เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
บทเรียนชีวิตจาก บิ๊ก ดีทูบี
สันติสุข โสภณสิริ มูลนิธิสุขภาพไทย
บทความพิเศษ มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑๒๐๘

 

          ถึงวันนี้แฟนคลับหลายคนก็คงยังทำใจไม่ได้ที่จู่ๆ นักร้องซูเปอร์สตาร์ขวัญใจวัยโจ๋ที่ดังระดับเอฟโฟร์ อย่าง บิ๊ก ดีทูบี ต้องกลายสภาพเป็นเจ้าชายนิทรามาร่วมเดือนแล้ว

          เมื่อครั้งที่เขายังอยู่บนเวทีคอนเสิร์ต เสียงร้องเพลงและลีลาการเต้นของเขาเคยทำให้วัยรุ่นมีความสุขบันเทิงเริงรมย์ แต่เวลานี้เขาอยู่ในสภาพผู้ป่วยหนัก นอนนิ่ง บนเตียงในห้องไอซียู สร้างความสะเทือนใจอย่างสุดซึ้งแด่แฟนเพลงนับพันโดยเฉพาะสาวๆ ที่คลั่งไคล้ใหลหลงในตัวเขา

          ในช่วงที่แฟนเพลงสาวๆ หลายร้อยคนพากันทิ้งโรงเรียนมาเฝ้านักร้องขวัญใจของพวกเธอที่โรงพยาบาล ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่สังคมของพวกผู้ใหญ่ ซึ่งรุมกันวิพากษ์วิจารณ์ว่า เด็กๆ ประพฤติตัวเหลวไหล ควรเอาเวลาที่เฝ้า บิ๊ก ดีทูบี ไปตั้งใจเรียนหนังสือจะดีกว่า หรือถึงกับตัดพ้อว่า เด็กพวกนี้รักนักร้องมากกว่าพ่อแม่เสียอีก ขนาดพ่อแม่ป่วยก็ยังไม่เคยสนใจเลย

          นับว่าน่าเสียดายที่สังคมพลาดโอกาสที่จะให้บทเรียนชีวิตแก่บรรดาแฟนเพลงวัยรุ่นเหล่านี้

          เพราะการวิจารณ์ในแง่ลบดังกล่าว นอกจากเป็นการฟ้องความด้อยวุฒิภาวะของผู้ใหญ่เองแล้ว ยังทำให้วัยรุ่นมีความรู้สึกต่อต้านว่า พ่อแม่ ครูบาอาจารย์และพวกผู้ใหญ่อยู่คนละโลกกับพวกเขา ห่างกันเหมือนโลกของดิจิตอลกับโลกของไดโนเสาร์

          ตรงนี้อยากจะบอกว่าพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระชนม์เมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปี มาแล้ว ยังทันสมัยกว่าผู้ใหญ่ที่เรียกตัวเองว่าชาวพุทธ ใน พ.ศ. นี้หลายขุม

ขอยกตัวอย่างจากพระสูตรสักเรื่องหนึ่งที่พอจะเทียบเคียงกับกรณีของ บิ๊ก ดีทูบี

          เรื่องมีอยู่ว่า หลานสาวคนหนึ่งของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ทำตุ๊กตาแป้งหล่นแตกกระจาย เด็กหญิงร้องห่มร้องไห้ ใครจะลูบหัวปลอบใจเท่าไรก็ไม่หยุด แถมทำท่าว่าจะร้องไห้มาราธอนข้ามวันข้ามคืนอีกต่างหาก

          ก่อนจะเล่าต่อไปขอแนะนำท่านอนาถบิณฑิกะสักเล็กน้อย ท่านผู้นี้ไม่ใช่เศรษฐีธรรมดา ต้องเรียกว่าเป็นอภิมหาเศรษฐีของอินเดียในยุคนั้นเลยที่เดียว ถ้าจะเปรียบให้เห็นได้ชัดก็คงเทียบเท่ากับเศรษฐีระดับหมื่นล้านของไทยในเวลานี้นั่นเอง

ท่านมีชื่อเสียงปรากฏในพุทธประวัติในฐานะที่เป็นผู้สร้างวัดเชตวัน ซึ่งเป็นวัดแห่งที่สองในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา และเป็นวัดที่พระพุทธองค์ทรงประทับจำพรรษายาวนานกว่าที่แห่งอื่น

          แค่วิธีซื้อที่ดินสร้างวัดของท่านก็ไม่ธรรมดา คือท่านเอาเกวียนบรรทุกเหรียญทองหลายร้อยเล่มเกวียน แล้วให้บ่าวไพร่ปูเหรียญทองคลุมทั่วทุกตารางนิ้วของผืนสวนป่าเพื่อเป็นค่าซื้อที่ดินจากเจ้าเชต

          เศรษฐีท่านนี้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน แม้ท่านเป็นผู้ออกเงินสร้างวัดก็มิได้ใช้ชื่อของท่านเองเป็นชื่ออารามนั้น

          ที่สำคัญท่านเป็นผู้เอื้ออาทรแก่ผู้ทุกข์ยากจนได้ฉายาว่า อนาถบิณฑิกะ ซึ่งแปลว่าก้อนข้าวของคนอนาถา ทั้งที่ท่านมีชื่อจริงว่า สุทัตต์

          ถ้าเป็นผู้ใหญ่สมัยนี้ เห็นหลานร้องไห้เรื่องตุ๊กตาแตกก็คงเห็นว่าเด็กไร้สาระ มิหนำซ้ำอาจจะคิดว่า ไอ้เด็กพวกนี้มันรักตุ๊กตามากกว่า พ่อแม่ ปู่ย่าตายายและก็คงปล่อยให้เด็กแหกปากต่อไปโดยไม่ใส่ใจหรือถ้าทนหนวกหูไม่ไหวก็อาจจะขู่หรือตีเด็กให้เงียบ

          แต่สำหรับท่านเศรษฐีผู้เป็นอุบาสกสาวกเอกของพระบรมศาสดา ท่านใช้พุทธทัศน์ในการแก้ปัญหาของลูกหลาน โดยไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กไร้สาระ

          ตรงกันข้ามเมื่อท่านทราบว่าตุ๊กตาแป้งตัวนั้นพี่เลี้ยงเป็นผู้ปั้นให้เด็กไว้เล่นสมมุติเป็นลูก ท่านก็เห็นว่าตุ๊กตาแป้งตัวนั้นไม่ใช่ของเล่นธรรมดาเสียแล้ว เพราะเด็กเกิดอุปาทานมั่นหมายว่าสิ่งสมมุติว่าเป็นของจริง ความรู้สึกของหลานจึงเหมือนกับความรู้สึกของแม่ที่สูญเสียลูกไปจริงๆ ซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรกับผู้ใหญ่ที่ยึดติดสิ่งสมมุติต่างๆ มากมายว่าเป็นของจริง

          ตามสายตาของพระอรหันต์ ทรัพย์สิน เงินทอง รถ บ้าน ที่ดิน แม้จนชื่อเสียงเกียรติยศ และอำนาจวาสนา ซึ่งรวมเรียกว่า โลกธรรม นี้ ล้วนเป็นเหมือนตุ๊กตาแป้งของเด็กหญิงคนนั้น เมื่อเจริญหรือเสื่อมในโลกธรรมจึงไม่ควรยินดียินร้ายจนเกินควร คือไม่ลำพองเมื่อได้ ไม่ฟูมฟายเมื่อเสีย

แต่ก็นั่นแหละคนเราโดยมากถนัดที่จะเตือนหรือดุด่าว่ากล่าวคนอื่น หากไม่ทันหันกลับมามองดูตัวเอง กรณีของ บิ๊ก ดีทูบี นั้นเห็นได้ชัดว่า ผู้ใหญ่หลายวงการรุมกันโขกสับแฟนเพลงที่ไปเฝ้านักร้อง โดยไม่ใช้กุศโลบายเหมือนอย่างท่านอนาถบิณฑิกะแก้ปัญหาหลานสาว

          ท่านเศรษฐีไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ ทรงมีพระมหากรุณารับเป็นประธานในพิธีทักษิณานุปาทาน พูดง่ายๆ ก็คือ สวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้ตุ๊กตาแป้งราวกับว่าตุ๊กตาตัวนั้นเป็นลูกที่ล่วงลับไปแล้วของเด็กหญิงคนนั้น

          ปรากฏว่าได้ผลเพราะหลานของท่านอนาถบิณฑิกะกลับมาเป็นปกติสุขดังเดิม เพราะสิ่งที่เธอรักได้รับการดูแลเอาใจใส่

          เรื่องแบบนี้มิใช่มีอยู่แต่ในพุทธประวัติเท่านั้น ในสังคมไทยเราเองก็มีประเพณีทำบุญให้กับสิ่งที่รัก แม้สิ่งนั้นจะไม่ใช่พ่อแม่ ญาติพี่น้องหรือไม่ใช่คนก็ตาม

          ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสุนัขตัวโปรดของพระเจ้าลูกเธอองค์หนึ่งเกิดป่วยตาย เจ้านายน้อยจึงทรงพระกันแสงฟูมฟาย จนเสด็จพ่อต้องทรงนิมนต์พระราชาคณะมาทำพิธีสวดพุทธมนต์อุทิศส่วนกุศลให้สุนัข

          อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งพบเห็นทั่วไปในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม ผู้เขียนก็เคยประสบพบเห็นมาเอง เมื่อคราวอยู่ในสมณเพศราว ๒๗ ปีมาแล้ว มีชาวบ้านในหมู่บ้านอีสานแห่งนี้ นิมนต์ท่านเจ้าอาวาสและตัวผู้เขียนขณะเป็นพระไปทำพิธี "พิธีชักบังสุกุลเป็น" ให้ควายเฒ่าตัวหนึ่งที่กำลังจะตาย มีญาติๆ และเพื่อนบ้านมาร่วมพิธีด้วยหลายคน

          นี่ขนาดตุ๊กตา สุนัข และควายที่ยกตัวอย่างมา ประเพณีพุทธศาสนายังให้ความสำคัญถึงเพียงนี้ แล้ว บิ๊ก ดีทูบี เป็นใคร

          แม้เขาจะไม่ใช่ญาติพี่น้องกับแฟนเพลงเหล่านั้น แต่เราก็ต้องยอมรับว่า อุปาทานทางใจที่แฟนเพลงมีต่อนักร้องยอดนิยมของพวกเธอนั้นค่อนข้างมาแรงมาก

ซึ่งถ้ามองจากพุทธทัศน์ก็ต้องมองกันแต่ในแง่ดี เพราะการที่คนวัยรุ่นรู้จักห่วงหาอาทรต่อกันนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหาย

          บางทีภาพของ บิ๊ก ดีทูบี ที่นอนสงบนิ่งอยู่บนเตียงในห้องไอซียู อาจจะให้อะไรบางอย่างแก่ชีวิตแฟนเพลงมากกว่าตอนที่เขาโลดเต้นร้องเพลงอยู่บนเวทีคอนเสิร์ตก็ได้

          แต่การจะพลิกวิกฤตในชีวิตของ บิ๊ก ดีทูบี ให้กลายเป็นโอกาสที่แฟนเพลงจะได้เรียนรู้จักสาระธรรมแห่งชีวิตนั้น สังคมจะต้องร่วมมือกันหลายๆ ฝ่าย นับตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ วัด กรมสุขภาพจิต ฯลฯ และที่สำคัญสังคมจะต้องเข้าใจชีวิตจิตใจของเยาวชนยุคใหม่ให้มากขึ้น

          บรรดาแฟนเพลงเองเมื่อเกิดความวิตกกังวลในอาการของ บิ๊ก ดีทูบี ก็ยังหันมาหาทางออกในวัฒนธรรมดั้งเดิม นั่นคือการสวดมนต์ภาวนาต่อหน้ารูปปั้นของท่านอาจารย์ชีวก โกมารภัจ ปรมาจารย์แห่งการแพทย์แผนไทย ซึ่งตั้งอยู่หน้าโรงพยาบาลแผนปัจจุบันแห่งนั้น

          เชื่อว่าแฟนเพลงหลายคนคงเพิ่งมารู้จักท่านหมอชีวกและหันกลับมาสวดมนต์ก็ตอนมาเฝ้า บิ๊ก ดีทูบี นั่นแหละ

          ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่เยาวชนยังหันกลับมาเลือกทางออกในวัฒนธรรมดั้งเดิม

          และถ้าเป็นไปได้หากโรงพยาบาลจะร่วมมือกับวัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรของ บิ๊ก ดีทูบี แม้สภาพร่างกายและสมองของเขาอาจจะไม่ฟื้นคืนสู่สภาพเดิมดังที่มิตรรักแฟนเพลงทั้งหมดหวังไว้

          และยังหวังกันอยู่ตราบเท่าที่ บิ๊ก ดีทูบี ยังมีลมหายใจ แต่อย่างน้อยก็เกิดผลดีใน ๒ ทาง คือ

          ทางหนึ่งแก่ผู้ป่วยเอง แม้สมองของเขาจะไม่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่กัลยณมิตรทั้งหมดกระทำให้ แต่เชื่อว่าจิตของเขาสามารถรับรู้ได้ด้วยญาณวิถีอันพิเศษ

          แน่นอนจิตหรือจิตภาวะของเขาย่อมเกิดปิติสุข

อย่าลืมว่าสุขภาพมิใช่หมายถึงมิติทางกายภาพเท่านั้น หากรวมถึงมิติทางจิตภาพด้วย แม้สุขภาพร่างกายของเขายังไม่ฟื้นตัว แต่มโนวิญญาณของเขาได้รับปิติสุข ก็เท่ากับว่าเขายังมีสุขภาวะจิตที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นครึ่งของสุขภาวะโดยรวม จึงกล่าวได้ว่าผู้ป่วยขั้นโคม่าอาจสามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ตราบที่มโนวิญญาณของเขายังมีปิติที่ไดัรับกระแสจิตแห่งความหวังดีจากกัลยณมิตรที่รายล้อมอยู่

          และแน่นอนถ้าหากเขาจำต้องละจากกายสังขารเดิมไปสู่โลกสภาวะใหม่ เขาย่อมเดินทางไปอย่างมีความสุขและสู่แหล่งสถานที่ดีกว่าเดิม

          สำหรับผลดีอีกทางหนึ่งคือ ผลดีต่อผู้เฝ้าไข้ การได้สวดมนต์ภาวนา แผ่เมตตาย่อมทำให้จิตใสงบอยู่แล้ว ยิ่งได้บทสวดที่มีความหมายหรือมีพี่เลี้ยงที่คอยให้คำแนะนำที่ดีก็เชื่อว่าเยาวชนที่เฝ้า บิ๊ก ดีทูบี จะเข้าใจความหมายของชีวิตมากขึ้น และรู้จักใช้ชีวิตในทางที่สร้างสรรค์ เช่น บทพิจารณาสังขารสำหรับทำวัตรเช้า-เย็น ตอนหนึ่งว่า

          "ชีวิตเป็นของไม่ยั่งยืน ความตายเป็นของยั่งยืน อันเราจะพึงตายเป็นแท้ ชีวิตของเรามีความตาย เป็นที่สุดรอบ

          ร่างกายนี้มิได้ตั้งอยู่นาน ครั้นปราศจากวิญญาณอันเขาทิ้งเสียแล้ว จักนอนทับ ซึ่งแผ่นดิน ประดุจดังว่าท่อนไม้และท่อนฟืน หาประโยชน์มิได้"

          เมื่อวัยรุ่นเริ่มรู้สำนึก ตามพุทธภาษิตที่ว่า ชีวิตนั้นแสนสั้นเหมือนหยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า คราแสงอรุณฉายมาพลันเหือดหาย ดังชีวิตของ บิ๊ก ดีทูบี เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ ให้เห็นกันอยู่ พวกเธอและเขา ก็อาจจะได้คิดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ไม่ปล่อยชีวิตให้เลื่อนลอยเหลวไหลไร้จุดหมายเหมือนดังแต่ก่อน

          จากบทเรียนชีวิตที่ได้รับจาก บิ๊ก ดีทูบี พวกเธอและเขาอาจเรียนรู้ที่จะแผ่ขยายความรัก ความห่วงหาอาทรไปสู่พ่อแม่ พี่ น้อง ในครอบครัว สู่เพื่อนร่วมสถาบัน และต่างสถาบัน หรืออาจจะถึงเริ่มสนใจปัญหาสังคมรอบๆ ตัว และประพฤติตนให้เป็นบุคคลที่จำเป็นของสังคม สมดังพุทธภาษิตที่ว่าบุคคลแม้นมีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี แต่ประพฤติตนเหลวไหล ย่อมไม่มีค่าเท่ากับบุคคลผู้ประพฤติดีประพฤติชอบที่มีชีวิตอยู่แม้เพียงวันเดียว.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :