เสขิยธรรม
ประเด็นร้อน
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

รายงานพิเศษ :
เปิด ‘ร่างกฎมหาเถรสมาคม’
ว่าด้วยความผิดและวิธีลงโทษทางการปกครอง

โดย ปริวรรต
ธรรมลีลา ปีที่ 3 ฉบับที่ 31 มิถุนายน 2003

 

      ข่าว ‘พระตุ๋ยเณร’ ‘เจ้าอาวาสเมาเหล้าอาละวาด’ ‘พระครูเซ็กซ์โฟน’ ฯลฯ เหล่านี้เป็นเพียงประเด็นปลีกย่อยในบรรดาข่าวคราวความเสื่อมเสียในวงการพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องราวที่ชาวพุทธต้องรับรู้รับเห็นแทบไม่เว้นแต่ละวัน และทุกคราวที่พบเห็นก็ล้วนแล้วแต่สร้างความอ่อนเพลียละเหี่ยใจให้กับพุทธศาสนิกชน ที่ต้องการเห็นสาวกของพระพุทธองค์ประพฤติ ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา แต่เมื่อพระสงฆ์ผู้เป็นศาสนทายาทของพระพุทธองค์กลับมามีพฤติกรรมเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดความีเสื่อมศรัทธาขึ้นในความรู้สึกของญาติโยม รวมทั้งเป็นโอกาสของผู้ไม่หวังดีในการจะหยิบยกกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นข้ออ้างเพื่อการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา

      ทุกครั้งเมื่อเกิดกรณีพระสงฆ์ประพฤติผิดพระธรรมวินัยขึ้น ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่เจ้าคณะปกครอง ของพระที่ก่อเหตุ ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลความประพฤติของพระสงฆ์ที่อยู่ในความปกครอง พร้อมทั้งความคาดหวังถึงการจัดการดำเนินการ ที่เหมาะสมและรวดเร็วกับกาฝากผ้าเหลืองผู้นั้น เพื่อควบคุมพระสงฆ์ให้รักษาความประพฤติของตนเองให้อยู่ในพระธรรมวินัย รวมทั้งกำจัดคนหัวโล้นห่มเหลือง ที่มิได้ปฏิบัติตามคำสอนขององค์พระศาสดา ให้พ้นไปจากสถานภาพของนักบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อให้ศาสนาคงความบริสุทธิ์ โดยคนชั่วไม่มีโอกาสใช้ศาสนาเป็นช่องทางหากินกับความศรัทธาของผู้คนอีกต่อไป

      และทุกครั้งเช่นกันที่ทุกสายตา ต่างจ้องมองไปยังมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ด้วยความคาดหวังว่าจะได้เห็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่เข้ามาแก้ปัญหาความประพฤติของพระสงฆ์ที่ไม่ เหมาะสม เพื่อให้พระสงฆ์เป็นตัวอย่างของการปฏิบัติ ตามคำสอนของพระพุทธองค์ สมกับศรัทธาของญาติโยม แต่หลายครั้งหลายคราวเมื่อเกิดกรณีพระนอกรีตขึ้น กลับไม่มีการดำเนินการ หรือมีแต่เป็นไปด้วยความล่าช้า

      เมื่อกระบวนการทางคณะสงฆ์หรือระบบราชการที่เข้ามารองรับนั้นไม่ทันใจชาวบ้าน จึงไม่น่าแปลกใจว่าหลายครั้งที่ผ่านมาเมื่อเกิดกรณีพระสงฆ์ละเมิดพระธรรมวินัย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการเข้าไปแก้ปัญหาโดย เจ้าหน้าที่ตำรวจตามที่ญาติโยมแจ้งให้เข้ามาดำเนินการ ซึ่งส่วนใหญ่จะจบลงด้วยการนำตัวพระนอกรีตไปให้ เจ้าคณะปกครองดำเนินการสึกจากสมณเพศไป แต่คำถามคือ ทำไมคณะสงฆ์เองไม่สามารถจะดำเนินการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้จบลงในแวดวงของพระ โดยที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวให้น้อยลง ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ปัจจัยสำคัญคือการสร้างเครื่องมือทางการปกครองที่มีประสิทธิภาพ

      ‘ร่างกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยความผิดและวิธีลงโทษทางการปกครอง’ คือเครื่องมือล่าสุดของคณะสงฆ์ ที่จะเข้ามาตอบสนองแนวคิดในการสร้างกฎระเบียบของ คณะสงฆ์เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมความประพฤติของพระสงฆ์ให้เข้มงวด รวมทั้งกำจัดเหลือบในคราบนักบุญออกไปจากร่มเงาผ้าเหลือง

      เริ่มต้นขึ้นจากการประชุมคณะกรรมการฝ่ายปกครอง ของมหาเถรสมาคมที่มี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นประธานเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๕ ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าคณะสงฆ์ยังขาดเครื่องมือในการปกครองคณะสงฆ์เพื่อการบริหารกิจการคณะสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากรณีพระประพฤตินอกลู่นอกทางให้เสร็จสิ้นในแต่ละระดับชั้นของการปกครอง ที่ประชุมในวันนั้นจึงได้ร่วมกันยกร่างกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าว ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงร่างฯ อีกหลายครั้ง ก่อนจะนำเสนอ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาเถรสมาคม เพื่อตรวจสอบและให้คำแนะนำ และได้นำเสนอต่อมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณาในวาระที่ ๑ และ ๒ ไปเมื่อเร็วๆ นี้

      สาระสำคัญของร่างกฎมหาเถรสมาคมฉบับประวัติศาสตร์ดังกล่าวที่มีอยู่ทั้งหมด ๑๔ ข้อ อยู่ที่การกำหนดว่า หากพระภิกษุหรือสามเณรรูปใด ประพฤติให้เกิดความเสียหายต่อพระพุทธศาสนาด้วยพฤติการณ์เหล่านี้คือ ละเมิดพระวินัยอันเป็นโลกวัชชะ(เป็นที่ ติเตียนของชาวโลก) บิดเบือนพระธรรมวินัยให้วิปริตหรือความประพฤติอื่นใด ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือดูหมิ่นพระพุทธศาสนา รวมไปถึงความประพฤติ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการปกครองคณะสงฆ์ เช่น การฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวงกฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งมติหรือประกาศของมหาเถรสมาคม เมื่อมีการประพฤติผิดดังกล่าวเกิดขึ้น ให้ ‘เจ้าสังกัด’ หรือพระภิกษุชั้นเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะสังกัดซึ่งมีอำนาจพิจารณาลงโทษ หรือ ‘เจ้าของเขต’ หมายถึงเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะเจ้าของเขต เข้ามาพิจารณาโทษผู้กระทำผิด ส่วนกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นพระสังฆาธิการให้เจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตใกล้ชิด ที่ความผิดเกิดขึ้นเป็นผู้พิจารณาโทษ ซึ่งได้กำหนดโทษ ไว้ ๔ สถาน ตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ ตำหนิโทษ ไปจนถึงให้สละสมณเพศ

      ในกรณีจะพิจารณาให้พระสงฆ์หรือสามเณรต้องรับโทษถึงขั้นสละสมณเพศทันทีนั้น ต้องเป็นความผิดชัดแจ้งเท่านั้น แต่หากเป็นความผิดที่ไม่ชัดแจ้ง ร่างกฎดังกล่าวระบุว่า ให้เจ้าสังกัดหรือผู้ปกครองเขตการปกครอง คณะสงฆ์ที่ความผิดเกิดขึ้นแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน พร้อมทั้งได้เปิดช่องให้ผู้ถูกพิจารณา มีสิทธิอุทธรณ์ต่อเจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดของประธานคณะกรรมการสอบสวนภายใน ๗ วัน จากนั้นเจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดจะแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยให้ แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์

      และถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการถือเป็นที่ สิ้นสุด ซึ่งหากมีมติให้สึกแล้วไม่ยอมสึก ให้พระภิกษุ ผู้มีหน้าที่จัดการให้พระที่ทำความผิดสละสมณเพศขออารักขาต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเพื่อให้ปฏิบัติตามต่อไป

      ที่สำคัญร่างกฎดังกล่าวยังได้ระบุว่า หากเกิดกรณีพระนอกรีตแล้ว เจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตที่รับผิดชอบไม่ดำเนินการ ให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมรายงานเรื่อง ให้เจ้าคณะปกครองชั้นสูงขึ้นเข้ามาพิจารณาตามควรแก่กรณี ซึ่งหากพิจารณาว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำความผิดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา หรือแก่การปกครองคณะสงฆ์แล้ว เจ้าคณะปกครองที่เข้ามาดูเรื่องแทนสามารถใช้อำนาจดำเนินการเองได้

      ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่า นอกเหนือจากการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิด ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาขั้นอุทธรณ์ ตามเขตการปกครองคณะสงฆ์ทั่วประเทศแล้ว อาจจะมีการยืดหยุ่นไปถึงขั้นให้ฎีกาต่อคณะกรรมการกลาง ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับประเทศได้

      อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังคงไม่ได้ข้อสรุปคือการพิจารณาฐานความผิดที่ว่าด้วย ‘การกระทำอันเป็นโลกวัชชะ’ ซึ่งหมายถึง การที่สังคมชาวบ้านที่อยู่ล้อมรอบสังคมสงฆ์ในแต่ละพื้นที่มองพฤติกรรมของพระสงฆ์ ว่าไม่เหมาะสม ซึ่งย่อมมีความแตกต่างกันไป ตามแต่การมองจากคนในสังคมที่มีมาตรฐานของการยอมรับในความประพฤติของพระ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นของประเทศไทย สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นความผิดในสังคมหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำกันอยู่เป็นประจำในอีกที่หนึ่ง อย่างเช่น ทางภาคเหนือมองว่า พระฉันข้าวเย็นเป็นเรื่องปกติ แต่หากพิจารณาด้วย กฎมส.ฉบับใหม่นี้อาจจะมีโทษถึงขั้นให้สึกเช่นเดียวกับการเสพเมถุน จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานโทษจากการประพฤติผิดที่มีความรุนแรงต่างกันเพื่อให้ เกิดความเป็นธรรม

      ความคืบหน้าของการพิจารณาร่างกฎมหาเถรสมาคม ดังกล่าว หลังจากที่ได้ผ่านการพิจารณาจากมหาเถรสมาคมในวาระ ๑ และ ๒ ไปแล้ว และได้ผ่าน การพิจารณาของดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แล้ว พร้อมที่จะเสนอต่อมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งหากมหาเถรสมาคมเห็นชอบก็จะ มีผลบังคับใช้ทันที เนื่องจากเป็นกฎหมายทางการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งมหาเถรสมาคมมีอำนาจในการพิจารณาโดยตรงอยู่แล้ว

      ‘กฎมหาเถรสมาคมว่าด้วยความผิดและวิธีลงโทษทางการปกครอง’ ดังกล่าว จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะจุดประกายความหวังของชาวบ้าน ที่จะได้เห็นพระสงฆ์ ทั้งหลายครองความประพฤติที่เหมาะสมกับสมณสารูป และเรียกศรัทธาให้กลับมาอยู่ในใจของชาวพุทธเช่นเดิม

 

      ร่างกฎมหาเถรสมาคม

      ฉบับที่.. (พ.ศ.๒๕๔๖)
      ว่าด้วยความผิดและวิธีลงโทษทางการปกครอง

 

      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี และมาตรา ๑๕ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมตรากฏมหาเถรสมาคมไว้ ดังต่อไปนี้

      ข้อ ๑ กฎมหาเถรสมาคมนี้ เรียกว่า “กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ .. (พ.ศ.๒๕๔๖) ว่าด้วยความผิดและวิธีลงโทษทางการปกครอง”

      ข้อ ๒ กฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจาก วันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป

      ข้อ ๓ ในกฎมหาเถรสมาคมนี้

      “เจ้าสังกัด” หมายถึง พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ชั้นเจ้าอาวาส เจ้าคณะสังกัดซึ่งมีอำนาจพิจารณาลงโทษ แก่พระภิกษุหรือสามเณรผู้กระทำความผิด ในเขตปกครองที่สังกัดอยู่
      “เจ้าของเขต” หมายถึง พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ชั้นเจ้าอาวาส เจ้าคณะเจ้าของเขตซึ่งมีอำนาจพิจารณาลงโทษแก่พระภิกษุหรือสามเณรผู้กระทำความผิดในเขตปกครอง

      ข้อ ๔ เมื่อปรากฎว่าพระภิกษุหรือสามเณรประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

      (๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา ด้วยการ
       (ก) ละเมิดพระวินัยอันเป็นโลกวัชชะ หรือ
       (ข) บิดเบือนพระธรรมวินัยให้วิปริต หรือกล่าวตู่ พระธรรมวินัย หรือตีความพระธรรมวินัย ตามความคิดเห็นของตนเอง โดยไม่ยึดหลัก คัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา หรือ
       (ค) ประพฤติอื่นใดที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความ เสียหายแก่พระพุทธศาสนา หรือให้เกิดการ ดูหมิ่นเหยียดหยามพระพุทธศาสนา

      (๒) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การปกครองคณะสงฆ์ ด้วยการ
       (ก) ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ หรือประกาศของมหาเถรสมาคม หรือ
       (ข) ฝ่าฝืนพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช หรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตนที่สั่งโดยชอบ หรือ
       (ค) ประพฤติอื่นใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ การบริหารงานของคณะสงฆ์

      ให้เจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตที่ความผิดเกิดขึ้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการลงโทษ ตามกฎมหาเถรสมาคมนี้
      ในกรณีพระภิกษุผู้กระทำผิดตาม (๑) หรือ (๒) เป็นพระสังฆาธิการ ให้เจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตใกล้ชิดที่ความผิดเกิดขึ้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการลงโทษ

      ข้อ ๕ โทษที่จะลงแก่พระภิกษุหรือสามเณรที่กระทำความผิดตามข้อ ๔ มี ๔ สถานคือ
       (๑) ให้สละสมณเพศ
       (๒) ตำหนิโทษ
       (๓) ภาคทัณฑ์
       (๔) ว่ากล่าวตักเตือน

      ข้อ ๖ เมื่อมีการกล่าวหาหรือปรากฏว่า พระภิกษุหรือสามเณรรูปใดกระทำความผิดตามข้อ ๔ ให้เจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตที่ความผิดเกิดขึ้น ตามวรรคสอง หรือวรรคสาม ของข้อ ๔ แล้วแต่กรณี ดำเนินการไต่สวนหรือสอบสวนเอง หรือมอบให้พระภิกษุรูปอื่นดำเนินการให้ได้ความว่า พระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้นเป็นผู้กระทำความผิดจริง แล้วจึงพิจารณาวินิจฉัยลงโทษ

      ข้อ ๗ การลงโทษพระภิกษุหรือสามเณรตามข้อ ๖ จะลงโทษให้สละสมณเพศไม่ได้ เว้นแต่เป็นความผิดที่ชัดแจ้ง

      ข้อ ๘ ในกรณีที่เป็นความผิดไม่ชัดแจ้ง แต่เจ้าสังกัดหรือ เจ้าของเขตที่ความผิดเกิดขึ้นเห็นว่าความผิดนั้นต้องได้รับโทษ ถึงขั้นให้สละสมณเพศ ให้เจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตที่ความผิด เกิดขึ้น ผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการลงโทษตามวรรคสอง หรือวรรคสาม ของข้อ ๔ แล้วแต่กรณี แต่งตั้งคณะกรรมการ สอบสวน โดยมีเจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตเป็นประธานกรรมการ และแต่งตั้งพระภิกษุผู้เป็นพระสังฆาธิการจากที่ใดที่หนึ่งไม่น้อยกว่า ๔ รูป เป็นกรรมการ แต่ในกรณีที่เป็นการสวบสวน สามเณร อาจพิจารณาแต่งตั้งพระภิกษุที่มิได้เป็นพระสังฆาธิการเป็นคณะกรรมการสอบสวนก็ได้

      ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกพระภิกษุหรือสามเณร ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด มาชี้แจงข้อกล่าวหา และส่งพยานหลักฐานภายในเวลาที่กำหนด

      ในกรณีที่พระภิกษุหรือสามเณร ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่มาชี้แจง หรือมาแต่ไม่ยอมชี้แจง หรือไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาสละสิทธิในการชี้แจง ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการ พิจารณาวินิจฉัยความผิดได้

      การดำเนินการและการลงมติของคณะกรรมการสอบสวน ให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่กรณีมีเหตุอันสมควร ประธานคณะกรรมการสอบสวนจะขยายเวลาได้ แต่ไม่เกิน ๑๕ วัน

      ข้อ ๙ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวน พยานหลักฐานแห่งการกระทำความผิดเสร็จสิ้นแล้ว ให้พิจารณาวินิจฉัยความผิด และลงโทษแก่พระภิกษุหรือสามเณรผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะมีการลงโทษสถานใดหรือไม่ก็ตาม ให้รายงานผู้บังคับบัญชาเหนือชั้นขึ้นไปจนถึงเจ้าคณะจังหวัดและแจ้งให้เจ้าสังกัดทราบ

      ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดให้มีระบบการประสานงานเพื่อแจ้งผลการดำเนินการตามกฎมหาเถรสมาคม นี้แก่สำนักงาน และให้รวบรวมเสนอมหาเถรสมาคมทราบใน โอกาสอันสมควร ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมี หน้าที่ต้องช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการสอบสวนของคณะกรรมการ ตามควรแก่กรณี

      ข้อ ๑๐ คำสั่งลงโทษ ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ พระภิกษุหรือสามเณรผู้ถูกลงโทษ ลงนามรับทราบคำสั่งดังกล่าว ในกรณีที่ไม่ยอมลงนามรับทราบคำสั่ง หรือไม่อาจพบ พระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้น ให้ประธานกรรมการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และปิดประกาศคำสั่งไว้ ณ ที่พำนักอาศัยของพระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้น ในกรณีที่ไม่อาจทราบได้ว่าพระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้นพำนักอาศัยที่ใด ให้ปิดประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ วัดอันเป็นที่พำนักอาศัยของประธานกรรมการซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่ง เมื่อครบกำหนดสามวัน นับแต่วันปิดประกาศคำสั่งดังกล่าว ให้ถือว่า พระภิกษุหรือสามเณรผู้ถูกลงโทษได้รับทราบคำสั่งแล้ว

      ข้อ ๑๑ ในกรณีที่เจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตที่ความผิดเกิดขึ้นตามวรรคสอง หรือวรรคสาม ของข้อ ๔ ไม่ดำเนินการ ตามกฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมรายงาน เรื่องให้เจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดพิจารณาตามควรแก่กรณี

      ในกรณีที่เจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดพิจารณารายงานดังกล่าว และพยานหลักฐานอื่นประกอบกันแล้ว เห็นว่าพระภิกษุ หรือสามเณรผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้กระทำความผิด อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์ ให้เจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดเป็นผู้ใช้อำนาจดำเนินการ ตามกฎมหาเถรสมาคมนี้ได้เองโดยอนุโลม

      ข้อ ๑๒ คำวินิจฉัยให้พระภิกษุหรือสามเณรรูปใดต้องรับโทษไม่ถึงขั้นให้สละสมณเพศ ตามข้อ ๕(๒) หรือ (๓) หรือ (๔) ตามกฎมหาเถรสมาคมนี้ ให้เป็นอันถึงที่สุด

      ในกรณีมีการวินิจฉัยให้ลงโทษถึงขั้นให้สละสมณเพศ ให้พระภิกษุหรือสามเณรที่ต้องโทษดังกล่าวมีสิทธิอุทธรณ์ต่อเจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดของประธานกรรมการ ภายในเวลาเจ็ดวัน นับแต่วันที่รับทราบหรือถือว่าได้รับทราบคำสั่ง ตามข้อ ๑๐ ให้เจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดของประธานกรรมการ เป็นประธาน และแต่งตั้งพระสังฆาธิการอื่นอีกไม่น้อยกว่า ๔ รูปเป็นกรรมการ ให้คณะกรรมการดำเนินการวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และคำวินิจฉัยให้เป็นอันถึงที่สุด

      ข้อ ๑๓ เมื่อมีคำสั่งถึงที่สุดให้พระภิกษุหรือสามเณรรูปใดสละสมณเพศ และพระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้นได้รับทราบคำสั่ง หรือถือว่าได้รับทราบคำสั่งแล้ว ให้เจ้าสังกัดของพระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้น หรือเจ้าของเขตในเขตท้องที่ที่พบพระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้น แล้วแต่กรณี จัด การให้พระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้นสละสมณเพศโดยพลัน
      ในกรณีที่พระภิกษุหรือสามเณรรูปนั้นไม่ยอมสึก ให้พระภิกษุผู้มีหน้าที่จัดการให้พระภิกุหรือสามเณรรูปนั้นสละสมณเพศ ขออารักขาต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักร เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามความในมาตรา ๑๕ จัตวา วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

      ข้อ ๑๔ ให้เจ้าคณะผู้ปกครองทุกชั้น มีหน้าที่ต้องดำเนินการและอำนวยความสะดวกในการสอบสวนพิจารณา ลงโทษพระภิกษุหรือสามเณรผู้กระทำความผิด ตามควร แก่กรณี     

      ตราไว้ ณ วันที่........เดือน........พ.ศ.๒๕๔๖     

      (สมเด็จพระญาณสังวร)
      สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
      ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :