เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

การถือศีลอด กับโอกาสการเข้าถึงชุมชนของรัฐ

อ.อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ
นักศึกษาปริญญาเอกศาสนาเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มาเลเซีย
กระแสทรรศน์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๗๑๖


           ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณา ปรานีเสมอ

           ขอความสันติสุข จงมีแด่ศาสดามุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามตามท่านและผู้ประพฤติดีทุกท่าน

           ในช่วงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๗-๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เป็นช่วงที่ชาวไทยมุสลิม และมุสลิมทั่วโลกกำลังถือศีลอด

           การถือศีลอดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม (ซึ่งจะนับเดือนตามจันทรคติ)

 

คำจำกัดความ และมีเป้าหมายของการถือศีลอด

           บรรดานักปราชญ์อิสลามได้ให้คำจำกัดความของการถือศีลอด(ศิยามในภาษาอาหรับ) ไว้ว่า "การถือศีลอดหมายถึงการงดเว้นจากการบริโภค และการปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ นับตั้งแต่แสงรุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า(เวลากลางวัน)"

           พระเจ้าได้ตรัสว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้า ดังที่พระองค์ได้เคยบัญญัติแก่ชนยุคก่อนจากท่าน เพื่อว่าสูเจ้าจะเป็นผู้ที่ยำเกรง" (อัลกุรอ่าน บทที่ ๒ โองการที่ ๑๘๓)

           คำว่าผู้ยำเกรงตามทรรศนะอิสลามหมายถึง การกระทำความดีและละเว้นความชั่ว อิหม่านชะฮาบุดดีน ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอิสลาม ได้อธิบายคำว่าความดีในหนังสือ(al-Furuk) หน้า ๑๕ ไว้ว่า "การกระทำความดีหมายถึงการช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ การบริจาคทานแก่คนยากจน การให้อาหารแก่ผู้ที่หิวโหย การให้เครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ขัดสน การพูดจาไพเราะอ่อนโยนกับทุกคน การให้ความเมตตาต่อผู้คน การปรึกษาหารือซึ่งกันและกันเพื่อขจัดความขัดแย้งและการทะเลาะวิวาท และอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับความดีทุกชนิด"

           ท่านศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า "การถือศีลอดเป็นโล่ ถ้าหากว่าผู้หนึ่งในพวกท่านถือศีลอดในวันหนึ่งแล้ว เขาไม่ทำชั่วและพูดจาหยาบคายเมื่อมีผู้หนึ่งด่าทอต่อเขา หรือระบายความไม่ดีแก่เขา (ผู้ถือศีลอด) จงกล่าวว่า แท้จริงฉันถือศีลอด"

           ดังนั้น การถือศีลอดที่แท้จริงจะสามารถป้องกันและปรับปรุงตัวของผู้ที่ถือศีลอดเอง และจะส่งผลดีต่อสังคม โดยนำสังคมไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง เพราะสังคมจะปราศจากความชั่วและอบายมุขและเต็มไปด้วยความดี

           แต่ก็มีผู้ที่ถือศีลอดมากมายเช่นกันที่ไม่บรรลุเป้าหมายการถือศีลอด ผลบุญก็ไม่ได้รับนอกจากความหิวโหยและความกระหายอย่างเดียว ดังที่ศาสดามุฮัมหมัดได้วจนะกับสาวกของท่านเมื่อ ๑,๔๐๐ ปีที่ผ่านมาว่า

           "ผู้ที่ถือศีลอดท่านใดไม่สามารถละทิ้งคำพูดที่เหลวไหลและประพฤติชั่ว เขาจะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ จากพระเจ้านอกจากความหิวและความกระหาย"

 

กิจกรรมของมุสลิมไทยในช่วงเดือนรอมฎอน

           ในช่วงกลางวันมุสลิมจะงดเว้นการบริโภคแต่ก็จะปฏิบัติงานตามปกติ

           ในช่วงกลางคืนมุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา จะไปปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดของชุมชนตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น.

           หลังจากปฏิบัติศาสนกิจเสร็จ เด็กๆ จะเล่นกันที่บริเวณมัสยิดอย่างสนุกสนาน

           ผู้ใหญ่ก็จะนั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีอาหารว่างและน้ำชาเป็นตัวเสริม

 

โอกาสของรัฐในการบูรณาการพัฒนาชุมชนในช่วงรอมฎอน

           ในหนังสือยุทธศาสตร์และทิศทางการบริหารประเทศ หน้าที่ ๓๖๗ ของนายกฯทักษิณ ชินวัตร อยากให้ภาครัฐทุกภาคส่วนทำงานในเชิงรุก โดยเข้าไปหาชุมชน ท่านนายกฯได้ตัวอย่างการทำงานของโรงพยาบาลว่า "เมื่อก่อนเรามองคนที่มาโรงพยาบาล เรารักษาคนไข้ แต่เดี๋ยวนี้เขาบอกว่ารักษาคนไข้ไม่ได้ รักษาไข้คือต้องรุกเข้าไปจนถึงชุมชน ไปดูบ้านเขาจะได้รู้ว่าบ้านเขาเลี้ยงอะไรที่สามารถจะติดเชื้อได้ไหม เวลามาโรงพยาบาลมีโรคแปลกๆ จะได้เดาถูกเพราะมีประวัติอยู่"

           ดังนั้น ในช่วงเดือนรอมฎอนมัสยิดน่าจะเป็นศูนย์รวมอีกแห่งหนึ่ง ที่ภาครัฐไม่ต้องเสียงบประมาณมากมายในการจัดประชุม เพราะมัสยิดของชุมชนจะมีทุกคนไม่ว่าจะเด็กเล็ก นักเรียน นักศึกษาผู้ใหญ่(ชายหรือหญิง) คนชรา หรือที่มีตำแหน่งทางราชการ นักการเมืองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้าไปประกอบศาสนกิจในมัสยิด

           เพราะฉะนั้นทุกหน่วยงานของรับน่าจะใช้โอกาสนี้ จัดเป็นโครงการ "คลายทุกข์ชุมชน" เหมือนกับนายกฯ จัดโครงการคลายทุกข์ประชาชนระดับประเทศเมื่อ ๑๐ ตุลาคมที่ผ่านมา โดยให้ผู้ว่าฯซีอีโอ หรือนายอำเภอเป็นหัวหน้าคณะนำส่วนราชการต่างๆ มานั่งรับปัญหาจากชุมชน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากความอยุติธรรมจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและเป็นการแก้ปัญหาไฟใต้ให้เบาบางลงไปได้บ้าง

           หรืออาจจะให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความรู้และบริการแก่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรฯ สาธารณสุข หรือแม้กระทั่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยจัดกีฬาสร้างเสริมสุขภาพแก่ชุมชนในเวลากลางคืนหลังพิธีกรรมศาสนา

           และในขณะเดียวกันให้ความรู้และบริการแก่ชุมชนด้านต่างๆ ไปด้วย หรือจัดสภากาแฟแก่ชุมชนหลังพิธีกรรมศาสนา เพราะโดยปกติเวลาประมาณ ๒๑.๓๐-๒๓.๐๐ น. มุสลิมจะใช้เวลาดังกล่าวรับประทานกาแฟ ของหวาน และสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังพิธีกรรมศาสนาที่มัสยิด

           ในส่วนฝ่ายค้านเอง หรือผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งสมัยหน้า หากจะนำยุทธศาสตร์นี้แข่งขันกันนำเสนอสิ่งที่ดีๆ แก่ชุมชนบ้างก็ไม่เป็นไร ที่สำคัญคือชุมชนได้รับประโยชน์

           พระเจ้าได้ตรัสในอัลกุรอ่านว่า "ท่านทั้งหลายจงแข่งขันกันทำความดี"... .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :