เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ภิกษุ - อลัชชี

เกษม ศิริสัมพันธ์
คอลัมน์แลไปข้างหน้า เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๕๗๙ วันที่ ๗ - ๑๓ ก.ค. ๒๕๔๖

          เรามักเรียนสมณเพศในพระพุทธศาสนาว่าพระสงฆ์ แต่คำว่า 'สงฆ์' นั้นหมายถึงองค์คณะของผู้เป็นสมณะมากกว่า ฉะนั้นในพระรัตนตรัยซึ่งมีองค์สาม ประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งหมายถึงองค์รวมของผู้ดำรงอยู่ในสมณเพศ

          แต่สมณะในพระพุทธศาสนาแต่ละรูปนั้นเรียกว่า 'ภิกษุ' ซึ่งแปลตามรูปศัพท์หมายถึง 'ผู้ขอ' มีรากศัพท์เดียวกันกับคำว่า ภิกษาจาร

          พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ผู้เป็นสมณะในศาสนาของพระองค์ เป็นผู้ซึ่งพ้นจากความผูกยึดกับชีวิตทางโลกทุกด้าน

          ในประการต้นสมณะในพระพุทธศาสนา ต้องถือเพศพรหมจรรย์ ไม่มีลูก ไม่มีเมีย ไม่ถือเพศครองเรือน ดำรงชีวิตด้วยปัจจัยสี่อย่างสมถะ

          ปัจจัยแรก คือ อาหาร ก็ต้องดำรงชีวิตด้วยการขอเขากินหรือภิกษาจาร ที่เรียกว่าบิณฑบาต ชาวบ้านเขาทำอะไรมาให้ก็ต้องกินหรือฉันตามนั้น

          ในพระวินัยยังระบุห้ามมิให้ภิกษุสะสมอาหาร เพื่อให้ต้องทำกิจบิณฑบาต คือขอเขากินทุกวัน

          แต่สมัยนี้ในกุฏิ มักมีตู้เย็นและตู้ไมโครเวฟกันแทบทั้งนั้น!

          ปัจจัยที่สอง คือเครื่องนุ่งห่ม มีพระพุทธบัญญัติให้พระภิกษุให้ห่อหุ้มร่างกายเพียงด้วยไตรจีวร ซึ่งหมายถึงผ้าสามผืน คือ สังฆาฏิ จีวร และสบง ซึ่งต้องทำจากผ้าบังสุกุล คือผ้าห่อศพ

          แต่พระภิกษุสมัยนี้ระดับเจ้าอาวาสวัดดัง ๆ ใช้ไตรจีวร เนื้อแพรทำจากนอกกันแล้ว!

ปัจจัยประการที่สามคือยารักษาโรค หรือภาษาพระเรียกว่า คิลานเภสัช สมัยพุทธกาลท่านมักใช้น้ำมูตรดอง

          แต่พระสมัยนี้คงมีสิทธิเท่าชาวบ้านธรรมดา คือได้รับบัตรทองหรือบัตรสามสิบบาทรักษาได้ทุกโรคอยู่แล้ว!

          ส่วนปัจจัยประการที่สี่ คือเสนาสนะ หรือที่อยู่อาศัย มีพุทธนิยมให้พระภิกษุอยู่โค่นต้นไม้ หรืออย่างดีเป็นกุฏิพื้นเป็นดินมีหลังคาพอให้คุ้มแดดคุ้มฝนได้เป็นพอ

          แต่พระภิกษุสมัยนี้บางรูปอยู่กุฏิปลูกเป็นตึก ติดแอร์เย็นช่ำไปทั้งหลังทีเดียว!

          จำได้ว่า อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ในคอลัมน์ของท่านใน สยามรัฐนานมาแล้วว่า ท่านเห็นพระภิกษุเดินออกมาจากธนาคาร ท่านคิดในใจว่า 'อ้อ ! เดียวนี้ขอทานมีเงินฝากแบงก์กันแล้วสินะ!'

          ถ้าอาจารย์คึกฤทธิ์ยังมีชีวิตอยู่จนทุกวันนี้ ท่านคงต้องตกตะลึงเมื่อรู้ว่า สมภารซึ่งถูกยิงตายเมื่อเร็วๆ นี้ มีเงินฝากธนาคารอยู่ถึง ๓-๔ แห่ง ยอดรวมเงินฝากในบัญชีเหล่านี้ทั้งหมดมีถึง ๑๐๐ กว่าล้านบาท!

          นี่แสดงว่าภิกษุซึ่งเคยเป็นเพศขอทานในสมัยพุทธกาล แต่มาถึงสมัยนี้สามารถทำมาหากินอย่างเข่นเช่นคุมวินมอเตอร์ไซด์ จนมั่งคั่งร่ำรวยมีเงินเป็นร้อยๆ ล้านทีเดียว!

          อันที่จริงเจ้าอาวาสผู้นี้ เข้าเกณฑ์เป็นผู้มีอิทธิพล ซึ่งรัฐบาลกำลังปราบปรามอยู่ ตัวเจ้าอาวาสผู้นี้เองก็ถูกคุกคามจนต้องทิ้งวัดของตน หลบมาอาศัยอยู่วัดอื่น แต่ก็ยังพูดจาภาษานักเลงเต็วตัว บอกว่า ถ้ากลับวัดเก่าได้เมื่อใด เป็นต้องล้างบางกันแล้ว !

          แต่สมภารผู้นี้ก็ไม่มีโอกาสกลับไปอยู่วัดเก่า เพราะถูกมือปืนเข้ามายิงตายคาวัดที่ลี้ภัยไปอาศัยอยู่!

          ที่น่าสลดใจอีกข้อหนึ่ง ก็คือ สมัยนี้มือปืนสามารถบุกเข้าไปยิงคนตายคาวัดได้! เรียกว่า มือปืนรับจ้างฆ่าคนได้โดยไม่เลือกสถานที่ฆ่าเสียแล้ว!

          สมภารผู้นี้ถึงแม้จะตายไปแล้ว แต่เมื่อมีชีวิตอยู่ก็มีพฤติกรรมที่โลดโผนทีเดียว มีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับสตรีหลายคน จนชาวบ้านเคยชุมนุมประท้วง ชูป้ายมีความว่า 'พระมีเมียเราต้องการให้สึกก่อน'

          มีผู้หญิงคนหนึ่ง เวลากลางคืนขับรถมาในวัดแล้วขึ้นไปนอนกับพระบนกุฏิ ตอนเช้าก่อนสว่างก็ขับรถกลับไป ทำอย่างนั้นเป็นประจำทุกคืน!

          พฤติกรรมเช่นนี้แสดงว่าชายหญิงคู่นี้ไม่เกรงกลัวบาปกรรมกันเลย!

          สมภารคนนี้มีกิจกรรมหาเงินเงินเข้ากระเป๋าตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างหนึ่งคือทำนายทายทักดวงชะตา แล้วประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ มีผู้คนเชื่อถือหลั่งไหลกันมา 'ทำบุญ' แบบนี้ ขนาดรถยนต์จอดเต็มลานวัดเกือบทุกวัน ลูกศิษย์วัดเล่าว่าวันหนึ่ง ๆ ได้เงิน 'ทำบุญ' เช่นนั้น ไม่ต่ำกว่าวันละ ๗๐,๐๐๐ ถึง ๘๐,๐๐๐ บาททุกวัน

          มีกิจกรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ ไถ่ชีวิตโคกระบือ ซึ่งในช่วงเทศกาลสามารถทำเงินเข้ากระเป๋าสมภารได้ถึงวันละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท

          ที่บาปหนาขึ้นไปอีกก็คือ โคกระบือที่สาธุชนมาบริจาคไถ่ชีวิตแล้ว ไม่ได้เอาไปปล่อยหรือไปมอบให้ใครเลี้ยงดูต่อ แต่กลับเอามาเวียนเทียนให้ผู้มีศรัทธาคนอื่นไถ่ชีวิตหาเงินอีก หลายรอบ !

          บวชเป็นพระแล้วรับประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ผู้คนจำนวนมากมายหลงงมงายเชื่อถือ กลับหาเงินได้มากเสียยิ่งกว่าคนธรรมดา ๆ หากินโดยสุจริตจะสามารถหาได้เสียอีก!

          เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีคนจำนวนมิใช่น้อยที่เข้ามาบวชในพระศาสนา เพียงเพื่อบังหน้า จะได้สามารถหากินจากการแสดงบทบาทหลอกลวงผู้คน ที่หลงงมงายในพิธีกรรมซึ่งอยู่นอกคำสอนของพระพุทธศาสนา

          คนเหล่านี้แหละที่เรียกว่า อลัชชี !

          ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระคุณเจ้าพระธรรมปิฎก (ประยุทธิ ปฺยุตฺโต) ได้ให้คำอธิบายคำว่า อลัชชี ว่า 'ผู้ไม่มีความละอาย, ผู้หน้าด้าน'

          คนไม่รู้จักความละอาย หรือเป็นคนหน้าด้านเท่านั้น จึงสามารถประพฤติได้อย่างสมภารผู้นี้ซึ่งในที่สุดก็ต้องรับกรรม ถูกมือปืนเก็บตายคาวัด!

ทุกวันนี้เรามักคิดกันว่า พระศาสนายุคนี้ทำไมจึงตกต่ำเช่นนี้! แต่แท้ที่จริงแล้ว ทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ล้วนแต่มีอลัชชี ที่แฝงกายเข้ามาหากินโดยเอาพระศาสนาบังหน้าตลอดมา

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ถึงกับได้ทรงตรากฎหมายที่เรียกว่า 'กฎพระสงฆ์' เพื่อกวาดล้างพวกอลัชชีที่เข้ามาแอบแฝงทำลายพระศาสนา

          ปรากฏใน กฎพระสงฆ์ ที่ ๖ ในกฎหมายตราสามดวง มีความตอนหนึ่งว่า

          "และภิกษุทุกวันนี้บวชเข้ามิได้กระทำตามพระวินัยปรนนิบัติ เห็นแต่เลี้ยงชีวิตผิดธรรมให้มีแต่เนื้อหนังบริบูรณ์ประดุจโคกระบือ มีแต่จะบริโภคอาหารให้จำเริญเนื้อหนัง จะได้จำเริญสติปัญญานั้นหามิได้ เป็นภิกษุสามเณรลามกในพระศาสนา ฝ่ายฆราวาสก็ปราศจากปัญญา มิได้รู้ว่า ทำทานเช่นนี้จะเกิดผลน้อยมากแก่คนหามิได้ มักพอใจทำทานแก่ภิกษุสามเณรอันประสานทำการของตนจึงทำทาน บางคาบย่อมมักง่ายถวายเงินทองของอันเป็นอกัปปิยะมิควรแก่สมณะ สมณะก็มีใจโลภสะสมทรัพย์เลี้ยงชีวิต ผิดพระพุทธบัญญัติฉะนี้ ได้ชื่อว่าฆราวาสหมู่นั้นให้กำลังแก่ภิกษุโจรอันปล้นพระศาสนา ทานนั้นหาผลมิได้ ชื่อว่าทำลายพระศาสนา"

          ขอให้สังเกตว่ารัชกาลที่ ๑ ทรงบริภาษทั้ง 'ภิกษุสามเณร ลามกในพระศาสนา' และทั้งทรงตำหนิบรรดาฆราวาสที่ชอบทำบุญกับภิกษุสามเณรเช่นนั้น เพราะเป็นการ 'ให้กำลังแก่ภิกษุโจรอันปล้นพระศาสนา'

          ที่ยกเอา กฎพระสงฆ์ ในกฎหมายตราสามดวง มาอ้างในที่นี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า อลัชชี ซึ่งเป็นโจรปล้นพระศาสนานั้น มิใช่มีแต่สมัยปัจจุบันเท่านั้น แต่มีมาแต่โบราณกาลแล้วจนรัชกาลที่ ๑ ต้องตราเป็นกฎหมาย ดังที่ยกมาให้เห็น

          ฉะนั้นอย่าได้ท้อใจว่า พระศาสนายุคปัจจุบันได้เรียวเล็กลง! พวกอลัชชีซึ่งเป็นโจรปล้นพระศาสนานั้นเป็นความชั่วร้ายที่ปรากฏมานานแล้ว และเราจะต้องช่วยกันสอดส่องและปราบปรามอย่างไม่หยุดยั้งต่างหาก

          มีข้อสังเกตว่า ถ้าวัดดี พระดี ชุมชนชาวบ้านรอบวัดก็เลื่อมใสศรัทธา ทำบุญทำทานด้วยได้! แต่ถ้าสมภารเป็นอลัชชี ครองวัด ชาวบ้านก็ชุมนุมขับไล่!

          ท่าทีของชาวบ้านรอบวัด ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าสมภารเจ้าวัดนั้นเป็นภิกษุหรืออลัชชี ! .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :