เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ย่างสู่กลียุค?

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
คอลัมน์ ชั่วๆดีๆ นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๑๖๔ หน้า ๑๓

 

          เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีผู้อ่านท่านหนึ่งเข้ามาทักผมขณะเดินซื้อของ พอทักเสร็จก็ต่อว่าต่อขานเป็นการใหญ่ว่าทำไมบางทีคอลัมน์นี้จึงหายไปดื้อๆ ไม่รู้หรือว่าคนอ่านเขาหงุดหงิดเวลาเปิดมติชนวันเสาร์แล้วไม่เห็นผมออกมาบ่นว่าในเรื่องต่างๆ

          ครับ...ฟังทีแรกก็รู้สึกปลื้มนิดๆ ที่มีคนติดตามงานเขียนของเราขนาดนั้น แต่ปลื้มได้วูบเดียวก็เปลี่ยนเป็นกลุ้มอย่างรวดเร็วเพราะจริงๆ แล้วที่หยุดงานไปบางครั้งก็เนื่องจากเหนื่อยล้ากับภารกิจสารพัด กระทั่งสมองคิดอะไรไม่ออกเลยในวันที่ต้องส่งต้นฉบับ

          ในการเขียนต้นฉบับครั้งนี้ก็เช่นกันผมขอสารภาพอย่างหน้าชื่นตาโรยเลยว่า โดยสภาพของปัญญาสมาธิแล้วยังไม่พร้อมจะเขียนเท่าไร แต่พอนึกถึงคำต่อว่าของมิตรรักนักอ่านท่านนั้นแล้วก็ต้องกัดฟัน "เปิดการแสดง" เพื่อไม่ให้เสียน้ำใจ

          สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมรู้สึกฝืดๆ ที่จะเขียนหนังสือในช่วงนี้ก็ไม่มีอะไรประหลาดหรอกครับ ผมติดตามข่าวสงครามมากจนเครียดไปหมด ทั้งดูทีวีทุกช่องที่รายงานสถานการณ์ในอิรัก ทั้งอ่านหนังสือพิมพ์และอ่านข้อมูลจากเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต เห็นภาพคนเจ็บคนตายจนความรู้สึกถูกกรีดเฉือนรุ่งริ่งไม่มีชิ้นดี ยังไม่ต้องเอ่ยถึงจินตนาการที่เลยเถิดไปถึงสภาพของโลกในอนาคต

          แน่ละ ผมเองก็เหมือนกับคนอีกหลายล้านในนานัปประเทศที่ไม่อยากเห็นสงครามเกิดขึ้น แต่แล้วเราก็พบว่าตัวเองกระจอกงอกง่อยสิ้นดีที่ไม่อาจยับยั้งมันได้ไม่ว่าจะพูดจะเขียนจะบ่นกันสักแค่ไหน หรือกระทั่งออกไปเดินขบวนกันในหลายที่หลายแห่ง เราก็ยังทำให้โลกนี้มีสันติภาพไม่ได้อยู่ดี

          ความรู้สึกเมื่อเห็นสิ่งไม่ถูกต้องแล้วทำอะไรไม่ได้นี่ ผมเชื่อว่าหลายท่านคงต้องผ่านพบมาบ้าง รวมทั้งคงรู้ดีอยู่แล้วว่ามันขมขื่นแค่ไหน

          ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ทำให้ผมหนาวสะท้านมากขึ้นก็คือเราไม่รู้เลยว่าต่อจากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้นกับโลก และเกิดขึ้นกับคนอย่างพวกเราซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศเล็กประเทศน้อย ในเมื่อทั้งโลกมี "เจ้าใหญ่นายโต" คอยควบคุมไปทั่ว และไม่ยอมขึ้นต่อกฎกติกาของใคร

          ภาพชาวแบกแดดจำนวนหนึ่งออกมาต้อนรับทหารอเมริกันและช่วยกันรุมกระทืบรูปปั้นซัดดัม ฮุสเซน ก็เป็นอีกฉากหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกฝาดเฝื่อนพิกล

          สาเหตุที่รู้สึกเช่นนี้ไม่ใช่เพราะเสียดายระบบเผด็จการในอิรักเราก็รู้ๆ กันอยู่ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีซัดดัมข่มเหงคนไว้ไม่น้อย และการถูกชาวบ้านจำนวนมากรังเกียจเดียดฉันท์ก็เป็นไปตามกฎแห่งกรรม

แต่พูดก็พูดเถอะ ผมรู้สึกว่าที่ชาวอิรักเดินตามรถถังอเมริกัน ไปถ่มน้ำลายรดรูปปั้นซัดดัมนั้น ทำให้ฝ่ายประชาชนเสียสง่าราศีไปเยอะทีเดียว อันที่จริงถ้า "ใจถึง" ขนาดนี้ ลุกขึ้นสู้กับระบอบเผด็จการเสียเองโดยไม่ต้องรอให้ต่างชาติมา "ปลดปล่อย" ภาพที่ออกมาคงจะสวยกว่ากันหลายเท่าเลย

          จะว่าไปความกระอักกระอ่วนของหลายๆ คนก็อยู่ตรงนี้แหละอยู่ตรงที่ถูกบังคับให้ "เลือก" ระหว่างระบอบการปกครองที่กดขี่กับการยึดครองของต่างชาติ หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือต้องเลือกระหว่างอธิปไตยที่ไม่มีประชาธิปไตย กับประชาธิปไตยที่ไม่มีอธิปไตย

          แล้วใครเล่าที่อยากจะเลือกมีแขนแต่เสียขา หรือเลือกมีขาแต่เสียแขน ทุกคนต่างก็อยากมีร่างกายที่ครบถ้วนเต็มร้อยทั้งนั้น

          ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ฉากความดีใจของชาวอิรักบางส่วนที่ออกมาต้อนรับการยึดกรุงแบกแดดโดยทหารฝ่ายพันธมิตร นับว่ามีนัยลึกซึ้งทางการเมืองเหลือเกิน ถ้าผมอ่านไม่ผิด เหตุการณ์นี้คงนำไปสู่ความเสื่อมทรุดของรัฐชาติ และแนวคิดเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างรวดเร็ว หลังจากทรุดมาแล้วในระดับหนึ่งเนื่องจากการกระแสทุนโลกาภิวัตน์

          ตามจินตนาการของผม จากนี้ไปพลังการเมืองต่างๆ ในโลกคงคบกันแบบข้ามพรมแดนมากขึ้น ใครสู้คู่ปรับภายในไม่ได้ก็คงไปหาพันธมิตรจากต่างประเทศมาช่วยกัน รัฐเล็กรัฐน้อยที่กลัวอิทธิพลรัฐใหญ่ก็อาจจะต้องสละอธิปไตยเฉพาะตัวไปหลายส่วน เพื่อรวมกันในระดับภูมิภาค หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องก้มยอมเป็นบริวารของอภิมหาอำนาจโดยปราศจากเงื่อนไข

          นี่ไม่ใช่ยุคสมัยที่น่าสนุกแต่ประการใด

          กล่าวเช่นนี้แล้ว ผมก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าเหตุการณ์นองเลือดในตะวันออกกลางก็ดี การแพร่ระบาดของโรคหวัดมรณะในระยะเดียวกันก็ดี มันช่างดูคล้ายลางหายนะของมนุษย์ที่ถูกระบุไว้ในคัมภีร์โบราณต่างๆ เหลือเกิน

          บางทีอาจเป็นได้ว่าแนวทางชีวิตที่เรายึดถือกันมาในช่วงร้อยสองร้อยปีหลัง อาจจะมีจุดมืดบอดอะไรบางอย่างที่ต้อนเราเข้าสู่มุมอับมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังไม่มีแนวโน้มอันใดเลยที่บอกว่าเรามองเห็นจุดอ่อนของตนเองตรงนี้

          ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของประเทศไทย ในห้วงสงกรานต์ที่กำลังมาถึงแทนที่เราจะทุกข์โศกไปกับชะตากรรมของโลก หรือถือการระบาดของโรคหวัดมรณะเป็นคำเตือนจากฟ้าดินให้ใช้ชีวิตอย่างสมถะสำรวม เรากลับชวนกันเที่ยวเตร่ให้มากขึ้นเอาเงินออกมาใช้จ่ายให้มากไว้ เพื่อชดเชยที่ทัวร์ต่างชาติไม่เข้ามาตามฤดูกาล

          คิดแต่เรื่องเงินอย่างเดียวแบบนี้... ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าคนไทยเราจะเผชิญกับกลียุคที่กำลังก่อรูปขึ้นด้วยกระบวนท่าใด.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :