เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
ความตายที่ตากใบ กับ “บางสิ่ง” ในใจคุณ

บทความโดย พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กลุ่มเสขิยธรรม / skyd.org
ประชาไทดอทคอม

          ทันทีที่ทราบข่าว ว่ามีการสลายการชุมนุม ที่หน้า สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่บ่ายถึงเย็นวันที่ ๒๕ ตุลาคม แล้วทราบว่ามีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตในเหตุการณ์นั้น

          …คุณรู้สึกอย่างไร?

          ไม่ว่าคุณจะได้เห็นภาพ รับฟังเสียง หรือเพียงได้อ่านข้อความ… แรกสุดที่คุณทราบว่า ๖ ชีวิตต้องตายไป กว่ายี่สิบชีวิตต้องบาดเจ็บสาหัส และกว่าหนึ่งพันคนถูกจับกุม

          …คุณรู้สึกอย่างไร?

          บางคนอาจเคยทราบมาบ้าง ว่า ๓ จังหวัดภาคใต้ ผู้คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เป็นคนนับถือศาสนาอิสลาม และที่ผ่านมาอยู่ในภาวะตึงเครียด สถานการณ์ไม่สงบ มีความขัดแย้ง และมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีข่าวผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือผู้บริสุทธิ์ ถูกฆ่า และถูกทำร้าย ครั้งแล้วครั้งเล่า…

          คุณล่ะ…ทราบเรื่องนี้มากแค่ไหน? และรับรู้ข้อมูลละเอียดลออเพียงใด?

          มีคนบอกว่าผู้คนที่นั่นไม่ใช่คนไทย เป็นแขก เป็นมลายู พูดยาวีบ้าง พูดภาษามลายูบ้าง พูดไทยแทบไม่ได้ บางคนบอกว่าคนที่นั่นนิยมความรุนแรง เกลียดชาวพุทธ เกลียดคนนับถือศาสนาอื่นๆ

          คุณล่ะ…เชื่อเช่นนั้นหรือไม่? คุณเคยรู้จักคนจาก ๓ จังหวัดเหล่านี้บ้างไหม?

          ถ้าเคยรู้จัก…เขา(หรือเธอ)เป็นอย่างที่กล่าวถึงหรือไม่? และ เพียงใด…?

          อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว เชื่อว่าคุณจะทราบดี ว่าเรากำลังพูดถึง จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชายแดนระหว่าง ไทย-มาเลเซีย

          คุณเชื่อไหม หลายคนยังไม่เคยเยี่ยมเยือนที่นั่น และหลายคนเช่นกัน ที่รู้จักจังหวัดเหล่านั้นเพียงชื่อ กับข่าวคราวจากสื่อเล็กๆ น้อยๆ…

          หลังจากทราบข่าวการสลายการชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบ ได้ไม่กี่ชั่วโมง ก็มีข่าวตามมา ว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก ๗๘ คน เพราะขาดอากาศหายใจระหว่างขนย้ายผู้ต้องหา และต่อมาก็มีรายงานข่าวว่าเสียชีวิตเพิ่มอีก ๑ คน จากผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ดังกล่าว ที่กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

          เมื่อทราบว่า “การสลายการชุมนุม” มี “ผู้เสียชีวิต” ถึง ๘๕ คน…

          คุณรู้สึกอย่างไร?

          ในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร บ่อยครั้งที่เราได้รับทราบโศกนาฏกรรม ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากต้องบาดเจ็บและล้มตายในเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น บ้างเป็นภัยพิบัติตามธรรมชาติ บ้างเป็นอุบัติเหตุ บ้างก็เป็นการกระทำของมนุษย์ ที่กระทำต่อ “เพื่อนมนุษย์” ด้วยกัน

          สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “เรารู้สึกอย่างไร?” และ “เราคิดอย่างไร?” กับเหตุการณ์เหล่านั้น ในวูบแรกของการสัมผัส ในเบื้องแรกที่เรามีโอกาส “รับรู้” ในชะตากรรมของ “เพื่อนมนุษย์” เหล่านั้น

          และต่อจากนั้นเล่า “เราทำอะไร ?” หรือ “มีปฏิกิริยาอย่างไร ?” อันหมายถึง “ท่าที” ของเรา ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ต่อสิ่งที่เรารับรู้

          เพราะ “สิ่งนั้น” หรือ “สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น” ย่อมบ่งบอก หรือสะท้อนถึง “ความเป็นเรา” อันหมายถึง “ตัวตนของเรา” และ “ปฏิสัมพันธ์ของเรา” ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ หรือปรากฏการณ์ในโลก และในชีวิต…

          บางคนเคยกล่าวไว้ว่า นับวันที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญขึ้น นับวันที่วัตถุพัฒนารุดหน้าไปยิ่งขึ้น มนุษย์ก็ยิ่งเหินห่างจากธรรมชาติ และเหินห่างจากกิจกรรมรวมหมู่ ในฐานะของ “สัตว์สังคม” ไปยิ่งขึ้นทุกที

          ในกระแสของสังคมปัจเจก และวัตถุนิยมบริโภค นับวัน “ท่าทีของเรา” ทั้งที่มีต่อตนเองและผู้อื่น ตลอดจนกลุ่มคนอื่น ก็ยิ่งคลับคล้ายท่าทีต่อ “วัตถุ” ไปทุกขณะ ลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไปเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เป็นปัจจัยการผลิต เป็นวัตถุทางเพศ เป็นสินค้า หรือเป็นสิ่งของ ที่ปราศจาก “ชีวิต-จิตใจ”

          เราจึงพบว่ามีโรงงานนรก มีแรงงานทาส มีการละเมิดทางเพศในครอบครัว ในเพื่อนร่วมงาน หรือในบรรดาคนใกล้ชิดอยู่มิได้ขาด

          มิพักจะต้องพูดถึงการคอร์รัปชั่น การค้าผูกขาด การค้ากำไรเกินควร การแย่งชิงทรัพยากร หรือการกดขี่ข่มเหงทั้งระหว่างชาติพันธุ์ และร่วมชาติพันธุ์ เมื่อฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ หรืออยู่ในฐานะเหนือกว่า…

          แต่บ่อยครั้งเช่นกันมิใช่หรือ ที่เรามักสรุปปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านั้นว่าไกลตัว และมักวางตัวเองไว้ในฐานะ “ผู้ถูกกระทำ” มากกว่าจะเป็น “ผู้กระทำ”

          กล่าวคือ เรามักรู้สึกว่าตนเองอ่อนแอ ไม่อาจช่วยเหลือตัวเอง ไม่อาจช่วยเหลือใครๆ ได้ และโยนความผิดหรือความพลาดพลั้งให้แก่ผู้อื่น

          ในขณะที่เชื่อมั่นในเบื้องลึกเสมอมาว่าตนเป็น “คนดี” อีกทั้งกระทำแต่สิ่งที่ดีงาม และถูกต้อง มาโดยตลอด เผลอเรอไปบ้างก็เพราะผู้อื่น หรือเหตุปัจจัยอื่นทั้งสิ้น !!

          หลงลืมไปว่า บางครั้งหรือบ่อยครั้ง ที่เราสะใจ—สาแก่ใจ ในเคราะห์กรรมของผู้อื่น ในความเดือดร้อน หรือทุกข์เข็ญลำเค็ญของผู้ที่เราไม่เคยรู้จักมักจี่ด้วย หรือกระทั่งสะใจในความบาดเจ็บและล้มตายของผู้อื่น ผู้ที่เป็น “เพื่อนมนุษย์” ของเรา และถูก “เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” ย่ำยีบีฑา

          บางคนถึงกับโห่ร้องก้องตะโกน ส่งเสียงยุส่งราวกับเชียร์กีฬาก็มิปาน

          ขอเพียงเขา(หรือเธอ)เหล่านั้นมิใช่ญาติ มิใช่เพื่อน มิใช่คนรัก หรือมิใช่ “คนรู้จัก” ของเรา…

          เมื่อได้รับฟังข่าวคราวจากตากใบ มีผู้คนจำนวนไม่น้อยสรุปอย่างรวบรัดว่า “สมควรแล้ว” บ้างก็กล่าวว่า “แค่นี้ยังน้อยเกินไป” หรือบางกลุ่มก็ว่า “พวกเสี้ยนหนามแผ่นดินอย่างนี้ต้องฆ่าไม่ให้เหลือ”

          กระทั่งผู้บริหารระดับสูงก็ยังกล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว” และว่า “จะไม่ยอมเสียแผ่นดินแม้ตารางนิ้วเดียว”

          คำถามก็คือ “อะไร” หรือ “สิ่งใด” ในความรู้ ในประสบการณ์ ในหัวใจ ในจิตสำนึก หรือจิตใต้สำนึกเล่า ที่ “ดลใจ” ให้มี หรือให้เกิดคำกล่าวเช่นนั้น ทันทีที่ได้รับรู้ถึงการบาดเจ็บ ล้มตาย และถูกจับกุมคุมขัง ของเพื่อนมนุษย์ หรือเพื่อนร่วมชาติ-ร่วมแผ่นดิน เดียวกัน

          ในพุทธศาสนา ถือว่า “เหตุและผล” ของเหตุและปัจจัยทั้งปวง ย่อมเกี่ยวพันโยงใยซึ่งกันและกันเสมอ การเกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ย่อมมีที่มาและความเป็นมา เช่นเดียวกับมีที่ไปและความเป็นไปทั้งสิ้น พระพุทธองค์จึงชี้ชวนให้กำหนดรู้ในทุกข์ ละเสียซึ่งสมุทัย ทำให้แจ้งหรือบรรลุในนิโรธ และเจริญหรือปฏิบัติให้มากในมรรค กล่าวคือ มีท่าทีที่เหมาะสมทั้งต่อปัญหา สาเหตุ เป้าหมาย และทางออกหรือวิธีการแก้ปัญหา โดยเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์ต่อกัน ทั้งฝ่ายเหตุและฝ่ายผล

          และ “อิทัปปัจจยตา” ตลอดจน “อริยสัจ” ดังกล่าวนั้น ย่อมมิได้แบ่งแยกระหว่างตัวผู้ประสบเหตุ-ผู้วิเคราะห์ กับบุคคล เหตุการณ์ หรือสิ่งต่างๆ ที่เขา(หรือเธอ)ประสบหรือวิเคราะห์ โดยนัยเดียวกัน

          กล่าวคือ ผู้วิเคราะห์ย่อมเกี่ยวข้องทั้งเป็นผู้กระทำและรับผลจากการกระทำนั้นๆ เช่นเดียวกับสิ่งที่ถูกวิเคราะห์เสมอ

          บางคนกล่าวไว้ว่า มนุษย์ทุกคน ล้วนแต่มี “เมล็ดพันธุ์แห่งโพธิ” อยู่แล้วทั้งสิ้น รอเพียงค้นให้พบเนื้อดินอันอุดม แหล่งน้ำที่พอเพียง และการดูแลฟูมฟักอย่างเหมาะสม “โพธิภาวะ” ก็จะงอกงามขึ้นในใจ

          เช่นเดียวกับที่บางคน จากบางความเชื่อ กล่าวไว้เช่นกันว่า ลึกลงไปในก้นบึ้งแห่งจิต เราต่างมี “สัตว์ร้าย” ซุกซ่อนอยู่ ขอแต่เพียงเราเผลอไผล หรือ “ใจขาดธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง” สัตว์ร้ายที่กระหายหิวอยู่เป็นนิจ ก็จะสำแดงตัวตนที่แท้ออกมา และขย้ำกินหายนะของผู้อื่น เพื่อหล่อเลี้ยงอวิชชามิจฉาทิฏฐิของตนเอง

          เมื่อใดก็ตามที่เราได้สัมผัสและรับรู้เรื่องต่างๆ ส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญยิ่ง ก็คือความระลึกได้และเท่าทันต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ เพื่อการสรุปบทเรียนเบื้องต้น ที่จะนำไปสู้พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในบั้นปลาย

          คำถามโดยสรุปก็คือ ค่ำวันที่ ๒๕ ตุลา หรือต่อมาในวันที่ ๒๖ เมื่อรับรู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตากใบ คุณ “รู้สึก” อย่างไร?

          และ… สิ่งใดเล่าที่ทำให้คุณรู้สึกเช่นนั้น?..*

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :