เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ที่สุด คลื่นลูกที่สาม
ก็ถาโถมใส่พี่น้อง... ชายฝั่งอันดามันและทั้งสังคมไทย
แล้วเราควรทำอย่างไร ?

บัญชา พงษ์พานิช
ผู้จัดการแผนงานชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
มติชนรายวัน วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ ปีที่ ๒๘ ฉบับที่ ๙๘๓๓


          ท่ามกลางความปรารถนาดีที่เพื่อนมนุษย์มีต่อกันภายหลังจาก คลื่นยักษ์อันดามันและมหาสมุทรอินเดีย อันนับเป็นคลื่นระลอกแรก ที่โถมเข้าใส่แผ่นดินจนพี่น้องมนุษยชาติล้มตายไปกว่าแสนครึ่ง พร้อมกับสรรพชีวิตและสรรพสิ่งอีกมากมายที่เสียหาย

          คลื่นลูกที่สอง อันเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตเช่น มนุษย์ คือความเห็นอกเห็นใจ ห่วงใย ใคร่ช่วยเหลือในยามยาก โดยเฉพาะในอุบัติภัยที่คาดไม่ถึงเช่นคลื่นยักษ์นี้ก็ทะลักทะล้น ดังจะเห็นได้จากมหาชนที่หลั่งไหลลงสู่พื้นที่ พร้อมนานาสิ่งของอุปโภคและบริโภค อาหาร เสื้อผ้า ยา จนแม้กระทั่งที่พักอาศัยซึ่งปรากฏมีหลายหน่วยงานมากที่พุ่งเป้าเข้าสร้างทั้งชั่วคราวและถาวร จนแทบท่วมท้นในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เสียหายมากๆ อาหารสดจำนวนไม่น้อยถูกทิ้ง อาหารแห้งจำนวนมากล้นเหลือ เสื้อผ้ากองเป็นภูเขาเลากากินพื้นที่อาคารละลานล้นออกมากองกล่นเกลื่อนถึงริมถนน

          ได้ข่าวว่าแม้กระทั่งบ้านที่รัฐบาลจะสร้างให้นั้น ก็ยังมีหลายหน่วยอาสาจนถึงขั้นขัดแย้งแย่งสร้าง แย่งคนเข้าอยู่กันไปหมด

          ทั้งนี้ยังไม่นับหีบบรรจุร่างผู้เสียชีวิตที่กองทะเนินเทินทึกจนเต็มวัด รวมทั้งเงินตราที่มีข่าวการบริจาคสร้างยอดกันถล่มทลายนับพัน หมื่นแสนล้านบาท

          ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ก่อผลต่อเนื่องในการจัดการอย่างยิ่ง เพราะหลายอย่างก่อและกลายเป็นขยะใส่พื้นที่

          หลายอย่างก่อเป็นปัญหาการจัดการจนกระทั่งปัญหาทางสังคมมากมาย

          ใครจะจัดการ จะจัดการอย่างไร หากจัดการได้ไม่ดีมีปัญหา ทะเลาะ ขัดแย้ง แย่งชิง ไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้องเหมาะสมแล้วจะทำอย่างไร

          ในฐานะอาสาสมัครที่ลงคลุกอยู่ในพื้นที่ระหว่างในไร่ท้ายเหมือง เขาหลัก บางม่วงและย่านยาว ตะกั่วป่า ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม ต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ และเคยผ่านการหนุนช่วยกรณีอุทกธรณีภัยที่คีรีวง-กะทูน นครศรีธรรมราช เมื่อปี ๒๕๓๑ พายุใต้ฝุ่นเกย์ เมื่อปี ๒๕๓๒ และพายุโซนร้อนฟอเรสต์ เมื่อปี ๒๕๓๕ ผู้เขียนหวั่นเกรงตั้งแต่แรกๆ ว่า คลื่นลูกที่สามที่น่ากลัวที่สุดว่าจะก่อตัว นั่นคือคลื่นของโครงการและกิจกรรมต่างๆ ในนามของความปรารถนาดี ที่ก่อตัวต่อเนื่องหลังจากคลื่นลูกที่สองถดถอย

          ต่างก็ตั้งหลักตั้งใจ คิดค้น เสนอแนะและลงมือกันคนละทิศคนละทาง หน่วยละที่สองที่ ที่ละหลายๆ หน่วยนับสิบ โดยต่างก็คิดค้นกันอย่างเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ถึงขั้นคาดคั้นให้รับหรือใช้ในสิ่งที่ท่านคิดท่านเห็นว่าดีที่สุดนั้น จนเกิดการปะทะใส่พื้นที่เป็นระลอกคลื่นลูกที่สามด้วยขนาดและกำลังแรงที่แตกต่างกันไป

          หากเป็นของหน่วยใหญ่ๆ ตั้งใจสูง เอาตนเป็นที่ตั้งมาเจอกันในท้องที่ชุมชนไหน ไม่ลดละก็จะปะทะหมุนวนส่งแรงกระแทกทั้งแรงและหลายระลอก ดังภาพถ่ายในอ่าวนางทอง บางเนียง คึกคัก ระหว่างเขาหลักและแหลมปะการังที่หมุนวนบดขยี้บี้จนแหลกยับดับชีวิตไปนับพัน ในขณะที่บางพื้นที่ที่ไม่มีหลายหน่วยแต่ก็อาจปะทะรุนแรงในพื้นที่ชุมชนได้ ดังบริเวณที่เป็นแหลมหรือหาดเปิดที่เป็นเพียงระลอกคลื่นที่โถมใส่ฝั่งทำความเสียหายแล้วถอยหาย

          ดังที่ก่อตัวมาหลายวันแล้วที่เกาะพระทอง คุระบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่มีชื่อเสียง ใครๆ ก็หมายปองนำความปรารถนาดีไปใส่

          ข้อเสนอในการระงับและบำบัดคลื่นลูกที่สามที่มาแน่แล้ว แม้จะไม่รอบด้านเนื่องจากไม่สามารถติดตามข่าวสารเรื่องราวได้มาก เพราะหมกอยู่กับพื้นที่และสารพัดเรื่องที่ต้องทำ โดยผู้เขียนเองก็พยายามเตือนตนให้มีสติน้อมนำเป็นหลักในการทำงานนี้ มีเพียง ๒-๓ ข้อ

          สำหรับผู้ปรารถนาดีทั้งหลาย พึงเจริญพรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ ไว้ให้มั่น ทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

          กล่าวคือต้องบ่มเพาะบำรุงให้ธรรมทั้ง ๔ นี้เกิดและกล้าแข็งอยู่กับเนื้อกับตัวให้มากเข้าไว้

          ต้องกล่อมเกลาจิตใจให้ได้ว่ามาทำงานนี้ด้วยความปรารถนาให้เพื่อนมนุษย์ที่กำลังทุกข์ยากนั้น พ้นจากทุกข์ จนถึงขั้นได้ดีมีสุขโดยไม่มีสิ่งอื่นใดเจือปน หรือจะปนก็ให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเอาหน้า หาชื่อหาเสียง หรือหาประโยชน์อื่นใด และเมื่อเพื่อนได้ดีมีสุข

          หรือแม้กระทั่งใครก็ตามที่มาช่วยกันแล้ว ได้ชื่อได้เสียง ก็พลอยยินดี พร้อมส่งเสริมสนับสนุนด้วย

          ที่สำคัญที่สุดคืออุเบกขาคือการรู้จักจังหวะวางตัววางใจให้เหมาะต่อเหตุ ต่อกาลเทศะและเป็นกลางในการเข้าช่วย ดังเช่นที่ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ให้อรรถาธิบายไว้เป็นแนวที่ผู้เขียนถือปฏิบัติว่าอุเบกขามิใช่การวางเฉยดังที่นิยมแปลกันมา แต่หมายถึงการรู้จักวางตัวให้เหมาะต่อการช่วยเหลือ ให้เหมือนพ่อแม่เมื่อสอนลูกให้หัดเดิน ถ้าเอาแต่พยุงพาเดินลูกก็ยากจะเดินได้ด้วยดี ถ้าปล่อยให้เดินเอาเองก็อาจล้มเจ็บเป็นอันตรายได้

          ทางที่ควรคือการชี้แนะและลองพานำแล้วปล่อยวางมารอระวังดูอยู่ หากเดินได้ด้วยดีก็จะค่อยๆ ดี หากพลั้งพลาดก็สามารถเข้ารับรองไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็พร้อมรับต่อผลตามเหตุตามปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ตามกรณีที่ได้พิจารณาใคร่ครวญ ร่วมกระทำ เลือกกระทำ หรือยอมให้กระทำแล้วนั้น

          ซึ่งในกรณีคลื่นลูกที่สามนี้พึงเจริญธรรมทั้ง ๔ นี้ ไม่เพียงต่อเพื่อนที่กำลังทุกข์ยากเท่านั้น แต่ต้องเจริญให้มากต่อเพื่อนร่วมบำเพ็ญกรณีทั้งหลาย ไม่ว่าจะที่ไหนๆ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หมอ พยาบาล ทันตแพทย์ อาสาสมัคร หน่วยงานของรัฐ นักการเมือง เอกชน คนทำงานพัฒนา ดารา เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังร่วมกันทำกิจใดร่วมกัน หรือร่วมกิจในพื้นที่หรือในประเด็นร่วมกัน

          ไม่เช่นนั้นพลังความปรารถนาดีที่จะไปคลายความทุกข์ก็จะกลายเป็นคลื่นลูกที่สาม อาจถึงขั้นสร้างความแตกแยกร้าวฉานเชิงสังคมชุมชนขึ้นจนนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไรต่อ

          และที่สำคัญคือต่อผู้ที่ทุ่มเททำอย่างหนักหน่วงทุกฝ่ายไม่ว่าฝ่ายไหน ใครทั้งนั้น เพราะคนทำนั้นหนักและเหนื่อยยากมาก ยากที่จะมีเวลาแม้มามองเห็นภาพรวมและคิดใคร่ครวญ (คนไม่ได้ทำ แต่คอยเฝ้ามอง ชี้แนะและวิจารณ์ ควรตระหนักในเรื่องนี้ด้วย)

          เมื่อเจริญในพรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ ดังนี้แล้ว ก็จะไม่เอาตนเป็นตัวตั้ง พึงเอาชุมชนหรือกลุ่มเป้าหมาย เอาผลประโยชน์สูงสุดของชุมชนหรือกลุ่มเป้าหมายที่ท่านจะนำความปรารถนาดีไปให้เป็นตัวตั้ง

          ดังที่พ่อแม่เอาการเดินได้ด้วยดีของลูกเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาว่าลูกต้องเดินอย่างพ่อหรืออย่างแม่ และไม่ได้แย่งว่าลูกต้องเดินได้เพราะพ่อหรือเพราะแม่ ไม่เกี่ยงว่าชุมชน จะต้องเลือกทำกับโครงการของฉัน ไม่เกี่ยงว่างานนี้จะต้องเป็นงานฉัน ตามแนวทางของฉัน ของใครก็ได้ขอให้ชุมชนเป็นคนตัดสินใจ และเป็นไปได้โดยไม่ก่อเกิดเป็นคลื่นกระทบรุนแรงอีก

          ดังเช่นที่ผู้เขียนและเพื่อนอาสาสมัครทำตามที่หน่วยหลักต้องการ และยอมรอทำทั้งๆ ที่เห็นว่าสามารถทำให้ได้เร็วกว่าได้ ไม่ว่ากัน

          สำหรับพี่น้องชุมชนคนประสบภัย ท่ามกลางคลื่นที่ผ่านไปทั้ง ๒ ลูก โดยไม่ทันตั้งหลักรู้ตัวนั้น คลื่นลูกที่ ๓ นี้ ท่านต้องตั้งหลักรับ และรู้วิธีรับและนำมาเป็นประโยชน์ให้สมกับประโยชน์ ดังที่มีความปรารถนาดีหลั่งไหลและถาโถมมามากมายให้จงได้

          ท่านจะต้องตั้งหลักรับ รวมตัวและร่วมกันจัดการตนเองให้เร็วที่สุด เท่าที่ศักยภาพความสามารถของท่านยังมีอยู่

ท่านจะต้องเป็นผู้กำหนดการบรรเทาทุกข์ การฟื้นฟูชีวิตชุมชนท้องถิ่นจนกระทั่งกิจการงานอาชีพ รวมถึงทรัพยากรแวดล้อมของท่านให้ได้มากที่สุด

          ท่านพึงเป็นหลักในการกำหนดและเลือกรับเลือกใช้กิจกรรมความช่วยเหลือต่างๆ ด้วยตนเอง และให้หมู่ผู้ปรารถนาดีทั้งหลายเป็นผู้ช่วยเหลือท่าน อย่าปล่อยให้กลายมาเป็นคลื่นที่ถาโถมรุมถล่มท่านเป็นคำรบสามให้จงได้

          ส่วนจะเป็นอย่างไร ด้วยวิธีการอย่างไร ของเชิญชวนทุกฝ่ายได้ช่วยเสนอแนะกรณีศึกษา เพราะสังคมไทยและโลกล้วนเคยผ่านและจัดการตนเองในเรื่องนี้มาแล้วไม่น้อย

          วันหลังจะลองเล่ากรณีน่าศึกษาของคีรีวงเมื่อเกือบ ๒๐ ปีที่แล้ว.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :