เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เรียนรู้อย่างตื่นรู้*

ซีการ์ คองโทร รินโปเช เขียน
ธาราแห่งมัญชุศรี แปลและร้อยเรียง

*บทความชิ้นนี้แปลและร้อยเรียง จากบทความชื่อว่า "How to Study" โดย ซีการ์ คองโทร รินโปเช (Dzigar Kongtrol Rinpoche) ตีพิมพ์ในวารสารโพธิ (Bodhi: The Voice of Vajrayana Buddhism Vol.6 No.3) ซึ่งผู้แปลได้ตัดทอนมาเพียงบางส่วน ไม่ได้แปลทั้งหมด

"การเรียนรู้เปรียบดั่งโคมไฟ ส่องสว่างกระจ่างใจ ไล่ความมืดมิดแห่งอวิชชา"

แรงผลักดันภายในที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้

          เป้าหมายของสิ่งใดๆที่เราทำในชีวิต คือ การได้เข้าใจตัวเองโดยสมบูรณ์ อาจกล่าวได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะพาให้เราได้เข้าใกล้ความจริง หากเราไม่สามารถเข้าใจตัวเองได้อย่างถ่องแท้ เสียงที่เกิดขึ้นภายในก็ดูจะเป็นได้เพียงเสียงที่คอยเบี่ยงเบนการกระทำของชีวิตในแต่ละวัน อย่างที่เราไม่มีทางจะเคารพตนเองอย่างแท้จริงได้เลย

          การเรียนรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราซื่อสัตย์ต่อตัวเอง มีความชัดเจนและมั่นคงต่อเสียงข้างใน หากคุณไม่ชัดเจนต่อเสียงข้างในแล้ว ไม่ว่าคุณจะได้ไปเรียนรู้คำสอนหรือฝึกวิธีการปฏิบัติอันน่ามหัศจรรย์จากสำนักที่มีชื่อเสียง มันก็คงจะเป็นได้แค่เพียง "ค่ายฤดูร้อน" เพียงเท่านั้น จริงๆแล้ว "ค่ายฤดูร้อน" ที่ว่า มันก็อาจจะมีประโยชน์อยู่บ้าง มันอาจจะสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย หรือ สนุกสนาน แต่นี่เรากำลังพูดถึงความมุ่งมั่นในเส้นทางแห่งการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายในความทุกข์

          การซื่อสัตย์และเชื่อมั่นในตัวเองโดยสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งที่ยากที่จะทำได้ เพราะเราต่างก็มีความกลัวมากมายภายในใจที่เราต้องเอาชนะมันให้ได้ก่อน อย่างน้อยก็ต้องหาความกล้าพอที่จะเผชิญหน้าต่อความกลัวนั้นให้ได้ การที่เราพยายามสร้างภาพตัวตนเพื่อแสดงต่อโลกภายนอกนั้นอาจจะสามารถหลอกคนอื่นได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็ไม่สามารถหลอกตัวเราได้ ทางเดียวคือ เราจะต้องมองให้ทะลุถึงม่านแห่งความไม่รู้และการปฏิเสธความจริงที่เราสร้างขึ้น

ตบอัตตาให้กลิ้ง

          เป้าหมายของการฝึกจิตคือการตบอัตตาให้กลิ้ง! หากคุณสามารถหาความพึงพอใจจากการตบอัตตา เป็นอันใช้ได้ แต่หากเมื่อใดคุณขยาดที่จะเผชิญหน้ากับอัตตาของตัวคุณเอง เมื่อนั้นไม่ว่าคุณจะขยัน ทุ่มเท อุทิศ ให้กับวัตรปฎิบัติ ทั้งการเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติมากเท่าไรก็ตาม คุณก็ไม่มีทางได้ลิ้มรสสัมผัสแห่งความจริงได้

          นั่นคืออันตรายที่ต้องระวัง วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณทั้งหลายเกิดขึ้นก็เพราะเหตุนี้ คุณสามารถที่จะติดอยู่ในความฝันลมๆแล้งๆและความกลัวนานาชนิด และมันก็ไม่ง่ายเลยที่คุณจะตระหนักรู้ได้ ยามที่คุณติดกับเข้าอย่างจังโดยไม่รู้ตัว เหมือนกับฟองสบู่ที่ยากจะทำให้แตกหากคุณยังติดอยู่ข้างใน แต่ถึงกระนั้นฟองสบู่ก็เป็นอนิจจัง เมื่อใดที่มันแตก ผลที่เกิดขึ้นอาจเป็นความทุกข์แสนสาหัส และเมื่อถึงเวลานั้นคุณจึงค่อยตระหนักได้ว่าคุณได้ติดอยู่ในนั้นมานานหลายปีดีดัก

          แต่กระนั้น จงอย่าพยายามที่จะจำเพาะความไม่รู้ของคุณมากจนเกินไป แต่จงสร้างความพึงใจในการมองให้เห็นถึงแบบแผนความเคยชินของอัตตา และอวิชชาที่อัตตานั้นตั้งอยู่ หากคุณไปจำเพาะให้ความสำคัญต่อสิ่งที่คุณต้องการจะปลดเปลื้อง มันจะกลายเป็นเรื่องที่ยากอย่างที่สุดที่จะเปลื้องตัวคุณออกจากอัตตาได้

          ทางที่ถูก เราน่าจะได้ตระหนักถึงศักยภาพที่เรามี ศักยภาพในการพัฒนาปัญญาในการมองทะลุผ่านภาพลวง ซึ่งก็คือศักยภาพแห่งการเรียนรู้ ความสามารถนี้หาได้ถูกเผยจากการใคร่ครวญทางความคิดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงประสบการณ์ด้วย เหตุผลที่เรามาอยู่กัน ณ ที่นี้ก็เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพอันนั้น และนั่นทำให้เรามาพบกันในฐานะผู้ปฏิบัติธรรมบนเส้นทางแห่งการตื่นรู้

สร้างความพึงใจในการเอาชนะอวิชชา

          เราต้องยอมรับว่าเราต่างก็มีความผิดพลาดมากมายในชีวิต ไม่มีใครแม้แต่พระพุทธองค์ที่จะสมบูรณ์แบบมาตั้งแต่เริ่มต้น อัตตาอยู่กับเราและไม่มีใครสามารถยกเว้นไปจากการมีปัญหากับอัตตาได้ ดังนั้นขอจงได้ยินดีที่จะได้ฝึกจิตสู้กับอวิชชา เมื่อใดที่อวิชชาเริ่มปรากฏชัด แทนที่จะมีปฏิกิริยาในทางลบต่อมัน ลองฝึกสร้างปฏิกิริยาในทางบวก คุณอาจจะลองถอนหายใจด้วยความโล่งใจ แล้วบอกว่า "อ้า ตอนนี้ฉันเห็นอัตตาของฉันชัดเลย" เมื่อนั้นคุณจะได้สัมผัสกับความรู้สึกที่แท้จริงของการฝึกจิตต่อสู้กับอัตตาเพื่อการเอาชนะอวิชชาภายใน เมื่อนั้นคุณจะพบว่าเส้นทางแห่งการรู้แจ้งนั้นแท้จริงเป็นเส้นทางที่สนุกทีเดียว

ฝึกจิตสู้กับแรงต่อต้าน

          เราทุกคนต่างก็มีแรงต่อต้านภายในต่อการเรียนรู้ เพราะเราทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ที่ต่างก็มีอัตตาที่แข็งแรงกันทั้งนั้น เมื่อเราพบว่าเราไม่เข้าใจอะไรเลยในตอนแรก ธรรมชาติของอัตตาจะรู้สึกหวาดกลัวราวกับถูกคุกคามจากประสบการณ์นั้น และเมื่อนั้นเราเหมือนตกอยู่ในอันตรายจากการที่อัตตาได้ปิดตายต่อการเรียนรู้เสียแล้ว เราอาจจะรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง คิดไปว่าเราไม่สามารถที่จะเข้าใจคำสอนนี้ได้ หรือไม่ก็คิดไปว่าการเรียนรู้สิ่งที่เราไม่รู้จะทำให้ทิฐิมานะความหยิ่งทะนงในตนบาดเจ็บ

          เราควรที่จะตระหนักว่าแท้จริงนั่นคือ ความรู้สึกขยาดกลัวของอัตตา หาใช่ธรรมชาติแห่งการตื่นรู้ที่แท้จริงของตัวเราไม่ มันคือความรู้สึกที่นำมาซึ่งอุปสรรคและความยากลำบากนานาประการในชีวิต คงจะเป็นประโยชน์มากทีเดียวหากเราสามารถเฝ้ามองดูกระบวนการที่เกิดขึ้น และลองฝึกจิตใจของเราไปพร้อมๆกัน

          แน่นอนว่าการเรียนรู้ที่จะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องยาก ขอบเขตแห่งความจริงหรือธรรมะนั้นแสนกว้างใหญ่ อาจเรียกได้ว่าไร้ขอบเขต ความหมายของมันนั้นก็แสนลุ่มลึก ดังนั้นเราจึงควรที่จะตระหนักรู้ในเบื้องต้นว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำความเข้าใจกันนี้หาใช่เป็นเรื่องง่าย อย่างไรก็ดีหากย้อนกลับมาทำความเข้าใจครั้งที่สองหรือครั้งที่สาม เราก็น่าที่จะสามารถเข้าใจมันได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เปรียบได้กับการที่เราจะเอาหม้อมารองน้ำฝน เพียงหยดเดียวหม้อก็คงไม่สามารถที่จะเติมเต็ม แต่หากเรารองไปเรื่อยๆหยดแล้วหยดเล่าในที่สุดน้ำฝนก็จะเติมเต็มหม้อใบนั้น เช่นเดียวกันหากเราน้อมนำเอาความหมายเข้าสู่ใจทีละน้อย จิตใจเราก็จะค่อยๆถูกเติมเต็มด้วยความรู้และความเข้าใจในธรรมะ

          พึงรักษาความสดใหม่และความเปิดกว้างของจิต เพราะมันจะเป็นพื้นที่รองรับความเข้าใจที่จะขยายกว้างขึ้น ในทุกหัวข้อหรือทุกครั้งที่คุณได้เรียนรู้มันอีกครั้ง ในกระบวนการเรียนรู้อย่างพุทธ เมื่อความรู้ของคุณเพิ่มขึ้น ความเข้าใจของคุณก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และมันจะเป็นบาทฐานที่สำคัญที่จะทำให้คุณได้ตระหนักรู้ถึงสิ่งใหม่ๆที่คุณยังไม่เคยรู้มาก่อน หากเข้าใจในจุดนี้ ความเข้าใจในธรรมะจึงเป็นเพียงคำถามของเวลา ไม่ต้องรู้สึกราวกับเผชิญเคราะห์กรรมหรืออะไร ขอเพียงมีความอดทน ก้าวแรกคือการเริ่มต้นสร้างรากฐานอันนี้เสียก่อน

ฝึกฝนในความเบิกบาน

          เราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะฝึกฝนจิตใจในยามที่เราพบแรงต่อต้าน ซึ่งโดยมากมักจะถูกก่อขึ้นจากความขี้เกียจ โดยมากเราแทบจะไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่าแรงต่อต้านมันคืออะไร หรือ ในอีกทางหนึ่งเราอาจจะมองมันราวกับเป็นแรงต้านที่มีอยู่ในตัวตนของเราอย่างสมบูรณ์ถาวร หากเรายอมรับทัศนะเช่นนั้นโดยปราศจากการมองอย่างใคร่ครวญเสียแล้ว เราก็คงไม่มีทางที่จะเอาชนะความขี้เกียจนั้นไปได้ และมันก็จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ในการที่จะเผยม่านแห่งความขี้เกียจสู่สภาวะจิตแห่งปัญญาที่เรามี ในทางกลับกัน หากการเรียนรู้เป็นเสมือนต้นกำเนิดแห่งความเบิกบานและความสนุกสนานที่แท้แห่งชีวิต เมื่อนั้นข้อแก้ตัวทั้งหลายทั้งมวลที่เราสร้างขึ้นปกป้องความขี้เกียจนั้นก็จะเริ่มเผยตัวเองออก เมื่อความเบิกบานงอกงามขึ้น เราก็จะค่อยๆเต็มใจที่จะเปลื้องข้อแก้ตัวทั้งหลาย รวมทั้งความขี้เกียจภายในใจที่เรามี

          การฝึกฝนตัวเราต่อความเบิกบานในการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความเข้าใจที่ว่าการเรียนรู้แท้จริงคืออะไรกันแน่ และมันจะมีความสำคัญต่อชีวิตของเราอย่างไร การฝึกฝนเฝ้ามองอะไรก็ตามที่คุณรู้สึกไม่พึงใจหรืออะไรก็ตามที่ก่อให้เกิดแรงต้านภายในนั้น สามารถที่จะก่อให้เกิดความเบิกบานได้ ตัวอย่างเช่น เวลาที่คุณฝึกทำสมาธิ ขณะที่นั่งอยู่บนอาสนะคุณอาจจะรู้สึกไม่มีความสุข ไม่พึงพอใจเอาเสียเลย อยากจะลุกไปทำอย่างอื่นเสียให้ได้ แต่เมื่อคุณเพียงแต่ตามเฝ้าดูความไม่พอใจอันนั้น คิดถึงสิ่งที่คุณคิดจะทำ คุณจะตระหนักได้ทันทีว่าทางเลือกทั้งหลายทั้งมวลของคุณ แทบจะหาสาระอะไรไม่ได้เลย เมื่อนั้นคุณก็จะรู้สึกผ่อนคลายตามธรรมชาติ รู้สึกถึงสันติเบิกบานภายในต่อการทำหน้าที่ของคุณตรงนั้น

          หากคุณมัวไปต่อสู้กับแรงต้านนั้นอย่างตรงๆ คุณก็เหมือนกับไปเพิ่มพลังให้กับมัน ผลก็คือนอกจากคุณจะไม่พบกับความเบิกบานแล้ว คุณยังไม่สามารถเอาชนะกับแรงต้านนั้นได้ด้วย เมื่อคุณใคร่ครวญถึงความสำคัญของการปฏิบัติ คุณค่าที่มันมีต่อชีวิตคุณ เมื่อนั้นคุณจะรู้สึกเบิกบานตามธรรมชาติ คุณสามารถใช้วิธีเดียวกันนี้กับการเรียนรู้ใดๆ เพื่อเป็นการฝึกฝนจิตให้เบิกบานยิ่งขึ้น

บ่วงรัดรุมทางโลก ๘ ประการ

          บางครั้งผู้คนมาเรียนรู้ด้วยความคิดที่ว่าอยากที่จะทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เหตุผลนี้อาจจะดูดี แต่จริงๆแล้วสิ่งสำคัญที่คุณจะต้องคิดเป็นอย่างแรก คือวิธีที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคำสอนทั้งหลาย เพื่อให้ประโยชน์แก่ตัวคุณเอง คนที่มัวแต่คิดจะไปช่วยหรือจะไปสอนผู้อื่นบางครั้งสามารถที่จะติดกับสิ่งที่เรียกว่า "มาร" ของบ่วงรัดรุมทางโลก ๘ ประการ ซึ่งก็คือ
          หวังที่จะได้ กลัวที่จะสูญเสีย
          หวังที่จะพอใจ กลัวที่จะเจ็บปวด
          หวังที่จะได้รับการยกย่อง กลัวการถูกตำหนิ
          หวังที่จะมีชื่อเสียง กลัวที่จะไม่มีความสำคัญ

          เราจะต้องพยายามที่จะไม่ถูกทำให้ไขว้เขวจากบ่วงรัดรุมทั้งแปดประการนี้ แต่ตรงกันข้ามต้องพยายามละมันให้ได้ เพราะหากคุณมัวแต่หมกมุ่นไปกับความหวังที่จะได้ประโยชน์ทางโลก การเรียนรู้ของคุณก็จะไม่ไปไหน ไม่มีทางที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นยาอายุวัฒนะแห่งจิตใจ อย่างที่มันน่าจะและควรที่จะเป็น

          คำสอนของพระพุทธองค์เปรียบได้กับยาอายุวัฒนะ พระพุทธองค์เปรียบได้กับแพทย์รักษาโรคผู้เชี่ยวชาญ และเราเปรียบได้กับคนไข้ที่ต้องการการรักษาจากการเจ็บไข้แห่งอวิชชาและสังสารวัฏฏ์ หากแรงผลักดันภายในของเราคือการกำจัดต้นตอของการเจ็บไข้ซึ่งก็คืออวิชชา นั่นแสดงว่าเรามีแรงผลักดันภายในที่ดีต่อการเรียนรู้ธรรมะ แต่หากเราติดกับมารแห่งบ่วงรัดรุมทางโลกแปดประการนั้นแล้ว ชีวิตเราจะทำประโยชน์แก่ผู้ใดไม่ได้เลย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องมีความระแวดระวังในข้อนี้

เรียนรู้ในการน้อมนำคำสอนสู่ตัวเรา

          หลายคนที่ข้าพเจ้าเคยพบ ยามใดที่เขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ ก็มัวแต่คิดที่จะไปสอนหรือถ่ายทอดสู่ผู้อื่น ในหัวของคนเหล่านั้นมัวแต่คิดที่จะสร้างความประทับใจต่อผู้อื่น ก่อนที่เขาสามารถที่จะน้อมนำสิ่งที่เขาเรียนรู้สู่ชีวิตประจำวันของเขาเสียด้วยซ้ำ หรือแม้แต่ยามที่เราคิดจะสร้างความประทับใจต่อผู้อื่นนั้น มันก็หาได้ก่อให้เกิดผลดีมากมายแต่อย่างใดหากเราเองยังไม่สามารถปฏิบัติมันได้ การน้อมนำคำสอนสู่การปฏิบัติเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะคำสอนเรื่อง "ความว่าง" คำสอนเรื่องนี้เป็นหัวใจที่จะนำเราสู่การหลุดพ้นจากความยึดมั่นในตัวตนของตน

          เราดูจะไม่ได้ตระหนักถึงเสียงข้างในและทัศนคติของเราว่าจริงๆแล้วมันคืออะไรกันแน่ เรามักจะตกอยู่ในความตื่นเต้นหรือความยั่วยวนใจทั้งหลายแหล่ และคล้อยตามไปกับสิ่งเหล่านั้นอย่างหน้ามืดตามัว เราต้องอาศัยจิตใจอันลึกซึ้งในการใคร่ครวญดูว่าจริงๆ แล้วเราอยู่ ณ จุดใดกันแน่ หากเราพบว่าจิตใจเราหาได้อยู่ในสถานที่ที่ดีนัก สำคัญมากที่เราจะต้องแก้ไขและเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องเสีย ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงต่อการทำอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นด้วยการมีทัศนคติที่ผิดๆ อย่างที่ดักโป รินโปเช (กัมโปปะ) กล่าว "หากเราไม่ประพฤติธรรมอย่างเหมาะสม ธรรมนั้นก็สามารถกลายเป็นปัญหาต่อเราได้"

เครื่องมือแห่งปัญญาทั้งสาม

          เรากำจัดอวิชชาด้วยการบ่มเพาะพลังแห่งปัญญาด้วยสามเครื่องมือแห่งปัญญา อันได้แก่ ปัญญาจากการฟัง ปัญญาจากการน้อมนำใครครวญสู่ใจ และปัญญาแห่งการภาวนา ในไม่ช้าเราจะสามารถเห็นโลก เข้าใจวิถีการมองโลก และตระหนักรู้ถึงจิตใจของเราเองอย่างถูกต้องอย่างที่มันเป็น และความมั่นใจของเราจะงอกงามตามธรรมชาติของมัน หากเราเรียนรู้ น้อมนำสู่ใจใคร่ครวญ และภาวนา เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเราวันต่อวัน เดือนต่อเดือน ปีต่อปี

          อะไรคือปัญญาแห่งการฟัง...ขณะที่พวกคุณฟังข้าพเจ้าพูดอยู่นี้ มันได้เกิดรอยประทับขึ้นในจิตใจของคุณ แตกต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นอยู่กับความมากน้อยของการเปิดรับ รอยประทับนี้จะเด่นชัดในใจของคนที่มีจิตใจที่เปิดกว้าง ซึ่งเราแต่ละคนจะบ่มเพาะความหมายของสิ่งที่ข้าพเจ้าสอนจากการได้ยิน แต่เมื่อเราได้ย้อนกลับไปหาสิ่งที่เราได้ยินนั้นแล้วน้อมนำสู่ใจมาใคร่ครวญดู ความเข้าใจของเราก็จะละเอียดขึ้น ชัดเจนขึ้น เราจะค่อยๆไปสู่ภาพที่สมบูรณ์ของสิ่งที่เราเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นหากเราได้ฝึกภาวนาทั้งสมถะ และวิปัสสนา ควบคู่ไปกับการภาวนาในความว่างจากอัตตาตัวตน ความรู้แจ้งก็จะปรากฏ สิ่งที่เราประสบในตอนแรกที่เปรียบได้กับภาพหรือเพียงความรู้สึกเผินๆก็จะกลายเป็นสัมมาทิฏฐิอันชัดแจ้ง กลายเป็นประสบการณ์ที่สดใหม่ของการรู้แจ้งในสิ่งๆนั้น นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า ปัญญาแห่งการภาวนา

          เมื่อเราได้เข้าใจถึงความสำคัญของการเรียนรู้ เราก็จะเข้าใจว่าแท้จริง ปัญญาทั้งสามส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ดั่งกระแสธารแห่งปัญญา เริ่มด้วยการได้ยินคำสอน เราเรียนรู้ที่จะนำมันมาสู่ใจเพื่อใคร่ครวญ เราเรียนรู้วิธีการภาวนา ด้วยการภาวนาเราเรียนรู้ที่จะรวมตัวเราเป็นหนึ่งเดียวกับความหมายของคำสอนนั้น ซึ่งมันจะกลายเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบที่สุด เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในโดยสมบูรณ์ นี่คือเป้าหมายของการเรียนรู้และประพฤติธรรมอย่างแท้จริง...

Boulder, Colorado
๒๒ มกราคม ๒๕๔๘.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :