เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ดนตรีภาวนา

รัชดา ธราภาค
กรุงเทพธุรกิจ กาย-ใจ
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

'ดนตรีภาวนาก็คืออุบายอย่างหนึ่ง โดยนำดนตรีมาสร้างเสียง เพื่อแสดงให้เห็นด้านตรงข้าม คือความเงียบ เพราะเสียงเป็นตัวที่ทำให้ความเงียบปรากฏขึ้น'

* * * * *

          ในฐานะที่เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ดนตรีถูกใช้ เพื่อแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงความนึกคิดของมนุษย์ มาตลอดหลายยุคสมัย นานพอๆ กับที่ดนตรี ถูกนำมาใช้ เพื่อการพัฒนาโลกภายใน โดยผ่านการปฏิบัติภาวนาสมาธิ

          ในประเทศไทย มีคนที่สนใจนำดนตรีมาใช้เพื่อการภาวนาไม่มาก เมธี จันทรา เป็นหนึ่งในนั้น

          'ถึงที่สุดแล้ว ดนตรีโดยรวมก็คือการเกิดดับของเสียง เป็นการปรากฏของเสียง สลับกับความเงียบ'

          ช่วงปีกว่าๆ มานี้เอง ที่เมธีเริ่มนำ 'ดนตรีภาวนา' ที่เขาสนใจออกเผยแพร่ในกลุ่มคนเล็กๆ ตามงานกิจกรรมต่างๆ ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้แก่ งานรำลึก 11 ปีแห่งการจากไปของ 'พุทธทาสภิกขุ' ซึ่งจัดขึ้นที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ก่อนหน้านั้น ก็มีงาน 'สีสันวันสบายกับชีวิตทางเลือก' จัดโดยมูลนิธิโกมลคีมทอง เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม และอีกหลายงานที่เมธีมักมีรายชื่ออยู่ในคิวแสดง ดนตรีสาธิตแนวใหม่ ดนตรีภาวนา รวมไปถึงการทำดนตรีธรรมะ

          ถามถึงความสนใจ เมธีบอกว่าเขาเริ่มศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีแนวนี้มา ๖-๗ ปีแล้ว

          'ที่จริงตอนแรกก็ไม่ได้สนใจดนตรีประเภทนี้โดยตรงนะ เพียงแต่เราเล่นมาทุกแนวแล้ว แจ๊สก็เล่นแล้ว เพื่อชีวิต เพลงที่เราอยากเล่นทุกประเภทเราก็เล่นมาแล้ว ถึงที่สุดกลับมาถามตัวเองว่า เรากำลังแสวงหาอะไรอยู่ ดนตรีมันให้คุณค่า มีความหมายอะไรกับชีวิตเรา'

          เมธีเริ่มเรียนดนตรีแบบเอาจริงเอาจังเมื่อครั้งที่ยังเป็นนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมๆ กับการเริ่มเรียนและฝึกฝนกีตาร์ เขาสนใจวิชาปรัชญาตะวันออกและเรื่องราวทางศาสนา เมธีเลือกเรียนวิชาเหล่านี้ รวมทั้งศึกษาด้วยตัวเองด้วยการอ่านหนังสือ

          มาถึงจุดหนึ่ง สองสิ่งที่เขาสนใจและให้เวลาเรียกร้องให้ต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง

          เขาเลือกที่จะเป็นนักดนตรีอาชีพ เมธีเข้าสู่วงการเสียงเพลงเมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว ทั้งเล่นตามผับ เล่นแบ็คอัพให้กับ ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ และเป็นรุ่นบุกเบิกก่อตั้งวงทีโบน

          'เล่นให้ปู พงษ์สิทธิ์หลายปี ตระเวนเล่นกันในที่แปลกๆ ที่เราคาดไม่ถึงว่าจะได้ไปเล่น มีอยู่ช่วงหนึ่ง ปูคิดเรื่องการตอบแทนให้กับคนที่ไม่มีโอกาส เราก็พากันไปเล่นดนตรีให้คนในคุกฟัง ไปเล่นในซ่องตามต่างจังหวัด เราได้เห็นแววตาของผู้หญิงทำงานบริการ ที่เขาเหมือนปลาตายน่ะ ชีวิตเขาแห้งไปหมดแล้ว แต่พอเขาฟังเพลงของเรา แวบหนึ่ง แววตาของเขาที่เราได้เห็น .. มันอธิบายเป็นคำพูดได้ยาก'

          ผ่านหลากหลายแนวดนตรี ผ่านสังคม เหตุการณ์ต่างๆ ทำให้ได้เห็นชีวิตผู้คนสารพัดรูปแบบ วันหนึ่ง เมธีกลับมาให้ความสนใจกับเรื่องราวปรัชญาตะวันออกที่เขาทิ้งร้างไประยะหนึ่ง เมธีเล่าว่า เขามีโอกาสได้รู้จัก ดร.สุวินัย ภรณวลัย มังกรบูรพาแห่ง 'เรือนมังกรซ่อน' เขาจึงแบ่งเวลาเพื่อศึกษาศาสตร์ตะวันออก อย่างวิชาชี่กง และมวยจีน

          'เรียนแล้วได้อะไรเยอะ แต่สำคัญที่สุดคือเมื่อเราได้สัมผัสความรู้สึกของชี่ ทำให้เราได้รู้ว่า ความเงียบเล่าเรื่องอย่างไร จากที่เราเคยรู้จักเสียงซึ่งเกิดจากแรงสั่นสะเทือนของวัตถุ เช่น ผมเป็นนักกีตาร์ เมื่อดีดสาย เกิดแรงสั่นสะเทือนจึงเกิดเป็นเสียง แต่ชี่เป็นแรงสั่นสะเทือนของความเงียบ'

          ๒-๓ ปีต่อมา เขาได้รู้จักกับศาสตร์นพลักษณ

          'ก่อนหน้านี้ เพื่อนต่างชาติเคยให้หนังสือมาเล่มหนึ่ง เนื้อหาเกี่ยวกับความเร้นลับของวัฒนธรรมตะวันออก ในหนังสือมีรูปแผนภาพของนพลักษณ์ พลิกๆ ดู อ่านไม่รู้เรื่องก็วางไว้ จนนานมาก ถึงมาอ่านพบในหนังสือพิมพ์ที่มีบทความเขียนเกี่ยวกับการอบรมนพลักษณ์ แล้วมีรูปแผนภาพ ก็เอ๊ะ เราเคยเห็นที่ไหน'

          เมธีสมัครเข้าร่วมอบรมนพลักษณ์ เพื่อจะพบว่านี่คือหนึ่งในสิ่งที่เขาสนใจ และให้อะไรกับเขาอยู่ไม่น้อย

          'ไปร่วมแล้วรู้สึกว่า มันมีอะไรที่มากกว่าแค่จิตวิทยาเรื่องการเข้าใจตัวเองเข้าใจคนอื่น เราก็พยายามศึกษาหาความรู้ด้วยการอ่าน และถามจากผู้รู้'

          เมธีบอกว่า ในช่วงหลายปี เขาพาตัวเองเข้าสู่กระแสแห่งศาสตร์โบราณตะวันออก ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แตกต่างจากที่เคยรับรู้เรียนรู้ และด้วยพื้นฐานความเป็นนักดนตรี เขาเริ่มนำประสบการณ์เหล่านี้มาผสานเข้าด้วยกัน เริ่มต้นโดยการนำดนตรีไปใช้กับการภาวนาในกลุ่มของ ดร.สุวินัย รวมทั้งการนำมาใช้กับการทำกิจกรรมในกลุ่มนพลักษณ์

          'ถ้าเป็นนพลักษณ์ เครื่องดนตรีที่ใช้ได้ดีคือคีบอร์ด ซินธิไซเซอร์ เพราะมีระยะเสียงกว้างกว่า สะดวกหน่อยก็เป็นกีตาร์ ซึ่งสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหลายๆ เสียงได้ แต่ถ้าเป็นขลุ่ยจะได้ทีละเสียง แต่ก็นำมาใช้ในการภาวนาได้เหมาะกว่า ไม่ต้องคิด ไม่ต้องเตรียมการมาก ให้เสียงนำพาไปสู่ความเงียบ คือใช้เสียงเป็นสื่อเพื่อรับรู้ถึงการเกิดและดับของเสียง'

          เมธีค้นพบขลุ่ยญี่ปุ่นแบบโบราณ ที่ชื่อ 'ขลุ่ยซากุฮาชิ' โดยทั่วไป พระเซนใช้ในการฝึกสมาธิ ตามแบบแผนดั้งเดิมขลุ่ยซากุฮาชิทำขึ้นด้วยไม้ไผ่

          'รูปแบบของขลุ่ยซากุฮาชิมีความเรียบง่ายที่สุด ตัวขลุ่ยทำจากไม้ไผ่ ตัดตั้งแต่รากขึ้นมาเลย แล้วตัดตรงปลาย รูปแบบมีความเรียบง่าย ไม่ตกแต่งอะไรเลย เพื่อเผยให้เห็นความงามตามธรรมชาติของลำไผ่'

          ซากุฮาชิได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในหมู่คนญี่ปุ่นเอง และชาวตะวันตกที่หันมาสนใจศาสตร์โบราณตะวันออกเพิ่มขึ้นทุกที

          เมธีค้นคว้าหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต พบทั้งเวบไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านประวัติความเป็นมา วิธีการใช้ แวดวงผู้ที่เรียนรู้ ฝึกฝน และบรรเลงดนตรีเซน รวมทั้งพบว่ามีการจำหน่ายขลุ่ยซากุฮาชิอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดี แม้ซากุฮาชิจะเป็นเครื่องดนตรีที่มีความเรียบง่ายใกล้ชิดธรรมชาติ แต่เมธีกลับพบว่า ขลุ่ยโบราณชนิดนี้มีราคาแพงแบบสุดๆ

          'มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมพร้อมๆ ไปกับการเป็นสินค้า และเป็นฟองสบู่ด้วย'

          เมธีหาทางออกด้วยการค้นคว้าถึงวิธีการทำขลุ่ยซากุฮาชิ แล้วนำมาประยุกต์โดยการใช้วัสดุเป็นท่อพีวีซี อาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยคิดคำนวณเพื่อสร้างเครื่องเป่าเลียนแบบขลุ่ยเซน และผสานให้เข้ากับพื้นความรู้ทางดนตรีตะวันตกที่มีอยู่ จนได้ขลุ่ยที่เหมาะกับการใช้งานในการภาวนา โดยเทียบบันไดเสียงในระบบดนตรีสากล

          'ดนตรีภาวนาก็คืออุบายอย่างหนึ่ง โดยนำดนตรีมาสร้างเสียง เพื่อแสดงให้เห็นด้านตรงข้ามคือความเงียบ เพราะเสียงเป็นตัวที่ทำให้ความเงียบปรากฏขึ้น เมื่อนำมาใช้ในกลุ่มภาวนาก็คือการบรรเลงความเงียบร่วมกัน ระหว่างคนเล่นดนตรีกับผู้ที่ปฏิบัติภาวนา'

          เมธีนำดนตรีมาใช้กับการฝึกสมาธิและกิจกรรมนพลักษณ์ ส่วนตัวเขาเองนอกจากการร่วมกิจกรรมภาวนาไปพร้อมกับคนอื่นๆ แล้ว เมธีพูดถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้นภายใน จากการหันมาสนใจในกิจกรรมแนวนี้ว่า

          'การเล่นดนตรีภาวนาทำให้ผมได้ฝึกสมาธิไปในตัว ซึ่งก็คือสติปัฏฐานชนิดหนึ่ง เป็นการฝึกความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ยิ่งผมเป็นคนทำงานด้านดนตรี อารมณ์เราจะไว การได้มาฝึกการภาวนา ทำสมาธิ เดินจงกรม มันทำให้เราเท่าทันอารมณ์ตัวเองมากขึ้น แม้แต่เวลากลับไปเล่นดนตรีตามปกติ เรามีความสงบนิ่งกับการเล่นดนตรีมากขึ้น ได้ยินเสียงคนอื่นชัดเจนขึ้นด้วย' เมธีพูดถึงประสบการณ์ที่ได้สัมผัสในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

          ในยุคทันสมัยไอทีอย่างวันนี้ ภูมิปัญญาโบราณดูเหมือนจะได้รับความสนใจไม่น้อย สายลมตะวันออกแทรกซึมไปทุกที่ ไม่เว้นแม้แวดวงคนดนตรีด้วยเช่นกัน

* * * * *

นพลักษณ์ (The Enneagram)

          นพลักษณ์ คือศาสตร์ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้รู้จักกับตนเองตามความเป็นจริง ทำให้รู้จักจริตนิสัย อินทรีย์อ่อนแก่ของตน เพื่อจะได้เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกฝนพัฒนาตนเองสืบต่อไป

          การรู้จักตนเอง ทำให้เรามีความเข้าใจในกิเลสหยาบๆ ของตัวเอง เข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งของคนแต่ละประเภทตามความเป็นจริง ทำให้เกิดความเข้าใจ และเห็นใจผู้อื่น การรู้จักตนเองมีประโยชน์ในการเจริญสติ รู้เท่าทันตนเอง ทำให้ละความยึดมั่นในตัวตน

          วิชานพลักษณ์จำแนกคนออกเป็น ๙ ประเภท อาทิ

         คนสมบูรณ์แบบ (The Perfectionist) เป็นพวกที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง ชอบทำอะไรให้ถูกต้องสมบูรณ์แบบ คิดแต่เรื่องเปรียบเทียบถูกผิด และมักจะคิดว่าตนเองมีศีลธรรมสูงส่งกว่าคนอื่น มักจะกังวลว่าคนอื่นจะมองจับผิดตนเอง งานที่เหมาะสมสำหรับคนประเภทนี้ คือ งานที่มีการจัดระบบ งานบัญชี สอนหนังสือ งานวางแผน นักวิจัย จุดอ่อนที่ควรปรับปรุง คือความวิตกกังวล ลังเล กลัวผิดพลาด ชอบจับผิด ไม่ยอมผ่อนปรน

          ผู้ให้ (The Giver) เป็นกลุ่มคนที่ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น ชอบคิดอยู่เสมอว่า 'ทุกๆ คนต้องการฉัน' หรือ 'ถ้าเขาขาดฉัน เขาไม่มีวันทำได้หรอก' คนแบบนี้ชอบสร้างบุคลิกหลากหลายเพื่อเอาใจผู้อื่น งานที่เหมาะสม คือ งานสังคมสงเคราะห์ มือขวา ที่ปรึกษา เลขานุการ พยาบาล จุดอ่อน คือ มักจะสับสนในตัวเอง ไม่รู้ตัวเองเป็นใครแน่ ชอบแสดงเป็นตัวตนคนอื่น ต้องการการยอมรับจากผู้อื่นเสมอ ฯลฯ .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :