เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

'สุขสมบูรณ์' ในยุคเงินนิยม

เปลวสีเงิน
ไทยโพสต์ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ กองบรรณาธิการ

          ชักจะมีอะไร 'อุบาทว์เมือง' ขึ้นเรื่อยๆ ก็ขนาดหญิงสาวยอมเปลือยอกให้นวดเคล้นโชว์ต่อสาธารณชนกลางบ้าน-กลางเมือง ด้วยเหตุผลทางธุรกิจการค้าว่าเป็นการ 'สาธิตสินค้า' ช่วยทำให้เต่งตึง

          ผมก็ว่ามัน "กาลีบ้าน-กาลีเมือง" เสียจริงๆ

อันจิตสำนึกบนคำว่า "หญิงไทย" มันหายกันไปทางไหน เห็นแล้วก็เหนื่อยอ่อนเกินกว่าจะไปโทษเป็น "ความผิด-ความถูก" ของใคร

          เพราะเดี๋ยวนี้ อะไรๆ มันก็ไปทางนั้นกันหมด!

          ลองเปลือยอกให้คนขยำกันได้ชนิด "ด้านกว่าคอนกรีต"

          อีกไม่ช้า ความด้านมันก็จะเขยิบขั้น "สาธิตสินค้า" ด้วยการ "สมสู่กัน" กลางถนน!

          เพราะสินค้า และการค้าทางเพศยุคนี้เฟื่องฟูดีจริงๆ และอีกอย่าง ทัศนคติของความเป็นหญิงไทยมันเปลี่ยน "ค่านิยม" ไปหมดแล้ว

          แต่งตัวเปลือยได้มากที่สุด

          จะได้รับความนิยมชมชื่น โด่งดัง มีหน้ามีตามากที่สุด

          ลองดูทางจอโทรทัศน์ก็ได้ การแต่งตัวของหนุ่ม-สาวที่เรียกว่า "พีธีกร" รวมถึงรายการต่างๆ มุ่งสร้างค่านิยมให้หนุ่ม-สาวต้องหันไปทางแนวนั้น

          หรือว่านี่คือรูปธรรมของยุค "ประชานิยม"?

          อะไรที่ทำให้ได้เงินถือว่า "ดีทั้งนั้น"

          ผมเห็นจะต้องตัดเป้ากางเกงทิ้งก่อนนุ่งซะแล้ว ไม่งั้นจะไม่ In Trend

          สังคมที่ไม่มี "กึ๋น" ทางสมองจะอวดกันก็อย่างนี้

          ใครมีโนมเนื้อจะอวด ก็ปลิ้นมาอวดกัน

          ใครที่ปลิ้นมาอวดแล้วทุเรศมากกว่าก่อกระแสตัณหาคนเห็น ก็หันไปพึ่งทางโปะเครื่องประดับแพงๆ แข่งกัน

          หรือไม่ก็บริจาคทางหน้าจอโทรทัศน์อวดกัน ในกรณีนี้ ปรากฏว่าบางรายประสงค์จะมีชื่อว่าบริจาคเท่านั้น

          พอเขาตามไปรับเงินที่บ้าน บอกเปล่า..บริจาค!

          แบบนี้ นินทาให้ได้ยินกันอยู่ประจำ

          สังคมไทยทุกวันนี้ ไร้ราก-ไร้แก่นสาร แต่ละชีวิตเคลื่อนไหวไปคล้ายกาบมะพร้าวกลางกระแสน้ำ

          น้ำขึ้นก็ไหลตามไป ไปทางไหนก็ไป ไม่รู้เรื่องรู้ราว

          น้ำลงก็ไหลตามไป ไปทางไหนก็ไป ไม่รู้เรื่องรู้ราวอีกนั่นแหละ

          ที่ว่า "ไม่รู้เรื่องรู้ราว" นั้นคือ

          ไม่มี "แก่น" ของตัวเองให้ยึด

          คนประเภทนี้จะอยู่กับตัวเองไม่ได้ แต่ละนาที แต่ละชั่วโมง แต่ละวัน ต้องหา "สิ่งอื่น"           ให้ใจตัวเองเกาะเกี่ยว

          ถ้าไม่มีอะไรให้เกาะยึด จะรู้สึกหงุดหงิด กลัดกลุ้ม กระวนกระวาย ใจคอกระสับกระสาย อะไรก็ขวางหู ขวางตา ขัดอก ขัดใจไปหมด

          เหมือนตกอยู่ในกองเพลิง

          เพลิงนั้นคือ "ตัณหา" อันไร้การควบคุมของตัวเอง!

          ตัณหาคือ ความหมกมุ่นครุ่นคิดในเรื่องกาม

          ความหมกมุ่นครุ่นคิดในเรื่อง อยากเป็นนั่น-อยากเป็นนี่

          ความหมกมุ่นครุ่นคิดในเรื่อง อยากไม่เป็นนั่น-อยากไม่เป็นนี่

          จริงอยู่ คนทุกคนต้องมีตัณหา แต่เราต้องควบคุมตัณหาให้อยู่ในจุดที่จะไม่ทำอันตรายตัวเอง และผู้อื่น

          เหมือนไฟ ไฟนั้นถ้าเราควบคุมให้ลุกไหม้ถูกที่-ถูกทาง มันก็เป็นประโยชน์ ให้ความร้อน ให้ความอบอุ่น ให้พลังงาน หุงข้าวปิ้งปลากินได้

          แต่ถ้าปล่อยให้ลุกไหม้ผิดที่-ผิดทาง หรือลุกไหม้โดยไม่ควบคุม มันก็จะเกิดโทษ เผาบ้าน-เผาเมือง เผาทั้งตัวเอง และผู้อื่น

          อุปกรณ์คุมไฟคือตัณหา ได้แก่ สติ ความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะ

          หิริ-โอตตัปปะ ความละอาย ความเกรงกลัวต่อกรรมบาปหยาบช้า

          พุทธแบบไทยทุกวันนี้ เปลืองธูป เปลืองเทียน เปลืองคำอธิษฐาน และเปลืองกระป๋องสังฆทาน

          หาประโยชน์อันใดมิได้เลย!

          มีแต่พุทธศาสนาเดียวเท่านั้นที่สอนให้ "คนอยู่กับใจตัวเอง" แต่เราไม่สนใจนำมาไตร่ตรองเพื่อทดลองปฏิบัติ

          ก็เลยปล่อยชีวิตไปตามความง่าย คือตามที่ลาดไหลต่ำสู่นานาอบาย ซึ่งย้อมใจให้เคลิบเคลิ้ม หยุดกระสับกระส่ายได้ชั่วครั้ง-ชั่วคราว

          ดังจะเห็นในชีวิตประจำวันทั่วไป ลืมตาปุ๊บต้องเปิดวิทยุปั๊บ เปิดให้ใจไปเกาะอาศัยอยู่กับรายการที่ชอบ ถ้าปิดวิทยุก็ต้องเปิดโทรทัศน์ ปิดโทรทัศน์ก็ต้องเล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต หมุนโทรศัพท์ กด SMS โหวตตามรายการ อ่านหนังสือ นั่งตาปรือ-ตาปรอยใจลอยสร้างวิมาน ฯลฯ

          เบื่อที่จะเอาใจเกี่ยวเกาะอยู่ภายในบ้าน ก็ออกไปเดินห้าง ไปเตร่ตามชุมชน ไปดูหนัง ไปดูเขาอัดรายการโทรทัศน์ ไปหาเพื่อน นัดเพื่อนมาเดินเล่น มานั่งคุยกัน เข้าผับ เข้าคาราโอเกะ เข้าอาบนวด กระทั่งไปนั่งคุยกับพระ

          มืดค่ำกลับบ้าน ก็กระสับกระส่าย เปิดวิทยุ ดูโทรทัศน์ กดมือถือ มีเพื่อนกี่คนต่อกี่คนกดไปหาทั้งที่ก็ไม่รู้ว่ามีธุระอะไรจะต้องพูดจากัน

          ก็ว้าวุ่น กระวนกระวายจนเพลียหลับไปชนิดวิทยุยังเปิดคาหู!

          หลับก็ยังไม่วายฝันเตลิดไปร้อยโลก-พันจักรวาล ตามประสาของใจที่ต้องมีอารมณ์ให้เกาะอาศัยไม่ว่าทั้งหลับ และตื่น

          ก็น่าสงสาร น่าเวทนาคนในสังคมไทยวันนี้ แย่งกันหาดี แย่งกันหาเด่น แย่งกันเป็น แย่งกันดัง แย่งกันรวย

          ตะเกียกตะกาย กระเสือกกระสน จนไม่รู้ว่า แท้จริงแล้ว สิ่งที่ตัวเองพอใจ และสิ่งที่ตัวเองสุขด้วยสมใจ

          สิ่งนั้น..มันคือ "อะไร" กันแน่?

          สังคมทุกวันนี้ แสวงหาสิ่งที่ตัวเองพอใจชนิดใกล้จะ "อิจฉากระทั่งหมา" เข้าไปทุกทีแล้ว!

          ก็ลองแก้ผ้าขยำเต้ากันได้กลางเมืองอย่างนี้ จะไม่ให้บอกว่า พัฒนาการขั้นต่อไป หญิง-ชายไทย ก็อาจทำได้เยี่ยงสุนัขกลางถนนได้อย่างไรกัน?

          กระทรวงวัฒนธรรมเราก็ตั้งขึ้นมา แล้วสังคมชาติวันนี้ได้วัฒนธรรมอะไรขึ้นมาเชิดหน้า-ชูตาบ้านเมือง?

          บริหารประเทศด้วยนโยบาย "เงินนิยม" รูปธรรมที่ปรากฏในบ้านเมืองก็ดังที่เห็นอยู่

          รัฐบาลเน้นให้เห็นว่า มีเงินแล้วมีความสุข

          บ้านเมืองทุกวันนี้ ผู้คนจึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน เพื่อเงินนั้นจะได้ทำให้สุข

          แต่ลืมไปสนิทว่า "มนุษย์" นั้น รากฐานที่ก่อเกิดคือ "มนะ"

          "มนะ" คือใจ

          รัฐบาลควรจะวางนโยบาย "ฟูมฟัก-รักษาใจคน" ให้ร่ำรวยด้วยศีล-ด้วยธรรม ชี้นำให้มนุษย์ใช้สติ ใช้หิริ ใช้โอตตัปปะ ในการประกอบสัมมาอาชีวะ เยี่ยงนั้น "สุขที่มีแก่นสาร" จะเกิดกับสังคม

          เงินแค่ปัจจัยประกอบของ "สุขที่สมบูรณ์"

          ไม่ใช่ "ปัจจัยหลัก" อย่างที่รัฐบาลชักนำไปในทุกวันนี้

          รัฐบาลทำทุกอย่างให้ประชาชน "พอใจ"

          อาจจะไม่ผิด แต่ที่ควรจะเป็นคือ

          รัฐบาลควรทำให้ประชาชน "ใจพอ"

          การทำให้คนพอใจตามนโยบายรัฐบาลนี้ มันจะไม่มีวันจบ-วันสิ้น เพราะเป็นนโยบายเติมฟืน-เติมไฟในเตาตัณหาคือความทะยานอยากอันไม่มีขอบเขต

          รัฐบาลก็ต้องหาเงินมาหว่านโปรยประชาชนไปไม่สิ้นสุด

          ความอยากที่ต้องสนองของประชาชนก็มีแต่มากขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด

          "หยุด" ทางใด-ทางหนึ่ง

          "อันตราย" เกิดขึ้นทั้งสองทาง!

          นัตถิ ตัณหา สมา นที ความหมายก็ในทำนองว่า แม่น้ำถึงกว้างใหญ่ แต่น้ำเท่าไหร่-เท่าไหร่ ก็ไม่ทำให้เต็ม ฉันใด

          ตัณหา คือความอยากของคนก็เติมไม่เต็ม ฉันนั้น

          ฉะนั้น นโยบายรัฐบาลที่ถูก-ที่ควร คือสร้างความเสมอภาคในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้กับผู้คนในสังคมชาติทั้งด้านเศรษฐกิจ-ชีวิต-การบริหาร-การปกครอง ตามฐานานุรูป

          แล้วความเสมอภาคตามฐานานุรูป นั้น จะสร้าง "ใจที่พอ" ให้กับคนในสังคมบนการยอมรับตามเงื่อนไขแห่งกลไกชีวิตของแต่ละคน

          ไม่ใช่ จะทำให้คนไทยทุกคนหายจน แล้วรวยเท่ากันทุกคน

          นั่นมัน..เพ้อเจ้อ!

          แต่ที่ใช่ คือ ทำให้คนไทยทุกคน "พอใจด้วยใจพอ" ในสิ่งที่ตนได้ด้วยเหตุปัจจัยตามกำลังสติ-ปัญญา และความสามารถ

          ใน "สัมมาอาชีวะ" ของแต่ละคน

          นั่นคือการบริหารของรัฐบาลที่สอนให้คนแข่งขันกับตัวเอง รวย-จนตามกำลังของตัวเอง บนกติกาสังคมที่ทุกคนได้รับเท่าเทียมกัน

          "เงิน" มีค่าแค่แลกเปลี่ยน "วัตถุ" ได้ แต่วัตถุไม่ใช่สิ่งที่ "มนุษย์" แสวงหาเพื่อสร้าง "สุขสมบูรณ์" ได้ สิ่งแรกที่มนุษย์ควรแสวงหา และควรมีคือ สติ-หิริ-โอตตัปปะ เมื่อมีสิ่งนี้ "ใจ" อันเป็นนายมนุษย์จะบอกเองว่า วัตถุ หรือมิใช่วัตถุ หรือสิ่งไหนได้มาแล้วค่าของมนุษย์ยังคงที่ และมีสุขสมบูรณ์ นายกฯ ก็มีทรัพย์ล้นเหลือมิใช่หรือ แล้วท่านลองตอบตัวเองสิว่า..เวลานี้มีสุขที่ "สมบูรณ์"?.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :