เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

พิราบเหลือง ออนแอร์

กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย วันอังคารที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

          เหตุผลคลาสสิกที่ว่า 'ขาดทุน' กำลังทำให้รายการ เทศนาธรรมะจำนวนมาก ถูกปลดออกจากผังรายการวิทยุ แล้วนำไปให้เอกชนรายใหญ่จับจอง นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมวันนี้ พระสงฆ์จึงต้องลุกขึ้นมา หาทางออกให้ตนเอง ด้วยการสร้างเครือข่าย วิทยุชุมชนของสงฆ์ พิษณุรักษ์ ปิตาทะสังข์ รายงานความเคลื่อนไหว บนคลื่นหน้าปัด ในวันที่พิราบเหลือง ขยับปีกโบยบิน

          ห้องส่งขนาดกะทัดรัดเบื้องหน้าไม่ต่างอะไรจากห้องกระจายเสียงอื่นๆ ของคลื่นวิทยุขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยอุปกรณ์ทันสมัย ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญยังเชื่อมต่อกับคลื่นวิทยุอื่นๆ ในต่างจังหวัด

          ใครจะรู้ว่า ห้องส่งนั้นเป็นทั้งต้นแบบและห้องเรียนของสถานีวิทยุชุมชนอื่นๆ อีกกว่า ๒๐ สถานีทั่วประเทศ ในฐานะ "วิทยุชุมชนเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา" ห้องเรียนแห่งนี้จึงไม่เคยร้างจากผู้มาเยือนเลย

          กว่าสองปีแล้วที่ พระมหาบุญร่วม ปุญญมโม ต้องติดต่อประสานงานกับพระในวัดต่างจังหวัด พวกเขามักคุยกันเรื่องการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนในแต่ละท้องที่ เพื่อตระเตรียมความพร้อม ก่อนสถานีวิทยุขนาดเล็กจะปักเสาลง

          นอกเหนือจากหน้าที่นักประชาสัมพันธ์ สำนักงานบริหาร ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระมหาบุญร่วมยังได้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการสร้างวิทยุชุมชน ทั้งเรื่องเครื่องมือเครื่องไม้ รวมไปถึงแนวความคิดของการตั้งสถานีวิทยุชุมชนให้กับพระสงฆ์จากต่างจังหวัด ในฐานะนักเทคนิคต้นแบบผู้มีความรู้ความชำนาญพิเศษ

          "สองปีมานี้สร้างสถานีวิทยุชุมชนไปแล้ว ๒๔ สถานี ทั้งหมดเป็นความร่วมมือของฝ่ายสงฆ์ ประชาชน และฝ่ายราชการ นอกจากไปติดตั้งให้แล้ว อาตมาไปสร้างวัตถุประสงค์ให้เขา แล้วให้เขาตั้งบอร์ดของสถานี แล้วให้ชุมชนเข้ามาช่วยดูแลกันเอง"

          ระยะหลังสังคมเราได้ยินคำว่า "วิทยุชุมชน" บ่อยครั้ง วิทยุเหล่านี้กระจายตัวอยู่ตามชุมชนต่างๆ มากขึ้น เพียงแต่ช่วงสองปีมานี้ คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เอาจริงกับวิทยุชุมชนไม่น้อยไปกว่าใครคือ พระสงฆ์ ในสังกัดของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

          "เหมือนเราถูกบีบให้ต้องหันมาหาวิทยุชุมชน พุทธศาสนากำลังถูกลิดรอนเรื่องสิทธิการใช้สื่อเหมือนกัน แล้ววิทยุชุมชนก็เป็นทางออกทางหนึ่ง" พระรูปเดิมกล่าวถึงที่มาที่ไป

          ว่าไปแล้ว แนวคิดของสงฆ์เหมือนกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมที่ขาดช่องทางการสื่อสารของตัวเอง พวกเขาเคยมีรายการวิทยุของตัวเอง แต่ถูกลดชั่วโมง บางรายการถูกยึดคืนจากเจ้าของสถานี เพื่อนำไปให้เอกชนรายใหญ่เช่า นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เสียงธรรมะลดน้อยลงจากคลื่นหน้าปัด

          พระมหาบุญร่วมเล่าว่า แต่ละสถานีเกิดขึ้นจากความต้องการของมวลชนในท้องถิ่นต่างๆ เป็นอย่างแรก บวกกับทางคณะสงฆ์ในท้องที่นั้นๆ เห็นความสำคัญด้วย เมื่อแต่ละชุมชนพร้อม ทางมหาจุฬาฯ ซึ่งมีต้นแบบสถานีวิทยุอยู่แล้วก็จะไปอบรมและดูความพร้อมด้านแนวคิด ก่อนจะจัดการติดต่อเรื่องเครื่องมือ

          ก่อนจะตั้งสถานีวิทยุชุมชน จะต้องไปดูก่อนว่าแต่ละพื้นที่มีคลื่นความถี่ใดว่างบ้าง แล้วจึงขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์แต่ละจังหวัด เพื่อให้รับทราบว่า ทางคณะสงฆ์ขอทดลองทำวิทยุชุมชนเพื่อเผยแพร่ศาสนา โดยมีมวลชนเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน

          "รูปแบบรายการเราไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเป็นรายการธรรมะอย่างเดียว แต่ให้มีการสอดแทรกธรรมะไปมากหน่อย เพียงแต่ทางชุมชนจะไปตกลงกันเองว่า จะนำเสนออะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขา จึงมีทั้งสารคดี การเล่าข่าว หรือรายการของราชการก็เข้ามาใช้ประโยชน์ได้"

          ความที่วิทยุชุมชนยังมีสถานะคลุมเครือ คือ ไม่มีกฎหมายใดๆ มารองรับอย่างชัดเจน มีเพียงมติคณะรัฐมนตรีออกมาให้แต่ละพื้นที่ทดลองทำวิทยุชุมชนได้ โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองใช้ช่องว่างนี้หากินกับสถานีวิทยุบางแห่ง โดยอ้างว่าผิดกฎหมาย

          "ถ้าบอกว่า แบบนี้ผิด แล้วสิ่งที่ถูกเป็นอย่างไร พวกเราจะปรับให้ถูกต้องก็ได้ แต่พวกเขาก็ตอบไม่ได้ว่า ไอ้ที่ถูกนั้นเป็นอย่างไร" พระมหาบุญร่วมกล่าวติดตลก ระหว่างควบคุมพระอีกรูปหนึ่งในห้องออกอากาศของมหาจุฬาฯ

          ก่อนมาถึงวิทยุชุมชนของพระสงฆ์ในวันนี้ ดูเหมือนสื่อจากกลุ่มพิราบสีเหลืองได้ปรากฏต่อสาธารณะมาเป็นระยะ เริ่มตั้งแต่วารสารขนาดเล็ก รายการทีวีบนเคเบิลทีวี ไปจนถึงสื่ออินเทรนด์อย่างอินเทอร์เน็ต ก็เป็นช่องทางหนึ่งระหว่างทางโลกและทางธรรม

          นั่นเพราะภารกิจของสงฆ์ในยุคโลกาภิวัตน์ ต้องปรับตัวตามสังคมที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว การปรับตัวที่ว่าต้องอาศัย "สื่อ" เป็นตัวถ่ายทอดแก่นของศาสนาไปพร้อมๆ กัน

          พระศรีปริยัติโมลี พระนักเทศน์ชื่อดังจากมหาจุฬาฯ เรียกภาพเหล่านี้ว่า "จุดไฟบ้าน รับไฟป่า" หมายถึง เพื่อเตรียมตัวรับกับมาตรา ๔๐ โดยวิทยุชุมชนถือเป็นการส่งสัญญาณว่า พระสงฆ์ก็สามารถทำสื่อได้ และได้รับแรงสนับสนุนจากมวลชนไม่น้อย

          "อย่างที่เป็นอยู่คือ วิทยุโทรทัศน์ยังอยู่กับทหารหรือรัฐบ้างซึ่งเขาใช้อยู่ก่อนแล้ว องค์กรอย่างสงฆ์ซึ่งเพิ่งเริ่มหันมาสนใจใช้สื่อ ก็กลายเป็นว่าสื่อมันหมดแล้ว คลื่นมันไม่มีให้ใช้แล้ว เราก็เลยต้องไปขอใช้จากสถานีวิทยุกระจายเสียงบ้าง ซึ่งก็มีปัญหาหลายแห่ง อย่างที่รู้ๆ กันว่าถูกยึดคืน เพราะไม่ทำกำไร"

          สำหรับหลักการของวิทยุชุมชนในมุมมองของสงฆ์นั้น พระศรีปริยัติโมลีเห็นว่า มหาจุฬาฯ ให้ความสำคัญกับซอฟต์แวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์ หมายถึงเน้นที่รูปแบบรายการมากกว่าการติดตั้ง เพราะรูปแบบจะเป็นตัววัดว่า คณะสงฆ์แต่ละแห่งมีความพร้อมเพียงใด และจะพาวิทยุชุมชนไปได้ไกลแค่ไหน

          รายการต่างๆ บนสถานีวิทยุชุมชน จึงให้ความสำคัญกับเรื่องศีลธรรมเป็นหลัก ส่วนอื่นๆ จะเป็นองค์ประกอบเช่น ข่าวการเกษตร ราคาสินค้า งานเทศกาลต่างๆ ในชุมชน หรือรายการของราชการก็เข้ามามีส่วนร่วมได้ ทั้งหมดนี้ปรับไปตามภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น

          "หลายวัดที่ทำได้เข้มแข็ง ก็เป็นพระหนุ่มที่สนใจเรื่องนี้จริงๆ มีการไปดูงาน นำเสนอรูปแบบใหม่ๆ มีญาติโยมฟังแล้วก็บอกว่า ดี เพราะไม่มีการโฆษณา ถ้าพระพูดดีก็ยิ่งมีคนสนใจ ญาติโยมติดกันมาก บางวันที่หายไปก็มีการสอบถามเข้ามา"

          นอกเหนือจากวิทยุชุมชน ต่อไปเราอาจจะเห็นสื่อจากพระสงฆ์มากขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการทำรายการโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ของพระสงฆ์ ในรูปแบบของสำนักข่าวสงฆ์ ที่มีเหล่าพิราบเหลืองเป็นคนทำงานเบื้องหลัง ร่วมกับฆราวาส ในกรณีที่บางหน้าที่ไม่เหมาะกับสงฆ์ เช่น การออกไปทำข่าว หรือการประกาศข่าว

          "ต่อไปอยากเห็นพระสงฆ์เข้ามาทำงานด้านการผลิตรายการเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทละครธรรมะ แม้กระทั่งการตัดต่อ ต่อไปต้องผลิตพระทางด้านนี้มา เพื่อรองรับพระด้านสื่อ เพราะวันข้างหน้าเราต้องให้ความสำคัญกับสื่อ"

          พระนักเทศน์รูปเดิมกล่าวว่า เพราะยุคนี้สื่อจำเป็นมาก เป็นยุคของข่าวสาร นอกเหนือจากมีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์องค์กรแล้ว สื่อจะเป็นตัวกลางระหว่างศาสนากับคนในสังคม สามารถสะท้อนความคิดถึงกันได้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่พุทธศาสนาต้องรู้ว่า ตอนนี้โลกไปถึงไหนแล้ว

          นอกเหนือจากคลื่นวิทยุชุมชนที่ใช้กันตามภูมิภาคต่างๆ ความฝันอีกประการหนึ่งของพระสงฆ์กลุ่มนักเผยแพร่ธรรมะคือ จะสร้างเครือข่ายบนคลื่นวิทยุไปยังประเทศแถบเอเชียตะวันออก อย่างที่พุทธศาสนาจากจีนเคยใช้คลื่นวิทยุส่งมาเมืองไทย โดยผ่านระบบดาวเทียม

          การประสานเครือข่ายดังกล่าว มีทางเป็นไปได้ตามความคิดของ พระมหาต่วน สิริธมโม อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาฯ ท่านกล่าวถึงคลื่นสั้น หรือช็อตเวฟ ที่นิยมใช้ในการส่งสัญญาณในภูมิภาคอาเซียน เพียงแต่ต้องสื่อสารด้วยภาษาของแต่ละประเทศเท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม พระมหาต่วนเชื่อว่า ต้องทำให้ก้าวแรกมั่นคงก่อน นั่นคือเนื้อหาของวิทยุชุมชนต้องเข้มแข็ง ย่างก้าวครั้งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า คนในสังคมต้องการการจัดสรรคลื่นความถี่ และจะนำไปสู่การสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ตามมาในรูปของเครือข่ายบนคลื่นต่อไป

          "คนกลุ่มหนึ่งที่เคยฟังรายการธรรมะบนคลื่นวิทยุ เมื่อรายการถูกถอดออก เขาก็ไม่มีทางเลือก ทางออกในตอนนี้คือ เราต้องสร้างที่ทางของเราขึ้นมา เพราะจะไปประมูลแข่งกับเอกชนก็สู้ราคาเขาไม่ได้ เราก็ขอแค่มีรายการของพระได้ออกอากาศบ้างเท่านั้น"

          พระรูปเดิมยกตัวอย่างประเทศที่เห็นความสำคัญขององค์กรศาสนา จะแบ่งปันคลื่นมาให้จำนวนมาก เช่น ที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการแบ่งคลื่นให้บิชอฟออกมาพูดกับชาวบ้านอยู่บ่อยครั้ง ถ้ารัฐบาลดีงามศาสนาจักรก็จะสนับสนุน แต่ถ้ารัฐบาลไม่ดีก็จะได้รับการเตือนบ้าง

          "น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่มีคนมาเตือนกันบ้าง" ท่านกล่าวก่อนหยุดคิด ก่อนจะยอมรับว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองวันนี้ มักไม่ค่อยยอมรับคำเตือนจากใคร ทำให้หลงตัวเอง และคิดว่าอำนาจอยู่ในมือตนเท่านั้น

          เมื่อถามถึงแนวโน้มในการจัดสรรคลื่นวิทยุในอนาคต พระมหาต่วนเห็นว่า คนที่เป็นเจ้าของอยู่ก่อนแล้วก็คงยื้อให้ถึงที่สุด เพราะว่าเป็นเงินทองก้อนใหญ่ แต่อุปสรรคสำคัญคือเสียงบีบจากประชาชน แต่วันนี้ก็ต้องถามต่อไปว่า รัฐบาลฟังเสียงประชาชนมากน้อยเพียงใด

          แม้ทุกวันนี้ได้ชื่อว่า เป็นยุคแห่งข้อมูลสารสนเทศทั้งยามตื่นและหลับตา แต่ความเคลื่อนไหวบนคลื่นหน้าปัดของสงฆ์ อาจจะทำให้หลายคนตั้งคำถามอยู่ในใจว่า เป็นกิจของสงฆ์ตามพระธรรมวินัยหรือไม่

          "เรื่องกิจของสงฆ์ ถ้าแยกแยะได้ก็ไม่น่ามีปัญหา" พระมหาต่วนตอบคำถามทันที พร้อมกับยกตัวอย่างว่า อย่างที่ผ่านมา เรื่องโรคเอดส์ มีการประโคมข่าวว่า คนเป็นเอดส์น่ารังเกียจ คนก็ไม่กล้ายุ่ง คนที่เป็นก็อยู่ลำพังไม่มีใครสนใจ เลยเป็นหน้าที่ของพระที่ต้องดูแล ใช้วิธีทางพุทธมารักษา เช่น ที่วัดพระพุทธบาทน้ำพุ ถามว่า อย่างนี้เป็นกิจของสงฆ์หรือเปล่า

          ส่วน พระศรีปริยัติโมลี มองว่า "ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่เลี่ยงได้ยาก" ท่านคิดว่า พระก็ต้องปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม ตัวอย่างของวิทยุชุมชนนั้น ถือว่าเกิดขึ้นบนความต้องการของญาติโยมชาวพุทธเป็นหลัก หลังจากรายการวิทยุของพระสงฆ์บางส่วนถูกยึดคืนไป

          สำหรับเรื่องการจัดตั้งสถานี ก็มีการกระจายบทบาทให้ฆราวาสเข้ามารับผิดชอบร่วมกัน เพื่อไม่ให้สงฆ์ถูกมองว่ามาหาผลประโยชน์ ซึ่งเรื่องผลประโยชน์ถือเป็นข้อห้ามประการแรกของการจัดวิทยุชุมชนอยู่แล้ว

          ขณะที่ พระไพศาล วิสาโล พระนักคิดนักเขียนชื่อดัง กล่าวไว้ในหนังสือ "พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออก" ถึงพุทธศาสนากับสังคมไทยในบริบทใหม่ว่า สื่อจะเป็นตัวหนึ่งที่นำพาพุทธศาสนาไปยังคนกลุ่มเล็กๆ มากขึ้น แต่พระก็ต้องแข่งขันกับภาคธุรกิจไม่น้อยไปกว่าคนกลุ่มอื่นที่ต้องการใช้สื่อ ดังนั้นจึงเป็นการเสี่ยงที่พุทธศาสนาจะถูกปรับแต่งให้กลายเป็นสินค้าเต็มขั้น เพื่อให้ขายได้ มากกว่าจะมุ่งถึงแก่นของศาสนา

          ดังนั้น พุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งอิงกับระบบทุนนิยมอย่างแนบแน่นนั้น ต้องมีขอบเขต ไม่นำเสนอให้ตัวเองเป็นสินค้าอย่างเดียว พระไพศาลชี้ว่า มีอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาไม่ใช่สินค้าที่ต้องซื้อขายแลกเปลี่ยนเท่านั้น หากแต่ยังสามารถทำได้ด้วย "ทาน" หรือ ธรรมทาน เช่น การทำหนังสือแจกในวันสำคัญ หรือการบริจาคเงินทำรายการธรรมะทางโทรทัศน์ ซึ่งตรงกับหลักการของการทำวิทยุชุมชนโดยให้มวลชนเข้ามาช่วยดูแล

          ระบบบุญนิยมนี้เองที่สามารถช่วยถ่วงดุลระบบทุนนิยม มิให้แปรศาสนาเป็นสินค้าไปเสียหมด ดังนั้นจึงควรที่จะพัฒนาให้เป็นระบบหรือวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เช่นมีการจัดตั้งองค์กรเพื่อรณรงค์หาทุนเผยแผ่ธรรมตามสื่อต่างๆ รวมทั้งวิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ไม่ว่าในรูปสารคดี การเสวนา ละคร หรือแม้แต่สปอตโฆษณา ขณะเดียวกันก็ควรผลักดันให้รัฐและองค์กรบริหารท้องถิ่น จัดสรรเงินอุดหนุนรายการดังกล่าวด้วย นอกเหนือจากการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์เพื่อกิจการนี้อย่างจริงจัง

          สำหรับ พิศาล เทพพรมชาติ ตัวแทนกลุ่มวิทยุชุมชนจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประสบความสำเร็จในการจัดตั้งคลื่นวิทยุชุมชน มองว่า ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสังคมที่จะมีรายการเกี่ยวกับประชาชน และให้ประโยชน์โดยตรง

          "นี่เป็นสัญญาณเตือนไปยังภาครัฐว่า ขนาดพระสงฆ์ยังทนไม่ได้เลย จนต้องออกมาตั้งคลื่นวิทยุของตนเอง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะทบทวนการจัดสรรคลื่นแล้วคืนอำนาจให้ประชาชนเสียที ให้แต่ละกลุ่มคนได้เข้าไปมีส่วนในการจัดสรรอย่างเท่าเทียม"

          ในสายตาของพิศาลยังเห็นว่า ต่อไปคนแต่ละกลุ่มก็คงจะออกมาสะท้อนความต้องการ ผ่านคลื่นวิทยุชุมชนมากขึ้น เพราะคลื่นวิทยุที่มีอยู่ถูกแบ่งให้เอกชนฝ่ายเดียว ในขณะที่ภาคประชาชนไม่สามารถสู้ราคาที่สูงได้

          อย่างนั้นแล้ว การกระพือปีกของเหล่าพิราบเหลืองในวันนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับการทวงถามความคืบหน้า ของการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่ถูกเพิกเฉยมานาน

          และรอวันที่ผู้ชายชื่อ ทักษิณ ชินวัตร จะเอาจริงกับการจัดสรรคลื่นเสียที

*

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :