เสขิยธรรม
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ทำความรู้จัก 'ปอเนาะ'

กองบรรณาธิการ
การเมือง นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗

          รากศัพท์ของคำว่า "ปอเนาะ" มาจากภาษาอาหรับว่า PONDOK อ่านว่าปนโด๊ะบ้าง พอนดอกบ้าง แปลว่า กระท่อม ที่พัก ซึ่งความหมายในปัจจุบันคือ

          สำนักศึกษาเล่าเรียนวิชาการศาสนาอิสลาม ซึ่งหมายถึงทั้งที่พักและที่เรียน

          สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ฉบับทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) สงขลา ฉบับ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๗ ระบุความเป็นมาว่า เชื่อกันว่าปอเนาะเกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ แล้วแพร่มาสู่เอเชียที่ประเทศมาเลเซียก่อน ต่อมาจึงแพร่เข้าสู่เส้นทางใต้ของประเทศไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มที่ปัตตานีเป็นแห่งแรก แล้วขยายไปสู่ท้องถิ่นที่มีชาวไทยมุสลิมทั้งในภาคใต้และภาคกลาง

          ระบบของปอเนาะในหลายประเทศ เช่น ปากีสถาน อินเดีย แอฟริกา แต่เรียกชื่อต่างกัน เช่น ปากีสถานเรียกว่า "บาดือรอซะ" เป็นชื่อที่เป็นทางการแปลว่า ที่เรียน ส่วนปอเนาะเป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการ

          "ปอเนาะ" ถือเป็นการศึกษาเพื่อชุมชนแบบพึ่งตนเอง เกิดที่ปัตตานีเมื่อ ๒๐๐ ปีมาแล้ว โดยปอเนาะแรกคือ บืดนังดายอ ใกล้ๆ ต.สะนอ อ.ยะรัง ปอเนาะซีเดะ อยู่ที่บ้านซีเดะ ต.กรือเซะ อ.เมือง จังหวัดปัตตานี

          หลักสูตรดั้งเดิมประกอบด้วย วิชาภาษามลายูและภาษาอาหรับ วิชาเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม วิชาฟิกฮ์ เป็นนิติศาสตร์อิสลาม เรียนกว้างๆ มีการเจาะลึกในระดับมหาวิทยาลัย และวิชาย่อยอื่นๆ อีกมากที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมุสลิมตั้งแต่เช้า-เย็น เป็นจริยาวัตรของมุสลิม วิชาตะเซาอุฟ เป็นหลักการพัฒนาจิตใจ

          ระดับของนักเรียน นักเรียนแบ่งเป็น ๓ ระดับ หรือเรียกว่า รุ่นอิบตีดาอี เป็นรุ่นเริ่มเรียน รุ่นมูตาวัซซิต เริ่มอ่าน เขียน แปลได้ รุ่นอาลี เป็นครูพี่เลี้ยงได้ แต่ละวิชาจะมีหนังสือเรียนตามรุ่น รุ่นอิบตีดาอี เรียนเล่มเล็ก รุ่นมูตาวัซซิต เรียนเล่มกลาง และรุ่นอาลีเรียนเล่มใหญ่

          ช่วงระยะเวลาจนถึงปัจจุบัน ปอเนาะมีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เขตการศึกษา ๒ ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการปรับปรุงส่งเสริมปอเนาะ ออกมาเมื่อปี ๒๕๐๔ สาระสำคัญคือ ให้ปอเนาะยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนต่อทางราชการ

          ต่อมาในปี ๒๕๐๘ รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีให้ปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แปรสภาพเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ให้ปรับปรุงการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน ให้มีหลักสูตรการสอน มีชั้นเรียน โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ มีระยะจบการศึกษาที่แน่นอน และให้เปิดสอนวิชาสามัญด้วย

          ทางราชการจะช่วยเหลือส่งเสริมโดยการให้เงินอุดหนุน ส่งครูไปช่วยสอนวิชาสามัญ และผ่อนปรนในเรื่องคุณสมบัติบางประการของเจ้าของ ผู้จัดการ ครูใหญ่ และครูผู้สอน โดยไม่ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.๒๔๙๗ อย่างเคร่งครัด

          ปี ๒๕๑๐ คณะรัฐมนตรีมีมติให้เริ่งรัดปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด ให้มาขอแปรสภาพจากปอเนาะเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๔ ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าปอเนาะนั้นล้มเลิกไป และหลังจากนั้นห้ามก่อตั้งปอเนาะขึ้นมาอีก หากจะตั้งต้องเปิดสอนในรูปแบบของโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเท่านั้น

          ถึงปี ๒๕๑๔ มีปอเนาะจำนวนมากถึง ๔๒๖ แห่ง มายื่นความจำนงขอแปรสภาพกับทางการ แต่บางแห่งที่เคยขึ้นทะเบียนด้วยความจำยอม เนื่องจากถูกบีบจากทางการ ถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ไม่ยอมแปรสภาพ อีกบางส่วนยอมแปรสภาพจากปอเนาะไปสู่ระบบโรงเรียน แต่สอนเฉพาะวิชาศาสนาเท่านั้น ตามหลักสูตรและแผนการสอนที่โรงเรียนปอเนาะแห่งนั้นๆ กำหนดขึ้นเอง และนอกจากนี้ยังมีปอเนาะแห่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

          การศึกษาของมุสลิมจึงแบ่งออกเป็นสองรูปแบบ คือ "ปอเนาะ" อันเป็นรูปแบบการศึกษาดั้งเดิมของท้องถิ่นกับการศึกษาในระบบ "โรงเรียน" ที่เรียกกันติดปากว่า โรงเรียนปอเนาะ ซึ่งมีการแบ่งชั้นเรียน มีชุดเครื่องแบบ มีโต๊ะเก้าอี้นั่งเรียน มีการนับชั้น และกำหนดระยะจบการศึกษา และโรงเรียนปอเนาะยังแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ สอนทั้งวิชาสามัญและศาสนา กับสอนเฉพาะวิชาศาสนาเพียงอย่างเดียว

          ในปี ๒๕๒๖ ชื่อโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามถูกรัฐบาลเปลี่ยนเป็น โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อสอดคล้องตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ และออกระเบียบการให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนเอกชนฯ ที่สอนวิชาสามัญควบคู่วิชาศาสนาอิสลาม ฉบับแก้ไขครั้งล่าสุดออกมาเมื่อ ๒๕๔๕ ให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนที่ได้มาตรฐานตามมาตรา ๑๕ (๑) ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็ม ส่วนโรงเรียนที่อยู่ในระยะเตรียมความพร้อม และโรงเรียนที่เพิ่งจดทะเบียนหลังวันออกระเบียบให้เงินอุดหนุน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับโรงเรียนที่สอนเฉพาะวิชาศาสนา จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงื่อนไขนี้สร้างความน้อยเนื้อต่ำใจให้แก่ปอเนาะหลายแห่ง

          ตามสถิติจากการสำรวจล่าสุดของ สช. มีโรงเรียนปดเนาะกว่า ๕๕๐ โรง แบ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอย่างเดียว ๓๐๐ โรง และที่เปิดสอนทั้งวิชาสามัญและศาสนาประมาณกว่า ๒๐๐ โรง โดยไม่นับรวมปอเนาะที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน

          ปอเนาะที่ผ่านการแปรสภาพเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ กระทั่งปัจจุบัน การบริหารและการดำเนินกิจการของโรงเรียนเป็นไปอย่างมีระบบ บุคลากรได้รับการพัฒนาอบรม อาคารสถานที่มั่นคงถาวร

          ในด้านหลักสูตร ได้นำเอาหลักสูตรสามัญศึกษาของโรงเรียนมัธยมต้น และมัธยมปลายมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

          ส่วนหลักสูตรศาสนาอิสลามได้แบ่งชั้นเรียนเป็น ๑๐ ชั้นปี ได้แก่ หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนต้น - ฮิบติดาอียะฮฺ ปีที่ ๑-๔ หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนกลาง - มุตาวัซซีเตาะฮฺ ปีที่ ๕-๗ และหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนปลาย - ซานาวียะฮฺ ปีที่ ๘-๑๐ มาตรฐานของโรงเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน ทำให้โรงเรียนปอเนาะได้รับความสนใจมาก.. .


หมายเหตุ : เรียบเรียงจากนิตรยสารสารคดี ฉบับที่ ๒๒๓ เดือนกันยายน ๒๕๔๖
"ความจริง ความงาม ความดี ที่ปอเนาะ" โดยวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง เรื่องและวิจิตต์ แซ่เฮ้ง ถ่ายภาพ

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :