เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

พุทธศาสนากับลัทธิบริโภคนิยม

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน : พระ์ไพศาล วิสาโล
๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
ที่มา : วารสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ ๒๓


 

การบริโภคเป็นกิจจำเป็นเพื่อความอยู่รอดของทุกชีวิต แต่เมื่อชีวิตนั้นวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ การบริโภคก็มิใช่เรื่องของกายอย่างเดียวอีกต่อไป หากยังสัมพันธ์กับชีวิตและเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพราะมนุษย์นั้นเป็นองค์รวมแห่งกายและจิต พร้อมๆ กับที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม

          พุทธศาสนาตระหนักถึงความจริงข้อนี้ จึงให้ความสำคัญแก่การบริโภคในฐานะกิจพื้นฐานเพื่อการพัฒนาชีวิต โดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า พุทธศาสนานั้นมุ่งแต่การพัฒนาในด้านจิตใจอย่างเดียว แต่แท้ที่จริงแล้ว การพัฒนาในทางพุทธศาสนาครอบคลุมทั้งเรื่องกายใจ และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นสังคมและธรรมชาติ การทำกรรมฐานหรือบำเพ็ญเพียรทางจิตแม้จะเป็นจุดเด่นของพุทธศาสนา แต่ก็มิใช่วิถีทางเดียวเท่านั้นในการพัฒนาตน แม้แต่การบริโภคก็เป็นวิถีทางสำคัญในการพัฒนาตน อย่างครอบคลุมทุกความหมายได้เหมือนกัน

          ขอให้ดูตัวอย่างในการบริโภคอาหาร อันที่จริงอาหารนั้นเกี่ยวข้องกับร่างกายโดยตรงอยู่แล้ว แต่การบริโภคอาหารจะมีผลเสริมสร้างสุขภาพได้ก็ต่อเมื่อมีท่าทีที่ถูกต้องต่อการบริโภค ในทางพุทธศาสนา บุคคลพึงบริโภคอาหารด้วยจุดหมายเพื่อให้ร่างกายอยู่ได้ด้วยดี ปลอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บและความทุกข์ทรมาน เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความดีงามทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ท่าทีเช่นนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าเราควรบริโภคอะไร เท่าไหร่ และอย่างไร

          ตรงนี้เองที่เป็นจุดแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างพุทธศาสนากับลัทธิบริโภคนิยม อย่างหลังนั้นมุ่งบริโภคเพื่อความเอร็ดอร่อย และเพื่อการประกวดประชันแข่งขันในด้านยศศักดิ์อัครฐานและความีหน้ามีตา ผลที่ตามมาก็คือร่างกายแทนที่จะมีสุขภาพดีขึ้นกลับเลวลง ทั้งนี้ก็เพราะท่าทีการบริโภคดังกล่าวได้เป็นปัจจัยสำคัญให้แบบแผนการบริโภคอาหารของคนปัจจุบันเปลี่ยนไป เนื้อ นม ไข่ และน้ำตาล กลายเป็นอาหารหลัก ซึ่งเติมแต่งด้วยสารเคมีอย่างหนักให้ดูอร่อย น่ากิน ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึง บุหรี่และเหล้าอันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับอาหาร "ชั้นสูง" การบริโภคอาหารเหล่านี้อย่างฟุ่มเฟือยไม่รู้จักประมาณ ทำให้โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ กลายเป็นโรคระบาดสมัยใหม่ที่คุกคามชีวิตผู้คนเป็นอันมาก ปัจจุบันในบรรดาโรคร้ายทั้งหลาย โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายของคนมากที่สุดคือ ๑๒ ล้านคนต่อปี ขณะที่โรคติดเชื้อที่อันตรายที่สุดคืออหิวาตกโรคนั้น คร่าชีวิตคนเพียง ๕ ล้านคน

          นอกจากการบริโภคอาหารซึ่งอุดมไปด้วยไขมันและแคลอรีมากเกินไปแล้ว วิธีการบริโภคของคนปัจจุบันยังเป็นสาเหตุของโรคทางกายมากมาย ขณะที่ในทางพุทธศาสนาถือว่า วิธีการกินอาหารที่ดีคือการกินอย่างมีสติ จิตใจผ่อนคลาย โดยที่ก่อนกินและหลังกินอาจมีการสำรวมจิตแผ่เมตตาหรืออนุโมทนาแก่สรรพพสัตว์ วิธีนี้ช่วยให้จิตมีความสงบสำรวม แต่คนในยุคบริโภคนิยมกลับกินด้วยอาการที่เร่งรีบ จิตฟุ้งซ่านวุ่นวาย กินพลางก็คุยธุระพลาง หาไม่ก็อ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์ไปด้วย ทำให้จิตเครียดส่งผลถึงระบบย่อยอาหารรวมถึงโรคกระเพาะอาหาร อาการท้องผูก ท้องอืด และท้องเฟ้อ คุกคามคนสมัยใหม่มิใช่น้อย

          การกินอาหารด้วยท่าทีที่ถูกต้อง คือ กินเพื่อสุขภาพ มิใช่เพื่อหวังความเอร็ดอร่อย หรือด้วยความตะกละตะกลามและไร้สติ นอกจากจะมีผลต่อสุขภาพกายแล้ว ยังมีผลเสริมสร้างจิตและปัญญาอีกด้วย เพราะในเบื้องแรกเป็นการฝึกคนให้รู้จักแยกแยะว่า ระหว่างคุณค่าทางโภชนาการและรสชาติหรือความมีหน้ามีตาโก้เก๋นั้น อะไรคือคุณค่าที่แท้จริงของอาหาร และอะไรคือคุณค่าเทียม ผลที่ตามมาก็คือการฝึกจิตมิให้หลงใหลไปกับรสชาติของอาหาร จนมุ่งแต่จะบริโภคเพื่อสนองรสสัมผัสทางกายยิ่งกว่าอะไรอื่น ยิ่งกว่านั้นการกินอาหารอย่างสำรวม มีสติ ยังมีผลในการพัฒนาคุณภาพจิตอีกด้วย ในทางพุทธศาสนาจึงถือว่าการกินอาหารเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง

          เป็นเพราะลัทธิบริโภคนิยมไม่สนใจในเรื่องมิติทางจิตใจ เห็นว่าคนเรานั้นเป็นเพียงก้อนวัตถุ จิตใจไม่ใช่อะไรมากไปกว่าปฏิกิริยาทางเคมีฟิสิกส์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่สมอง หาไม่ก็เห็นว่าจิตใจเป็นเพียงเวทีรับรู้รสสัมผัสและความเอร็ดอร่อยทางกายเท่านั้น จึงมองไม่เห็นว่าการบริโภคอาหารส่งผลต่อคุณภาพจิตอย่างไรบ้าง

          การมุ่งบริโภคเพียงเพื่อความเอร็ดอร่อยและเพื่อแสดงยศศักดิ์อัครฐานหรือความโก้เก๋นั้น ทำให้จิตใจหมักหมมด้วยแรงปรารถนาในวัตถุ เพื่อปรนเปอความต้องการทางกาย และตอบสนองความอยากเด่น อยากโก้ของตน ดังที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ตัณหาและมานะ แรงปรารถนาที่ปราศจากการควบคุมด้วยสติหรือการตริตรองด้วยปัญญานี้เอง ที่ชักนำชีวิตไปสู่การแข่งขันชิงดีชิงเด่นเพื่อให้ได้สิ่งปรนเปรอตัณหาและมานะมากขึ้น ความเครียด ความผิดหวัง ความโกรธ และความคับแค้นใจ อันเป็นผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการแข่งขันดังกล่าว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคจิต โรคประสาท โรคซึมเศร้า กลายเป็นโรคจิตที่สำคัญของคนยุคบริโภคนิยม ยิ่งในสหรัฐอเมริกาด้วยแล้ว อาการป่วยดังกล่าวแพร่หลาย กระทั่งในทุกๆ ๔ คน จะมี ๑ คนที่ใช้เวลาเป็นเดือนๆ หรือนับปีอยู่ในโรงพยาบาลโรคจิต หรือขอรับการรักษาจากจิตแพทย์

          อนึ่ง คุณภาพจิตนอกจากขึ้นอยู่กับว่าบริโภคอย่างไรแล้ว การบริโภคอะไรก็ส่งผลต่อภาวะจิตเช่นกัน น้ำตาลเป็นอาหารอย่างหนึ่งที่คนกินด้วยติดใจในรสชาติยิ่งกว่าอะไรอื่น เวลานี้ก็พบแล้วว่าน้ำตาลบริสุทธิ์หรือน้ำตาลทรายขาว ซึ่งสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วนั้น ถ้ากินมากไปจะทำให้อารมณ์แปรปรวน หลงลืม ก้าวร้าว ขาดเหตุผล มีอาชญากรรมหลายกรณีที่พบว่าสัมพันธ์กับการกินอาหารขยะ (junk food) ที่มีน้ำตาลมากเกินไป เช่น เค้ก ช็อกโกแลต น้ำอัดลม

          นอกจากมีผลต่อร่างกายและจิตใจแล้ว การบริโภคยังเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง เพราะสิ่งที่เราบริโภคนั้นล้วนได้มากจากธรรมชาติแวดล้อมทั้งสิ้น แม้แต่อาหารสังเคราะห์ก็ไม่พ้นจากนี้ พุทธศาสนาถือว่าในการดำรงชีวิตของคนเรานั้น ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเบียดเบียนชีวิตอื่นที่แวดล้อมตัวเรา เพราะฉะนั้นเราจึงควรรู้จักประมาณในการบริโภคเพื่อไม่ให้เดือดร้อนชีวิตอื่นมากเกินไป กระทั่งอาหารที่เลี้ยงชีวิตก็ต้องกินเท่าที่จำเป็น ดังพ่อแม่ที่จำต้องกินเนื้อลูกที่ตายกลางทะเลทราย เพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดไปได้ ดังนั้นสรรพชีวิตในธรรมชาติแวดล้อม จึงมิใช่แค่เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย หากยังเป็นสิ่งที่มีบุญคุณต่อมนุษย์อันควรได้รับการดูแลรักษาและเคารพ แม้ต้นไม้ที่ให้ร่มเงา มนุษย์ก็พึงสำนึกในบุญคุณดังพุทธภาษิตที่ว่า "บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาต้นไม้ใด ไม่ควรรานกิ่งต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม" ยิ่งพระภิกษุด้วยแล้ว เพียงแค่การตัดต้นไม้ เอาน้ำมีตัวสัตว์มารดหญ้า หรือถ่ายอุจจาระปัสสาวะบ้วนเสมหะลงในน้ำหรือพุ่มไม้ ก็ถือเป็นอาบัติพึงงดเว้นเสีย

          แต่สำนึกในธรรมชาติแวดล้อมหามีอยู่ในลัทธิบริโภคนิยมไม่ เป้าหมายของการบริโภคมีอยู่ประการเดียวคือ เพื่อความพอใจสูงสุดของปัจเจกชน ธรรมชาติเป็นเพียงวัตถุหรือ "ทรัพยากร" ที่มีขึ้นเพื่อปรนเปรอความต้องการของมนุษย์เท่านั้น แม้คำว่า "อนุรักษ์" จะมีอยู่ในสารบบของลัทธินี้ แต่ก็มีความหมายเพียงแค่การจัดการทรัพยากรให้ได้ประโยชน์สูงสุดและยืนนานที่สุดสำหรับมนุษย์เท่านั้น ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ธรรมชาติถูกตักตวงจนร่อยหรอลงไปทุกที ไม้ถูกตัด สัตว์ถูกฆ่า ป่าถูกทำลาย สิ่งแวดล้อมจึงเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว จนดินฟ้าอากาศแปรปรวน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หาไม่น้ำก็ท่วมบ่อยครั้ง ที่สุดจนชั้นบรรยากาศก็กำลังมีปัญหาจากภาวะเรือนกระจก และการทำลายชั้นโอโซน

          ความร่อยหรอของปัจจัยในธรรมชาติ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประชากรโลกเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว แต่สาเหตุสำคัญก็คือความต้องการบริโภคมีมากขึ้น ด้วยมีค่านิยมว่าจุดหมายสูงสุดของชีวิตคือการบริโภคและครอบครองทรัพย์สมบัติให้ได้มากที่สุด ดังจะเห็นได้ว่า นับแต่ปี ๑๙๕๐ ถึงปัจจุบัน ขณะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า การผลิตสินค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น ๗ เท่านี้แสดงว่าอัตราการบริโภคนั้นเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรหลายเท่า จริงอยู่สาเหตุของการบริโภคเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อยกระดับการครองชีพให้พ้นจากความยากจน แต่สาเหตุใหญ่ก็คือการบริโภคเพื่อเสริมสร้างความมั่งคั่งที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งทรัพยากรที่โลกผลิตได้ในปีหนึ่งๆ ส่วนใหญ่จะถูกนำไปสนองความต้องการของคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตัวอย่างชัดเจนคือ ธัญพืช เมื่อทศวรรษที่แล้วโลกผลิตได้ ๑,๓๐๐ ล้านตันต่อปี แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วบริโภคถึง ๖๐๐-๗๐๐ ล้านตัน โดยที่ในจำนวนนี้ ๓๒๕ ล้านตันใช้เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารเนื้อให้บริโภคกันได้อย่างฟุ่มเฟือย ในขณะที่คนอินเดียและจีน ซึ่งรวมกันมีจำนวน ๑,๔๐๐ ล้านคน หรือ ๑ ใน ๓ ของประชากรโลกบริโภคเพียง ๒๕๐ ล้านตัน ซึ่งนับว่าน้อยกว่าที่ใช้เลี้ยงสัตว์ในโลกที่หนึ่งเสียอีก

          การผลิตธัญพืชเพื่อสนองวิถีชีวิตอันมั่งคั่ง มีผลให้ธรรมชาติแวดล้อมถูกทำลายยิ่งขึ้นทุกที เนื่องจากเกษตรแผนใหม่ที่เน้นการผลิตพืชชนิดเดียวในแปลงขนาดใหญ่โดยใช้สารเคมีสังเคราะห์อย่างมาก ทำให้หน้าดินถูกทำลาย แหล่งน้ำเกิดมลภาวะ อีกทั้งป่ายังถูกทำลายเพื่อเป็นไร่นาหรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ โดยพืชที่ปลูกจำนวนไม่น้อยเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ชา กาแฟ โกโก้ ซึ่งเป็นสิ่งไม่จำเป็นแก่ชีวิต หาไม่ก็ปลูกผลไม้เพื่อส่งออกนอก

          แม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งให้ความสำคัญกับการรักษาหน้าดิน ก็ปรากฏว่ากำลังมีปัญหาหน้าดินถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ๑ ใน ๓ ของพื้นที่เกษตร คือกว่า ๕๐ ล้านเฮกตาร์ (มากกว่า ๓๐๐ ล้านไร่) ให้ผลผลิตน้อยลงทุกที และนี้คือปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วทั้งโลกเพราะมุ่งผลิตเพื่อตอบสนองวัฒนธรรมบริโภค แม้กระทั่งดินซึ่งเป็นทรัพยากรที่สร้างขึ้นใหม่ได้ก็ยังมีปัญหาถึงเพียงนี้ นับประสาอะไรกับทรัพยากรที่ไม่อาจสร้างขึ้นใหม่ได้ เช่น น้ำมัน ซึ่งประมาณกันว่า หากยังบริโภคกันในอัตราที่เป็นอยู่ น้ำมันสำรองที่หาได้ในเวลานี้จะหมดอย่างสิ้นเชิงใน ๔๐ ปี

ทั้งๆ ที่ทรัพยากรธรรมชาติกำลังเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว แต่การบริโภคอย่างกินทิ้งกินขว้างยังไม่มีทีท่าจะหยุดง่ายๆ ในสหรัฐฯ เอง ปีหนึ่งๆ ของที่ทิ้งลงขยะมีปริมาณมหาศาล เฉพาะรถที่ทิ้งแล้วมีถึง ๗ ล้านคัน ขวดแก้วมีถึง ๒๖,๐๐๐ ล้านขวด กระป๋องอลูมิเนียมมี ๕๕,๐๐๐ ล้านกระป๋อง อลูมิเนียมในกองขยะเหล่านี้รวมกันแล้วมีมากพอที่จะใช้สร้างกองบินพาณิชย์ได้มากถึง ๔ เท่าของที่สหรัฐฯมีอยู่ในปัจจุบัน นี้ยังไม่ต้องพูดถึงกระดาษซึ่งปีหนึ่งๆ สหรัฐฯใช้ต้นไม้ถึง ๒๒๐ ล้านตัน เพียงเพื่อผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกทิ้งลงถังขยะในเวลาอันรวดเร็ว

          แม้ปัจจุบันลัทธิบริโภคนิยมจะเริ่มตระหนักว่าการที่ธรรมชาติถูกทำลาย หมายถึงว่าโอกาสในการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยจะลดลงไป ดังนั้นจึงเริ่มที่จะคิดถึง "การบริโภคสีเขียว" (green consumerism) คือการเลือกบริโภคเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อปัญหาแก่สิ่งแวดล้อม เช่น ผงซักฟอกที่ไม่มีฟอสเฟต น้ำมันไร้สารตะกั่ว กระดาษชำระที่ผลิตจากวัสดุหมุนเวียน ยาฆ่าแมลงที่ปลอดสารพิษ สเปรย์ที่ไม่มีสารซีเอฟซีซึ่งเป็นภัยต่อบรรยากาศ ภาชนะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น กระนั้นก็ตาม ตราบใดที่ท่าทีในการบริโภคยังไม่เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ ยังคิดว่าความสำเร็จสูงสุดของชีวิตวัดที่การบริโภคและการครอบครองวัตถุโภคทรัพย์แล้ว ธรรมชาติแวดล้อมก็จะไม่พ้นจากอันตรายไปได้

          กล่าวโดยสรุป แม้การบริโภคจะเป็นสิ่งสำคัญทั้งในทางพุทธศาสนาและสำหรับลัทธิบริโภคนิยม แต่พุทธศาสนาถือว่าการบริโภคมิได้เป็นเรื่องทางกายเท่านั้น หากยังมีมิติทางจิตใจและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยผลสุดท้าย การบริโภคที่ถูกต้องย่อมเป็นหนทางแห่งการพัฒนาทั้งกาย ใจ และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ส่วนลัทธิบริโภคนิยมนั้น ตัดเรื่องจิตใจและสิ่งแวดล้อมออกไปจากสำนึกในการบริโภค การบริโภคเป็นเรื่องสนองความต้องการทางกายล้วนๆ แต่ผลที่ตามมาก็คือ นอกจากจิตใจและสิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรมแล้ว ถึงที่สุดการบริโภคเช่นนี้ยังเป็นโทษต่อร่างกายอีกด้วย.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :