เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

รัฐ-สงฆ์ถกจัดระเบียบทั้งพระ-วัด

ข่าวสด ฉบับวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๔๗๖๐ หน้า ๑

          สำนักพุทธฯ ขันนอตพระทั่วประเทศ เรียกพระฝ่ายปกครองสงฆ์ทั้ง ๒ นิกาย และผู้ทรงคุณวุฒิกว่า ๔๐๐ คนหารือ จัดระเบียบวัตรปฏิบัติ รวมไปถึงกิจกรรมของวัดใหม่ทั้งหมด ทั้งของพิสดารใหญ่ ยาว แปลกที่สุดในโลกทั้งหลาย พระพุทธรูปปางพิสดาร การบวชที่ไม่มีการเข้มงวดเท่าที่ควร ซึ่งมีทั้งพวกประกอบอาชญากรรม พวกเหลือบอาศัยผ้าเหลืองหากิน หรือแม้แต่พวกเรี่ยไร สร้างความเสื่อมเสียให้กับพระพุทธศาสนาอยู่ตลอดเวลา และเตรียมเสนอกรมประชาฯจัดรายการธรรมะหลังข่าว วันละ ๓ นาทีด้วย

          เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. วันที่ ๑๐ธ.ค. ที่ห้องประชุมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กำหนดให้มีพิธีเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับชาติ เรื่อง "การส่งเสริมความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา" ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด และผู้ทรงคุณวุฒิทางพุทธศาสนา จำนวนกว่า ๔๐๐ คน

          สมเด็จพระพุฒาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช กล่าวสัมโมทนียกถาเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า ในนามของสมเด็จพระสังฆราช ขอชื่นชมในความตั้งใจดีของพศ. ที่จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ถึงแม้สมเด็จพระสังฆราช ไม่สามารถเสด็จมาทรงเป็นประธานได้ แต่จากการที่พระองค์ทรงปฏิบัติศาสนกิจมาโดยลำดับ เป็นเหตุที่จะให้เข้าใจได้ว่า แม้พระองค์จะทรงมีพระชนมายุมาก สุขภาพอนามัยไม่อำนวยนัก แต่พระทัยที่ทรงห่วงใยต่อพระพุทธศาสนาตลอดจนประเทศชาติบ้านเมืองนั้นยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์

          สมเด็จพระพุฒาจารย์กล่าวต่อว่า รัฐบาลมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มากำกับดูแลงานของพศ. ซึ่งขออนุโมทนาไว้ว่านายวิษณุ ได้ให้ความสนใจและพยายามทุกวิถีทางเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเต็มความสามารถ แต่ความสามารถนั้นก็มีขีดจำกัด ไม่ใช่สามารถครอบโลกได้ ดังนั้นฝ่ายคณะสงฆ์จึงต้องให้โอกาสและส่งเสริมงานต่างๆของรัฐบาลด้วย

          "การประชุมรูปแบบที่ทางราชการนิมนต์พระสังฆาธิการทั่วประเทศมาหารือกันที่ทำเนียบรัฐบาล นับเป็นครั้งที่สอง ซึ่งครั้งแรกนั้นมีขึ้นเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มงคลอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายหันมาร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวม จึงขอให้รัฐบาลมีความสามารถทางความคิดและการกระทำเพื่อส่งผลให้ประเทศชาติรุ่งเรืองต่อไป" สมเด็จพระพุฒาจารย์ กล่าว

          ต่อมาเวลา ๐๙.๓๐ น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวบรรยายในหัวข้อ " แนวทางความร่วมมือระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ในการแก้ปัญหาเพื่อความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา" ตอนหนึ่งว่า ช่วงระยะเวลา ๑ ปีเศษที่ตนได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานของพศ.นั้น ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาของพระพุทธศาสนาจำนวนมากมาย ทางพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เองยังเคยได้รับเรื่องร้องเรียนสำคัญๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เชื่อมโยงไปถึงปัญหาระดับชาติ กระทั่งต้องนำเข้าหารือกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก็หลายครั้ง ซึ่งจากการประมวลปัญหาดังกล่าว ตนสามารถแบ่งออกเป็น ๖ กลุ่ม คือ ๑.ปัญหาวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ ๒.คนนอกที่สร้างความมัวหมองให้พระสงฆ์ ๓.ปัญหาศาสนสมบัติกลางและศาสนสมบัติของวัด ๔.ปัญหาการจัดการศึกษาด้านปริยัติธรรม ๕.ปัญหาการสร้างวัดและศาสนวัตถุ และ ๖.ปัญหาการเผยแผ่ธรรมะ

          "ที่ประชุมครม.เคยถกเรื่องการสร้างศาสนวัตถุหลายครั้ง ที่ประชุมสภาก็มีการตั้งกระทู้ถามหลายครั้งว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบเวลาวัดไหนจะสร้างอะไรซักอย่างสูงที่สุดในโลก ใหญ่ที่สุดในโลก ยาวที่สุดในโลก แล้ววันหนึ่งมันล้มมาทับชาวบ้านเป็นข่าวไปทั่วโลก แม้กระทั่งการสร้างประติมากรรม ปางแปลกๆในวัด ปางเหยียบโลก ปางซูเปอร์แมนนั้น สังคมตั้งคำถามกันมากว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้" นายวิษณุกล่าว

          รองนายกฯกล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาวัตรปฏิบัติของพระภิกษุนั้นอาจถือว่ามีไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ของพระสามแสนกว่ารูป แต่เมื่อเกิดขึ้นซักรายสองรายก็เป็นที่ระคายเคืองผิดหวัง ซึ่งตามหลักแล้วผู้ที่ดูความประพฤติของพระชั้นแรกคือคณะสงฆ์ที่จะดูแลกันเอง ฝ่ายบ้านเมืองจะเข้ามาดูแลในลำดับที่สอง ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจเคยขอนโยบายจากตนว่าหากพบพระมีความประพฤติไม่เหมาะสมจะทำอย่างไร ตนได้ให้แนวทางว่าในกรณีที่ไม่ใช่ความผิดชัดแจ้ง ต้องให้คณะสงฆ์ผู้ปกครองเป็นผู้พิจารณา จากนั้นต้องดำเนินการด้วยความเร็ว เงียบ และถูกต้อง เพราะเรื่องของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

          "ทุกวันนี้มีผู้เข้ามาปลอมบวชมากขึ้น เป็นประเภทหนีอาชญากรรมมาอาศัยผ้าเหลืองเป็นเกราะในการทำผิด ประเภทบวชเช้าสึกเย็น บวชเย็นสึกค่ำก็มี ชาวบ้านก็แยกไม่ได้ ผมจึงขอให้หน่วยงานหลายแห่งเข้ามาช่วยสอดส่องดูแลด้วยความระมัดระวัง เมื่อเร็วๆนี้ผมได้รับหนังสือร้องเรียนว่ามีพระในวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ออกรายการวิทยุเรี่ยไรญาติโยมให้บริจาคเงินเข้าบัญชีธนาคาร เพื่อจะนำเงินไปทำบุญตามวัดที่ขาดแคลน กระทั่งมีคนบริจาคให้เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อตรวจสอบไม่พบว่ามีการนำเงินไปช่วยเหลือแต่อย่างใด ซึ่งผู้ที่ร้องเรียนคือคนที่ร่วมกระบวนการต้มตุ๋นแต่สำนึกผิด ผมจึงส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและปปง.เข้ามาตรวจสอบ เพราะเป็นพฤติกรรมเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน" นายวิษณุ กล่าว

          รองนายกฯกล่าวต่อว่า การเผยแผ่ธรรมะนั้นโดยทั่วไปน่าพอใจ แต่มีอยู่บางรายที่จัดรายการที่มีปัญหาญาติโยมร้องเรียนว่าบาดหู เช่น ใช้ภาษาสองแง่สองง่าม พูดแต่เรื่องขอรับบริจาค หรือสร้างความแตกแยกในกลุ่มศาสนิกอื่นๆ ส่วนปัญหาการสร้างวัดและศาสนวัตถุนั้น ที่ผ่านมาเป็นในลักษณะขอความร่วมมือ แต่คาดว่าเร็วๆนี้อาจจะต้องออกกฎระเบียบกำหนดถึงขอบเขตการสร้างให้ชัดเจนต่อไป

          "ปัญหาดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ รัฐต้องขอความร่วมมือกับคณะสงฆ์ กล่าวคือในส่วนของมส. อยากให้มีการจัดระเบียบการกระจายอำนาจเพื่อให้มีการสนองงานเป็นขั้นตอน ซึ่งหากมีคณะกรรมการกลั่นกรองในแต่ละเรื่อง อาจทำให้มส.ใช้เวลาในการพิจารณาแต่เรื่องสำคัญๆเท่านั้น ในส่วนของคณะพระสังฆาธิการ หากพบปัญหาใดๆขอให้เรียกใช้ฝ่ายบ้านเมืองได้ทันที เพราะพร้อมจะสนองงานเต็มที่ ส่วนการเผยแผ่ธรรมะรัฐก็ยินดีถวายความรู้ด้านวิทยาการทันสมัยต่างๆ เพื่อให้การบริหารคณะสงฆ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ"นายวิษณุกล่าว

          นายวิษณุให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ปัจจุบันศาสนสมบัติกลางมีอยู่มาก และอยู่ในความดูแลของ พศ.ซึ่งก็สามารถดูแลได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้น ตนจึงมีความคิดว่าจะเสนอให้มีหน่วยงานอิสระ คือเป็นสำนักงานที่ไม่ใช่ส่วนราชการและเป็นมืออาชีพในการบริหารมาเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแล ภายใต้การกำกับดูแลของคณะสงฆ์อีกชั้นหนึ่ง แต่เนื่องจากเวลานี้ยังไม่สามารถทำได้ จะต้องมีการแก้พ.ร.บ.คณะสงฆ์ก่อน โดยความยินยอมของมหาเถรสมาคม ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการถวายความรู้และให้ความชัดเจนก่อนว่า จะเป็นการนำมาทำให้เกิดประโยชน์ไม่ได้เอามาแจกหรือแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เนื่องจากมส.เป็นห่วงว่าจะนำไปใช้ผิดพระธรรมวินัยและเงินจะไม่หายไปไหนอีก

          อย่างไรก็ตามส่วนที่เป็นห่วงว่าจะมีการนำเงินของวัดไปใช้นั้น ขณะนี้ก็มีการตรวจสอบกันอยู่หลายวัด แต่ก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นการดำเนินการทางลับ โดยปปง.เข้ามาช่วยอยู่

          รองนายกฯกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในเรื่องการเผยแผ่ธรรมะนั้น ตนได้หารือกับอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อขอให้มีรายการเกี่ยวกับธรรมะหลังข่าวช่วงสั้น ๆ ประมาณ ๓ นาที ทุกวัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องพระพุทธศาสนาโดยตรงแต่อาจจะเป็นเกร็ดธรรมะเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งหากมีการเผยแพร่ติดต่อกันทุกวันเชื่อว่าจะสามารถทำให้เรื่องของธรรมะซึมซับเข้าไปในจิตใจคนได้ ทั้งนี้คาดว่าจะให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีใหม่นี้เป็นต้นไป.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :