เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ที่ไปของระบอบทักษิณ

โดย เกษียร เตชะพีระ
กระแสทรรศน์ มติชนรายวัน
ฉบับ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๔๘๕

          เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้เสนอว่าที่มาของระบอบทักษิณ (เน้นความเป็นระบอบ, ไม่ใช่ตัวบุคคล) เกิดจากกระแสความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๓ ประการในสังคมการเมืองไทยปัจจุบัน ได้แก่

          ๑) รัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้เกิดอำนาจนิยมของฝ่ายบริหารได้

          ๒) พลังการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจรัฐ และรัฐนิยมทั้งซ้าย และขวาที่ฟื้นคืนมา

          และ ๓) สภาพของกำลังทุนที่เหลื่อมล้ำกันมากในกลุ่มทุนต่างๆ หลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐

          มาคราวนี้ผมใคร่จะลองขบคิดถึงที่ไป หรือลู่ทางในอนาคตของระบอบทักษิณดูบ้างว่าจะเป็นอย่างไร

          เวลาคิดถึงระบอบทักษิณ ผมอดมิได้ที่จะนึกถึงระบอบสฤษดิ์ (หมายรวมถึงการปกครองภายใต้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ต่อด้วยจอมพลถนอม กิตติขจร ระหว่าง ต.ค. ๒๕๐๑ - ต.ค. ๒๕๑๖ ทั้งในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ และนายกรัฐมนตรีของสองจอมพล) เพราะทั้งสองระบอบดูจะมีส่วนผสม (Ingredients) ละม้ายคล้ายกัน

          ในทรรศนะของผม ส่วนผสมของระบอบสฤษดิ์ = (สัมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutism)+การพัฒนาเศรษฐกิจ) ซึ่งบรรดารัฐบาลก่อนหน้านั้นตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมาต่างไม่มี กล่าวคือ

          ๑) ระบอบสฤษดิ์มีอำนาจเด็ดขาดสัมบูรณ์เหนือร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน โดยผ่านอำนาจปฏิวัติและมาตรา ๑๗ ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๒ จอมพลสฤษดิ์สามารถจับประชาชนยิงเป้าได้โดยไม่ขึ้นศาล ใช้อำนาจรัฐแล้วใครขวางไม่ได้ สังคมขวางไม่ได้ คนที่ค้านหรือเกรงว่าจะค้านถูกกวาดจับเข้าคุก

          ๒) ระบอบสฤษดิ์มีพลังมากในการเปลี่ยนสังคมไทย โดยรับลูกจากธนาคารโลกที่ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสำรวจ และวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ แล้วสถาปนาระบบ และหน่วยงานต่างๆ ให้บรรดาเทคโนแครตไทยบริหารเศรษฐกิจมหภาค เพื่อใช้กลไกรัฐผลักดันเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยตามแผนพัฒนาที่ธนาคารโลกคิด

ฉะนั้นแม้การพัฒนาเศรษฐกิจจะดำเนินไปมิช้านาน แต่เมื่อระบอบสฤษดิ์มีโครงการใหญ่ในการเปลี่ยนประเทศไทย และมีอำนาจสัมบูรณ์ที่จะสนับสนุนให้โครงการนั้นบังเกิดผล เพียงชั่ว ๑๕ ปีก็ส่งผลให้เกิดการลุกขึ้นสู้ ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖ เพราะพอทำแผนเปลี่ยนสังคมเศรษฐกิจได้ขนาดนั้น และมีอำนาจที่จะบดขยี้คนขัดขวางได้ขนาดนั้น มันย่อมมีผู้เสียหายบอบช้ำบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ผลของการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นมากถึงขนาดที่ใครก็ไม่อาจควบคุมได้ แม้กระทั่งตัวผู้กุมอำนาจรัฐที่ริเริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นเองก็ตาม แล้วมันก็ลงเอยด้วยสภาพที่พลังทางสังคมมีความไม่พอใจ และอัดอั้นกับอำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์ กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการพัฒนา

          มันจึงระเบิดตอน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และหลังจากนั้นการเคลื่อนไหวของกรรมกรและชาวนาขนานใหญ่ ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง ๓ ปีถัดมา

          ประสบการณ์ของสังคมไทยในอดีตภายใต้ระบอบสฤษดิ์ หลอนใจให้คิดเปรียบกับระบอบทักษิณปัจจุบัน ซึ่งผมคิดว่ามีส่วนผสมครบทั้งคู่ กล่าวคือ

          ประการแรก มีอำนาจสัมบูรณ์ (absolute power) ในกรณีของสฤษดิ์เป็นการนำหลักการอำนาจสัมบูรณ์ใส่เข้าไปในมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๒ อย่างเป็นทางการ (constitutionalization of absolutism) ทั้งที่เอาเข้าจริงหลักการปกครองแบบสัมบูรณาญาสิทธิ์ตรงข้ามสุดขั้วกับหลักรัฐธรรมนูญ (absolutism=constitutionalism) เพราะพอผู้ปกครองรัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สังคมก็ย่อมจะไม่มีหลักรัฐธรรมนูญหรือนัยหนึ่งหลักนิติรัฐ (the rule of law) ให้พึ่งพาเป็นประกันในทางปฏิบัติ แต่ปรากฏการณ์ใหม่ตอนนั้นคือเกิดการนำสัมบูรณาญาสิทธิ์ไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้การใช้อำนาจสัมบูรณ์กลายเป็นบรรทัดฐานแบบแผนปฏิบัติในทางกฎหมายได้

          กรณีปัจจุบันไม่ชัดขนาดนั้น เรามีรัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่เปิดช่องให้ฝ่ายบริหารอาจรวบอำนาจได้ แต่ก็ยังมีกลไกสถาบันต่างๆ ในรัฐธรรมนูญคอยถ่วงดุลตรวจสอบ ทว่าเมื่อบวกกับเงาของสงครามเย็นมรดกของสงครามเย็น ซึ่งแผ่คลุมสืบทอดอยู่ในวิธีคิด และวิธีปฏิบัติ อยู่ในวัฒนธรรมการใช้อำนาจ และวัฒนธรรมองค์กรของรัฐไทยมากว่าสามทศวรรษ มันก็ทำให้หัวหน้าฝ่ายบริหารสามารถใช้อำนาจอย่างสัมบูรณ์ได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สังคมไม่แยแสล่วงรู้หรือไม่อาจจะทัดทาน ซึ่งไม่ได้แปลว่าเขาต้องใช้อำนาจเช่นนั้นตลอด แต่เขาใช้ได้

          สงครามปราบปรามยาเสพติด คือหินลองทองที่ตรวจสอบท้าทายวิธีคิด และการมองโจทย์การเมืองแบบเก่าที่ติดอยู่ในปลัก "เผด็จการ VS ประชาธิปไตย"

          เราพูดกันมามากว่าขบวนการประชาชนไม่ได้ง่อยเปลี้ยเพลียแรงนัก ขบวนการรากหญ้ายังมีพลังอยู่ แต่ปัญหา ๒,๕๐๐ ศพเกิดขึ้นได้ยังไง?

          ปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไรในสังคมไทย?

          ถ้าบอกว่าเรามีขบวนการรากหญ้าที่ยังไม่หมดพลัง คนร่วมชาติตายไปได้อย่างไรถึง ๒,๕๐๐ ศพภายใต้การปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง?

          ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดเหล่านั้นอาจจะสมควรตายก็ได้ แต่ถ้าจะให้พวกเขาตาย ก็ต้องตายโดยถูกศาลสถิตยุติธรรมพิพากษาตัดสินตามกฎหมายแล้วไปยิงเป้าในที่อันควร

          อันที่จริงรัฐบาลทักษิณมีผลงานน่าชื่นชมหลายอย่าง รัฐบาลนี้ช่วยแก้ปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง ในประวัติศาสตร์ที่สังคมไทยประสบเรื่อยมาหลายประการ อาทิ ปัญหาระบบราชการ (bureaucracy) แก้ตกไป ปัญหาขุนนางนักวิชาการ (technocracy) แก้ตกไป ปัญหานักเลือกตั้ง (electocracy) แก้ตกไป ปัญหาเศรษฐกิจฟุบยาวหลังวิกฤตก็แก้ตกไปเหมือนกัน.....

          จนกระทั่งเกิดกรณีฆ่าตัดตอนผู้ต้องสงสัยค้ายาบ้า ๒,๕๐๐ ศพ กรณีนี้ผมเชื่อด้วยใจจริงว่าคนรุ่นที่ผ่านเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ มาเคยเห็นรัฐใช้อำนาจฆ่าคน ใช้อำนาจสัมบูรณ์เหนือร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนมาแล้ว ไม่อาจจะรับได้

          ฉะนั้นภายใต้สภาวะแบบนี้หากจะบอกว่าขบวนการประชาชนยังมีพลังละก็ ถ้าอย่างนั้นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

          มันคล้ายกับว่าที่ผ่านมาหลังจากพฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ เราคิดว่าสิ่งต่างๆ ในบ้านเมืองดีขึ้นแล้ว แต่ฉับพลันนั้น สิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นฝันร้ายในอดีตเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน มันเกิดขึ้นอีกได้อย่างไร เราจะพูดถึงความก้าวหน้าได้อย่างไร?

          ประการที่สอง นอกจากอำนาจสมบูรณ์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ระบอบทักษิณมีคือ โครงการที่จะเปลี่ยนประเทศไทย อันนี้อาจเห็นไม่ค่อยชัดในช่วงต้นๆ ทีแรกวิจารณ์กันว่า รัฐบาลนี้คงจะเข้ามาทำมาหากินแบบนักธุรกิจการเมืองธรรมดาเท่านั้น

          แต่พอผ่านไประยะหนึ่ง เกิดนโยบายจะขจัดความยากจนให้หมดจากประเทศไทย ด้วยมาตรการหลักคือโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน

          ผมคิดว่ามันมากกว่าการทำมาหากิน เพราะถ้ารัฐบาลทำสำเร็จมันจะเปลี่ยนประเทศไทย ทำให้ชาวนาที่เป็นผู้ผลิตรายย่อยหมดไป ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสต่อคณะผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอที่เข้าเฝ้าฯ ณ วังไกลวังวล หัวหิน เมื่อ ๓ ตุลาคม ศกก่อน ตอนหนึ่งว่า "แล้วก็ต่อไปทางรัฐบาลแถลงว่าไม่มีคนจนเลย ก็หมายความว่าต่อไปก็จะไม่มีผู้ผลิตอาหาร" (มติชนรายวัน, ๒ พ.ย. ๒๕๔๖, น.๒)

          ผมคิดว่า คำว่า "คนจน" ของรัฐบาล เมื่อมองในกรอบนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เขาหมายถึง "ชาวนารายย่อย" ความจนในรูปนี้จะต้องหมดไป กล่าวคือ ชาวนารายย่อยจะต้องกลายเป็นเถ้าแก่หรือไม่ก็กลายเป็นกุลี มีสองทางนี้เท่านั้น ชาวนารายย่อย ๑๐-๒๐% ที่แปลงสินทรัพย์เอาไปลงทุนทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะสร้างเนื้อสร้างตัวร่ำรวยกลายเป็นเถ้าแก่ ส่วนอีก ๘๐-๙๐% ที่ไม่สำเร็จก็จะล้มลายหมดเนื้อหมดตัวกลายเป็นคนงานรอให้เถ้าแก่จ้าง ซึ่งมันจะเปลี่ยนประเทศไทยขนานใหญ่

          จะเห็นได้ว่า รัฐบาลปัจจุบันมีด้านที่อำนาจเด็ดขาดสัมบูรณ์ กับด้านที่จะเปลี่ยนประเทศไทยควบคู่กันไปเมื่อ ๒ ด้านนี้บวกกันเข้า ผมจึงวิเคราะห์ตีความระบอบทักษิณโดยโยงเปรียบเทียบกับระบอบสฤษดิ์

          ทีนี้ฉากความเป็นไปได้ในภายภาคหน้า (scenarios) มี ๒ อย่าง ในแง่เล็งผลเลิศ รัฐบาลทักษิณมักจะวาดภาพว่า ถ้าสำเร็จคนจนจะหมดไปจากประเทศไทย แล้วมักจะอ้างอิงเปรียบเทียบกับสิงคโปร์หรือมาเลเซีย ผมอยากจะชี้ว่ามันเปรียบกันง่ายๆ แบบนั้นไม่ได้ ถ้าถามว่าทำไม? อันที่หนึ่งคือ สิงคโปร์ไม่มีผืนแผ่นดินใหญ่ด้านในที่เป็นชนบท (rural hinterland)

          ในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่รอบที่แล้ว มีนายทุนไทยจำนวนหนึ่งไปเที่ยวสิงคโปร์แล้วฝันอยากให้กรุงเทพฯ เป็นแบบสิงคโปร์ ทำนองว่า....ถ้าเราเฉือนแผนที่ประเทศไทยด้านสันขวาน โดยกรีดสี่เหลี่ยมตรงกรุงเทพฯ ให้หลุดลอยเท้งเต้งเป็นเกาะไปได้ ไอ้พวกคนจน คนไร้บ้านที่หลั่งไหลจากชนบทเข้ามานอนสนามหลวงจะได้ข้ามเข้ามาไม่ได้ไง....

          ฝันนี้กลายเป็น "จริง" ในช่วงสั้นๆ ระหว่างปิดกรุงเทพฯ จัดประชุมเอเปคเมื่อปลายปีก่อน ในแง่หนึ่งกรุงเทพมหานคร ใต้ยึดครองของกองกำลังเอเปคก็คือเมืองไทยในฝันหรือ imagined community ของชนชั้นนายทุนไทยนั่นเอง

          แต่ความจริงมันเป็นฝันที่เป็นไปไม่ได้ เพราะกรุงเทพฯ ตรึงติดอยู่กับขวานประเทศไทยทั้งเล่มซึ่งมี rural hinterland และย่อมจะร่วมชะตากรรมลอยหรือจมไปกับขวานเล่มนั้น แล้วผมคิดว่าการเปลี่ยน rural hinterland ไม่ง่าย เรื่องนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทักษิณทำราวกับว่าเมืองไทยไม่มี rural hinterland หรือมันเล็กซะจนจัดการได้ง่ายๆ

          การเปรียบเทียบที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอีกแง่หนึ่งคือ รัฐบาลทักษิณทำราวกับว่าเราไม่มีประชาสังคม นายกฯ ทักษิณพูด และทำการเมืองราวกับว่าประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จนกระทั่งพฤษภาคม ๒๕๓๕ แล้วมาถึงปัจจุบันไม่เคยมีอยู่

          ยังกับว่าเรื่องราวการเกิดขึ้นของกลุ่มพลังอิสระในสังคมไทย ซึ่งมากพอจะทัดทานเหนี่ยวรั้งอำนาจรัฐได้นั้น สามารถลบทีเดียวหายหมดเลย ราวกับไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้ในเมืองไทยเลย

          เหมือนกับที่มาเลเซียไม่มีประชาสังคมที่เข้มแข็ง เพราะความแตกต่างแบ่งแยกทางเชื้อชาติภายใน

          มันเป็นไปได้ยังไง?

          แน่นอน ในแง่หนึ่งดูจะมีปัญหาบางอย่างในสิ่งที่เรียกว่า "ประชาสังคม" ของไทยถ้าเกิดมันปล่อยให้การฆ่าตัดตอน ๒,๕๐๐ ศพเกิดขึ้นโดยที่ยอมรับได้ แต่ในแง่กลับกันคือ "ประชาสังคม" ไทยมันหมดไปได้ง่ายๆ อย่างนั้นเชียวหรือ?

          โดยสรุป ผมคิดว่าความสำเร็จของนโยบายเปลี่ยนประเทศไทยของรัฐบาลทักษิณขึ้นอยู่กับ

          ๑) การเปลี่ยนเศรษฐกิจชนบท และสังคมชนบททั้งหมด ในแง่ของการยกเลิกชนชั้นผู้ผลิตชาวนารายย่อย

          ๒) การล้างบางประชาสัมคมให้หมดพลัง กล่าวคือ กลุ่มพลังจัดตั้งของประชาชนที่เป็นอิสระ ต้องถูกแยกสลายหมดแล้วกลายเป็นอะตอม (atomization) ผมไม่คิดว่าจะกลายเป็นปัจเจกบุคคลด้วยซ้ำไป เพราะถ้าเราบอกว่า เราพยายามจะเปลี่ยนเขาให้เป็นปัจเจกบุคคล (individualization) เรากำลังให้เกียรติเขา เพราะว่าปัจเจกบุคคลคิดได้ด้วยตนเอง การเกิดขึ้นของปัจเจกนิยม (individualism) คือบุคคลที่มีเหตุผล และคิดเองเป็น แต่ดูเหมือนรัฐบาลทักษิณอยากจะเปลี่ยนประชาชนให้เป็นอะตอมมากกว่า เป็นอะตอมซึ่งคิดเองไม่เป็น จะพาไปกินไก่ที่ไหนเมื่อไรก็กระพือปีกเดินดุ่มต๊อกๆๆ ส่งเสียงขันเอ้กอิ๊เอ้กๆ ตามท่านตลอด

          แล้วถ้าแผนการเปลี่ยนประเทศไทยของรัฐบาลทักษิณล้มเหลวล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?

          ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ผมเห็นต่างไปจากอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ที่ได้พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างน้อย ๒ ครั้งทำนองว่า "สังคมไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มาแล้ว และจะไม่มีอย่างนั้นอีก".....

          แต่ถ้าเชื่อว่าระบอบทักษิณเปรียบได้กับระบอบสฤษดิ์ ถ้าเชื่อว่า (สัมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutism)+โครงการเปลี่ยนประเทศขนานใหญ่) กำลังเกิดขึ้นซ้ำในเมืองไทยเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นสมัยสฤษดิ์ ปัญหาสังคม กลุ่มคนที่ถูกสลัดหลุด ถูกเหยียบย่ำจากการเปลี่ยนแปลงด้วยอำนาจสัมบูรณ์ดังกล่าว ผู้เสียหายบอบช้ำบาดเจ็บล้มตายทั้งหลายเหล่านี้ น่าจะเป็นเชื้อมูลที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบเป็นไปเองที่คาดไม่ถึง และเหนือการควบคุมขึ้นอีกก็เป็นได้

          ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่? สำหรับผมจึงยังเป็นปัญหาที่เปิดปลาย.....

*

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :