคียดแค้นทหารของอีกฝ่าย ควบคู่กับความยินดีที่เห็นคนเหล่า

          นั้นประสบกับความพินาศ บางครั้งอาจสะใจด้วยซ้ำที่เห็นเขาเพลี่ยงพล้ำเพราะไปยิงเด็กและผู้หญิง ทุกครั้งที่รู้สึกเช่นนั้น ความเป็นมนุษย์ของเราก็ลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ

          ความโกรธเกลียดพยาบาทได้กลายเป็นไฟที่จุดระเบิดให้เกิดสมรภูมิไปทั่วทั้งโลก ทั้งในใจคน บนท้องถนน และตามสื่อต่าง ๆ มองในแง่นี้มันจึงมีอานุภาพมากกว่าลูกระเบิดหรือขีปนาวุธ ซึ่งสร้างสมรภูมิได้เป็นจุด ๆ เท่านั้น แต่ใช่หรือไม่ว่าเรากำลังปล่อยให้มันลุกลามอย่างรวดเร็ว จนรอบตัวและกลางใจเรานั้นอบอวลอึมครึมด้วยบรรยากาศแห่งความรุนแรงและความเกลียดชัง

          สงครามในอิรักเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่เราจะช่วยกันยุติได้ในเร็ววัน แต่บรรยากาศแห่งสงครามที่กำลังอบอวลไปทั่วนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยของเราจะจัดการได้ ดังนั้นจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ และทำตัวเป็นผู้นั่งเสพข่าวสารอย่างเดียวเท่านั้น อย่างแรกที่เราทำได้คือรักษาจิตใจไม่ให้ความเป็นมนุษย์ของเราถูกทำลาย อย่าให้ความโกรธเกลียดครอบงำจิตใจจนเกิดอกุศลจิตคิดมุ่งร้ายอีกฝ่าย และยินดีในความวิบัติของเขา จะเป็นทหารอเมริกันหรือทหารอิรัก ชีวิตของเขาก็มีคุณค่า มีคนรักอยู่ข้างหลังที่คอยการกลับมาของเขา ทั้ง ๒ ฝ่ายถูกอุปโลกน์ให้กลายเป็นศัตรูที่จ้องทำลายกัน ทั้ง ๆ ที่หากสลัดเครื่องแบบแล้วบังเอิญมาเจอกันที่กรุงเทพ ฯ หรือที่ไหนสักแห่ง ก็คงจะยิ้มทักทายและเป็นเพื่อนกันได้ไม่ยาก

          เราจะถือหางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม แต่อย่าเห็นอีกฝ่ายเป็นผักปลา และยินดีในความพินาศของเขาเพียงเพื่อที่จะได้เห็นฝ่าย "ของฉัน" เป็นผู้ชนะ ถึงที่สุดแล้วไม่มีใครเป็นผู้ชนะในสงครามเลย มีแต่ผู้สูญเสีย แม้แต่คนภายนอกที่นั่งเชียร์ก็สูญเสียเช่นกัน นั่นคือสูญเสียความเป็นมนุษย์

          ในยามนี้เราจึงควรเจริญเมตตาธรรมให้มาก ด้วยการตั้งจิตปรารถนาดีต่อทุกฝ่าย ขอให้ทหารทุกฝ่ายรักษาชีวิตของตน หลีกเลี่ยงจากการทำร้ายกัน และกลับสู่ผู้เป็นที่รักโดยสวัสดิภาพ อย่าให้ความโกรธเกลียดครอบงำเมื่อเห็นภาพของจอร์จ บุช และซัดดัม ฮุสเซ็น พยายามมองทั้งสองด้วยความเข้าใจ และแผ่ความปรารถนาดีให้เขาทั้งสองบังเกิดสัมมาทิฏฐิ ปราศจากความเห็นแก่ตัวและความโกรธเกลียด ละเว้นจากการทำกรรมหนักโดยเร็ว และให้จิตใจได้เข้าถึงความสงบสันติ

          พยายามดูแลเมตตาธรรมให้เบ่งบานในใจ อย่าปล่อยให้กุศลจิตถูกกลบทับด้วยความรู้สึกด้านชา พึงรู้สึกอนาทรต่อความทุกข์ยากของมนุษย์ ทุกครั้งที่เห็นระเบิดแผดก้องและควันไฟพวยพุ่ง ให้นึกถึงผู้คนที่ล้มตาย เด็กที่พิการ พ่อแม่ที่ร้องไห้ปานใจจะขาดขณะอุ้มศพลูกน้อย คนอีกมากซึ่งกำลังหิวโหยและพลัดที่นาคาที่อยู่ เขาเหล่านั้นสมควรได้รับความเห็นอกเห็นใจจากเรา แทนที่จะถูกเบือนหน้าหนีโดยเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์

          ลำดับต่อมาก็คือช่วยขจัดปัดเป่าบรรยากาศแห่งความเกลียดชังออกไปจากบ้านของเรา สร้างบรรยากาศแห่งสันติให้เกิดขึ้นในครอบครัว ด้วยการแนะนำลูกหลานหรือญาติพี่น้องให้มองสงครามนี้ด้วยจิตที่ปรารถนาดีต่อทุกฝ่าย ไม่ติดตามข่าวเพราะต้องการเสพความตื่นเต้น หรือเห็นสงครามเป็นแค่เกมอย่างมวยตู้ ฟุตบอล หรือวีดีโอเกม หากเป็นไปได้ควรร่วมกันแผ่เมตตาจิตให้ทุกฝ่ายปลอดพ้นจากความทุกข์ยาก

          จากนั้นพึงร่วมกันปัดเป่าบรรยากาศแห่งความเกลียดชังออกไปจากสังคมของเรา สังคม ไทยมีความโกรธเกลียดอบอวลแน่นหนามากอยู่แล้ว อย่างน้อยเราควรช่วยกันมิให้สงครามในอิรักเพิ่มความโกรธเกลียดให้มากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ด้วยการผนึกกำลังสร้างบรรยากาศแห่งสันติ เช่น ร่วมกันชุมนุมอย่างสงบและภาวนาให้เกิดสันติภาพ ให้กระแสแห่งเมตตาจิตแผ่กว้างออกไปทั่วทั้งสังคม อย่างน้อยก็เพื่อทัดทานกระแสแห่งความโกรธเกลียดที่เกิดขึ้นจากแบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามลัทธิอุดมการณ์ ศาสนา สีผิว หรือผลประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ควรช่วยกันตักเตือนสื่อมวลชน ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ ที่เสนอข่าวและความเห็นในลักษณะที่มุ่งสนองความตื่นเต้นหรือสนุกเร้าใจอย่างเกมกีฬา ควรร่วมกันเรียกร้องผลักดันให้สื่อมวลชนคำนึงถึงมิติแห่งความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น แทนที่จะเน้นแต่ยุทธวิธีทางทหารและอานุภาพของเทคโนโลยี ความจริงอีกด้านของสงครามอันได้แก่ความทุกข์ยากของผู้คนที่ประสบภัยสงคราม เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนพึงให้ความสนใจมากขึ้นเช่นเดียวกับข่าวความเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ

          การสร้างบรรยากาศแห่งสันติตั้งแต่ระดับจิตใจ ครอบครัว ไปจนถึงสังคม เป็นขั้นตอนสำคัญอันจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพในอิรัก แม้เส้นทางดังกล่าวจะยาวไกลแต่ก็เป็นสิ่งยืนยันว่าเราแต่ละคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพได้ มิใช่เป็นแค่คนเล็กคนน้อยที่ไร้พลัง

          ที่สำคัญก็คือปฏิบัติการดังกล่าวยังมีอานิสงส์ไปถึงเราแต่ละคน ขณะเดียวกันก็มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อบ้านเมืองของเรา ใช่หรือไม่ว่าเมืองไทยนั้นมีเชื้อมูลแห่งสงครามมากมายที่พร้อมจะประทุในอนาคต ไม่ใช่กับคนชาติอื่นเท่านั้น หากรวมถึงคนในชาติเดียวกันด้วย การผนึกกำลังเพื่อสันติภาพในยามนี้อาจช่วยให้เชื้อสงครามอันได้แก่ความโกรธเกลียดมีกำลังน้อยลง จนยากที่จะปลุกเร้าให้เกิดการจับอาวุธฆ่าฟันกันก็ได้ ใครจะไปรู้.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :