เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

คิกออฟแคมเปญ

บทความโดย พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กลุ่มเสขิยธรรม / skyd.org
ประชาไทดอทคอม

          ในที่สุด “มหกรรมหาเสียง” ของพรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองใหญ่--แกนนำรัฐบาล ก็ปรากฏขึ้น… ในชื่อภาษาต่างด้าว ว่า “คิกออฟแคมเปญ” ซึ่งเชื่อว่าหลายสิบเปอร์เซ็นต์ของประชาชนไทย หรือเกินกว่าครึ่งของประชากรประเทศนี้ แปลเองไม่ออก และไม่สามารถเข้าใจ “ความหมาย” ได้โดยตรง ทันทีที่ได้ยิน หรือได้อ่าน “ภาษาอังกฤษตัวไทย” ของคำฝรั่งสองสามคำนี้
          ยิ่งถ้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษอักษรโรมันตามต้นกำเนิดเดิม ก็เชื่อได้ว่าจำนวนคน “ไม่รู้เรื่อง” ยิ่งจะมีมากกว่าขึ้นไปอีก
          แต่จะรู้หรือไม่..รู้แค่ไหน คงไม่ใช่ปัญหา ด้วยว่า “ความหมาย” ไม่ใช่ “ประเด็นที่มุ่งจะสื่อ” เสมอไป
          ด้วยกลวิธีทางการโฆษณา รอเวลาผ่านไปสักระยะ คงมีคน “ตีความ” ได้เอง แม้ว่าจะยัง “แปลไม่ออก” อยู่เช่นเดิมก็ตาม
          ดูแต่คำว่า “โปรโมชั่น” คำว่า “จีเอสเอ็ม” คำว่า “สองวัตต์” คำว่า “โมบายไลฟ์” ฯลฯ นั่นปะไร เพียงไม่กี่ปีก็ “เก็ต” และ “ใช้บริการ” กันได้ทั่วหน้า
          ยิ่งคำพื้นๆ ประเภท “คอร์รัปชั่น” ด้วยแล้ว เดิมทีฝรั่งจะใช้ในความหมายใดก็ตาม แต่สำหรับคนไทย “คอร์รัปชั่น” ทั้ง..โดยตรง โดยอ้อม หรือเชิงนโยบาย เราต่างก็ถ่องแท้และเจนจบ จากระดับชาติไปถึงท้องถิ่น ตั้งแต่สภาใหญ่ไปจนสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือแม้แต่สภานักเรียน
          ลูกเด็กเล็กแดงก็ล้วนเข้าอกเข้าใจเป็นอันดี และมีไม่น้อยที่มุ่งหวังอยู่ลึกๆ ว่าเมื่อไรจะมีโอกาสกับเขาบ้าง ดังผลการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ระบุไว้

 

          ด้วยการจัดการอย่างเป็นระบบ และกระบวนการทางเทคโนโลยีอันล้ำหน้า “คิกออฟแคมเปญ” เปิดตัวขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ในหลายจุดและหลายพื้นที่ของประเทศ ใช้ชื่องานว่า “๔ ปีซ่อมความหายนะจากวิกฤติ ๔ ปีสร้างชาติให้แข็งแกร่งยั่งยืน” หรือที่ปรากฏบนป้ายคำขวัญอย่างสั้นกระชับ ว่า.. “๔ ปีซ่อม ๔ ปีสร้าง” อันคมคายและช่วยให้เห็นจริง หรือเห็นดีเห็นงามตามกันไปได้โดยง่าย
          แต่ละจุดจัดงานก็ได้รับความสนใจ ทั้งจากสมาชิกพรรคไทยรักไทยและบุคคลทั่วไปอย่างล้นหลาม
          และแม้จะจัดกระจายกันทั่วประเทศ แต่การปราศรัยผ่านระบบดาวเทียม ตลอดจนถ่ายทอดสดผ่านเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. หรือ “โมเดิร์นไนน์ทีวี” ก็ช่วยให้รับฟัง-รับชม สีหน้าและวาทะ ของนายกรัฐมนตรีกันได้อย่างทั่วถึง นับว่ายิ่งใหญ่และอลังการอย่างไม่เคยมีพรรคการเมืองใดในประเทศไทยเคยทำ หรือทำได้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ “จัด” และ “ทำ” ขึ้นด้วยเครื่องมือและกลไกของรัฐ ภายใต้การอำนวยความสะดวกของเจ้าหน้าที่ของรัฐหลากหลายระดับ
          เพราะอย่าว่าแต่จะ “คิกออฟ” ให้ใกล้เคียงกับ “มหกรรม” เมื่อเย็นวันที่ ๑๗ ตุลาคม นี้เลย เพียงแค่ “พรรคมหาชน” ซื้อเวลาออกอากาศของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ มาประชาสัมพันธ์พรรคฯ ช่วงสั้นๆ ก็ยังถูกถอน “โฆษณา” (ที่ต้องจ่ายสตางค์ซื้อเวลาเอง) ด้วยข้อหา “ถี่เกินไป” และโฆษณาเพียง “พรรคเดียว” อันอาจไม่เป็นธรรมกับพรรคอื่นๆ
          นี่ย่อมพิสูจน์ให้เห็นอยู่กลายๆ ว่าในยุค “คิดใหม่-ทำใหม่” อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ขอเพียงแต่ เลือกให้ชัดว่า “คุณเป็นใคร” และ “อยู่ข้างใคร” ดังเช่นวาทะของพี่ใหญ่อเมริกา “ต้นแบบอำนาจนิยม” ที่ว่า จะ “อยู่ข้างเรา หรือเป็นศัตรูกับเรา” อันเคยลือลั่นมาแล้ว
           แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้ ไม่ว่าจะอยู่ข้างไหน “คุณ” ย่อมได้อานิสงส์ของการ “คิดใหม่-ทำใหม่” เสมอหน้ากัน…
          กล่าวคือ ถ้ายืนอยู่ในฝ่าย “กุมอำนาจ” ก็มีโอกาส “คิดใหม่-ทำใหม่” อย่างผู้มีอำนาจ คิดแล้วมีประโยชน์ คิดแล้วทำประโยชน์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มไม้เต็มมือ
          แต่..หากคุณมายืนอยู่ข้างฝ่าย “ไร้อำนาจ” ก็ธรรมดาอยู่เอง ที่จะถูกบีบบังคับ และคาดคั้นให้ “คิดใหม่-ทำใหม่” เยี่ยงผู้แสวงหาทางรอด คือ..ถ้าไม่คิดให้ออก ก็ต้องทยอยกันแห้งเหี่ยวตายไป ตามวิถี “การแข่งขันทางการค้า-การต่อสู้ในวงการธุรกิจ” ที่นับวันก็ยิ่งจะสวมรอย หรือกลมกลืนเข้ากับ “การเมือง” จนเป็นเนื้อเดียวกันยิ่งขึ้นทุกที

 

          จะว่าไปแล้ว ปรากฏการณ์ “คิกออฟ” ข้างต้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อันใด เพราะเมื่อบริษัทรถยนต์ต้องการจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่สักรุ่น หรือสักคัน บริษัทจะเปิดสาขาใหม่สักแห่ง หรือแม้แต่การเปิด “แคมเปญ” ของโทรศัพท์มือถือสักระบบ สักรูปแบบ จำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีการสร้าง “จุดสนใจ” ในหลายๆ ระดับ ทั้งต่อ “ลูกค้า”, “ตัวแทนจำหน่าย” และ “สื่อมวลชน” พร้อมๆ ไปกับการ “ข่มขวัญ” คู่ต่อสู้ หรือคู่แข่งขัน บนเส้นทางแห่งการแสวงหา “กำไรสูงสุด” ซึ่งไม่จำเป็นต้องห่วง “ต้นทุน” ด้วยมีช่องทางที่จะผลักภาระไปให้ผู้บริโภคอยู่แล้ว อย่างยากที่จะจับได้ไล่ทัน
          รถรุ่นใหม่ โทรศัพท์รุ่นใหม่ หรือระบบเครือข่ายโทรคมนาคมใหม่ๆ จึง “เปิดตัว” ได้อย่างหรูหราอลังการยิ่ง ทั้งกิน ดื่ม และแจกแถม ให้กับตัวแทนจำหน่าย หรือยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ตลอดจนเหล่า “ผู้อำนวยความสะดวก” ต่างๆ อย่างไม่อั้น เพราะ “คิดคำนวน” ไว้ใน “มูลค่าเพิ่ม-คุณค่าแฝง” ก่อนประกาศ “ราคาขาย” สินค้านั้นๆ เรียบร้อยแล้ว
          รถยนต์คันหนึ่ง จึงมี “ราคาบวกมูลค่าเพิ่ม” มากกว่า “คุณค่า” อันพึงมี ในฐานะยานพาหนะ หรือเครื่องมือในการผลิตชิ้นหนึ่งๆ เช่นเดียวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่กลายเป็น “ของเล่น” และ “เครื่องประดับ” มากเสียยิ่งกว่าคุณค่าของความเป็น “เครื่องมือสื่อสาร”
          หรือการโฆษณาชวนเชื่ออื่นๆ ที่ปรากฏเคลือบแฝงหรือหุ้มห่ออยู่ใน “สินค้า” ประดามี ซึ่งเป็นที่มาของการ “จ่ายแพง” และ “ไม่ได้ของที่ต้องการจริงๆ ” ในระบบทุนนิยมบริโภค และการค้าเสรี(ชนิดผูกขาดโดยนายทุนใหญ่) ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
          จึงป่วยการที่จะกล่าวไปถึง “นโยบายทางการเมือง” ว่าทำไมถึงวันนี้จึงกลายเป็น “นิทาน” หรือ “นิยายน้ำเน่า” อันฉูดฉาดหวือหวา น่าตื่นเต้นเคลิ้มหลงไปเสียได้

 

          พรรคและนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลพากันวิพากษ์และวิจารณ์ถึง “คิกออฟแคมเปญ” ในหลายแง่มุม บ้างก็ว่าเป็นการตกเขียวทางการเมือง บ้างก็ว่าเป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า บ้างก็ว่ายากจะทำได้จริง ทำนองว่าเป็น “สัญญาจะซื้อจะขาย” ที่มีความสุ่มเสี่ยง ด้วยความที่พรรคไทยรักไทยอยู่ในห้วงยามของ “ขาลง” ที่เป็นไปได้ ว่าจะไม่ได้เป็น “เสียงข้างมาก” ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า หลังจากการเลือกตั้งในปี ๒๕๔๘ จบสิ้นลง และหากเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งที่ประกาศไว้ใน “คิกออฟแคมเปญ” ก็จะ “เป็นหมัน” หรือกระทั่ง “แท้งนอกมดลูก” เมื่อตกอยู่ในภาวะรัฐบาลผสมหลายพรรค ที่การเมืองไม่นิ่ง และนายกรัฐมนตรี หรือพรรคแกนนำปราศจากอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างที่มีอยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน
          ในที่นี้คงไม่ต้องกล่าวซ้ำ ว่าโครงการ “ลด-แลก-แจก-แถม” ที่ปรากฏในคำปราศรัยออกไปทั่วประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นไปได้หรือไม่ หรือน่าเชื่อถือเพียงไร เพราะนับแต่มหกรรม “คิกออฟแคมเปญ” ป่าวประกาศจบสิ้นลง คงมี “ผู้รู้” จำนวนมาก ที่จะออกมาวิเคราะห์ หรือประกาศผลที่ตนศึกษา ไปจนกว่าจะจบการเลือกตั้ง หรือหลังไปจากนั้น
          และเชื่อว่า “พรรคไทยรักไทย” ย่อมจะรู้อยู่เองว่า ได้ประกาศสิ่งใดออกไป ในฐานะ “สัญญาประชาคม” อันมีผลที่จะต้องรับผิดชอบในทาง “ศีลธรรม-จริยธรรม” นอกเหนือไปจากความรับผิดชอบต่อพันธสัญญาทางการเมือง ซึ่งมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งต่ออนาคตทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย และอนาคตทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนของประเทศนี้
          และทั้งนี้ทั้งนั้น ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ก็ยังมิได้อ้างถึงความเสียหายของชาติและผู้คนในชาติ อันจะพึงบังเกิดขึ้น จากความสำเร็จหรือล้มเหลวของสิ่งที่หัวหน้าพรรคไทยรักไทยได้กล่าวไว้ ในวันเริ่มต้น “คิกออฟแคมเปญ” แต่ประการใด
          เพราะในทางพุทธศาสนา ด้วยวิถีโลกย์ หรือในโลกิยวิสัย ความสำเร็จหรือล้มเหลว อันเนื่องมาจากการกระทำของปุถุชน จะมากจะน้อยย่อมส่งผลกระทบถึงผู้อื่นหรือสิ่งอื่นเสมอ ทั้งทางบวกและทางลบ หรือความสุข-ความทุกข์ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง

 

          ในฐานะ “ชาวพุทธ” หรือในฐานะ “ศาสนิกชน” เมื่อมีปรากฏการณ์ “โฆษณาชวนเชื่อ” เกิดขึ้น ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องพิจารณาและวิเคราะห์ด้วยความมีสติ สามารถระลึกได้อย่างทันท่วงที ว่านี่ไม่ใช่เรื่อง “ปกติวิสัย” หากเกิดขึ้นด้วยเจตนาและความตั้งใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์แน่ชัด
          จึงควรที่ “ชาวพุทธ” จะใช้ความรู้ตัวทั่วพร้อม ความรู้ตระหนัก ความรู้ชัดเข้าใจชัด หรือสัมปชัญญะ ประกอบกับปัญญาอย่างปราศจากอคติ วิเคราะห์ด้วยจิตอันสงบ ด้วยสัมมาสมาธิ เพื่อมองให้เห็น “ความจริง” อันกว้างขวางและลึกซึ้งไปกว่า “เปลือกนอก” และ “เครื่องปรุงแต่ง” ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อห่อหุ้มเจตนา
          และนอกเหนือไปจากนั้น ก็ควรที่จะมองให้เห็นความสัมพันธ์โยงใยของเหตุและผล ตลอดจนความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงในทุกระยะ และทุกระดับ เท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อให้เกิด “วิปัสสนาญาณ” หรือความรู้รอบ รู้กว้าง รู้อย่างครอบคลุม อันนำไปสู่ความเข้าใจใน “อริยสัจ” คือ รู้ว่าสิ่งใดเป็นเหตุ สิ่งใดเป็นผล สิ่งใดเป็นเป้าหมาย สิ่งใดเป็นวิธีการ เป็นต้น

          เสน่ห์และความเย้ายวนของอำนาจและผลประโยชน์ยิ่งมีมากเพียงใด ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่จะมีผู้คนจำนวนหนึ่งบากบั่นพยายาม มุ่งและหวัง จะมีให้ได้ จะไปให้ถึง
          หากเป็นผู้มีธรรมะ และมั่นคงอยู่ในทำนองคลองธรรม ก็ย่อมที่จะสร้างเหตุและปัจจัยไปในทางธรรม แต่โดยนัยตรงกันข้าม หากเป็น “อธรรม” เสียแล้ว วิธีการของเขา ของพวกเขา ก็ย่อมจะเป็น “กลลวง” มากไปกว่า “อุปายโกศล” อันเป็นหนทางหรือวิธีการ “ที่ถูกที่ควร”
          ในฐานะ “ชาวพุทธ” จึงหาควรไม่ที่จะต้อง “ตื่นเต้น” หรือ “ตื่นข่าว” ไปกับถ้อยคำและการแสดงออกอันตื้นเขินในระดับผิวเปลือก โดยมิได้ใส่ใจในเนื้อแท้ หรือเนื้อหาสาระที่พึงมี

          บ่อยครั้งที่ความยิ่งใหญ่อลังการก็เป็นแต่เพียง “การแสดง” อันหา “ความจริง” ไม่ได้ ด้วยว่าเกิดขึ้นเพียงเพื่อต้องการสร้างภาพ และเพิ่มมูลค่าจอมปลอมให้แก่สินค้าฟุ่มเฟือยบางประเภทเท่านั้น
          บ่อยครั้งที่ฉากอันยิ่งใหญ่ตระการตาในภาพยนต์เป็นเพียงเศษวัสดุ และการฉาบทาอย่างผิวเผิน เพื่อสร้างมายาคติ ที่จะ “ลวงให้หลง” ไปกับเนื้อเรื่องที่ตระเตรียมไว้

          จะว่าไปแล้ว “การเมือง-การเลือกตั้ง” ก็คล้ายการใช้ “โทรศัพท์เคลื่อนที่” นั่นเอง…
          ระหว่างที่ได้ฟังโปรโมชั่น และการโฆษณาสรรพคุณ หรือกระทั่งกำลังใช้โทร.-ใช้ส่งข้อความหากัน ก็สนุกเพลิดเพลิน และไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรนัก
          ต่อเมื่อได้รับ “ใบเรียกเก็บค่าบริการ” นั่นล่ะ ที่จะเริ่มสงสัยและตกใจ
          ว่า.. “ทะลึ่งใช้เข้าไปได้อย่างไร?!!?…”
*

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :