เสขิยธรรม
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ชูศาสนธรรม นำ "ชุมชนเป็นสุข" สู่ภาคใต้

มติชนรายวัน ศาสนา-ชุมชน
ฉบับวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๖๖๑ หน้า ๖

คล้อยบ่ายแก่ ๆ กัมมาลิยะ มูลูกาจิ ครูสาวสอนศาสนาเด็กตาดีกา วัย ๔๐ ปี เลือกหยิบหนังสือประกอบศาสนพิธี ออกมาจากกองหนังสือที่วางอยู่ด้วยกันอีก ๔-๕ เล่ม มีทั้งหนังสือว่าด้วยการทำความดี คุณค่าของการละหมาด ประวัติสาวกพระศาสดาที่ทำความดี ผลบุญจากการอ่านอัล-กุรอาน และการขอพร

          กัมมาลิยะบรรจงหยิบหนังสือที่เลือกขึ้นวางไว้บนหมอน อันเป็นการให้เกียรติหนังสือเพื่อให้อยู่สูงกว่าพื้น รอบๆ มีแม่บ้านชุมชนบ้านบากง ต.สะดาวา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี นั่งล้อมวงอยู่ด้วยราวสิบกว่าคน และเด็กตัวน้อยๆ อีก ๒-๓ คนนั่งคลอเคลียอยู่ใกล้ๆ

          สีดำของผ้าคลุมหน้ายิ่งทำให้ทุกคนดูนิ่งสงบตั้งใจฟังกัมมาลิยะ ซึ่งวันนี้ทำหน้าที่ผู้นำอ่าน บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตที่ถูกขั้นตอนของสาวกพระศาสดาในอดีต ว่าต้องปฏิบัติยึดในหลัก ๖ ข้อ คือ มีศรัทธาต่อพระอัลลอฮ์ การละหมาด การศึกษาความรู้ ช่วยเหลือชุมชน ทำโดยบริสุทธิ์ใจ และออกเผยแผ่ศาสนา

          ห่างจากชุมชนบ้านบากงออกไปไม่ไกลนัก ที่ชุมชนบ้านตะโล๊ะ ต.ตะโล๊ะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี หลังมัสยิดคารุลเราะห์หม๊ะ ปรากฏเรือนหลังเก่าเล็กๆ ชั้นเดียว แต่บนเรือนกลับเต็มไปด้วยกลุ่มแม่บ้านกำลังนั่งฟังครูสอนศาสนานำอ่านอย่างตั้งใจ

          นี่คือวิถีชีวิตปกติของชาวบ้านในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

          ภาพกิจกรรมทางศาสนาของกลุ่มแม่บ้านมุสลิมทั้งจาก ๒ ชุมชน จัดอยู่ในกลุ่มงานสื่อสารธรรมะจริยธรรม หรือการอบรมจริยธรรมขั้นพื้นฐาน (อบรมจริยธรรมมุสลิมะห์) อันเป็นกิจกรรมย่อยๆ ในโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขภาคใต้ หรือในชื่อที่ใช้ในท้องถิ่นว่า "ดับบ้านดับเมือง : เรียนรู้อยู่ที่ปากใต้"

          โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ อยู่ภายใต้แผนงานพัฒนาชุมชนเป็นสุข ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระยะเวลา ๓ ปี ดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ เริ่มจากเครือข่ายมุสลิม ๑๐ ชุมชนใน ๓ จังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และขยายเป็น ๕ จังหวัดในปีที่สอง เพิ่มสงขลาและสตูล รวมเครือข่ายมุสลิมที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น ๒๐ ชุมชน

          อาจารย์วศิน สาเม๊าะ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมนุมมุสลิม โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้เล่าว่า กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมเดิมที่ทำมานานกว่า ๑๐ ปีแล้ว เดิมทีกลุ่มแม่บ้านจะตระเวนไปตามบ้านโต๊ะครูทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ๑ ครั้ง

          ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านปักหลักใช้สถานที่บริเวณมัสยิดทุกๆ วันอังคาร หวังจะให้เป็นกิจกรรมเพื่อรื้อฟื้นเชื่อมวิถีชีวิตให้ผูกติดกับพระเจ้าตลอดเวลา และยังเป็นจุดโยงใยให้แม่บ้านแต่ละคนได้มีโอกาสบอกเล่าวิถีชีวิต ได้ปรับทุกข์ และแสดงความเอื้ออาทรต่อกันและกันมากยิ่งขึ้น

          ในฐานะผู้ประสานงานหลักของโครงการเครือข่ายชุมชนมุสลิมเพื่อชุมชนเป็นสุขภาคใต้ อ.วศินชี้ว่า ทางโครงการได้ชู ๔ องค์ประกอบที่เชื่อมโยงศาสนามุสลิมเข้ากับกระบวนการพัฒนาชุมชนให้ดำรงอยู่ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ภาคใต้อย่างเป็นสุข นั่นคือ หนึ่ง การทำให้มัสยิดเป็นกลไกหลักที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชน สอง การสร้างให้เกิดสวัสดิการสังคมในระดับชุมชน สาม การส่งเสริมอาชีพในชุมชน และ สี่ การสนับสนุนให้มีการศึกษาคำสอนทางศาสนา

          ในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพในชุมชน ความหวังของชุมชนอยากจะเห็นสินค้าชุมชนบ้านตะโล๊ะไปมีชื่อเลื่องลืออยู่ในตลาดสินค้าโอท็อป คือหมวกกะปิเยาะ (สำหรับเด็กและผู้ชายมุสลิมสวมไว้บนศีรษะ) และเสื้อกูรง (เสื้อแขก) ผลิตโดยกลุ่มแม่บ้าน เป็นโครงการ ๒ ปีที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ให้การสนับสนุน

          กลุ่มแม่บ้านเป็นความหวังของชุมชน ผู้นำชุมชนจึงใช้ความพยายามส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง นำหลักศาสนามาใช้ห้ามผู้หญิงออกนอกบ้านยกเว้นกับแฟนและพี่น้อง เพื่อดึงดูดให้คนหนุ่มสาวและแม่บ้านทั้งที่ไปทำงานนอกพื้นที่และในโรงงานผลิตอาหารมุสลิม (ฮาลาลฟู้ด) กลับมาทำงานในชุมชนผลิตหมวกกะปิเยาะ และเสื้อกูรง

          "ในฐานะเป็นโต๊ะคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง องค์กรมัสยิดที่อียิปต์มีสวัสดิการชุมชน มีโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ สอนสถาปัตย์ ถ้าทำได้แบบนั้นจะแบ่งเบาภาระรัฐบาล พอให้หลักการกับประชาชน ประชาชนก็เริ่มเข้าใจ เรามีสภาที่ปรึกษาประจำหมู่บ้าน ถ้าสภาเข้มแข็ง เราจะทำกิจกรรมอะไรก็สำเร็จ"

          นั่นเป็นคำบอกเล่าของโมฮำมัดญามาลุดีน สะมาแอ โต๊ะอิหม่าม ผู้นำทางศาสนาผู้มีอายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง ๒๘ ปี ของชุมชนบ้านตะโล๊ะ หมู่ที่ ๕ ต.ตะโล๊ะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เคยช่วยงานราชการของพ่อตั้งแต่พ่อนั่งอยู่ในตำแหน่งโต๊ะอิหม่าม กระทั่งได้ทุนไปร่ำเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า ๑,๐๐๐ ปี ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์

          แต่เดิมที่ผ่านมา การบริหารจัดการภายในชุมชนมุสลิมมักใช้ผู้นำเพียงอย่างเดียว เมื่อนำสภาที่ปรึกษาประจำหมู่บ้านมาใช้ในงานบริหารจัดการชุมชน ซึ่งกำหนดมีอยู่แล้วในคัมภีร์อัล-กุรอาน ปัจจุบันทำให้ชุมชนได้ผู้นำที่หลากหลายมาร่วมคิด ร่วมกันทำงานเพื่อชุมชนมากขึ้น โดยยึดมัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชน

          โมฮำมัดญามาลุดีนเล่าด้วยว่า ทุกครั้งที่เขาอ่านคัมภีร์อัล-กุรอาน จะสอดแทรกเรื่องของความสามัคคีเข้าไปด้วย เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกคนมีหน้าที่ความรับผิดชอบ

          ความสุขของคนมุสลิมคือ การได้ปฏิบัติตามคำสอนของมุสลิม ไม่ใช่พฤติกรรมเพียงอย่างเดียว หากปฏิบัติได้ตามที่พูดตั้งแต่ต้น สังคมก็จะมีความสุข

          เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.น.พ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ ศาสนธรรมกับการพัฒนา เพื่อนำการเสวนาว่าด้วยเรื่องกระบวนทัศน์ศาสนาอิสลามในการพัฒนาชุมชนเป็นสุขภาคใต้ ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

          ศาสนธรรมกับการพัฒนา-ใช้"ปัญญานำความรู้"

          ๑.การพัฒนาต้องเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง ชุมชน ท้องถิ่นควรจะเข้มแข็ง พัฒนา คิดเอง รวมตัวกันคิด กำหนดอนาคตของตัวเอง เพื่อการอยู่ร่วมกัน และสอดคล้องกับธรรมชาติที่ตนอยู่

          ๒.การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สัมมาชีพหมายถึงอาชีพที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ตรงนี้เป็นรากฐานของความร่มเย็นเป็นสุข

          ๓.สนับสนุนการศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจ ต้องปรับเรื่องการศึกษา การศึกษาตอนนี้ศึกษานอกตัวหมด เกือบไม่มีเลยที่ศึกษารู้ใจตัวเอง มีแต่รู้สิ่งข้างนอก ทั้งโลกเป็นแบบนี้ ดังนั้นต้องการการศึกษาที่รู้ใจตัวเอง เห็นใจตัวเองเป็นอย่างไร และศึกษาพัฒนาจิตใจตัวเองได้

          ๔.สันติภาพกับสันติวิธี มนุษย์มีความขัดแย้งกัน แต่ก็มีวิธีการแก้ความขัดแย้งโดยสันติวิธี ต้องฝึกต้องรู้วิธี

          ๕.ความร่วมมือระหว่างศาสนา สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นเป็นประจำคือการคุยกันในลักษณะที่เป็นการสนทนา (Dialogue) ระหว่างศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิก และทั้งหมด พูดคุยกันใน ๔ ประเด็นที่พูดข้างต้นว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :