เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
มหา' ลัยทางวิญญาณที่ลานหอยเสียบ
พระทวีศักดิ์ จิรธมฺโม
ถ้ำหนักเหรียง อ. ชะอวด จ. นครศรีธรรมราช

บทความนี้สืบเนื่องจากงาน "ภาวนาระหว่างศาสนิก" ซึ่งเป็นการภาวนาร่วมกันระหว่างศาสนิกชนชาวพุทธ คริสต์ อิสลาม
ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๔ ม.ค. ๒๕๔๖ ณ ลานหอยเสียบ บ้านโคกสัก ต.สะกอม อ.จะนะ จ. สงขลา
จัดโดยกลุ่มเสขิยธรรม กลุ่มศาสนิกชนชาวไทยเพื่อสันติภาพ และมูลนิธิโกมลคีมทอง

 

เมื่อสามัญชนพี่น้องชายหญิง คนเฒ่า คนแก่ ลูกเล็กเด็กอ่อนจำนวน ๘ หมู่บ้าน ในตำบลสะกอมและตำบลตลิ่งชัน อ. จะนะ จ. สงขลา ออกมายืนเรียงหน้ากระดาน ณ ชายหาดลานหอยเสียบ เพื่อชี้บอกผู้นำประเทศของตนว่า พวกเขาไม่ต้องการให้ชุมชน แผ่นดิน และท้องทะเลของพวกเขาถูกทำลายภายใต้โครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย ปรากฏการณ์นี้ต้องนับเป็นเรื่องชอบด้วยธรรมอย่างยิ่ง

          ชอบด้วยธรรมทั้งในแง่กฎหมายรัฐธรรมนูญ และในแง่ศาสนธรรม

          ในแง่กฎหมาย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้บัญญัติรับรองว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ชุมชนต้องมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มีสิทธิร่วมกับรัฐและชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชนต้องมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ มีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลในการดำเนินโครงการ และมีสิทธิในการนำเสนอความคิดต่อโครงการ

          ในแง่ศาสนธรรม สามารถมองได้หลายแง่มุม ในที่นี้ขอมองผ่านกรอบคิดทางฝ่ายพุทธ ผู้เขียนเห็นว่าพี่น้องมุสลิมที่มหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบกำลังต่อสู้ด้วยความจริง (สัจจะ) ๔ ประการ กล่าวคือ ๑. การทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตและปัญหาที่กำลังประสบอยู่ (ทุกข์) ๒. การศึกษา/ตีแผ่มูลเหตุของปัญหา (สมุทัย) ๓. การมองเห็นเป้าหมายของชีวิตในระดับสังคมอย่างชัดแจ้งว่า ชุมชนจะอยู่รอดได้ก็ด้วยวิถีการผลิตแบบพออยู่พอกิน (นิโรธ) ๔. การออกมาคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ ฯ โดยสันติวิธีตามหลักศาสนาของตัวเอง และการดำรงชีพอย่างพออยู่พอกินบนฐานการพึ่งตัวเองภายในชุมชน (มรรค) โดยความจริงทั้งสี่ประการนี้วางอยู่บนการประจักษ์ชัดว่า ชีวิตต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติ มิใช่ทำลายธรรมชาติ

          นับถึงวันนี้เป็นเวลากว่า ๕ ปีแล้ว เป็นห้าปีแห่งการสั่งสมภูมิปัญญาและกระบวนการเรียนรู้อย่างมากมายมหาศาล ขณะเดียวกันก็เป็นห้าปีแห่งความบอบช้ำอย่างสาหัส จากการบิดเบือนความจริงและการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายรัฐ กรณีล่าสุด คือเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ ๒๐ ธ.ค. ๒๕๔๕ ที่รู้จักกันในชื่อ "ธันวาทมิฬ"

          "ธันวาทมิฬ" มิได้เป็นการขนานนามอันเกินเลยความจริง

          เนื่องเพราะ การชุมนุมของพี่น้องมุสลิมในวันนั้น เป็นการชุมนุมอย่างสงบ โดยมีเป้าหมายเพื่อยื่นหนังสือให้กับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลโดยมิได้มีเจตนาแอบแฝงใด ๆ

          เนื่องเพราะ การสลายการชุมนุมในวันนั้น เป็นการใช้ความรุนแรงของฝ่ายตำรวจ ที่กระทำต่อพี่น้องมุสลิมขณะช่วงพักระหว่างการทำนมาซ (ละหมาด) และบ้างก็กำลังทานอาหาร เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่มีการใช้ความรุนแรงกับศาสนิกชนขณะประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

          เนื่องเพราะ หลังจากปฏิบัติการสลายการชุมนุมอย่างโหดเหี้ยมนั้นแล้ว ฝ่ายรัฐยังบิดเบือนความเป็นจริง และตามจองล้างจองผลาญผู้ชุมนุม ด้วยการออกหมายจับกดดันแกนนำชาวบ้าน และสร้างความแตกแยกขึ้นในชุมชนอย่างรุนแรง

 

สัจจะ ๔ ประการบนลานหอยเสียบ :

การทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตและปัญหา

          เหตุผลสำคัญอันหนึ่งที่ฝ่ายรัฐนำมาอ้างในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกบริเวณ ต. ตลิ่งชันและ ต. สะกอม ก็คือ พื้นที่ในบริเวณนี้ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำมาก การยกเอาเหตุผลนี้ มาบีบบังคับให้พี่น้องมุสลิมและพี่น้องชาวพุทธบางส่วน ต้องเสียสละผืนแผ่นดินที่เคยอยู่อาศัยมาแต่บรรพบุรุษ โดยยกเอาเหตุผลทางตัวเลขรายได้มาพิจารณาเป็นหลัก นับเป็นเรื่องอ่อนเยาว์ทางปัญญาอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยมีทฤษฎีสังคมศาสตร์ที่ไหนในโลก วิเคราะห์ความสำคัญของชุมชนโดยละเลยมิติทางด้านวัฒนธรรม วิถีการผลิต และความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน

          ด้านการผลิต ชาวบ้านแถบนี้มีอาชีพประมง เก็บหอยเสียบ ทำการเกษตร ปลูกข้าว ยางพารา แตงโม สวนมะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ เลี้ยงนกเขาชวาและอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง กระทั่งการหาเห็ด หาของป่าในป่าพรุ ฯลฯ สำหรับอาชีพประมงที่ถูกเรียกว่าเป็นประมงพื้นบ้านนั้นที่จริงควรเรียกว่าเป็นประมงแบบยั่งยืนถึงจะถูก ชาวบ้านที่นี่เล่าว่าเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีที่ผ่านมาสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีไม่มีเรืออวนขนาดใหญ่อย่างปัจจุบัน มีปลาอุดมสมบูรณ์ถึงขนาดนำปลาที่ได้มาใส่ที่นาแทนปุ๋ย แม้แต่ปัจจุบันจะเต็มไปด้วยเรืออวนมากมาย แต่ชาวบ้านก็ยังพอหาปูหาปลาได้พอกินพอขายเลี้ยงครอบครัว

          ช่วงที่ผู้เขียนไปยังลานหอยเสียบได้ลองไปเดินเล่นตามชายหาด ลองใช้เท้าขุดทรายดูปรากฏว่า พบหอยเสียบหลายสิบตัวอยู่ใต้ผืนทรายจากผลของการคุ้ยทรายปริ่มน้ำทะเลเพียงครั้งเดียว ชาวบ้านบอกว่าหอยเสียบจะเยอะที่สุดในช่วงเดือนสาม พวกเขาบอกว่าการที่ผืนทะเลไม่สามารถนำมาตัดแบ่งซื้อขายเป็นเจ้าของ และยังคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้พอประมาณจนถึงวันนี้ เปรียบไปก็เหมือน "หม้อแกง" ของชุมชน ในขณะที่ "หม้อข้าว" อันหมายถึงที่นานั้นถูกทุบทิ้งไปแล้ว เนื่องจากมีโรงงานปล่อยน้ำเสียจนไม่สามารถปลูกข้าวได้เหมือนในอดีต

          วิถีการผลิตเช่นนี้ย่อมเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับวิถีวัฒนธรรมและศาสนา เฉพาะชาวสะกอมนั้นถือได้ว่ามีภาษาเป็นเอกลักษณ์ของตนเองและถูกกล่าวถึงด้วยความภาคภูมิ เมื่อชาวสะกอมสักคนหนึ่งแนะนำตัวเองกับเพื่อนต่างถิ่นเขาจะประกาศอย่างเปิดเผยว่า เขานี่แหละเป็นตัวแทนของภาษาแบบ "ซะม๊อ" (หรือสะหม้อเป็นตัวตลกตัวหนึ่งในหนังตะลุงที่มีบุคลิก น้ำเสียง วิธีคิดเป็นของตัวเองซึ่งมีประวัติมายาวนาน)

          ปัญหาใหญ่หลวงของพี่น้องไทยมุสลิมและไทยพุทธในอำเภอจะนะก็คือ เมื่อใดที่ท่อก๊าซพาดลงบนหาดไม่ว่าจะเป็นที่จุดกำหนดเดิม หรือห่างออกไป ๘๐๐ เมตร หรือ ๔.๘ ก.ม. ทันทีนั้นก็หมายถึงภาพวิถีการผลิตแบบพออยู่พอกินและสังคมอันเกื้อกูลเช่นนี้จักไม่มีอีกต่อไป และเป็นที่แน่ใจได้ว่าภายใต้โครงการท่อส่งก๊าซฯ นี้ รัฐได้ลบภาพชุมชนที่ประกอบด้วยกุโบร์ มัสยิด ทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว นี่ยังไม่ต้องพูดถึงสันทราย (Sand Dunes) ป่าสันทราย และป่าพรุที่ไม่มีใครเห็นความสำคัญ

 

การศึกษา/ตีแผ่มูลเหตุของปัญหา (สมุทัย)

          ในช่วงปีแรก ๆ ก่อนจะมีชาวบ้านออกมาคัดค้านโครงการฯ คนส่วนใหญ่ก็เห็นดีเห็นงามไปกับคำบอกเล่าของทางเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาในหมู่บ้าน มาแจกหยูกยาตามมัสยิด ตามโรงเรียน ใครได้รับแจกหยูกยาก็ถูกตีความว่าเป็นผู้สนับสนุนเห็นด้วยกับโครงการ การปิดหูปิดตาประชาชน การหลอกลวงอันเป็นไม้ตายเก่า ๆ บนฐานคิดเดิม ๆ ว่าชาวบ้านโง่ นำไปสู่การจับกลุ่มพูดคุยกันในหมู่บ้าน การหาข้อมูล การไปศึกษาดูงาน กระทั่งก่อเกิดเป็นมหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ

          การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่เจ้าของโครงการและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทำนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าการดำเนินการเป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่โครงการ แต่หาได้สร้างความเป็นธรรมหรือตีแผ่ความเป็นจริงให้เกิดขึ้นไม่ ผู้ประเมินเหล่านี้ไม่เคยถามชาวบ้านซึ่งเคยออกเรือหาปลาทะเลตั้งแต่อายุ ๑๒ ขวบยัน ๖๕ ปี ตั้งแต่สมัยกางใบเรือรับลมกระทั่งเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์พลังขับเคลื่อนหลายแรงม้า ผู้รู้จักทะเลหลวงเหมือนนิ้วในมือตนเอง ผู้เคยดำน้ำฟังเสียงปลาและสามารถระบุชนิด ปริมาณ และตำแหน่งของฝูงปลา

          นอกไปจากรู้จักธรรมชาติแวดล้อมตัวเองดี ยังสามารถวิเคราะห์แยกแยะปัญหาเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ที่มหัศจรรย์พวกเขารู้ว่ามีแต่ศาสนธรรมเท่านั้นที่สามารถหยุดโครงสร้างเหล่านี้ได้ มีแต่ต้องเอาสภาพจิตใจในขณะทำละหมาด มาใช้ในกิจกรรมนอกละหมาดอันเป็นชีวิตประจำวันเท่านั้น จึงจะหยุดระบบอำนาจแห่งความโลภ ความรุนแรง และความลุ่มหลงมัวเมาในสังคม

 

กำหนดทางรอดของชุมชน / วิถีการผลิตพออยู่พอกิน (นิโรธ)

          วิถีพออยู่พอกินอำนวยให้เกิดการเกื้อกูลต่อกันทั้งในทางวัตถุและจิตวิญญาณ เป็นที่ทราบกันดีว่าพี่น้องมุสลิมนั้นจักต้องทำละหมาดวันละ ๕ ครั้ง ในเรื่องละหมาดนี้ ท่านนบี มูฮัมหมัด เคยกล่าวอุปมาไว้ว่า เปรียบเสมือนการที่คนผู้หนึ่งสร้างบ้านอยู่ใกล้ลำธาร ในแต่ละวันที่เขาอยู่ในบ้านหลังนั้นเขาได้ลงแช่น้ำในลำธารวันละ ๕ ครั้ง ร่างกายของเขาย่อมสะอาดบริสุทธิ์ฉันใด การทำละหมาดวันละ ๕ ครั้ง ก็ทำให้ใจของเขาบริสุทธิ์ฉันนั้น

          จำต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยลานหอยเสียบด้วยว่า มัสยิดของที่นี่สร้างเสร็จได้อย่างรวดเร็ว และได้รับทุนร่วมสร้างทั้งจากพี่น้องชาวพุทธและมุสลิมอย่างท่วมท้น แม้จะถูกห้ามสร้างจากคณะกรรมการมุสลิมก็ตาม

          และที่ชนชาวโลกในอนาคตจักต้องขอบคุณ หรือถึงกับสร้างอนุสาวรีย์ให้ก็คือ พี่น้องมุสลิมที่นี่กล้ากำหนดชะตากรรมของชุมชนของตนเอง ไม่ต่างมนุษย์ตัวน้อย ๆ กำลังยืนต้านพญายักษ์หน้ามืด มุทะลุดุดัน และมูมมามในนามทุนนิยมเสรี และด้วยการชี้นำจากอัลเลาะห์พวกเขากล้าขีดเส้นให้พญายักษ์เดิน

 

การเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการฯ โดยสันติวิธีบนฐานการพึ่งตนเอง (มรรค)

          สิ่งที่พี่น้องมุสลิมและพี่น้องพุทธบริษัททำอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการยืนอยู่บนความจริง ยืนอยู่บนสันทรายซึ่งมีบ่อน้ำจืดสนิทห่างจากหาดทะเลไม่เกิน ๕๐ เมตร ยืนอยู่บนวิถีชีวิต กรีดยาง ออกเรือหาปลา ละหมาดเมื่อถึงเวลา ตกบ่ายมาประชุมสอบถามความคืบหน้า แลกเปลี่ยนข่าวสาร ร่ำเรียนวจนะท่านนบี ตลอดจนจัดเปลี่ยนเวรยามกันตรวจตราบริเวณลานหอยเสียบ ฯลฯ การกระทำเหล่านี้ไม่ควรถูกนิยามว่าเป็นการคัดค้าน คัดง้าง ขัดขวางโครงการของรัฐ เพราะการให้นิยามเช่นนี้สะท้อนให้เห็นฐานคิดของการยึดเอาโครงการของรัฐเป็นศูนย์กลาง ทั้ง ๆ ที่แท้สิ่งที่ชาวบ้านทำอยู่ทุกวี่วันเหล่านี้ ก็คือ วิถีแห่งการประกาศสัจจะให้ชาวโลกรับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นที่ลานหอยเสียบ

          จากการได้รับฟังจากปากผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ "ธันวาทมิฬ" ได้ชมภาพวิดีทัศน์เหตุการณ์ทั้งหมดอย่างละเอียด และได้ใช้ชีวิตสัมผัสกับพี่น้องมุสลิมและพุทธบริษัทบางส่วน ณ ลานหอยเสียบทั้ง ๔ วัน ๔ คืน ผู้เขียนเชื่อว่า ใครก็ตามที่ยังคงเป็นคนปรกติดีอยู่ย่อมรู้ได้เองว่า ฝ่ายรัฐเป็นชนวนยั่วยุให้เกิดความรุนแรง และเป็นผู้กระทำความรุนแรงใส่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าประสบการณ์การร่วมภาวนาระหว่างศาสนิกซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาสั้น ๆ ได้ช่วยขยายความรับรู้ทั้งทางด้านข้อมูลและความรู้สึกภายในอย่างไม่มีใดเปรียบ เส้นแบ่งระหว่างศาสนาและความเชื่อที่เรียกขานกันด้วยชื่อที่แตกต่างได้ถูกยกเลิกไปอย่างสิ้นเชิง

ในยุคสมัยที่มนุษย์ถูกลดทอนให้เป็นเพียงผู้บริโภคอย่างเสมอหน้ากันอย่างในปัจจุบัน พี่น้องที่ลานหอยเสียบยังคงวิถีชีวิตอันเรียบง่ายอบอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งความเกื้อกูลต่อกัน จิตวิญญาณของชุมชนที่รักความสงบหวงแหนในบ้านเกิดยังเต็มไปด้วยความสุขและร่ำรวยอารมณ์ขัน อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีวันใดเลยที่หมู่บ้านแห่งนี้ปราศจากเสียงสวดมนต์สรรเสริญพระเจ้า ภาพเหล่านี้คือภาพของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรี สูงไปด้วยคุณค่าและความงาม คนเหล่านี้เป็นคนจริงทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ จริงอย่างที่ไม่ต้องมีตัวเลขทางสถิติมารองรับ

          การที่เจ้าของโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นปตท. หรือเจ้าหน้าที่ราชการ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งมวล สามารถทำให้ชุมชนเกิดการศึกษาปัญหาอย่างเป็นระบบ เกิดการรวมคน รวมใจ ใช้พลังทางปัญญามากำหนดวิถีชีวิตของชุมชนเองได้ถึงเพียงนี้ หากไม่นับเป็นมหาวิทยาลัยทางวิญญาณแล้วจะให้นับเป็นอะไร .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :