เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

"ปีใหม่นี้ขอให้ทุกคนมีสติให้มั่นคง
ความฝันอันสวยหรู ในทางเศรษฐกิจพร้อมที่จะผันผวน และไม่ใช่ของแท้ของจริงของชีวิต"

พระไพศาล วิสาโล

สัมภาษณ์พิเศษ / มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๖๐๕ วันที่ ๕ - ๑๑ ม.ค. ๒๕๔๗

          ในวาระที่คนไทยกำลังแต่งองค์ทรงเครื่องเตรียมตัวจะรวยกันยกใหญ่ กับตลาดหุ้นที่นายทุนกำลังช่วยกันปั่นให้สูงขึ้นและสูงขึ้น ช่วงเวลานี้ไม่แตกต่างจากช่วงก่อนที่ฟองสบู่จะแตกในปี ๒๕๔๐ ใครๆ ก็ปรารถนาจะมีรถสักคัน มีมือถือสักเครื่อง หลายเครื่อง มีบ้านสักหลัง สองหลัง สามหลัง และ ฯลฯ แต่ความจริงก็คือว่า กว่าจะได้สิ่งเหล่านั้นมาอาจจะต้องเป็นหนี้และทำงานอย่างหนักเพื่อใช้หนี้และฝันว่าจะรวย โดยลืมไปว่าระหว่างทางก่อนจะถึงความฝันนั้นอาจมีอะไรที่มาทำให้ฝันค้าง ไม่อาจไปถึงฝันนั้นก็เป็นได้

          ขณะเดียวกันในวงการสงฆ์ก็มีข่าวประหลาดๆ ออกมาไม่เว้นแต่ละวัน จากสถาบันซึ่งเคยเป็นที่พึ่งทางใจของคนไทยกลับกลายมาหมุนวนอยู่กับทางโลกจนแยกไม่ออก

          พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เมตตาให้พรปีใหม่ และช่วยมองต่างมุมในยุคที่พระอาจารย์เรียกว่า แม้แต่ศาสนาก็ถูกนำมารับใช้บริโภคนิยม สะกิดให้เราได้เห็นตัวเราขณะที่กำลังถลำเข้ากองไฟเพราะคิดว่าเป็นน้ำเย็น

 

๏ นมัสการค่ะพระอาจารย์ ขอเริ่มต้นจากบทสุดท้ายของงานวิจัย 'พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ' ที่ท่านกล่าวถึงคนยุคนี้ส่วนใหญ่มีปัญหาเนื่องจากสมองกับหัวใจขัดแย้งกัน จึงมีผลทำให้คนสับสนระหว่างความจริงกับความเสมือนจริง เช่น ต้องการทั้งความสะดวกสบายจากวัตถุและความสงบสุขในจิตใจ หรือต้องการทั้งเงินและพระเจ้า ในความขัดแย้งเหล่านี้เราจะเลือก หรือเราจะผสานระหว่างโลกสมมติกับโลกความเป็นจริงให้มาเจอกันได้อย่างไร และเราจะรู้จักทุกสิ่งตามความเป็นจริงได้อย่างไร

          เราต้องเข้าใจให้ชัดระหว่างความขัดแย้งระหว่างสมองกับหัวใจ สมองนั้นมักจะรู้ว่าอะไรดี อะไรมีประโยชน์ หรือรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เช่น รู้ว่าสิ่งแวดล้อมกำลังมีปัญหา เราจึงควรอนุรักษ์ธรรมชาติ สมองรู้ว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี ธรรมะเป็นสิ่งที่ควรนำมาปฏิบัติ สมองรู้หมดว่าอะไรดีไม่ดี แต่บ่อยครั้งหัวใจของเรามันไปอีกทางหนึ่ง เช่น อยากสบาย อยากทำตามใจตัวเอง ทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งแวดล้อมมีปัญหา แต่เป็นเพราะติดใจกับความสะดวกสบาย เราจึงใช้โฟมใช้พลาสติกกันอย่างไม่ยั้ง เรารู้ว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี แต่พอชาวบ้านมาประท้วงทำให้รถติด เราก็ไม่พอใจ เด็กๆ รู้ว่าการติดเกมคอมพิวเตอร์มันไม่ดี แต่ก็ขลุกอยู่กับมันทั้งวันทั้งคืน เพราะติดใจ นี่เป็นความขัดแย้งระหว่างสมองกับหัวใจ หรือระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เลย ส่วนใหญ่แล้วสมองมักจะไปไกลกว่าหัวใจ โดยเฉพาะยุคนี้ที่เน้นเรื่องการคิดมากกว่าการฝึกฝนจิตใจ เหตุผลจึงมักจะก้าวหน้ากว่าอารมณ์ ประเด็นก็คือว่าเราต้องพัฒนาอารมณ์ขึ้นมาเพื่อให้ไล่ทันเหตุผลหรือบ่มเพาะหัวใจให้กลมกลืนกับสมอง แต่แค่นั้นยังไม่พอ บางครั้งสมองก็เกเรได้เหมือนกัน ก็จำเป็นต้องพัฒนาหัวใจให้มากำกับสมองให้ไปในทางที่ถูก เช่น ใช้ความรู้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือมีเมตตาควบคู่กับความรู้ด้วย

          อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องไม่ลืมการพัฒนาสมองด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่แค่พัฒนาสมองให้รู้จักคิด มีเหตุผล ไม่เกเรหรืองมงายเท่านั้น หากยังต้องพัฒนาสมองให้เห็นว่า เหตุผลมีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน เหตุผลไม่ใช่เป็นคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่าง เราต้องรู้จักฟังหัวใจบ้าง เพราะการตัดสินใจบางอย่างทำด้วยเหตุผลล้วนๆ มันแห้งแล้งและขาดเมตตาธรรม

          อย่างกรณีตำรวจจับเด็ก ๙ ขวบที่มีปัญหากับรถแท็กซี่ หรือจับคนที่ขโมยซาลาเปาจากร้านที่เขาทิ้งแล้ว ตำรวจอาจบอกว่าคนเหล่านี้ทำผิดกฎหมาย นี่เป็นเรื่องของการใช้เหตุผลโดยไม่ได้ใช้หัวใจ อ้างแต่ว่าทำตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่การทำตามกฎหมายนั้นมีช่องทางให้ทำได้หลายวิธี เช่น ตักเตือนเด็กให้ระมัดระวัง หรือเรียกสองฝ่ายมาเจรจากันโดยไม่ต้องเป็นคดีความกัน แต่ทำไมไม่ทำ เอาแต่จับและขังลูกเดียวโดยอ้างว่าทำตามกฎหมาย นี่แสดงว่าใช้แต่สมอง ไม่ใช้หัวใจ คิดแต่ข้อกฎหมายแต่ไม่มีเมตตาธรรม

          สมองที่รู้จักแต่เหตุผลแต่ไม่ฟังหัวใจสามารถสร้างปัญหาได้มากมาย เหตุผลนั้นมันมีข้อจำกัดเสมอ อีกทั้งมันยังพลิกได้ มันสามารถโน้มน้าวให้เราทำดีหรือหลอกให้เราทำชั่วก็ได้ บางคนจึงบอกว่าแม้แต่ผีห่าซาตานก็มีเหตุผลของมัน ในพระไตรปิฎกจะมีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับมารที่มาล่อหลอกให้พระพุทธเจ้าเลิกเทศนาสั่งสอนคน หรือหลอกให้ภิกษุภิกษุณีเลิกปฏิบัติ สึกไปเป็นฆราวาส วิธีการที่มารใช้ก็คือเอาเหตุผลมาล่อหลอก ซึ่งฟังดูก็เคลิ้มได้เหมือนกัน แต่มันเป็นเหตุผลของมาร เพราะฉะนั้นเราอย่าไปหลงติดกับเหตุผลตะพึดตะพือ ต้องรู้เท่าทันข้อจำกัดของมันด้วย แต่จะรู้เท่าทันได้ก็ต้องพัฒนาสมองหรือปัญญาให้เห็นข้อจำกัดของมัน ขณะเดียวกันก็ควรพัฒนาจิตใจหรืออารมณ์ให้สามารถกำกับแนะนำสมองในทางที่ถูกด้วย

          สิ่งที่เราเรียกว่าการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณ คือการที่เราพัฒนาปัญญาจนกระทั่งเห็นถึงข้อจำกัดของสิ่งต่างๆ เช่น เห็นว่าสิ่งดีๆ นั้นก็มีข้อเสียเหมือนกัน ไม่ควรที่เราจะไปติดยึดกับมัน ไม่ว่าจะเป็นความดีหรือธรรมะ หรือแม้แต่พุทธศาสนา ถ้าเราเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้องก็เป็นโทษแก่เราได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าบอกว่าการศึกษาธรรมะเหมือนการจับงูพิษ ถ้าศึกษาไม่เป็นก็เกิดโทษได้ เช่น หลงตัวลืมตน ติดในลาภสักการะ หรือเกิดอหังการขึ้นมา ในทำนองเดียวกันถ้าเราไปติดยึดความดี ก็จะถูกความดีกัดเอาได้ เช่นเป็นทุกข์จนนอนไม่หลับที่ตัวเองทำได้ไม่ดีอย่างที่คิด หรือเป็นทุกข์เพราะคนอื่นเข้าใจว่าเราเป็นคนไม่ดี ทั้งๆ ที่เราทำความดีมาตลอด ท่านอาจารย์พุทธทาสเตือนเสมอว่าระวังความดีจะกัดเอา

          เราจะเห็นอย่างนี้ได้ ก็ต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมาจนกระทั่งมีปัญญารู้เท่าทันสิ่งต่างๆ เช่น เห็นว่ามันไม่เที่ยง ไม่สามารถให้ความสุขแก่เราได้อย่างยั่งยืน เพราะแฝงไว้ด้วยทุกข์ และเห็นว่าหากเราไปติดยึดมัน เราก็จะเป็นทุกข์ อย่างเช่น เหตุผล ถ้าเราไปติดยึดกับเหตุผลมาก เราก็จะเป็นทาสของเหตุผล เหตุผลเป็นข้ารับใช้ที่ดี แต่เป็นนายที่เลว เราจึงต้องพัฒนาปัญญาหรือที่เรียกว่าอธิปัญญาสิกขาขึ้นมา

๏ อธิปัญญาสิกขาคืออะไรคะ

          อธิปัญญาสิกขา ก็คือการพัฒนาปัญญาให้ยิ่งจนกระทั่งอยู่เหนือการแบ่งเป็นขั้วหรือเป็นคู่ๆ เช่น แบ่งเป็นดี-ชั่ว ขาว-ดำ สว่าง-มืด สั้น-ยาว มนุษย์-ธรรมชาติ ไทย-ฝรั่ง ฉัน-เธอ การคิดแบบเหตุผลคือการคิดที่มองอะไรเป็นขั้วๆ เป็นทวิภาวะ หรือ dualism สิ่งที่อาจารย์ประเวศ วะสีเรียกว่าคิดแบบดิจิทัลก็เป็นแบบนี้ คือคิดเป็นขั้วๆ เป็นคู่ๆ คือถ้าไม่ ๐ ก็ ๑ ถ้า ถ้าไม่เป็นพวกฉัน ก็เป็นศัตรูของฉัน อย่างที่บุชบอก เราจำเป็นต้องพัฒนาปัญญาให้ไปถึงขั้นที่เป็นอิสระจากการมองเป็นขั้วๆ แบบนี้ เพราะความจริงหรือสัจธรรมนั้นถึงที่สุดแล้วไม่สามารถแยกเป็นขั้วๆ ได้ ไม้บรรทัดนั้นมีทั้งความยาวและความสั้นอยู่ด้วยกัน มันยาวเมื่อเทียบกับดินสอ แต่สั้นเมื่อเทียบกับเสาไฟ สั้น-ยาวเป็นคำที่เราสมมติเรียก เช่นเดียวกับร้อน-เย็น ในร้อนก็มีเย็น ในเย็นก็มีร้อน สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ถ้ามองให้ดีๆ มันไม่สามารถมองแยกเป็นขั้วๆ ได้ ถ้าเรามองไม่เห็นตรงนี้เราก็จะติดกับการแบ่งแยกสิ่งต่างๆ ออกจากกัน ซึ่งเท่ากับตีกรอบจำกัดความคิดของเรา การพัฒนาปัญญาจะช่วยให้เราเห็นตรงนี้ ซึ่งจะช่วยให้เรามองชีวิตและโลกอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง รวมทั้งช่วยให้สมองกลมกลืนกับหัวใจมากขึ้น

 พ ร ปี ให ม่ ๒ ๕ ๔ ๗
 

 

          ปีใหม่นี้เป็นปีที่คนไทยมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น คนจนจะได้เงยหน้าอ้าปาก ส่วนคนรวยก็จะมีความสุขกับราคาหุ้นที่สูงขึ้น ของก็จะขายได้มากขึ้น เศรษฐกิจไทยก็จะโต ๘% หรือมากกว่านั้นตามนโยบายของรัฐบาล แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องตระหนักคือ อย่าไปหลงกับภาพที่สวยสดงดงามนั้น ไม่ใช่เพราะมันเป็นภาพลวง มันอาจเป็นจริงก็ได้ แต่ถึงอย่างไรมันก็ไม่สามารถให้ความสุขได้อย่างยั่งยืน เรามีเงินมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงกับความหวังหรือความมั่งคั่งในทางวัตถุ ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นซึ่งหลายคนเตือนไว้ก็คือ สิ่งนี้อาจเป็นภาพลวงตาก็ได้ คือแม้ปีหน้าเศรษฐกิจจะดูสวยสดงดงาม แต่อาจเป็นความสวยสดในระยะสั้น เป็นเหมือนกับเกาหลีในปี ๒๕๔๒-๒๕๔๓ เศรษฐกิจโตเอาๆ จีดีพีเติบโต ๙%-๑๐% แต่มาถึงปีนี้ก็กลับถดถอย เพราะเป็นการเติบโตที่เกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นระยะสั้นที่ไม่ยั่งยืน มันจึงภาพสวยสดที่ไม่ยั่งยืน

          ในยามที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟูฟ่อง อาตมาอยากให้ข้อคิดว่า ประการที่หนึ่งที่เราพึงระวังสังวรไว้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง ยิ่งมาคำนึงถึงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เตือนให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของโลกธรรมแปด เช่น เมื่อมีลาภก็เสื่อมลาภ เมื่อมียศก็เสื่อมยศ เมื่อมีสรรเสริญก็มีนินทา เมื่อมีสุขก็มีทุกข์ เราจึงควรสังวรระวังไว้เสมอว่า ความฟูฟ่องของเศรษฐกิจไทยในตอนนี้มันไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน สักวันหนึ่งก็ต้องแปรผัน ความร่ำรวยมั่งคั่งของเราก็เช่นกัน มันอาจฟุบลงเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างที่เกิดขึ้นกับเรามาแล้วเมื่อปี ๒๕๔๐

          ประการที่สองคือ เราต้องไม่หลงเพลินกับภาพที่สวยสดงดงามทางเศรษฐกิจเหล่านี้ จนละเลยหรือมองข้ามสิ่งที่เป็นสาระของชีวิต ความสะดวกสบาย ความร่ำรวย ไม่ใช่สาระของชีวิต การมีบ้านหลังใหม่ รถคันใหม่ ไม่ใช่สาระหรือสรณะที่แท้ของชีวิต การมีกินมีใช้มากขึ้นก็ไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้ ที่ยั่งยืน ความสุขที่แท้จริงคือความสงบเย็นภายใน คือการที่เรารู้จักหยุดดิ้นรนแส่ส่าย ค้นพบความสงบในจิตใจ อันเกิดจากการตื่นรู้ภายใน คือรู้ว่าอะไรคือสาระของชีวิต เป็นความสุขสงบที่เกิดจากปัญญา คือความรู้เท่าทันในความผันผวนปรวนแปรไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ ปัญญาหรือความตื่นรู้ ไม่ไปลุ่มหลงกับมายา นี้แหละที่เป็นสรณะที่แท้จริงของชีวิต

          ถ้าเรารู้ว่าอะไรคือสาระและความมั่นคงที่แท้ของชีวิต เราจะรู้ว่าเมื่อไหร่ควรหยุด เมื่อไหร่ควรพอ เราจะไม่เผลอตัวปล่อยให้วัตถุหรือเม็ดเงินเหล่านี้ มาครอบงำชีวิตของเรา มาปั่นจิตหรือปั่นหัวเราจนหมุนติ้ว หรือคอยผลักดันให้เราไล่ล่าสิ่งต่างๆ โดยลืมชีวิตด้านใน ลืมความสุขจากความสงบ ความสุขจากมิตรภาพ ความสุขจากครอบครัวที่อบอุ่น รวมถึงความสุขจากการเอื้อเฟื้อเผื่อ หรือทำงานที่เป็นประโยชน์ อย่าให้ภาพสวยสดงดงามทางเศรษฐกิจ พาเราพลัดหลงออกจากสิ่งที่เป็นสาระที่แท้จริงของชีวิต

          'เงิน' เป็นข้ารับใช้ที่ดี แต่เป็นนายที่เลว ถ้าเราปล่อยให้เงินเข้ามาควบคุมบงการชีวิตเรามากเกินไป เพราะความพลั้งเผลอและไม่มีสติ ปล่อยให้ความโลภเข้ามาครอบงำ ชีวิตเราจะหาความเจริญได้ยาก

          ปีใหม่นี้ขอให้ทุกคนมีสติมั่นคง อย่าไปหลงเพลินหรือลุ่มหลงกับความฝัน หรือคำมั่นสัญญาอันสวยหรูในทางเศรษฐกิจ เพราะสิ่งเหล่านี้มันพร้อมที่จะผันผวนปรวนแปร และไม่ใช่ของแท้ของจริงของชีวิต ให้เรามีสติรู้ตัวและรู้เท่าทันมัน แทนที่จะไปไล่ล่าหาความมั่งคั่งไม่รู้จักหยุด เราควรมีเวลาให้กับชีวิตด้านในหรือชีวิตทางจิตวิญญาณของเราบ้าง ได้มีเวลาไตร่ตรองชีวิต และบ่มเพาะความสุขสงบภายใน ขณะเดียวกันควรมีเวลาสำหรับการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น สร้างสรรค์ความดีงามแก่ส่วนรวม

          ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่า ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ ชีวิตที่ดีไม่ใช่ชีวิตที่มั่งคั่ง เพราะฉะนั้นในโอกาสขึ้นปีใหม่นี้ อาตมาจึงอยากอวยพรให้คนไทยได้มีสติปัญญา และสามารถพัฒนาชีวิต ให้เข้าถึงชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ ถ้าเราเข้าถึงชีวิตเหล่านี้ได้ คือเข้าถึงความสงบเย็นภายใน ขณะเดียวกันรู้จักทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น เราก็จะเข้าถึงชีวิตที่ประเสริฐ

          ขอให้ปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ เป็นปีที่จะเป็นรากฐานอันมั่นคงสำหรับเราทุกคน ในการเข้าถึงชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง..

๏ สำหรับคนที่โตขึ้นมาในโลกของเหตุผล และถือว่าเหตุผลเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ตรงนี้จะทำอย่างไรที่จะเข้าใจเรื่องปัญญา ที่ไม่ได้ใช้เหตุผลเป็นตัวตัดสิน

          การศึกษาในโลกปัจจุบันเป็นอย่างนี้ เราเน้นแต่เรื่องปริยัติ หรือเรื่องทฤษฎี ไม่ได้เน้นภาวนา เราต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาจิตหรืออธิจิตสิกขาก่อน เช่นการฝึกสมาธิ จนจิตแน่วแน่สามารถมองเห็นความรู้สึกนึกคิดของตน ได้อย่างชัดเจน จนกระทั่งเห็นว่ามันไม่เที่ยง ไม่น่ายึดถือ และยึดถือไม่ได้ การเห็นแบบนี้จะช่วยให้เราเห็นเลยไปถึงว่าสิ่งต่างๆ ทั้งปวงทั้งในและนอกตัวก็ไม่เที่ยง ไม่น่ายึดถือ ทั้งหมดนี้จะเห็นได้เราต้องเริ่มต้นจากการเห็นจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกของตนเองก่อน แล้วเราจะเห็นเลยว่า สิ่งที่เราคิดว่ามันดีๆ นั้น สามารถจะพาเราชั่วได้ ถ้าเราไปติดยึดกับความดีนั้น เช่น เห็น ใครไม่ถือศีลเท่าเรา ก็ดูถูกเขา ใครไม่กินเจเหมือนเรา ก็ไม่พอใจ นั่งสมาธิแล้วติดความสงบ พอมีคนพูดเสียงดัง ก็ด่าว่าเขาในใจ พอมียุงมากวน ก็โมโห เผลอตบมันเพราะทำลายสมาธิของเรา

๏ อย่างตอนนี้ความผิด ที่เรากลับให้ค่าเป็นความถูกไป เช่นหวยบนดิน ค่านิยมในการดื่มเหล้า เตรียมตั้งบ่อนถูกต้องตามกฎหมาย?

          ตอนนี้มาตรฐานความถูก-ผิดของคนทั้งประเทศไปอยู่ที่เศรษฐกิจ แม้แต่กฎหมายหรือศีลธรรมก็ยังเป็นรอง พูดง่ายๆ ตอนนี้เศรษฐกิจเป็นศาสนาของประเทศไทยไปแล้ว เป็นเกณฑ์วัดว่าอะไรดีไม่ดี อะไรที่ควรอะไรไม่ควร ถ้าส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติก็ถือว่าดี อะไรที่ไม่เพิ่มเม็ดเงินให้ประเทศก็ถือว่าไม่ดี ไม่ควรทำ ถ้ากาสิโนทำให้เงินตราเข้าประเทศก็ถือว่าดี ส่วนมันจะก่อผลเสียต่อศีลธรรมอย่างไร เป็นเรื่องรอง เดี๋ยวนี้เศรษฐกิจหรือเม็ดเงิน กลายเป็นตัววัดความถูก-ผิดไปแล้ว ศีลธรรมหรือจริยธรรมไม่ใช่ตัววัดความถูก-ผิดอีกต่อไป นี้เป็นหลักคิดของคนไทยเวลานี้ โดยเฉพาะระดับผู้นำ ยิ่งมาบวกกับความคิดที่ว่า เป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการ ขอให้เป้าหมายสำเร็จเป็นพอ จะใช้วิธีอะไรก็ได้ ก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเมื่อไม่เคร่งครัดกับวิธีการ ก็หมายความว่าจะผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรมก็ได้ ขอให้บรรลุเป้าหมายก็แล้วกัน วิธีคิดแบบนี้ทำให้เราไม่สนใจศีลธรรม หรือกฎหมายอีกต่อไป เมื่อผสมกับความคิดที่ว่า เศรษฐกิจเป็นตัวตัดสินความถูก-ผิด ไม่ใช่ศีลธรรม ก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่

          การเอาเศรษฐกิจหรือเม็ดเงิน เป็นตัวชี้ความถูก-ผิด ควร-ไม่ควร มีตัวอย่างมากมาย เช่น โครงการท่อก๊าซแม้จะทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ในชุมชน แต่ในเมื่อเชื่อว่ามันจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น รัฐก็พยายามผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จให้ได้ และเมื่อเห็นว่าวิธีการไม่สำคัญ จะใช้วิธีการอะไรก็ได้ ขอให้บรรลุเป้าหมาย รัฐก็เลยพร้อมจะใช้ความรุนแรง กับผู้คัดค้านโครงการนี้ แม้จะผิดรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมาย หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม

          ความคิดแบบนี้แหละ ที่ทำให้ กาสิโน กลายเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้สำเร็จ ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงการเอาชนะยาเสพติด ด้วยวิธีไหนก็ได้ แม้จะละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เช่น การเปิดไฟเขียวเพื่อให้มีการฆ่าตัดตอน ทั้งโดยฝีมือตำรวจเอง และโดยฝีมือของพวกค้ายา

๏ ในลักษณะเดียวกับวัดตอนนี้ที่คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีนโยบายที่จะพัฒนาพุทธศาสนา โดยอย่างหนึ่งคือ พยายามจะให้มีคณะกรรมการ มาดูแลศาสนสมบัติ และพยายามจะให้ไวยาวัจกร ที่ช่วยเหลืองานวัด พัฒนาเป็นซีอีโอของวัด มีหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน มีผลประโยชน์ตอบแทน และถ้าดูแลวัดเป็นเวลา ๑๐ ปี ๒๐ ปีก็จะขอพระราชทานเครื่องราชฯให้ เป็นต้น

          เราไม่รู้ว่ารัฐบาลมองเรื่องนี้ลึกแค่ไหน แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องศาสนสมบัติกลางเป็นปัญหาจริงๆ ในปัจจุบัน เพราะมีการทุจริตยักยอกกันมาก อย่างที่เขาเอาตัวเลขขึ้นมาเปิดเผย ปรากฏว่ารายได้จากศาสนสมบัติกลางทำท่าจะลดลงเรื่อยๆ แสดงว่าน่าจะมีความไม่ชอบมาพากล ศาสนสมบัติกลายเป็นอาหารโอชะให้พวกมาเฟียเข้ามาตักตวง และอาจมีข้าราชการเข้ามาเกี่ยวข้องได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรที่จะพิสูจน์ได้ว่า การเอาองค์กรอิสระเข้ามาดูแลศาสนสมบัติจะแก้ปัญหานี้ได้ แต่ตรงนี้อาตมาเห็นว่ายังไม่ใช่เรื่องใหญ่ ยังมีเรื่องใหญ่กว่านั้นเยอะ

๏ ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคืออะไรคะ

          เป็นปัญหาเกี่ยวกับคณะสงฆ์ทั้งระบบเลย เกี่ยวกับการปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์ รวมไปถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาส ตอนนี้เป็นปัญหาสำคัญมาก

๏ เป็นผลพวงที่สืบเนื่องมาจากอดีต?

          ทุกอย่างมีความเป็นมาประวัติศาสตร์ อย่างเช่นเรื่องการศึกษาคณะสงฆ์ก็เริ่มมีปัญหามาแต่ ๑๐๐ ปีที่แล้ว และไม่มีความพยายามจะปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น การปกครองคณะสงฆ์ที่เป็นอยู่ก็ทำให้ก็คณะสงฆ์ขาดพลัง ทั้งในทางจริยธรรมและทางสติปัญญา เพราะโครงสร้างการปกครองรวมศูนย์มาก และการรวมศูนย์นับวันจะทำให้เกิดการฉ้อฉลและความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา อีกทั้งคณะสงฆ์ยังขาดวัฒนธรรมที่จะแก้ไขปฏิรูปตัวเอง

          คณะสงฆ์ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เขาจะมอบหมายให้รัฐหรือพระมหากษัตริย์เป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาภายในคณะสงฆ์ รวมทั้งดูแลกิจการด้านอื่นของคณะสงฆ์ด้วย แม้แต่พระสังฆราชและพระราชาคณะทั้งหลายก็มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์เป็นเช่นนี้มาตลอด พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตจึงมีสถานะคล้ายๆ ประมุขสงฆ์ หรือผู้ดูแลคณะสงฆ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงถึงกับออกกฎหมายกำกับความประพฤติของพระสงฆ์ด้วยพระองค์เอง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสังฆราชโดยปริยาย เพราะตอนนั้นไม่มีการตั้งสังฆราช ยิ่งถ้าดูจากพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีมาตราไหนที่กล่าวถึงตำแหน่งสังฆราชเลย โดยพฤตินัยรัชกาลที่ ๕ จึงทรงเป็นสังฆราช มหาเถรสมาคมมีหน้าที่เพียงถวายคำปรึกษาแก่พระองค์เท่านั้น

          ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็มีปรากฏการณ์คล้ายๆ กัน คือว่างสังฆราช คือพอสิ้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสแล้ว ก็ไม่ทรงแต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นสังฆราชเลย เท่ากับว่าทรงเป็นสังฆราชเองโดยพฤตินัย

          พอถึงรัชกาลที่ ๖ จึงทรงมอบหมายให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นผู้ดูแลคณะสงฆ์ ต่อเมื่อมีพระราชบัญญัติสงฆ์ฉบับใหม่ปี ๒๔๘๔ จึงมอบหมายให้พระสังฆราชดูแลคณะสงฆ์โดยเป็นประธานมหาเถรสมาคม

          จะเห็นได้ว่าจวบจนเมื่อเกือบร้อยปีมานี้ การบริหารการจัดการคณะสงฆ์ไม่ใช่หน้าที่ของพระ หรือของสังฆราช พระสงฆ์ทำหน้าที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและสั่งสอนประชาชนเท่านั้น การควบคุมดูแลการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ในสังฆมณฑลไม่ใช่เป็นหน้าที่ของสังฆราช กรมสังฆการีกลับจะมีบทบาทมากกว่า

          อย่างไรก็ตาม ตามนิกายสายปฏิบัติต่างๆ จะมีการควบคุมกันเองโดยอุปัชฌาย์หรือวัดที่เป็นศูนย์กลางของนิกายสายปฏิบัติ แต่ก็จะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด

๏ อันนี้หมายถึงว่าการปกครองของสงฆ์ขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์มาตลอด

          การปกครองของสงฆ์แบบนี้ ได้สร้างประเพณีวัฒนธรรมของการมอบภาระให้รัฐหรือพระมหากษัตริย์มาจัดการ เวลามีพระทุศีล หรือพระประพฤติผิดพระธรรมวินัย หรือมีความแตกแยกในคณะสงฆ์ ก็จะคาดหวังว่าพระมหากษัตริย์จะเข้ามาจัดการ นี่ไม่ใช่ประเพณีของไทยเท่านั้น แต่รวมไปถึงพม่า ลังกา หรือเถรวาททั้งหมดก็ว่าได้

          จะเห็นได้ว่า ทุกครั้งที่มีการสะสางชำระคณะสงฆ์หรือรวมคณะสงฆ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน คนที่ริเริ่มมิใช่พระสงฆ์หรือพระสังฆราช แต่เป็นพระมหากษัตริย์ อาจพูดได้ว่าประเพณีนี้เริ่มมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก นับแต่นั้นก็เกิดธรรมเนียมการแบ่งแยกหน้าที่ว่า พระมหากษัตริย์มีหน้าที่รักษาความบริสุทธิ์ของคณะสงฆ์ รวมทั้งสร้างสังฆสามัคคี ส่วนพระสงฆ์มีหน้าที่สืบทอดและปฏิบัติตามธรรมวินัย รวมทั้งเทศนาสั่งสอนประชาชน

          แบบแผนประเพณีแบบนี้ได้สร้างวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในคณะสงฆ์เถรวาทว่า เมื่อมีปัญหาในคณะสงฆ์ ก็เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องเข้ามาจัดการในฐานะที่ผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา วัฒนธรรมแบบนี้ทำให้คณะสงฆ์ไม่มีความคิดริเริ่มที่จะแก้ปัญหาของตัวเอง หรือปฏิรูปตัวเอง ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่พระมหากษัตริย์หรือรัฐจะเข้ามาจัดการหรือไม่เท่านั้นเอง

          ตอนนี้ทุกสถาบันในเมืองไทยมีการปฏิรูปตัวเองไม่มากก็น้อย เช่น รัฐสภา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ สื่อมวลชน รวมทั้งระบบสาธารณสุข ทำได้มากบ้างน้อยบ้างก็ตาม แต่คณะสงฆ์กลับไม่มีการปฏิรูปตัวเองเลย จนทำท่าว่าจะเป็นสถาบันสุดท้ายที่มีการปฏิรูปตัวเอง

๏ หมายถึงว่า น่าจะถึงเวลาสังคายนาได้แล้ว?

          สังคายนานั่นเราใช้กับพระธรรมวินัยหรือพระไตรปิฎก แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้นควรมีการปฏิรูปโครงสร้างคณะสงฆ์ทั้งทางด้านการศึกษาและการปกครองเสียก่อน

๏ จะปฏิรูปทำอย่างไรคะ จริงๆ แล้วเรื่องราวของคณะสงฆ์น่าจะเป็นเรื่องเรียบง่าย และเป็นสื่อกลางนำพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาให้เราได้เรียนรู้กันให้เข้าใจง่ายๆ แต่กลับกลายเป็นว่าในส่วนของฆราวาสเองรู้สึกว่าห่างไกลกับพระมาก

          ตอนนี้ต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างก่อน อย่างน้อยนโยบายของรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ที่บอกว่ามี ๒๑ มาตรการ ถ้าทำได้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทำตรงไหนได้ก็ขอให้ทำ เพราะที่ผ่านมาไม่มีการทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเลย อย่างไรก็ตาม ๒๑ มาตรการดังกล่าวยังไม่มีการจัดอันดับความสำคัญว่า อันไหนเป็นหลัก อันไหนเป็นรอง เช่น การทำบัตรสมาร์ทการ์ดหรือบัตรประจำตัวให้กับพระ ถามว่าน่าทำไหม น่าทำ แต่ไม่ใช่เรื่องหลัก แต่ถามว่าทำได้เลยไหม ก็ต้องตอบว่าทำได้เลย

          เพราะฉะนั้นมาตรการเหล่านี้ต้องมีการจัดอันดับว่าอันไหนเร่งด่วน อันไหนไม่เร่งด่วน อันไหนสำคัญ อันไหนไม่สำคัญ อันไหนควรทำก่อน อันไหนควรทำหลัง แต่ว่ายังไงก็ขอให้ทำเถอะ เพราะพระสงฆ์ไม่มีการขยับเขยื้อนกันมานานแล้ว การทำอะไรที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ดีแม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

๏ อย่างที่เพิ่งเป็นข่าวไปเร็วๆ นี้ที่คุณวิษณุ พูดถึงมีผู้ที่พยายามจะให้มีสังฆราชสององค์ไปเลยทั้งธรรมยุตและมหานิกาย

          คุณวิษณุคงพูดเพื่อตีปลาหน้าไซ เพราะคงได้ยินมาว่ามีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้อยู่ คุณวิษณุคงพูดเพื่อกันมิให้มีการเคลื่อนไหวตรงนี้ เพราะคณะสงฆ์เถรวาท ไม่ใช่เฉพาะพระไทยเท่านั้น เขาจะถือว่าสังฆสามัคคีหรือความเป็นเอกภาพในหมู่สงฆ์เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ใครที่ทำให้สงฆ์แตกแยกกันหรือเกิดสังฆเภท ท่านถือว่าเป็นอนันตริยกรรม คือกรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด มี ๕ อย่าง ได้แก่ ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าแม้เพียงห้อเลือด และทำให้สงฆ์แตกแยก

          ทางเถรวาทถือว่าการทำให้สงฆ์แตกแยกเป็นอนันตริยกรรม ทั้งนี้ เพราะเห็นว่าสังฆสามัคคีเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง พุทธศาสนาแบบเถรวาทจึงมีประเพณีที่พยายามทำให้คณะสงฆ์เป็นหนึ่งเดียว จะยอมให้มีการแบ่งเป็นนิกายไม่ได้ ถ้ามี พระมหากษัตริย์ต้องเข้ามาจัดการให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ที่จริงตอนนี้เมืองไทยก็มี ๒ นิกายอยู่แล้วคือมหานิกายและธรรมยุต แต่ก็มีความพยายามที่จะเชื่อมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เช่น มีสังฆราชองค์เดียวกัน หรืออยู่ในการปกครองของมหาเถรสมาคมเหมือนๆ กัน แต่ถ้าถึงขั้นที่มีอีกนิกายหนึ่งที่แยกออกมาโดดๆ พระสงฆ์ไทยคงรับไม่ได้

          อย่างเช่นรับไม่ได้ที่สันติอโศกจะแยกออกมาเป็นอีกนิกายหนึ่งในคณะสงฆ์ไทย รวมทั้งรับไม่ได้ที่มีสังฆราชที่เป็นสกลสังฆปริณายกหลายองค์ (สมัยก่อนตามเมืองต่างๆ มีสังฆราช แต่ไม่ใช่สังฆราชตามความหมายปัจจุบัน) ยกเว้นบางประเทศที่ประเพณีนี้ถูกตัดตอนไปแล้ว เช่นประเทศเขมรก็มีสังฆราชหลายองค์ ทั้งภาคมหานิกายและธรรมยุต

๏ ธรรมยุตกับมหานิกาย ต่างกันอย่างไรคะ

          ธรรมยุตเป็นนิกายที่ต้องการปฏิรูปคณะสงฆ์ขึ้นมาโดยเริ่มต้นจากวชิรญาณภิกขุ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ท่านต้องการให้นิกายนี้เป็นหลักในการปฏิรูปคณะสงฆ์ทั้งในด้านธรรมและวินัย พระสงฆ์ธรรมยุตรุ่นแรกๆ นั้น เป็นพระสงฆ์ที่ทันสมัยมาก มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษดี เทศน์โดยไม่ต้องอ่านใบลาน ใช้ภาษาทันสมัย และเป็นเหตุเป็นผล สอดคล้องกับยุคสมัย ถือว่าเป็นพระรุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนที่มีการศึกษา จึงขยายตัวเร็ว แต่พอถึงจุดหนึ่งก็เริ่มแผ่ว จนเดี๋ยวนี้ก็ส่วนใหญ่ดูจะไม่ค่อยแตกต่างจากมหานิกายเท่าใดนัก

          มหานิกายเป็นชื่อเรียกที่ตั้งขึ้นมาหลังจากมีพระธรรมยุตแล้ว เมื่อวชิรญาณภิกขุตั้งคณะธรรมยุตขึ้นมา ท่านเรียกพระสงฆ์ที่ไม่ใช่ธรรมยุตว่ามหานิกาย ซึ่งเป็นการเรียกแบบเหมารวม ทั้งๆ ที่พระที่ไม่ใช่ธรรมยุตนั้นมีหลายกลุ่มหลายคณะซึ่งบางทีก็เรียกว่าเป็นคนละนิกาย ต่างมีประเพณีแบบแผนไม่เหมือนกัน ภาคเหนือก็แบบหนึ่ง ภาคอีสานก็อีกแบบหนึ่ง มหานิกายในประเทศไทยไม่มีเอกภาพมาช้านาน ต่างเกาะติดกับท้องถิ่นมากกว่า แต่วชิรญาณภิกขุเรียกพระเหล่านี้ว่ามหานิกาย พูดง่ายๆ มหานิกายคือพระที่ไม่ใช่ธรรมยุตเท่านั้นเอง

เหมือนอย่างที่เราเรียกชาวตะวันตกว่าฝรั่งเหมารวมไปหมด ออสเตรเลียก็ฝรั่ง รัสเซียก็ฝรั่ง แต่ทั้งออสเตรเลียกับรัสเซียก็มีอะไรหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน

๏ แล้วอย่างพระวัดป่าละคะ เป็นธรรมยุตหรือมหานิกาย

          พระวัดป่ามีทั้งธรรมยุตและมหานิกาย แต่พระวัดป่าที่คนไทยรู้จักส่วนใหญ่เป็นพระธรรมยุต เพราะธรรมเนียมพระป่าที่เรารู้จักในปัจจุบันนั้นทางธรรมยุตคือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นฝ่ายริเริ่ม แต่เดี๋ยวนี้ก็มีพระวัดป่าที่เป็นมหานิกายมากโดยเฉพาะหลังจาก พระอาจารย์ชา สุภัทโท ท่านได้บุกเบิกเอาไว้ ดังนั้น พระป่าทั้งธรรมยุตและมหานิกายจึงดูคล้ายๆ กัน แต่ถ้าเป็นพระในเมือง อาจดูง่าย เพราะพระมหานิกายมักห่มจีวรสีสดๆ อีกทั้งหลายวัดก็ห่มแบบอยุธยาก่อนสมัยธรรมยุต เรียกว่า 'ห่มมังกร'

๏ แล้วอย่างพระอาจารย์ล่ะคะ

          มหานิกาย

๏ ทำไมจึงเป็นมหานิกายคะ

          เพราะบวชที่วัดทองนพคุณ แล้วที่วัดนั้นเป็นมหานิกาย

๏ แต่ก็ยังงงอยู่ดีว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระรูปไหนเป็นมหานิกายหรือธรรมยุต

          ถ้ามองผ่านๆ อาจไม่รู้ แต่ธรรมยุตมีธรรมเนียมหลายอย่างแตกต่างจากมหานิกาย เช่น ไม่ใส่รองเท้า ไม่จับเงิน ฉันมื้อเดียว แต่เดี๋ยวนี้ก็แทบไม่ต่างกันแล้ว พระธรรมยุตที่ใส่รองเท้า จับเงิน ฉันสองมื้อก็มีไม่น้อย ขณะที่มหานิกายที่ไม่ใส่รองเท้า ไม่จับเงิน ฉันมื้อเดียวก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน แต่ที่อาจแตกต่างกันอยู่บ้างก็คือการห่มจีวรอย่างที่ว่า แต่พระมหานิกายจำนวนไม่น้อยเดี๋ยวนี้ก็ห่มคล้ายธรรมยุต จึงดูยากหากไม่สังเกต

๏ ตอนนี้คือไม่มีความแตกต่างกันแล้วระหว่างธรรมยุตกับมหานิกาย

          ยังแตกต่างกันอยู่อย่างน้อยก็คือการสวด การออกเสียงบางคำและจังหวะจะโคนจะไม่เหมือนกัน เช่น คำว่าธัมโม ธรรมยุตจะสวดออกเสียงคล้ายๆ ดัมโม โดยให้เหตุผลว่าตรงกับภาษามคธมากกว่า

๏ รู้สึกว่าเรื่องของสงฆ์กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ตรงนี้เป็นเหตุให้ฆราวาสที่ปฏิบัติธรรมก็กลับมาทำหน้าที่แทนสงฆ์มากขึ้น?

          ฆราวาสที่มีความรู้ที่มาสอนธรรมะทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ก็มีมากขึ้น บางคนก็ถึงกับประกอบพิธีกรรมเองเลยก็มี

๏ แต่ก็จะเป็นลักษณะของถูกจริตเฉพาะกลุ่ม

          อันนี้เป็นกระแสโลก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะศาสนาพุทธอย่างเดียว ศาสนาคริสต์ก็เป็นเหมือนกัน อย่างในอเมริกาทั้งๆ ที่คนกว่า ๘๐% เชื่อว่ามีพระเจ้า และเห็นว่าศาสนาเป็นสิ่งสำคัญ แต่ปรากฏว่ามีคนสังกัดโบสถ์แค่ ๕๐% ยังมีอีก ๓๐% ที่ไม่ขึ้นอยู่กับโบสถ์ใดทั้งสิ้น ศาสนากลายเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลมากขึ้น และนับวันจะอิงสถาบันน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความระแวงองค์กรหรือสถาบันซึ่งมักมีข่าวอื้อฉาวอยู่เสมอ อีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเขาคิดว่าศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล เหตุผลอีกประการหนึ่งคือต้องการมีเสรีภาพในการนับถือและปฏิบัติตามความเชื่อของตน

๏ ตรงนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์?

          ไม่ใช่ สมัยก่อนคุณทำอย่างนี้ไมได้ คุณอยู่ในชุมชนต้องนับถือและปฏิบัติเหมือนผู้คนทั้งหลายในชุมชน ไม่งั้นคุณอาจถูกอัปเปหิออกจากชุมชน สมัยก่อนศาสนาเป็นเรื่องของชุมชน ถูกกำหนดและอุปถัมภ์โดยชุมชน ปัจเจกบุคคลไม่มีสิทธิหรือเสรีภาพที่จะนับถือศาสนาตามใจตัว แต่ปัจจุบันชุมชนอ่อนแอลงไปมาก ไม่มีความสามารถที่จะไปกำหนดควบคุมความเชื่อของใครได้มากนัก ยิ่งบางแห่งไม่มีความเป็นชุมชนอีกแล้ว เช่นในเมือง ผู้คนในเมืองกลายเป็นปัจเจกบุคคล ศาสนาจึงกลายเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ นี้เป็นธรรมดาของยุคสมัย แม้แต่ในครอบครัว พี่น้องหรือพ่อแม่ก็อาจถือคนละศาสนาใด คนหนึ่งถือคริสต์ คนหนึ่งถือพุทธ คนหนึ่งถืออิสลาม อีกคนไม่นับถืออะไรเลย เป็นเรื่องธรรมดามาก สมัยก่อนทำอย่างนี้ไม่ได้ พ่อแม่นับถืออะไร ลูกๆ ก็ต้องนับถือตาม ในครอบครัวเดียวกันต้องนับถือเหมือนกันหมด เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วที่ต่างคนนับถือต่างศาสนา

          นี่คือเรื่องของยุคสมัย ยุคที่ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ความเชื่อ ศรัทธา รสนิยม ล้วนสะท้อนความเป็นปัจเจกชนทั้งสิ้น เพราะยุคนี้เสรีภาพส่วนบุคคลเป็นเรื่องสำคัญที่สุดก็ว่าได้ แล้วบริโภคนิยมก็มาตอบสนองตรงนี้อย่างเต็มที่ สมัยก่อนในอเมริกาเวลาไปซื้อของตามซูเปอร์มาร์เก็ต แม่จะไปซื้อของสำหรับทุกคนในบ้าน ทั้งบ้านมีโทรทัศน์เครื่องเดียว ดูรายการเดียวกัน แต่เดี๋ยวนี้ต่างคนต่างไปซื้อเพราะมีรสนิยมต่างกัน อันนี้คือลักษณะของทุนนิยมบริโภคที่กระตุ้นการบริโภคด้วยการเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะเมื่อมีการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเข้มข้น ธุรกิจที่ต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ก็ต้องพยายามเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มให้ได้มากที่สุด จึงพยายามเสนอสินค้าที่สอดคล้องกับรสนิยมของลูกค้าเฉพาะกลุ่มเหล่านี้ แต่ละกลุ่มก็ใช้วิธีต่างกัน ลูกค้าผู้หญิงก็เสนอสินค้าแบบหนึ่ง ลูกค้าผู้ชายก็เสนอสินค้าอีกแบบหนึ่งอย่างหนึ่ง ลูกค้าที่เป็นพ่อก็เสนอสินค้าแบบหนึ่ง ลูกค้าที่เป็นลูกก็อีกแบบหนึ่ง นอกจากจะเจาะตามเพศแล้ว ยังมีการเจาะตามวัย ตามอาชีพ เป็นต้น และนับวันจะเจาะละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเจาะได้ถูกใจกลุ่มเป้าหมายมากเท่าไหร่ ก็ขายสินค้าได้มากเท่านั้น และนับวันจะทำให้แต่ละกลุ่มมีรสนิยมที่แตกต่างกันมากขึ้น

          ทุนนิยมบริโภคที่แข่งขันโดยระบบตลาดทำให้คนเรามีรสนิยมที่หลากหลายและแตกต่างกันมากขึ้น นอกจากนั้นโทรทัศน์ที่มีไม่รู้กี่ช่อง หนังสือพิมพ์และนิตยสารที่มีหลากหลาย ก็มีส่วนในการหล่อหลอมและสร้างรสนิยมที่แตกต่างกันด้วย รสนิยมที่หลากหลายนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการหล่อหลอมโดยสื่อมวลชน อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเจาะตลาดของผู้ผลิต รวมทั้งวิธีการทางการตลาดที่ซับซ้อนพิสดารมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการบริโภคและแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด

๏ ความหลากหลายทางรสนิยม ที่เกิดจากการกระตุ้นทางการตลาด เป็นส่วนหนึ่งที่ฉีกครอบครัวออกจากกัน สบู่ต้องใช้คนละก้อน ยาสีฟันต้องใช้คนละหลอด?

          ใช่ แม้แต่คนๆ เดียวยังมีการบริโภคแตกต่างกันไปตามวัยหรืออาชีพที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อวัยและอาชีพเปลี่ยน อัตลักษณ์หรือภาพตัวตนก็พลอยเปลี่ยนไปด้วย การบริโภคก็ต้องเปลี่ยนไป เพราะการบริโภคเป็นส่วนสำคัญของการสร้างภาพตัวตนสำหรับคนยุคนี้

๏ ยุคสมัยอย่างนี้ขึ้นมาแล้วจะเสื่อมลงไหมคะ

          มันก็มีแนวโน้มให้เห็นอยู่ อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น เป็นการตีกลับหรือตอบโต้แนวโน้มที่เป็นกระแสหลัก เพราะเมื่อเรามีทุกอย่างแล้ว ได้เลือกทุกอย่างแล้วก็เบื่อ หันมาสนใจทางเลือกอื่น อย่างในอเมริกาคนเริ่มสนใจสมาธิภาวนากันมากขึ้น มีการนั่งสมาธิร่วมกันตามสำนักงานของราชการและเอกชน ซีอีโอบริษัทใหญ่ๆ อย่างฟอร์ด ก็หันมาทำสมาธิ นี้เป็นปฏิกิริยาต่อยุคบริโภคนิยมสุดโต่งที่ไม่สามารถให้คำตอบแก่ชีวิตจิตใจได้

          อย่างไรก็ตามน่าสังเกตว่าสมาธิภาวนาในโลกตะวันตกบางทีก็เจือไปด้วยบริโภคนิยม อย่างเช่น จะนั่งสมาธิทั้งทีก็ต้องไปหาซื้อเบาะ ซื้อธูป ซื้อลูกประคำ ซื้อระฆัง ซื้อได้แล้วถึงจะมานั่งสมาธิ คือจะปฏิบัติทั้งทีก็ต้องไปหาซื้อของมาให้ครบก่อน นี่เป็นบริโภคนิยมอย่างหนึ่งที่แฝงตัวมากับศาสนาหรือสมาธิภาวนา ส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องของอัตลักษณ์หรือภาพตัวตน คือจะได้ชื่อว่าเป็นนักสมาธิก็ต้องมีสิ่งของเหล่านี้มาประดับตัวเสียก่อน

          บริโภคนิยมนั้นพร้อมจะจำแลงมาในทุกรูปแบบ รวมทั้งในรูปของศาสนาหรือจิตวิญญาณ ไม่ว่าเกิดกระแสอะไรขึ้นมา บริโภคนิยมก็เอามาใช้ประโยชน์หมด อย่างกระแสสตรีนิยมหรือ feminism พอเกิดขึ้นบริโภคนิยมก็คว้าไปใช้ประโยชน์ เช่น ผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการเสรีภาพของผู้หญิง มีการผลิตเหล้าสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ มีบาร์สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ หรือไม่ก็โฆษณาขายสินค้าโดยใช้สโลแกนที่เน้นเสรีภาพของผู้หญิง

          บริโภคนิยมเก่งมากในการปรับตัว หรือฉกฉวยกระแสอะไรก็ได้ที่คนนิยมมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับมัน แม้กระทั่งศาสนาซึ่งมีหลักการสวนทางกับบริโภคนิยม ก็ถูกนำมารับใช้บริโภคนิยมได้ เช่น การเอาพระเครื่องมาทำเป็นสินค้า มีการโฆษณาสรรพคุณว่าซื้อแล้วรวย ทำมาค้าขึ้น

๏ เมื่อไหร่คนจะเบื่อคะ

          จนกว่าคนเราจะรู้ว่าบริโภคนิยมไม่ใช่คำตอบ เหมือนอย่างสมัยหนึ่งคนหนุ่มสาวแห่ไปเป็นฮิปปี้ ก็เพราะเบื่อเอียนกับวัฒนธรรมวัตถุนิยมและบริโภคนิยมของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่เนื่องจากเขาไม่สามารถค้นพบความสุขทางจิตใจที่แท้หรือที่มั่นคงได้ มีแต่อุดมการณ์แต่ไม่มีมิติทางจิตวิญญาณรองรับ พูดง่ายๆ คือสมองกับหัวใจไม่ประสานกัน ในที่สุดเขาก็กลับไปหาบริโภคนิยม ไปเป็นนักธุรกิจ ซีอีโอ ต่างๆ หากคนเราขาดมิติทางจิตวิญญาณเสียแล้ว อุดมการณ์ก็อาจแปรเปลี่ยน เช่นเดียวกับนักศึกษาที่เข้าป่าด้วยอุดมการณ์ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นนายทุนที่สนับสนุนการทำลายสิ่งแวดล้อมและเอาเปรียบคนยากคนจน สวนทางกับความเชื่อเดิมของตน

๏ อย่างสมาธิที่อเมริกันกำลังนิยมกันมาก แต่ก็ไม่เห็นว่าจะช่วยปรับเปลี่ยนผู้นำเขาให้ปรับเปลี่ยนความคิดได้

          เราอย่าไปหวังขนาดนั้นเพราะว่าผู้นำทั้งหลาย กว่าเขาจะขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างหรือสถาบันที่คุมกระแสหลักอยู่ เขาต้องพิสูจน์ว่าเขาสามารถรักษาผลประโยชน์ของสถาบันหลักที่ได้เปรียบในสังคมได้ ถ้าเขาทำไม่ได้ก็ไม่มีทางที่จะได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีได้ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปคาดหวังผู้นำว่าเขาจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงได้ สิ่งที่เราควรคาดหวังคือ ทำอย่างไรประชาชนในระดับล่าง หรือภาคประชาสังคมจึงจะเข้มแข็งขึ้นมาได้

          ตอนนี้ภาคประชาสังคมของเราถึงแม้จะมีสำนึกทางการเมืองมากขึ้น มีสำนึกทางประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ว่ามีจุดอ่อนคือยังไม่ค่อยรู้เท่าทันหรือเห็นโทษของบริโภคนิยมเท่าไหร่ คือยังอยากรวย อยากมีวัตถุต่างๆ มาอำนวยความสะดวกสบาย เห็นว่าการมีรถยนต์ส่วนตัวเป็นของดีโดยที่ไม่ได้ตั้งคำถามว่า มันจำเป็นแค่ไหน เราได้ใช้ประโยชน์จริงไหม หรือเพื่ออะไรกันแน่ เราไม่ตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้

          ทุกอย่างไม่ว่าจะมีข้อดีแค่ไหน มันมีคอสท์ (cost) หรือรายจ่ายทั้งนั้น อย่างรถยนต์ เราคิดว่ามันทำให้เรามีเสรีภาพในการเดินทาง ทำให้เราไปไหนมาไหนได้เร็ว สะดวกและทุ่นเวลามากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมันก็มีผลเสียหรือรายจ่ายทั้งนั้น รายจ่ายที่ว่าไม่ใช่แค่เงินทองเท่านั้น เคยมีการวิจัยเกี่ยวกับรายจ่ายของรถยนต์ เขาพบว่ามันมีรายจ่ายแฝงเร้นมากมาย ซึ่งสรุปแล้วไม่ได้ทำให้คนเราเดินทางได้เร็วขึ้นมากมายเท่าไหร่ ข้อสรุปของเขาคือรถยนต์ทำให้คนเราเดินทางได้เร็วเพียง ๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือช้ากว่ารถจักรยานด้วยซ้ำ ข้อสรุปนี้ได้มาจากการคำนวณเวลาทั้งหมดที่ใช้ไปเกี่ยวกับรถยนต์ เช่นเวลาในการหาเงินมาซื้อรถ เวลาที่เสียไปกับการหาเงินมาซื้อน้ำมัน อะไหล่และจ่ายค่าซ่อมรถ เวลาที่เสียไปกับการหาที่จอดรถ เอารถไปซ่อม ดูแลรถ เวลาทั้งหมดนี้เอามารวมกันแล้วเอาไปหารผลรวมระยะทางทั้งหมดที่เดินทางด้วยรถยนต์ ก็จะเหลือเพียง ๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมง

          คนเราไม่ค่อยได้คิดถึงรายจ่ายหรือสิ่งที่ตนต้องสูญเสียไปกับเทคโนโลยีหรือความสะดวกสบาย เทคโนโลยีหรือความสะดวกสบายมีรายจ่ายแอบแฝงอยู่เยอะที่เราไม่ได้คิด เช่นโทรศัพท์มือถือ นอกจากจะต้องจ่ายเงินซื้อเครื่องซื้อบัตรเติมเงินแล้ว ยังทำให้เราสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป ถูกใครต่อใครตามจิกได้ง่ายขึ้น หลายคนยังต้องเสียเวลากับการตกแต่งโทรศัพท์ การอัพเดทให้ทันสมัยอยู่เสมอ และที่เราอาจไม่ค่อยคิดกันก็คือทำให้เราขี้เกียจมากขึ้น บางทีมีโทรศัพท์สาธารณะอยู่ใกล้ๆ ถ้าเราเดินไปหยอดเหรียญบาทหนึ่งเราสามารถโทรศัพท์ได้ ๓ นาที แต่ถ้าอยู่กับที่แล้วใช้โทรศัพท์มือถือก็จะต้องเสียนาทีละ ๔-๕ บาท ทั้งๆ ที่ใช้โทรศัพท์สาธารณะถูกกว่ากันมาก แต่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้โทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ เพราะขี้เกียจเดินไปใช้โทรศัพท์สาธารณะ

          การอยู่กับที่แล้วใช้โทรศัพท์มือถือ ถามว่าสะดวกไหม สะดวกแต่เปลือง แต่คนเลือกเอาความสะดวกแทนเพราะขี้เกียจเดินแล้ว ติดความสะดวกสบายแล้ว นี้ก็คือรายจ่ายที่เราต้องเสียไป มันทำให้เสียนิสัยไปแล้ว

          มอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ก็เช่นกัน แค่ไปซื้อของที่ปากซอย เมื่อก่อนเราเดินได้ เดี๋ยวนี้เดินไม่เป็นแล้ว ต้องขับรถไปปากซอย คนเรานับวันจะเป็นทาสเทคโนโลยีมากขึ้นเพราะติดยึดกับกับความสะดวกสบาย พูดง่ายๆ คือขี้เกียจ พึ่งตัวเองไม่เป็นแล้ว นี่คือรายจ่ายหรือผลเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งเราต้องคำนึงด้วยว่ามันคุ้มไหมกับความสะดวกสบายจากการใช้เทคโนโลยี มันไม่ใช่แค่ความสะดวกสบายเฉยๆ แต่กลายเป็นความติดยึดพึ่งพิงจนเป็นทาสความสะดวกสบาย

          รายจ่ายที่อาตมาพูดถึงไม่ใช่แค่เงินและเวลา แต่หมายถึงจิตใจที่ถูกบั่นทอน หรือถูกทำให้เสียนิสัย ทำให้กลายเป็นทาสของเทคโนโลยีและความสะดวกสบาย

          ตรงนี้เป็นอันตรายของบริโภคนิยม บริโภคนิยมมีเสน่ห์อย่างยิ่งตรงที่นอกจากมันจะสัญญาว่าจะให้เสรีภาพแก่เราแล้ว มันยังเสนอความสะดวกสบายให้เรา จะเรียกว่าความสะดวกสบายเป็นเหยื่อของบริโภคนิยมที่ล่อให้เรางับเบ็ดที่ซ่อนไว้ก็ได้ ถ้าเราติดความสะดวกเมื่อไหร่ เราก็อยู่ในกำมือของบริโภคนิยมเมื่อนั้น

          ที่น่ากลัวก็คือ บริโภคนิยมไม่ได้ทำให้เราเป็นทาสของวัตถุ หรือเป็นทาสของความสะดวกสบายเท่านั้น มันยังทำให้เราเป็นทาสของนายทุนเงินกู้ด้วย โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้คนเป็นหนี้มากขึ้น โครงการเอื้ออาทรต่างๆ กองทุนหมู่บ้าน ๑ ล้านบาท รวมทั้งการสนับสนุนให้ขอเครดิตการ์ดได้ง่ายขึ้น ทั้งหมดนี้นอกจากจะสนับสนุนให้คนบริโภคมากขึ้นแล้ว ยังทำให้คนเป็นหนี้มากขึ้นด้วย มาตรการเหล่านี้รัฐบาลสนับสนุนก็เพราะเชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่กระตุ้นการผลิตเท่านั้น หากยังเชื่อว่าจะกระตุ้นให้คนขยันมากขึ้น เพราะเขามีความคิดว่าหนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนขยัน คนที่เป็นหนี้จะถูกผลักดันให้ต้องขยันทำงาน หนี้เป็นไฟลนก้นคุณ ถ้าไม่เป็นหนี้ก็จะอยู่อย่างเฉื่อยๆ แต่เมื่อคุณเป็นหนี้คุณก็ต้องขยันทำงาน เมื่อคุณขยันคุณก็จะรวย ประเทศก็จะรวย

          นายกฯ ทักษิณจึงบอกว่า คนเราถ้าไม่เป็นหนี้ก็ไม่รวย ก็แปลว่ารัฐบาลกำลังสร้างแรงผลักให้คนทำงานหาเงินมากขึ้น ก่อนหน้านี้เราอาจทำงานหาเงิ นโดยมีแรงดึงโดยมีความสุขสบายที่รออยู่ข้างหน้าเป็นตัวล่อหรือดึงดูดใจให้ทำงานหาเงิน แต่รัฐบาลคงเห็นว่าแรงดึงอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีแรงผลักด้วย คือมีความทุกข์จากการเป็นหนี้เป็นตัวผลักให้ไม่อยู่นิ่งเฉย ซึ่งก็สอดคล้องกับวัฒนธรรมบริโภคนิยม

          ทุนนิยมนี้ฉลาดทีเดียว มันกระตุ้นให้คนขยันหาเงินด้วยสองแรง คือแรงดึงและแรงผลัก อาหารที่อร่อย รถคันใหม่ บ้านหลังใหญ่ คือสิ่งที่ดึงดูดให้ผู้คนทำงานหาเงินไม่หยุด แต่เท่านี้ยังไม่สมใจบริโภคนิยม มันยังสร้างแรงผลักให้คนทำงานหนักขึ้น เมื่อคุณเป็นหนี้เพราะซื้อสินค้าเงินผ่อนหรือเป็นหนี้บริษัทเครดิตการ์ดแล้ว คุณอยู่เฉยไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อใช้หนี้ ไม่งั้นจะต้องถูกยึดบ้าน ยึดที่ กลายเป็นคนล้มละลาย สูญเสียชื่อเสียง

๏ แต่เรายังไม่ได้ตีราคาค่าความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทาง ไปไม่ถึงฝัน เช่น ทำงานหนักจนป่วย เกิดอุบัติเหตุตาย?

          รายจ่ายที่ต้องเสียไปนอกจากที่พูดไปแล้ว ยังได้แก่ความเครียด ความเจ็บป่วยครอบครัวแตกแยก อาชญากรรมขึ้นสูง นี่คือรายจ่ายในทางจิตใจและสังคมจากการบริโภคอย่างไม่รู้จักหยุด คนเราถ้ามีความอยาก มีแรงกระตุ้นให้ทำอะไรก็ตามโดยคำนึงถึงจริยธรรม เคารพกฎหมายและเคารพสิทธิของผู้อื่น ก็ยังนับว่าดี แต่เดี๋ยวนี้ถ้าคุณมีความเชื่อว่าเป้าหมายสำคัญ วิธีการไม่สำคัญ คุณก็ไม่สนใจกฎหมายหรือศีลธรรมแล้ว คุณอยากรวยคุณก็ไปปล้นหรือขายยาบ้า อยากรวยก็ไปเล่นการพนันหรือคอรัปชั่น คนมีความคิดแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สังคมเกิดปัญหาต่างๆมากมาย การทุจริตข้อสอบกลายเป็นเรื่องธรรมดาในแวดวงนักเรียน นักศึกษา หรือแม้แต่พระเณร

          ความเชื่อที่ว่าเป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการ กำลังทำให้สังคมเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว เมืองไทยกำลังร่ำรวยมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ทุกข์มากขึ้นด้วย เพราะผู้คนเอาเปรียบกันมากขึ้น ทำร้ายกันมากขึ้น แล้วความรวยจะมีประโยชน์อะไร เผลอๆ ยังเป็นความรวยจำแลงด้วย

          อย่างเกาหลีใต้ ๓-๔ ปีก่อน เศรษฐกิจโตเอาๆ แต่ตอนนี้กำลังมีปัญหาเศรษฐกิจหนักมากเพราะคนเป็นหนี้จากเครดิตการ์ด หลังจากที่รัฐบาลอนุญาตให้ออกเครดิตการ์ดง่ายขึ้นเมื่อ ๔-๕ ปีก่อน ตอนนี้หนี้เพิ่มมาก แถมเป็นหนี้เสียด้วย ไม่ใช่แค่หนี้ส่วนบุคคลเท่านั้น หากยังเป็นหนี้ของสถาบันการเงินที่ออกเครดิตการ์ด พอไม่มีเงินคืนก็เลยพังครืนกันใหญ่ ปีนี้เศรษฐกิจเกาหลีถดถอยลง พอเศรษฐกิจถดถอย คนก็ไม่มีเงินไปจ่ายหนี้เครดิตการ์ด ก็เลยยิ่งแย่กันไปใหญ่ นี่เป็นความรวยจำแลงที่มาจากการกระตุ้นการบริโภค แต่ภาคการผลิตไม่เติบโตตามไปด้วย ก็เลยแย่

๏ ประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคความรวยจำแลงเหมือนกัน?

          น่ากลัวว่ากำลังจะซ้ำรอยกับยุคฟองสบู่ที่ผ่านมา มันรวยแบบปลอม รวยจากเงินที่เราไปยืมเขามาจากอนาคต ซึ่งคุณต้องจ่ายคืนในที่สุด นี่คือค่านิยม และวิธีคิดของคนไทยที่กำลังเปลี่ยนไป เพราะว่าเกณฑ์วัดความดีความควรไม่ใช่ศีลธรรมแล้ว แต่คือเศรษฐกิจ อะไรที่ทำให้มีเงินมากขึ้นก็ถือว่าดี

๏ อย่างที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์พูดถึงว่าตอนนี้ภาครัฐบาลแยกไม่ออกกับภาคธุรกิจ?

          วัฒนธรรมแบบทุนตอนนี้แพร่ไปทั่ว ไม่เฉพาะรัฐ ทุกวงการก็คิดแบบนี้หมด มันลงลึกไปถึงครอบครัว ตัวบุคคล เดี๋ยวนี้เวลามีคนมาชวนให้ทำอะไร ผู้คนมักจะถามก่อนว่า ทำแล้วฉันจะได้อะไร นี่คือคิดแบบธุรกิจ คือเอากำไรเป็นตัวตั้ง นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะแม้แต่คณะสงฆ์ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน สมณศักดิ์กลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้ ที่ดินซึ่งเป็นศาสนสมบัติก็ถูกใช้ไปเพื่อเอากำไรเป็นหลัก มากกว่าจะส่งเสริมธรรมะหรือเพื่อความผาสุกในชุมชน ยิ่งตอนนี้มีความพยายามจะเอาวัฒนธรรมซีอีโอเข้าไปในหมู่พระสงฆ์ เช่น มีไวยาวัจกรซีอีโอ หรือเอาซีอีโอมาดูแลศาสนสมบัติกลาง ก็ยิ่งทำให้วัฒนธรรมทุนฝังลึกในวงการสงฆ์หนักขึ้น

          ตรงนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระท่านไม่เท่าทันโลก ท่านไม่ทราบเรื่องทางโลกมาก ท่านไม่เท่าทันระบบทุนนิยมและบริโภคนิยม ท่านอาจจะไม่มีความโลภ คร่ำเคร่งกับการภาวนา ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย แต่พอมาถึงเรื่องทางโลกก็คิดแบบคนทั่วไปว่าก็ต้องสร้างถาวรวัตถุ สร้างรายได้เข้าวัดโดยการเอาที่ดินไปใช้ในทางธุรกิจ ทั้งๆ ที่ท่านอาจเคร่งพระธรรมวินัย หรือเป็นพระที่ดี แต่เมื่อไม่เท่าทันวัฒนธรรมทุนนิยมและบริโภคนิยม ก็อาจกลายเป็นเครื่องมือของทุนนิยมหรือบริโภคนิยมได้

๏ ถ้าพระคิดอย่างนี้แสดงว่าการปฏิบัติยังไม่ถึงสาระของพระธรรมวินัย

          ท่านอาจเข้าถึงสาระของพระธรรมวินัยในแง่การฝึกฝนพัฒนาตนให้ลดละความเห็นแก่ตัว แต่ท่านอาจไม่เข้าใจในเรื่องทางโลก ไม่เห็นโทษของทุนนิยมหรือบริโภคนิยมก็ได้ จะเห็นโทษตรงนี้ได้ต้องอาศัยความรู้ทางโลกเหมือนกัน เช่นเดียวกับเงิน ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ เราก็ไม่รู้ว่าเงินมีโทษอย่างไร และควรจะใช้เงินอย่างไร แต่คนที่มีประสบการณ์จากการใช้เงิน จากการเป็นหนี้ ก็มีโอกาสที่จะรู้จักการใช้เงินว่าจะบริหารเงินอย่างไร

๏ หรืออย่างที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี กล่าวว่า เงินเป็นของมีคม มันจะบาดพระได้

          ระบบชุมชน ระบบโยมต้องเข้มแข็งที่จะตอบสนองพระได้ เพื่อว่าท่านจะได้ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเงิน จะทำอย่างนี้ได้ต้องมีโยมที่อยู่วัดหรือมาปฏิบัติธรรมในวัดมาช่วยท่าน เช่นช่วยหิ้วย่ามถือเงินให้พระ แต่ตรงนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นเพราะว่าเราไม่มีระบบโยมที่เข้มแข็ง อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่อาตมาได้พูดถึงไปในหนังสือ 'พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ' ว่า น่าจะมีกลุ่มคนอย่างน้อย ๑ กลุ่มที่เข้ามาอยู่ตรงกลางระหว่างพระกับฆราวาส คือเป็นคนที่มีวัตรปฏิบัติ มีวินัยใกล้พระเช่น ถือพรหมจรรย์ ถือศีล ๘ แต่จับเงินได้ ขับรถได้ ขณะเดียวกัน นอกจากจะมีสิกขาบทใกล้พระแล้ว ยังมีกิจกรรมและหน้าที่ใกล้เคียงกับฆราวาส เช่น ทำงานชุมชนกับชาวบ้าน ไปสอนคนยากคนจน สอนคนในคุกหรือโสเภณี ถ้ามีตรงนี้ก็จะช่วยให้พระท่านเบาแรง เอื้อเฟื้อพระวินัยได้มากขึ้น มีเวลาปฏิบัติธรรมและสั่งสอนญาติโยมรอบวัดได้มากขึ้น ไม่ต้องไปตะลอนๆ พูดง่ายๆ คือ จะต้องมีอนาคาริก (หมายถึงผู้สละเรือน) มาอยู่ในวัดอยู่ด้วย ซึ่งตอนนี้มีน้อยมาก

๏ รู้สึกว่าเรากำลังมาถึงยุคที่ฆราวาสไม่สามารถพึ่งพระได้

          เราก็พึ่งได้ เพียงแต่ว่าถ้าเป็นตัวสถาบันอาจพึ่งได้ยาก แต่สำหรับพระสงฆ์ที่เป็นรูปๆ ได้ เรายังพอพึ่งได้ ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

๏ จริงๆ แล้วเราควรจะพึ่งตนเองให้ได้ก่อน? รบกวนพระอาจารย์ให้สติในการพึ่งตนเองด้วยค่ะ

          พึ่งตนเองคือพึ่งสติปัญญาและคุณธรรมภายในตน จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องบ่มเพาะสติปัญญาและพัฒนาคุณธรรมภายในตนจนเป็นที่พึ่งของตนเองได้ สุขทุกข์ที่เกิดกับเรานั้น ถึงที่สุดแล้วมิได้มาจากไหน หากอยู่ที่ใจของเรา สตินั้นช่วยให้เราเท่าทันตนเอง ไม่ปล่อยใจให้เผลอจมอยู่กับความทุกข์ หรือปล่อยให้สิ่งต่างๆ มากระทบใจจนเป็นทุกข์ ส่วนปัญญานั้นก็ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ไม่หลงยึดติดกับความสำเร็จหรือความล้มเหลว ไม่ปล่อยให้ชีวิตจิตใจผูกติดกับอาการบวกและลบที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นสุข พร้อมจะหาโชคจากเคราะห์ได้ แต่ถ้าสติปัญญาในตัวเรายังพร่องอยู่ เราก็พร้อมจะทุกข์ได้ทุกขณะ จนก็ทุกข์ รวยก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ หนาวก็ทุกข์ มีอะไรมากระทบถ้าไม่ถูกใจ ก็ทุกข์ ถ้าถูกใจก็เป็นสุข ชีวิตเราเลยต้องเป็นทาสของสิ่งแวดล้อม สุดแท้แต่ว่ามันจะเป็นบวกหรือลบ เราเลยไม่เป็นอิสระ หรือเป็นตัวของตัวเองเสียที ชีวิตแบบนี้เป็นชีวิตที่เป็นทุกข์ได้ง่ายเพราะโลกรอบตัวเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่ถูกใจเรา หรือไม่เป็นไปตามใจเรา

          แต่สติปัญญาและคุณธรรมภายในนั้นจะเจริญงอกงามได้ เราต้องมีเวลาให้แก่ชีวิตด้านใน ไม่ปล่อยให้ชีวิตหลงเพลินไปกับสิ่งภายนอก โดยเฉพาะการไล่ล่าหาวัตถุหรือสิ่งเสพ แม้แต่งานการ ก็ไม่ควรจะหมกมุ่นจนไม่มีเวลาให้แก่ตนเอง เดี๋ยวนี้เราแปลกแยกกับตัวเองมากขึ้น ไม่สามารถอยู่กับตัวเองคนเดียวได้ เวลาอยู่คนเดียวจะกระสับกระส่ายทุรนทุราย ต้องมีโทรทัศน์ วอล์คแมน หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเพื่อน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงพูดไม่ได้ว่าเรารักตัวเอง ตรงกันข้ามเรากำลังเป็นศัตรูกับตัวเองมากขึ้นทุกที เราจะรักตัวเองอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่ออยู่กับตัวเองได้อย่างมีความสุข นั่นคือมีความสุขจากจิตที่สงบ ไม่แส่ส่าย รู้จักปลดเปลื้องความทุกข์ไปจากจิตใจได้โดยไม่ต้องพึ่งวัตถุ ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็โดยการบ่มเพาะสติปัญญา และพัฒนาคุณธรรม จนสามารถเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขของชีวิตอย่างแท้จริง นี่แหละที่เรียกว่าการพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง...

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :