เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

วันครบรอบ
และ "ท่าที" แห่งการ "เยียวยา"

บทความโดย พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กลุ่มเสขิยธรรม / skyd.org
ประชาไทดอทคอม

          วันที่ ๑๑ กันยายน เวียนมาถึงอีกครั้ง…
          เป็นปีที่ ๓ หรือ "ครบรอบ ๓ ปี" ของปฏิบัติการสะเทือนโลก ด้วยการจี้เครื่องบินพาณิชย์บังคับให้พุ่งชนสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่หลายแห่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ถือเป็นการโจมตีโดยไม่มีคำประกาศเรียกร้อง และไร้ผู้รับผิดชอบอย่างเป็นทางการครั้งสำคัญของมนุษยชาติ หรือของโลก ซึ่งพลิกประวัติศาสตร์และส่งผลตามมาเกินกว่าจะคิดคำนวน

          การ "ครบรอบ" นั้น จะว่าไปแล้วก็เพียงการบรรจบกันด้วยกรอบของเวลา และเครื่องมือกำหนดนับ ตามวัฏฏะ ที่ด้านหนึ่งก็ตอกย้ำความพลาดผิด เช่นเดียวกับสงคราม, ความสูญสีย หรือผลจากความรุนแรงอื่นๆ ที่มนุษย์ "กระทำ" ต่อกัน
          ไม่ว่าในจะเป็นใน "นาม" หรือใน "นิยาม" ใดๆ…
          ไม่ว่าจะ "กล่าวอ้าง" ถึง "วัตถุประสงค์" ใดๆ…

          ต่อเมื่อล่วงกาลผ่านเลย บ้างก็รู้สึกปวดร้าว บ้างนิ่งอึ้งเงียบงัน บ้างก็สมเพชเวทนา ฯลฯ ยากจะเชื่อได้ว่า "ข้ออ้าง" ในบางยุคสมัย จะทำให้มนุษย์ "กระทำต่อกัน" ได้ถึงเพียงนั้น ก่อให้เกิดความวิบัติสูญเสียได้ถึงเพียงนั้น…
          ด้วยเหตุว่า จะมากจะน้อย ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ต่างได้รับ "ผลกระทบ" หรือ "บาดแผล" เช่นเดียวกัน ตามมุมมอง ทัศนะ หรือจิตสำนึก ที่มีต่อตนเอง, ต่อสิ่งที่ตนกระทำ และผลจากการกระทำนั้นๆ

          บ่อยครั้งมิใช่หรือ ที่ความรุนแรงก่อให้เกิดความรุนแรงยิ่งกว่า…
          แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อย กลับเชื่อว่า ตน "จำเป็น" ต้องใช้ความรุนแรงเช่นนั้น ไม่ว่าจะกระทำไปเพื่อ "เรียกร้อง" หรือ "ตอบโต้การเรียกร้อง" ในฐานที่ตนถูกกระทำก็ตาม
          ราวมิได้นำพาปรารมภ์ต่อเรื่องราวที่จะเกิดขึ้น
          หรือสลดแสลงใจต่อเรื่องราวที่จะติดตามมา…

          ยุคสมัยหนึ่ง ครั้งเมื่อวิทยาศาสตร์เริ่มเจริญขึ้น ก็จุดประกายให้ประยุกต์วิทยาผลิดอกออกผลติดตามมา ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งแก่โลก ธรรมชาติ และสังคมมนุษย์หลากหลายแง่มุม
          โลกคล้ายจะแคบเข้า ด้วยพาหนะและการเดินทาง ด้วยการสื่อสารและการถ่ายทอดข้อมูลจำนวนมาก ขณะที่ธรรมชาติก็ถูกคุกคามทำลายอย่างกว้างขวาง พร้อมๆ กับเชื้อโรคและโรคร้ายถูกควบคุมหรือพิชิต กระทั่งหลายความป่วยไข้นับได้ว่า "หาย" ไปแล้วอย่างสิ้นเชิง เป็นเหตุให้อายุของปัจเจกบุคคลจำนวนหนึ่งยืนยาวขึ้น (แม้ว่าอายุโดยเฉลี่ยของมนุษย์จะแทบมิได้เพิ่มขึ้นสักเท่าใดนักก็ตาม) อย่างไม่เคยมีมาก่อน
          เช่นเดียวกับที่เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ มีมากขึ้น แต่อาหารและปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่เหลือ ก็ยังกระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในบางกลุ่มชน เช่นเดิม หรือ ยิ่งขึ้นกว่าเดิม…

          ในความเปลี่ยนแปลง แม้จะมีบ้างที่ไม่ส่งผลแน่ชัด แต่บางอย่างก็เกิดผลย้อนสวนกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มอย่างจะแจ้ง บ้างก็ชั่วครั้งชั่วคราว บ้างก็ราวจะเปลี่ยนไปอย่างถาวร อาทิ "ท่าที" ของมนุษย์ ที่มีต่อ "ธรรมชาติ" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากมุมมองของฝ่ายอำนาจรัฐ, ทุน และชนชั้นนำทั้งหลาย ซึ่งคล้ายจะแปรผันไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
          มิหนำซ้ำ ยังผลักดัน และกดดันให้ผู้คนส่วนใหญ่ "เชื่อ" และ "ก้าวตาม" บนมรรควิธีและแผนที่ซึ่งตนกำหนดขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก ใน "ทางเดิน" ของอำนาจ, ผลประโยชน์ และการใช้ความรุนแรงในทุกระดับ, ทุกรูปแบบ และทุกวิธีการ ทั้งที่รุนแรงต่อธรรมชาติ, ผู้คน หรือกระทั่งปัจเจกบุคคลก็ตาม

          ด้านหนึ่งมนุษย์คุกคามและทำลายสรรพสิ่งที่เชื่อว่ามีอยู่ "ภายนอก" ตน
          แต่พร้อมๆ กันนั้น มนุษย์ก็ "กระทำ" ต่อ "ตนเอง" หรือ "ภายในตนเอง" ได้รุนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน…

          ขณะที่มนุษย์ทำลายล้างผลาญธรรมชาติจนเปลี่ยนแปลงแล้งเข็ญ
          ขณะที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ในฐานะ "ฝ่ายตรงกันข้าม" อย่างรุนแรงและก้าวร้าว ทั้งเจือด้วยความอาฆาตพยาบาท พวกเขา(และเธอ) ก็กระทำต่อสังคม ชุมชน หรือคนในครอบครัว ได้รุนแรงไม่น้อยไปกว่าการทำร้ายสัตว์, พืช หรือระบบนิเวศน์ทั้งหลายแต่อย่างใด
          มิหนำซ้ำยังกระทำได้อย่างบ้าระห่ำ หักโหม และต่อเนื่อง อย่างไม่อ้อมค้อมออมมือเอาเลยทีเดียว
          ดังการบริโภคสารพิษต่างๆ ทั้ง สุรา-เมรัย บุหรี่ ยาเสพติด ตลอดจนสารเคมีอื่นๆ ในนามของสารปรุงรส-เสริมกลิ่น-ประทินผิว หรือกระทั่งการทำศัลยกรรม "เสริมสวย" ที่มุ่งเน้นเปลือกนอก ยิ่งกว่าเนื้อหาสาระของหน้าที่ ที่อวัยวะทั้งหลายถูกสร้าง หรือวิวัฒนาการขึ้นมา
          หรือแม้แต่การวางโครงสร้างกดขี่ข่มเหง และการใช้เครื่องมือทางกฎหมายและการเมืองกระทำต่อฝ่ายที่เห็นต่างจากตน ให้เกิดความสูญเสีย หรือมีความเป็นไปในที่สุด
          ความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นนี้ ด้านหนึ่ง "ทำลาย" มนุษยชาติ แต่อีกด้าน (ในดีกรีที่อ่อนจางลง) ก็สร้างความ "เคยชิน-ด้านชา" ให้กับผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้ถูกกระทำเช่นเดียวกัน

          ในโลกของความ "เจ็บปวดและป่วยไข้" ทุกวันนี้ จึงคล้ายกับว่า "ความรุนแรง" กลับกลายเป็นทั้ง ปัญหา สาเหตุ ทางออก และเป้าหมาย ไปอย่างเต็มที่และสมบูรณ์แบบ

          จะด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ - เทคโนโลยี ทางวิธีวิทยา หรือเหตุผลอื่นใด ก็ตาม ความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ก่อให้เกิดโรคภัยและผลกระทบอย่างมหาศาล และนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น ขณะที่วิธีแก้ไขเยียวยา ซึ่งเคยกระทำอย่างอ่อนน้อมสำรวม ทั้งต่อธรรมชาติ ต่อความเป็นมนุษย์ ต่อผู้ป่วย และต่อความเจ็บไข้ ก็กลับกลายเป็นความก้าวร้าวหยาบกระด้าง แบ่งส่วนแยกซอย เพื่อ "กำจัด" เชื้อโรคและอาการของโรค แทนที่จะ "บำบัด-เยียวยา" ดังที่เคยเป็นมา
          ยา "ปฏิชีวนะ" ซึ่ง หมายถึง "ฆ่าชีวิต" และ การ "ผ่า-ตัด" ซึ่งหมายถึงการ "กำจัด" ชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน จึงได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง
          แม้การ "ฆ่าและทำลาย" สัตว์ป่วย เช่น โรควัวบ้า หรือไข้หวัดนก ก็ปรากฏให้เห็นตลอดมา…
          ขณะที่กระบวนการ "ยืดอายุ" ก็กลับสร้างความปวดร้าวและทุกข์ทรมานไม่ต่างกันนัก ดังที่ระบบการแพทย์กระทำกับผู้ป่วยโคม่า ซึ่งอาการหนักมากจนไม่สามารถ "รู้ตัว" หรือ "ช่วยเหลือตนเองได้" ต่อไปอีก ที่มุ่งยืดอายุ "กาย"จนหลงลืมไปว่า เครื่องมือและกระบวนการยื้อยุดนั้น จะก่อให้เกิดสิ่งใดต่อ "จิต" ของผู้ป่วย และญาติพี่น้องที่กำลังเฝ้าดูอยู่ห่างๆ อย่างไม่สามารถมีส่วนร่วมดูแลคนที่ตนรักได้อีกต่อไป

          นิมิตดีที่ปัจจุบัน "รัฐ" และ "ทุน" จำนวนหนึ่ง ได้หันมายอมรับความพลาดผิดของความ "ทันสมัย" พยายามย้อนทวนไปศึกษาภูมิปัญญาเดิมของการแพทย์ และการบำบัดเยียวยาที่เคยมีมาในอดีต ช่วยให้วิถีแห่งปัญญาอันบูรณาการระหว่าง "กาย-จิต-ปัญญา-สังคม-ธรรมชาติ" ได้มี "โอกาสและพื้นที่" ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อจะค้นพบในที่สุดว่า ยังมี "วิถี" และ "วิธีการ" อันเอื้อต่อความสงบเย็นอย่างไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันอยู่ด้วย ที่อนุเคราะห์ทั้งผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กัน

          ขณะเดียวกัน ก็น่าสลดหดหู่ไม่ใช่น้อย ที่แม้วันเวลาจะล่วงผ่าน แต่กระบวนการบำบัดและเยียวยาทางสังคม, การเมือง หรือปฏิบัติการระหว่างรัฐชาติ-ระหว่างความเชื่อ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ ศาสนา วัฒนธรรม กลับย่ำอยู่บนรอยเดิมอย่างแทบไม่มีอะไรเปลี่ยน
          การคุกคามเข่นฆ่า การย่ำยีบีฑา และท่าทีที่ปฏิบัติต่อผู้มีความเห็นต่างไปจากตน ยังเป็นเครื่องมือของความรุนแรงอยู่อย่างไม่จบสิ้น ราวกับว่ามนุษย์ไม่เคยสรุปบทเรียนใดๆ อย่างจริงจังเอาเลย
          เรามีสงครามในรูปแบบเช่นสงครามโลก ซึ่งทำลายชีวิตมนุษย์นับสิบนับร้อยล้าน เรามีสงครามมิได้ประกาศ หรือมีสงครามกองโจร ที่เข่นฆ่าผู้นไปอีกนับไม่ถ้วน เราประหัตประหารกันเองในนามของสงครามกลางเมือง หรือสงครามแย่งชิงอำนาจอย่างมากมายเหลือประมาณ ฯลฯ
          มิหนำซ้ำ บางคราวหรือหลายคราว คำสอนเรื่อง "สันติภาพ-สันติวิธี" ในทางศาสนา ก็กลับกลายเป็น "ข้ออ้าง" เพื่อสร้างสงครามไปเสียเอง…

          ในที่สุดจึงดูเหมือนกับว่า เรามี "วันครบรอบ" การใช้ความรุนแรงและผลของความรุนแรงเอาไว้ เพียงเพื่อ "เฉลิมฉลองชัยชนะ" หรือ "ระลึกถึงความพ่ายแพ้" เท่านั้น ! !
มิได้มีขึ้นเพื่อ "สรุปบทเรียน" เพื่อแก้ปัญหาหรือหาทางออกแต่อย่างใด ! !..
.

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :