เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
ผี เ ข้ า
น.พ.เกษม ตันติผลาชีวะ
สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๓๐๑

          โรคประสาทกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันมาตั้งแต่สมัย Hippocrates ว่า Hysteria มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า hystera ซึ่งแปลว่ามดลูก เกิดจากความเข้าใจในยุคนั้นว่า โรคนี้ส่วนใหญ่พบในเพศหญิงและเกิดจากการที่มดลูกเคลื่อนผิดที่ผิดทางไปในร่างกาย

          ต่อมาเมื่อมีการจำแนกโรคเป็นหมวดหมู่โดยองค์การอนามัยโลก จึงมีการเรียกชื่อเป็น Hysterical neurosis ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ conversion type และ dissociative type ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๒ เป็นต้นมา มีการจำแนกโรคไว้ใน ๒ กลุ่มคือ Dissociative (conversion) disorders และ Somatoform disorders

          โรคกลุ่ม Dissociative (conversion) disorders มีอาการสำคัญคือ มีความผิดปกติของการประสมประสานระหว่างความจำเกี่ยวกับอดีต, การรับรู้เอกลักษณ์, การรับสัมผัสในปัจจุบันและการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มีความผิดปกติของสติสัมปชัญญะ ความจำ, เอกลักษณ์และการรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อม

          โรคผีเข้า จัดอยู่ในกลุ่ม Dissociative disorders ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Trance and possession disorders อาการสำคัญคือมีการสูญเสียการรับรู้เอกลักษณ์ส่วนตนและการรับรู้สิ่งแวดล้อมไปชั่วขณะ และอาจมีการแทนที่ด้วยบุคลิกภาพ, วิญญาณ, เจ้า หรือพลังอำนาจอื่นๆ

          ขณะมีอาการ ผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป กลายเป็นบุคลิกภาพใหม่ที่อาจแตกต่างจากบุคลิกภาคเติมโดยสิ้นเชิง บางคนพูดเสียงเปลี่ยนไปคล้ายเป็นเพศตรงข้ามหรือเป็นวัยอื่น บางคนพูดคำหยาบหรือแสดงออกทางเพศ บางคนอวดศักดาหรือแสดงอำนาจยิ่งใหญ่ ก้าวร้าวบังคับให้คนกราบไหว้ บางคนเรียกร้องขอกินสิ่งที่ไม่เคยกินมาก่อน

          อาการผีเข้า มีความเกี่ยวข้องและคล้ายคลึงกับ การสะกดจิตและการเข้าสู่ภวังค์ (trance) ต่างกันที่การสะกดจิตเป็นการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสติสัมปชัญญะและการรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมโดยจงใจ แล้วสามารถชักนำให้มีการรับสัมผัสและการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่ต้องการ

          ในกรณีที่มีการทรงเจ้าเข้าผีโดยเป็นการกระทำตามลัทธิความเชื่อหรือประเพณีวัฒนธรรมประจำถิ่น จิตแพทย์ก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวและไม่ต้องมีการวินิจฉัยโรคแต่อย่างใด

          ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการผีเข้าได้ง่าย ก็คือบุคลิกภาพเดิมของผู้นั้น คนที่ขาดความมั่นคงในบุคลิกภาพ มีปัญหาด้านเอกลักษณ์แห่งตนมักเป็นผู้ที่มีความเปราะบาง หวั่นไหวง่าย และอาจถูกโน้มน้าวชักนำโดยผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อมได้ง่ายกว่า หากมีปัจจัยด้านความเครียดหรือมีสิ่งที่เก็บกดไว้ในใจมาก ก็ยิ่งเสริมให้เกิดอาการผีเข้าได้ง่ายขึ้น

          การสะกดจิตหรือการโน้มน้าวจิตใจ อาจทำให้คนที่มีแนวโน้มจะถูกชักนำง่ายอยู่แล้วเกิดการรับรู้ตามที่เขาชี้นำ เช่น เห็นภาพคนมีรัศมีรอบตัวปรากฏบนท้องฟ้า หรือบางทีก็สามารถลุยไฟหรือเอาของมีคมแทงตามตัวได้โดยไม่รู้สึกเจ็บปวด

          โรคในกลุ่ม Dissociative disorders พบในเพศหญิงมากกว่าชาย ส่วนใหญ่พบในคนอายุน้อย เป็นได้ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และไม่ค่อยพบเมื่ออายุมากขึ้นไม่มีตัวเลขด้านอุบัติการณ์และความชุกที่แน่นอน แต่จัดว่าเป็นโรคที่พบน้อย

          ในประเทศไทยเคยมีการเกิดโรค Dissociative disorders ในลักษณะเป็นหมู่มาแล้วหลายครั้ง เคยพบคนมีอาการชักหรือมีอาการทางกายแปลกๆ พร้อมกันทีเดียวหลายคน ซึ่งมีจิตแพทย์และนักวิชาการทางจิตเวชเข้าไปศึกษาและรายงานไว้ โดยเรียกว่าเป็น โรคอุปาทานหมู่ (mass hysteria)

          เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ มีข่าวเด็กนักเรียนหญิงหลายคนเกิดอาการคล้ายผีเข้า ในเวลาไล่เลี่ยกัน เหตุเกิดที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด อาการคล้ายกับที่กล่าวไว้ข้างต้นเกือบทุกอย่าง จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นโรคผีเข้า ซึ่งในกรณีนี้เป็นแบบระยะสั้นและพบในเด็กหรือวัยรุ่น จึงเรียกว่า Transient dissociative (conversion) disorders occurring in childhood and adolescence มีเพียงรายเดียวที่มีอาการได้ยินเสียงแว่ว สั่งให้ไปกระโดดน้ำตายเสีย ซึ่งน่าจะเป็นอาการของโรคจิต มากกว่าจะเป็นโรคผีเข้า

          สื่อมวลชนติดตามข่าวนี้อยู่หลายวัน ส่วนใหญ่ไม่ได้เสนอความคิดว่าเด็กกลุ่มนี้มีอาการเจ็บป่วยทางจิตเวช แต่กลับไปให้ความสนใจแนวความคิดว่าเกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ แล้วก็ตามด้วยประโยคเดิมคือ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ซึ่งมีความหมายเป็นนัยว่าใครที่ไม่เห็นด้วยอย่างพูด เพราะคนที่พูดประโยคนี้เชื่อแน่อยู่แล้ว

          เรื่องนี้คงเป็นตัวอย่างที่สะท้อนความคิดและปัญญาของคนในสังคมได้พอสมควร และคงเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของระบบการศึกษาได้เช่นกัน

          ความเชื่อในเรื่องศาสนาและลัทธิต่างๆ เป็นสิทธิส่วนบุคคล และทุกคนมีสิทธิที่จะประกอบพิธีกรรมใดๆ ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น

          แต่นี่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้และเป็นที่ยอมรับกันแล้วในอารยประเทศ จึงควรให้ความสนใจศึกษาและทำความเข้าใจกันไว้บ้าง ก็น่าจะเป็นการดี

          รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลักก็ไม่ว่ากัน แต่ควรให้ความสนใจในเรื่องการเติบโตทางปัญญาของคนในชาติด้วย

          เพราะการเติบโตแต่ทางเศรษฐกิจโดยปัญญาหดตัวก็คงไปไม่รอดเหมือนกัน.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :