เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

องค์กรสิทธิโลก ประณามทักษิณ

นสพ.กรุงเทพธุรกิจรายวัน วันศุกร์ที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


          สหรัฐ จี้ไทยรับผิดชอบ ขู่ฟ้อง"ยูเอ็น" สอบปมสลายม็อบตากใบ ๘๕ ศพ นิรโทษกรรมสากลจี้หาคนผิด - สภามุสลิมโลก ชี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ บัวแก้วขอ ๒ วันรวบรวมข้อมูลแจงต่างชาติ

          องค์กรสิทธิมนุษยชน และกลุ่มมุสลิมทั่วโลก ออกโรงตำหนิรัฐบาลไทย ไม่พอใจกรณีตายปริศนาม็อบตากใบ ๘๕ ศพ จี้เร่งหาตัวคนผิดมาลงโทษ ด้านสหรัฐ ร่วมวง ขู่เตรียมนำปัญหาไฟใต้เข้าที่ประชุมกรรมการสิทธิมนุษยชน "ยูเอ็น" ตรวจสอบ ส่วน "กระทรวงต่างประเทศ" ขอ ๒-๓ วัน เก็บข้อมูลแจงต่างชาติ

          รอยเตอร์ รายงานวานนี้ (๒๗) ว่า นิรโทษกรรมสากล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย สหรัฐ และชุมชนมุสลิมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้พร้อมใจกันออกมาแสดงความไม่พอใจต่อกรณีการเสียชีวิตจากเหตุการสลายการชุมนุมที่หน้าโรงพัก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๕ ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง ๘๔ ศพ(วานนี้เพิ่มอีก ๑ ศพ รวม ๘๕)

          กลุ่มนิรโทษกรรมสากล ซึ่งเป็นองค์การด้านสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนกรณีนี้อย่างเร่งด่วนเช่นกัน ถึงแม้จะยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยมีสิทธิในการใช้กำลังเพื่อป้องกันตัวเอง

          ทั้งนี้ นางดอนนา เกสต์ จากกลุ่มนิรโทษกรรมสากล กรุงลอนดอน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลไทยยอมตั้งคณะกรรมการอิสระแต่ก็มักจะล่าช้าไม่ทันการ หลักฐานบางอย่างสูญหายหรือถูกทำลาย

สหรัฐเตรียมนำปัญหาไฟใต้เข้ายูเอ็น

          นายเอ็ดการ์ วาสเควซ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ ออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลสหรัฐเรียกร้องให้ไทยดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจังเกี่ยวกับเหตุรุนแรงล่าสุดทางภาคใต้ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม ๘๕ คน จากเหตุการประท้วงรุนแรงที่ จ.นราธิวาส จนนำไปสู่การปะทะกัน และมีผู้เสียชีวิตในที่สุด

          ทั้งนี้ สหรัฐได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับยอดผู้เสียชีวิตที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และว่า รัฐบาลไทยต้องรับผิดชอบ และดำเนินการสอบสวนที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเหตุการณ์ล่าสุด ที่กลุ่มผู้ประท้วงนับพันปิดล้อมโรงพัก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนเกิดการปะทะกันและมีผู้เสียชีวิต

          พร้อมกันนี้ รัฐบาลวอชิงตัน ยังเตือนด้วยว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะนำเหตุการณ์รุนแรงทางภาคใต้ของไทยเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

กลุ่มสิทธิมนุษยชนเอเชียอัด"ทักษิณ"

          คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (เอเอชอาร์ซี) วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยเกี่ยวกับการเสียชีวิตของชาวไทยมุสลิมจำนวน ๘๕ รายในสัปดาห์นี้ โดยระบุว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถให้อภัยได้

          นอกจากนี้เอเอชอาร์ซี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง ยังได้วิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย โดยว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้สนับสนุนให้กองกำลังรักษาความมั่นคงเข้าสลายม็อบผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง

          "การที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากอันเป็นผลจากการใช้กระสุนจริงต่อฝูงชน และผลกระทบของการใช้แก๊สน้ำตาและการขาดอากาศในรถบรรทุกหลังการจับกุม ถือเป็นสิ่งที่น่าวิตกมากที่สุดและเป็นสิ่งที่ไม่สามารถให้อภัยได้" เอเอชอาร์ซี ระบุในแถลงการณ์

          เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในภาคใต้นับตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อทหารและตำรวจยิงกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเสียชีวิต ๑๐๖ คน

          "ไทยจะต้องจัดการสอบสวนอย่างเป็นอิสระในเรื่องนี้" นายบาซิล เฟอร์นันโด ผู้อำนวยการเอเอชอาร์ซี กล่าวและเสริมว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นมีการปิดบังใดๆหรือไม่ รัฐบาลจะต้องชี้แจงความจริงให้ทราบ"

          เอเอชอาร์ซี ระบุว่า การเสียชีวิตครั้งล่าสุดเป็นผลโดยตรงของความหย่อนยานอย่างมาก และโดยเจตนาของการควบคุมเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในภาคใต้ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา

          "การขาดการดำเนินการที่เด็ดขาดในการจัดการกับผู้ที่รับผิดชอบต่อการกระทำที่โหดร้ายก่อนหน้านี้ ได้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลายต่อไป" เอเอชอาร์ซี ระบุ

          ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซีย (สุฮาคัม) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ เตือนว่าหากรัฐบาลไทยไม่ยุติความรุนแรงในภาคใต้ คนบางคนอาจมองเป็นการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ และจะถูกฉวยประโยชน์ได้

มุสลิมโลกจี้หาผู้รับผิดมาลงโทษ

          นายราชา มูฮัมหมัด ราฟาซุล ฮัค เลขาธิการสภามุสลิมโลก ซึ่งเคยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนเหตุการณ์สังหารชาวมุสลิมที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี ให้สัมภาษณ์บีบีซีว่ารู้สึกเสียใจที่คนมุสลิมจำนวนมากต้องจบชีวิต และว่า กรณีนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้สอบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้ และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

          เลขาธิการสภามุสลิมโลก เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดคำถามกับวิธีการรับมือของทางการไทยในเรื่องนี้ และว่าสภามุสลิมโลกจะออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทยโดยส่งผ่านสถานทูตไทยในปากีสถาน

          อย่างไรก็ตาม บรรดารัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านไทย ต่างมีปฏิกิริยาอย่างระมัดระวังในเรื่องนี้อย่างมาก โดยคณะเจ้าหน้าที่จากประเทศสมาชิกอื่นๆ ในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) ซึ่งมีประชากรชาวมุสลิมรวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด ๕๐๐ ล้านคน ต่างออกมาแสดงความวิตกกังวล แต่ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยในเรื่องนี้

พรรคมุสลิมปากีสถานวอนยูเอ็นตรวจสอบ

          แนวร่วมอิสลาม ๖ พรรค ซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายค้านปากีสถาน ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นอิสลาม กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า เป็นการสังหารหมู่อย่างทารุณโหดร้าย พร้อมทั้งเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)เข้าสอบสวน

          ทั้งนี้ นายเลียกัต บาลอช เลขาธิการแนวร่วมอิสลามมิค มุตตาฮิดา มาจลิส- อี- อามาล กล่าวว่า การสังหารในไทยเป็นผลมาจากความหวาดกลัวต่อภัยก่อการร้าย ที่สหรัฐสร้างขึ้นทั่วโลก สร้างความเครียดให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของทุกแห่ง จนใช้ปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรงเกินกว่าเหตุ แม้ในคดีอาชญากรรมธรรมดาๆ

          พรรคอิสลาม(พรรคปาส) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้เปรียบเทียบการเสียชีวิตของผู้ประท้วงที่อำเภอตากใบว่า ไม่ต่างกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของยุคสมัย

          ขณะที่นายฮัตตา รามลี กรรมการในคณะกรรมการกลางพรรคปาส กล่าวว่า เนื่องจากมีชาวมาเลเซียจำนวนมากที่มีญาติพี่น้องในฝั่งไทย จึงวิตกว่า ความรุนแรงจะลุกลามไปถึงมาเลเซีย หากกองทัพไทยไม่ใช้ความอดกลั้น

อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ หวั่นปัญหาลุกลาม

          นายมาร์ตี นาตาเลกาวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นชาติมุสลิมใหญ่สุดของโลก แถลงว่า อินโดนีเซียวิตกเรื่องความตึงเครียดในภาคใต้ของไทยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ก็เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะทำการสอบสวนอย่างเหมาะสม

          ด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกและเจอปัญหากบฏมุสลิมในภาคใต้มานานหลายสิบปี แถลงว่า รัฐบาลเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย แต่ไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่จะสอบสวนต่อไป

ชี้ตากใบจุดชนวนไฟใต้รุนแรงขึ้น

          สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า บรรดานักวิเคราะห์ และผู้นำทางศาสนา ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า การเสียชีวิตของกลุ่มผู้ประท้วง ๘๔ ราย จะยิ่งทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น และความตึงเครียดระหว่างกลุ่มอิสลาม ในตอนใต้ของประเทศ กับรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นด้วย

          นายโคทม อารียา เลขาธิการกลุ่มสิทธิมนุษยชน ฟอรั่ม เอเชีย แสดงความเห็นว่า ยังไม่สามารถหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเรื่องข้างต้นได้ แต่แน่นอนว่าความรู้สึกของชาวบ้านในแถบนั้นต้องรุนแรงแน่ ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถจัดการกับเรื่องนี้ให้จบลงด้วยดีได้ ก็อาจเกิดเหตุรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมอีก

          "เราวิตกว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรง และการแก้แค้น อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแบ่งแยกเขากับเรามากขึ้นกว่าเดิม"

          ด้านนายปณิธาน วัฒนยากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในภูมิภาค ระบุว่า ชาวบ้านที่โกรธแค้น และกังขาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลน้อยลง ในการป้องกันการโจมตี ที่มุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมเสริมว่า สถานการณ์ในขณะนี้อันตรายกว่าเมื่อก่อนมาก แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่า จะส่งผลให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

          ขณะที่นายอับดุลเราะห์ มาน อับดุล ซาเหม็ด เจ้าหน้าที่องค์กรอิสลามระดับสูงในภาคใต้ แสดงความวิตกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดในภาคใต้ และอาจมีกลุ่มคนบางกลุ่มพยายามที่จะกระทำการบางอย่าง เพื่อแก้แค้นเรื่องที่เกิดขึ้น

          เช่นเดียวกับนายนิเดห์ วาบะ ประธานสมาคมโรงเรียนสอนศาสนาในภาคใต้ ที่วิตกว่า สถานการณ์ที่นี่จะต้องมีการนองเลือดมากขึ้น ซึ่งบรรดาทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่นี้ อาจต้องรับมือกับการโจมตีอย่างรุนแรง พร้อมเสริมว่า พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อผลที่จะเกิดขึ้นตามมา

"ทักษิณ" โทษสื่อกุข่าวถูกโลกประณาม

          วันเดียวกันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวตอบข้อถามผู้สื่อข่าวกรณีที่องค์กรมุสลิมโลกประฌามในสิ่งที่เราทำ และมีข่าวว่าโฆษกรัฐบาลสหรัฐ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า ไม่มี ไม่จริง

          พร้อมกันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้ย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า "คุณเอามาจากไหน คุณพูดเอง ข่าวเท็จ สหรัฐไม่ได้พูดอะไรเลย อย่าเอาข่าวเท็จมาถาม จนถึงวันนี้ไม่มีอะไรเลย เราอธิบายได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของเรา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นอุบัติเหตุ ไม่ได้ตั้งใจที่จะไปทำร้าย เป็นอุบัติเหตุระหว่างการขนส่ง"

          ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้รับผิดชอบจะเป็นใคร นายกฯ ย้อนถามว่า แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับผู้บริสุทธิ์ที่ต้องถูกฆ่าตายทุกวัน เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ไปสู่สันติภาพโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ง่าย

คกก.อิสลาม ชี้บานปลายแน่

          ขณะที่นายไพศาล พรมยงค์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะรอฟังข้อมูลจากรัฐบาลก่อน ข้อมูลจากนี้ไปเป็นข้อสมมติฐาน และข้อสงสัยเท่านั้น เขามองว่าเรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ ไม่อย่างนั้นเหตุการณ์จะบานปลายแน่นอน

          "เหตุการณ์ที่ อ.ตากใบ รุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่กรือเซะ เพราะกรือเซะนั้นผู้เสียชีวิตมีอาวุธอยู่ในมือและต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ผมช็อกกับเหตุการณ์นี้ ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ ต.ค.ที่มีผู้เสียชีวิต ๖ ศพ วันนั้นผู้นำศาสนาอิสลามเข้าใจและไม่ติดใจ แม้จะไม่พอใจที่มีการเสียชีวิตบ้าง ช็อกที่สองคือ มีผู้เสียชีวิตอีก ๗๘ ศพ และเสียชีวิตตั้งแต่คืนวันที่ ๒๕ ต.ค. ภาพที่ปรากฏออกมามันรุนแรงต่อจิตใจชาวมุสลิมมาก และผมเชื่อว่าคนไทยที่นับถือศาสนาอื่นๆ ก็คงรับสภาพไม่ได้เช่นกัน องค์กรมุสลิมทั่วโลกไม่พอใจกับเหตุการณ์นี้"

กรรมการสิทธิฯ จี้ "ทักษิณ" รับผิดชอบ-ขอโทษ

          คุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตทุกคนโดยไม่สามารถปฏิเสธได้ และจะช่วยเหลือแค่วัตถุนั้นไม่เพียงพอ ต้องดูแลจิตใจเขาด้วยแม้จะอ้างว่าผู้ที่เสียชีวิตนั้น เพราะได้ก่อความวุ่นวายก็ตาม แต่ครอบครัวของเขาไม่รู้เรื่องอะไรด้วยจึงต้องเยียวยาจิตใจผู้ที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัว

          "อยากให้นายกฯ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองแสดงออกถึงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วยการไปเยี่ยมเยียน ไปขอโทษเขาเรื่องที่เจ้าหน้าที่ไปทำผิดพลาดไว้ อย่าปกป้องลูกน้องจนเกินไป ไม่ใช่ว่าเห็นว่าเป็นลูกน้องทำอะไรดีไปหมด ทั้งๆ ที่ความจริงข้าราชการนั่นเองที่กลั่นแกล้งรังแกเขามาตลอดจับคน ๗๐-๘๐ คนโยนใส่รถเหมือนหมู เหมือนหมา นายกฯ ต้องลงโทษผู้ที่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำอย่างนี้เพื่อแสดงความจริงใจว่าอยากเห็นสันติสุขเกิดขึ้นในแผ่นดินจริง"

บัวแก้วขอ ๒ วันรวบรวมข้อมูลแจงต่างชาติ

          นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการเตรียมการชี้แจงกับต่างประเทศเกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงหน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง ๘๔ คนว่า ได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขอเวลาอีก ๑-๒ วัน ในการเตรียมการชี้แจงให้ต่างประเทศได้เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระหว่างนี้จะรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วน โดยเฉพาะประเด็นที่หลายประเทศมีความห่วงกังวลเป็นพิเศษ จึงต้องประมวลเนื้อหาให้ครบถ้วน และจะต้องมีความหนักแน่น

          ส่วนจะเชิญทูตประเทศมุสลิมประจำประเทศไทยมาฟังบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่นั้น นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า หากทูตกลุ่มประเทศดังกล่าวมีความสนใจและต้องการรับฟังคำชี้แจงเป็นพิเศษ กระทรวงการต่างประเทศ ก็จะดำเนินการตามนั้นอย่างไม่ขัดข้อง แต่คิดว่าข้อมูลที่ได้เตรียมการชี้แจงไว้จะสร้างความพึงพอใจและความกระจ่างให้กับต่างประเทศได้.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :