เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
พุทธวิถีแห่งการบริโภค
พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

          ท่ามกลางกระแสแห่งบริโภคนิยม (consumerism) ที่แผ่ขยายปกคลุมไปทั่วโลกอย่างรุนแรงและบ้าคลั่งในทุกวันนี้ ชาวโลกต่างประสบกับปัญหาอันเนื่องมาจากการบริโภคอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งเมืองไทยก็ต้องเผชิญกับกระแสดังกล่าว ซึ่งแม้เมืองไทยจะเป็นเมืองพุทธและมีพุทธธรรมเป็นหลักในการปฏิบัติ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือคนไทยเองนั้นอยู่ในท่ามกลางกระแสนี้อย่างรู้เท่าทันหรือไม่ กล่าวคือได้ใช้หลักพุทธธรรมในการปฏิบัติมากน้อยเพียงใด

          ความบ้าคลั่งของกระแสบริโภคนิยมที่ท่วมทับโลกทุกวันนี้ ใช้วิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสารทุกรูปแบบ ด้วยเหตุที่กระแสดังกล่าวมีความเชื่อเบื้องลึกคือ "ความอยากของมนุษย์นั้นจะต้องได้รับการตอบสนอง" ในทำนองที่ว่ามนุษย์จะต้องสร้างสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง และวิธีการที่จะสร้างสุขที่ได้ผลก็คือ การตอบสนองความอยากให้ได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความอยากเพื่อมีวัตถุมาเสพบริโภค หรือความอยากที่จะให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด

          วิธีคิดในการสร้างสุขนั้น สนับสนุนความโลภ และเมื่อผู้คนต่างมีความโลภเป็นธรรมในใจ ก็จะนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรของกันและกัน เอาตนเองเป็นสำคัญ มองไม่เห็นผู้ที่อ่อนแอกว่าว่าจะต้องให้ความช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเกิดปรากฏการณ์แห่งการทอดทิ้งกัน ปล่อยให้ผู้อ่อนแอกว่าต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยตนเอง ปรากฏการณ์ที่ชัดเจนที่เห็นได้ในโลกปัจจุบันคือ ความยากจน ความอยุติธรรมทางสังคม ปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติด โสเภณี ความรุนแรง สงคราม การทำลายสิ่งแวดล้อม ความเครียด พฤติกรรมที่เบี่ยงเบน

          ในทางตรงกันข้าม พระพุทธศาสนามีวิธีคิดสำคัญอยู่ที่ การกำจัดทุกข์ วิธีคิดดังกล่าวนำมาซึ่งการแสวงหาทางออก หรือทางที่จะกำจัดทุกข์ ซึ่งเป็นที่มาแห่งปัญญาเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดี และวิธีการหรือทางออกที่ถูกต้องที่สุดก็คือทางที่จะนำไปสู่การลดความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเมื่อถึงที่สุดดังกล่าวสันติภาพอาจยอแสงในท่ามกลางแห่งกระแสนิยมในโลกปัจจุบันนี้ได้

          ย้อนกลับมาทบทวนวิถีปฏิบัติของชาวโลกในท่ามกลางกระแสบริโภคในปัจจุบัน พอจะเห็นพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นไปในทิศทางที่กระแสต้องการจะเห็นเป็นสำคัญ มีผู้คนจำนวนน้อยที่ใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องการบริโภคปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตทั้ง ๔ ประการ ซึ่งได้แก่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ตามพุทธวิถี

          มีปรากฏการณ์ชาวอเมริกันรวมตัวกันฟ้องร้องร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู๊ด หรืออาหารทานด่วน โดยตั้งข้อกล่าวหาว่าร้านอาหารที่ชาวอเมริกันฝากท้องไว้ทั้งมื้อเช้า กลางวัน และเย็นนั้นเป็นต้นเหตุของภาวะโภชนาการเกิน ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากมีน้ำหนักเกิน ซึ่งจากผลการวิจัยโดยการสำรวจคนเดินถนนในอเมริกา พบว่าในคนที่เดินบนถนน ๑๐ คน มีคนซึ่งอยู่ในภาวะโภชนาการเกินประมาณ ๘ คน นั่นหมายความว่า คนอเมริกันประมาณ ๘๐ % มีภาวะโภชนาการเกิน และภาวะโภชนาการเกินก็กำลังจะเป็นปัญหาในเมืองไทย ในเมืองใหญ่ ๆ ของไทยเริ่มพบเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ก็เพราะวิถีการบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไป กรณีชาวอเมริกันก็น่าเห็นใจ เพราะทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นพืชผลทางการเกษตรที่จะนำมาเป็นอาหารมีค่อนข้างจำกัด ซึ่งต่างจากคนไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่ว่าเพราะคนไทยกำลังเดินตามวิถีการบริโภคแบบฝรั่งอเมริกัน ซึ่งมองว่าการบริโภคเช่นนั้นมีความโก้หรู ทำให้ดูเป็นคนมีระดับ เป็นที่ยอมรับของสังคม

          ในชนบทของไทยเมื่ออดีตซึ่งไม่ไกลนัก ทุกครอบครัวจะมีสวนครัวประจำบ้าน ที่เป็นที่รวมของพืชพันธุ์ธัญญาหารที่หลากหลาย ไมว่าจะเป็นประเภทเครื่องปรุงอย่างขิง ข่า ตะไคร้ พริก เป็นต้น รวมถึงผักที่จำเป็นและง่ายต่อการนำมาปรุงอาหารบริโภคอย่างตำลึงซึ่งขึ้นอยู่ข้างรั้ว (ที่ปัจจุบันกลายเป็นรั้วคอนกรีต) ผักกาด ผักบุ้ง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ คนไทยได้บริโภคสิ่งเหล่านี้ที่หาได้ในครัวเรือน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาร้านอาหารนอกบ้านอย่างเช่นชาวอเมริกัน แต่น่าเสียดายว่าวิถีบริโภคเช่นว่านี้ ก็กำลังถูกบั่นทอนลงด้วยพลังแห่งกระแสบริโภคนิยมอย่างยากที่จะทนทานได้

          แฟชั่นเครื่องแต่งกายของโลก ก็เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีแห่งการบริโภคเครื่องนุ่งห่มของชาวโลกปัจจุบัน ได้เป็นอย่างดี มีแฟชั่นเครื่องแต่งกายที่(เชื่อกันว่า)ก้าวหน้า ทันสมัย แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นว่า ยิ่งบอกว่าแฟชั่นพัฒนาก้าวหน้าไปก็ยิ่งดูจะห่างไกลจากวิถีที่ถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น เพราะเป็นเครื่องแต่งกายที่มุ่งอวดสรีระมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสายเดี่ยว เอวลอย เป้าต่ำ ต่างก็มุ่งที่จะอวดสรีระร่างกายของผู้สวมใส่มากขึ้นจนน่าเป็นห่วงว่า จะเป็นที่มาของอาชญากรรมประเภทฆ่า ข่มขืน เป็นยิ่งนัก ทั้งนี้ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เป็นเพราะอิทธิพลของกระแสแห่งแฟชั่นเครื่องแต่งกายที่ไหลมาจากตะวันตก

          ในขณะที่เครื่องแต่งกายของคนไทยเราในอดีตที่ไม่ไกลนักเช่นกัน พยายามที่จะปกปิดสรีระให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาอีกมากมายอย่างที่กล่าวแล้ว เรามีผ้าซิ่น ผ้าถุง เสื้อแขนกระบอก เสื้อคอกลมที่เป็นเอกลักษณ์ แต่สิ่งเหล่านี้ก็กำลังถูกท้าทายด้วยกระแสแฟชั่นสมัยใหม่อย่างหนักหน่วง

          บ้านเรือนปัจจุบันก็เน้นความใหญ่โตโอ่อ่า ไม่คำนึงถึงว่าจะสอดคล้องกับสภาวะดินฟ้าอากาศ รวมถึงปริมาณของคนที่อยู่อาศัย แคบลงมาที่เมืองไทยก็จะเห็นปรากฏการณ์ที่ว่านี้มากขึ้น คนภาคกลางที่เคยมีบ้านใต้ถุนสูง เพราะภาคกลางจะมีปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากมาแต่อดีต การมีบ้านใต้ถุนสูงจะช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมบ้านได้เป็นอย่างดี และการที่น้ำจะท่วมบ้านเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก็ดูจะไม่เป็นปัญหา เพราะนั่นเป็นวิถีที่ได้รับการยอมรับเป็นวัฒนธรรมในเวลาต่อมา บ้านในภาคเหนือซึ่งโดยทั่วไปก็มีลักษณะเป็นบ้านใต้ถุนสูง ด้วยความจำเป็นที่จะต้องเก็บผลิตผลทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ไว้บริโภค และเป็นเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูกที่จะมาถึงในฤดูกาลต่อไป

          บ้านเรือนใต้ถุนสูงของไทยก็กำลังถูกคุกคามด้วยบ้านอิฐถือปูนหลังใหญ่ ที่ไม่สามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้เช่นในอดีต ซึ่งก็เป็นอีกสิ่งที่ท้าทายในท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่รุนแรงเช่นทุกวันนี้

          ยาบ้า ยาอี ยาเค ได้แพร่ระบาดในหมู่วัยรุ่นทั่วโลก รวมถึงวัยรุ่นไทย เพียงเพื่อต้องการที่จะปลดปล่อยความรู้สึก ความรู้สึกที่ยากที่คนรุ่นปู่รุ่นย่าจะเข้าใจได้ ทำให้เห็นปรากฏการณ์ของปาร์ตี้ยาอี ปาร์ตี้ยาเค ที่หมู่วัยรุ่นมักนิยมกันมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะบุตรหลานของผู้ที่มีอันจะกันทั้งหลาย นี่เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ยาที่นอกเหนือไปจากการใช้ยาที่แท้จริง ซึ่งการใช้ยานั้นมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การแก้โรค

          เมื่อย้อนกลับมาดูพุทธวิถีแห่งการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคปัจจัยที่จำเป็นต่อชีวิตทั้ง ๔ ประการ ก็จะพบว่ามีหลักแห่งการบริโภคโดยคำนึงถึงคุณค่าที่แท้จริงของการบริโภคมากกว่าคุณค่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นความโก้เก๋ ความสนุกสนาน ความทันสมัย หรือแม้แต่ความอร่อย เป้าหมายของการบริโภคอยู่ที่ความงอกงามไพบูลย์แห่งชีวิตและธรรมชาติ ดังนั้นการบริโภคแบบพุทธจึงเป็นวิถีที่คำนึงถึงดุลยภาพแห่งชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งถือปฏิบัติในสังคมสงฆ์อย่างเคร่งครัด จริงจัง และต่อเนื่องมาตามลำดับ แม้ว่าปัจจุบันจะคงเน้นเพียงรูปแบบจนลืมสาระไปบ้าง แต่ยังคงมีร่องรอยให้ได้สืบค้น และนำกลับมาสู่การปฏิบัติเพื่อแก้วิกฤติแห่งการบริโภคของโลกในปัจจุบันได้

          ก่อนที่จะใช้จีวรใหม่ ฉันอาหารทุกมื้อ ใช้สอยเสนาสนะมีกุฏิเป็นต้น รวมถึงฉันยารักษาโรค พระสงฆ์จะต้องพิจารณาโดยแยบคายว่าจะใช้สอยสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์สายวัดป่าหรือสายปฏิบัติที่สืบทอดมาจากครูบาอาจารย์รุ่นก่อน ต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างอาหารที่ญาติโยมนำมาถวายมีจำนวนมาก พระสงฆ์จำต้องพิจารณาตักฉันในปริมาณที่พอเพียงแก่ความต้องการที่จะมีชีวิตดำรงอยู่ได้ต่อไป เพื่อที่จะได้ปฏิบัติธรรมและบำเพ็ญประโยชน์ต่อไป อาจมีปัญหาอยู่บ้างก็คือกลุ่มพระบ้าน ที่ทุกวันนี้อาจเห็นเรื่องนี้เป็นเพียงพิธีกรรม แต่ยังเข้าใจสาระของเรื่องนี้น้อยอยู่พอสมควร

          การพิจารณาแม้จะเป็นภาษาบาลี ซึ่งอาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเพียงพิธีกรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ก็มีการอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างถูกต้อง และนำมาเป็นข้อพิจารณาเพื่อถือปฏิบัติอย่างจริงจัง เมื่อดูจากคำแปลของภาษาบาลีเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาก่อนบริโภคปัจจัย ๔ แล้วจะเห็นว่าเป็นพุทธวิถีแห่งการบริโภคที่ชาวพุทธควรนำมาพิจารณาทบทวน เพื่อจะได้ไม่หลงไปกับกระแสแห่งการบริโภคที่กำลังไหลบ่าไปทั่วในปัจจุบัน

          "ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคาย จึงใช้สอยจีวร เพียงเพื่อป้องกันความหนาว เพื่อป้องกันความร้อน เพื่อป้องกันสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะอันให้เกิดความละอาย

          ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคาย จึงฉันบิณฑบาต ไม่ฉันเพื่อคะนองกายเล่น ไม่ฉันเพื่อความมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง แต่ฉันเพียงเพื่อความดำรงอยู่แห่งกายนี้ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยการพิจารณาอย่างนี้ ข้าพเจ้าจักบรรเทาเวทนาเก่าคือความหิวได้ จักไม่ยังเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น ความเป็นไปสะดวกแห่งการก็ดี ความไม่มีโทษก็ดี ความอยู่ผาสุกก็ดี จักมีแก่เรา ดังนี้

          ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคาย จึงอยู่อาศัยเสนาสนะ เพียงเพื่อป้องกันความหนาว เพื่อป้องกันความร้อน เพื่อป้องกันสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายอันเกิดจากดินฟ้าอากาศ เพื่อให้ยินดีในการหลีกเร้นสำหรับภาวนา ดังนี้

          ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคาย จึงฉันยาแก้ไข้ เพียงเพื่อป้องกันเวทนาทั้งหลายที่เกิดแต่อาพาธต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อไม่ถูกเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง ดังนี้"

          หากได้พิจารณาเป็นประจำต่อเนื่องเป็นประจำ ย่อมเป็นการสั่งสมความคิด วิธีคิด ในเรื่องของการบริโภคที่ถูกต้อง เป็นพุทธวิถีแห่งการบริโภคที่มุ่งเน้นให้เกิดดุลยภาพแห่งชีวิตและธรรมชาติอย่างแท้จริง

          นอกจากจะต้องพิจารณาถึงการบริโภคปัจจัย ๔ ดังกล่าวแล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงข้อธรรมที่จะเป็นเกาะป้องกันตนเอง หรือข้อธรรมที่จะคอยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอันเนื่องมาจากการบริโภค กล่าวคือ การสำรวมอินทรีย์(อินทรียสังวร) นั่นหมายความว่า การที่เราสามารถรู้เท่าทันสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ แล้ว ย่อมเป็นการป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมาได้

          เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้รับกลิ่น เมื่อลิ้นได้ลิ้มรส เมื่อกายได้ถูกต้องสัมผัส และเมื่อใจได้รับรู้ธรรมารมณ์ ก็พิจารณาและกำหนดรู้ว่าเป็นเพียงแต่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ซึ่งมีธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน และไม่อยู่ในอำนาจการควบคุมของเรา ไม่ควรที่เราจะเก็บมาปรุงแต่งให้เป็นอารมณ์ชอบใจไม่ชอบใจ เมื่อทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพราะทุกวันนี้กระแสแห่งบริโภคนิยมพยายามอย่างยิ่ง ที่จะยั่วยุให้เราหลงใหลไปโดยอาศัยสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ เพื่อให้ได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ลิ้มรส ได้ดมกลิ่น ได้ถูกต้องสัมผัส และรับรู้ให้เข้าถึงจิตถึงใจ เพราะเขามีความเชื่อว่าเมื่อได้สื่อผ่านอินทรีย์ ๖ ยิ่งมากเท่าไร โอกาสที่คนจะตัดสินใจบริโภคก็ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น เพราะนั่นถือเป็นจุดอ่อนที่สุดของคน

          พระนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้ทำกิจกรรมการบริโภคแนวพุทธในโรงเรียนหลายแห่งในเชียงใหม่ พบว่าการที่เด็กนักเรียนได้มีโอกาสทบทวนการบริโภคของตนเอง โดยการบันทึกประจำวันเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองได้บริโภคตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอนในแต่ละวัน เมื่อครบหนึ่งสัปดาห์ก็นำข้อมูลที่บันทึกได้มามาวิเคราะห์ร่วมกันถึงสารอาหาร และสิ่งอื่นที่ร่างกายได้รับที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งทำให้พบว่า ตลอดหนึ่งสัปดาห์มีสิ่งที่ได้บริโภคได้ทั้งที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย และเป็นโทษแก่ร่างกาย แนวโน้มจะมีส่วนที่เป็นโทษแก่ร่างกายเสียมากกว่า จากจุดดังกล่าวได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งการบริโภค มีการลดและเลิกบริโภคบางสิ่งที่เป็นโทษ และหันมาบริโภคสิ่งที่เป็นประโยชน์มากขึ้น โรงเรียนเองก็เริ่มตระหนังถึงบทบาทของตนเอง ในการส่งเสริมการบริโภคสิ่งที่เป็นประโยชน์ของเด็ก โดยห้ามขายน้ำอัดลมแก่เด็ก แต่ส่งเสริมการผลิตน้ำผลไม้และน้ำต้มสมุนไพรแทน เป็นต้น นั่นเป็นผลจากการที่ทุกฝ่ายได้มีโอกาสนั่งลงพิจารณาเรื่องราวของการบริโภคอย่างมีสมาธิ จึงนำมาซึ่งปัญญาจัดการกับปัญหาในที่สุด การดำเนินการดังกล่าว ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสนับสนุนทุนดำเนินการ

          หากได้ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเห็นพุทธวิถีแห่งการบริโภคกลับมามีชิวิต เป็นวิถีปฏิบัติของคนเราต่อไป นั่นหมายความว่า วิกฤติเกี่ยวกับกระแสแห่งบริโภคนิยมก็ไม่อาจทำอันตรายต่อโลกนี้ได้.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :