เสขิยธรรม
ประเด็นร้อน
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

คำวิงวอน ฉบับที่ ๑
เรื่อง
ความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


          ตามที่เกิดความรุนแรงขึ้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ จนมีผู้ก่อการเสียชีวิต ๑๐๗ คน เจ้าหน้าที่เสียชีวิต ๕ คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่งนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นโศกนาฏกรรมของแผ่นดินอีกครั้ง ที่ยืนยันว่าสันติวิธีวิธีนั้นยากจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเผชิญหน้ากันของผู้คนที่แบ่งเป็นฝักฝ่าย แม้ว่าฝ่ายหนึ่งจะเป็นรัฐและอีกฝ่ายหนึ่งคือประชาชนภายในรัฐก็ตาม

          เราเห็นว่าขณะนี้ผู้คนกำลังถูกชักนำไปสู่ความสะใจกับประสิทธิภาพการใช้ความรุนแรงของรัฐ โดยลืมไปว่าผู้ที่ตายนั้นคือคนไทยด้วยกันเอง คือผู้ที่ส่วนใหญ่มีอายุไม่ถึง ๒๐ ปี เป็นเยาวชนที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ และส่วนใหญ่มีอาวุธเพียงแค่มีดเท่านั้น

          ถึงแม้เยาวชนกลุ่มนี้จะก่อเหตุความรุนแรงขึ้น แต่หากเรายังมองสถานการณ์ในลักษณะของการแบ่งออกเป็น ๒ ขั้ว คือการปฏิบัติการเพื่อความมั่นคงของรัฐ และการก่อเหตุที่ท้าทายความมั่นคงที่จะต้องขุดรากถอนโคนด้วยชีวิต สังคมจะเต็มไปด้วยความรุนแรง และรัฐจะสถาปนาอำนาจของตัวเองอยู่เหนือประชาสังคมจนสามารถก่อสงครามที่เรียกว่า "สงครามค้นหาศัตรู (diasnostic wars)" คือการก่อสงครามเต็มรูปแบบโดยยังไม่รู้ว่าใครเป็นศัตรูอย่างชัดเจน หรือยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครทำอะไรผิด ลักษณะเช่นนี้ความรุนแรงจึงถูกแสดงออกอย่างเต็มที่เพื่อให้เห็นว่ามีศัตรูของสงครามจริง และยิ่งมีข่าวว่ารัฐรู้ล่วงหน้าถึงความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นและวางกับดักให้ผู้ก่อการมาติดกับ ก็ยิ่งเห็นไฟแห่งความรุนแรงได้บดบังความเมตตาไปหมดแล้ว เราจึงได้เห็นการปะทะกันครั้งนี้ผู้ก่อการไม่มีใครบาดเจ็บเลย ทุกคนล้วนตายคาที่ทั้งสิ้น

          เราขอวิงวอนให้สังคมมีวุฒิภาวะในการมองปัญหานี้ที่พ้นไปจากการยึดติด ๒ ขั้ว โดยใช้หลักมนุษยธรรมเข้าแก้ปัญหา กล่าวคือ หากเรามองเยาวชนกลุ่มนี้คือลูกหลานของเรา และเขาหลงผิดไปทางใดทางหนึ่ง เราก็ต้องดำเนินการให้เกิดการเรียนรู้เพื่อที่จะชักจูงเขากลับมาเข้าสู่วิถีทางที่เหมาะสม แน่นอนว่าการดำเนินการเช่นนี้ ไม่สามารถจะบรรลุด้วยการส่งกองกำลังทหารตำรวจจำนวนมาก ลงไปในพื้นที่และการประกาศกฎอัยการศึก เพราะนั่นเท่ากับเป็นการเติมเชื้อไฟให้เขาคิดไปอีกด้านหนึ่งมากยิ่งขึ้น ข้อเสนอในการแก้ปัญหา ๗ ข้อ ของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ได้สะท้อนให้เห็นว่ามีความพยายามที่จะเข้าใจปัญหานี้ แต่ก็น่าเสียดายที่ข้อเสนอนี้ถูกปัดทิ้งไป

          นอกจากนี้การก่อการของกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวไม่ว่าจะได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มใดก็ตาม ก็ยังไม่มีอาวุธที่ทันสมัยพอที่ท้าทายต่อความมั่นคงของรัฐได้ นอกจากการก่อการในจุดเล็กๆ รวมทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นระยะก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นฝีมือของเยาวชนกลุ่มนี้ทั้งหมด เพราะกลุ่มที่ขัดแย้งกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีหลายกลุ่ม หากรัฐได้สนใจข้อเสนอแนะของฝ่ายต่างๆบ้างในการแก้ปัญหา เหตุการณ์คงจะไม่ขยายตัวมาถึงปัจจุบัน และคงสามารถเข้าถึงตัวผู้อยู่เบื้องหลังได้ แทนที่จะจบลงด้วยการสังหารเยาวชน ซึ่งอย่างมากก็เป็นได้เพียงผู้หลงผิดเท่านั้น

          การมั่นใจในการใช้ความรุนแรงว่าสามารถแก้ปัญหาแบบขุดรากถอนโคนได้นั้น ไม่น่าสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังกรณีที่กองกำลังของสหรัฐอมเริกาและพันธมิตรไปติดกับดักอยู่ที่ประเทศอิรักอยู่ในปัจจุบัน ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน แทนที่ความรุนแรงจะถูกขุดรากถอนโคน กลับอาจขยายตัวสู่ผู้คนทั่วไปใน วงกว้าง ซ้ำรอยกับประเทศอื่นๆที่มีเส้นทางเดียวกับที่เรากำลังชื่นชมอยู่ในปัจจุบัน

          เราขอวิงวอนให้รัฐทบทวนวิธีจัดการปัญหาด้วยความรุนแรงที่กำลังใช้ และกำลังชี้ให้สังคมเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดาและชอบธรรม แต่หันมาใช้ความเมตตาความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม ใช้ความเป็นมิตรเข้าไปแก้ปัญหา และเปิดโอกาสให้ความคิดที่หลากหลายได้มีโอกาสเสนอความคิดผ่านสื่อของรัฐ เพื่อที่จะสามารถพบแนวทางใหม่ๆ สำหรับยุติปัญหาหรือช่วยทำให้ปัญหาไม่ขยายตัวไปมากกว่านี้

          เราขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายที่กำลังชี้นำให้สังคมเห็นชอบกับความรุนแรงที่รัฐกระทำว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งในรูปของการวิพากษ์วิจารณ์และการขอประชามติจากคนที่ไม่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง และถูกชี้นำจากผู้จัดรายการหรือคนที่ถูกเลือกมาออกรายการ กรุณามีความรอบคอบและระมัดระวังในสิ่งที่นำเสนอ เพราะจะนำไปสู่อคติทางชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปประเทศไทยก็อาจจะเป็นอีกสมรภูมิหนึ่งที่ไม่ต่างไปจากอีกหลายประเทศ

          ความรุนแรงที่เกิดครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ที่อาจนำประเทศไทยเข้าสู่ความรุนแรงที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือว่าผู้คนจะได้สติกลับมาทบทวนบทเรียน และเห็นความสำคัญของการแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาแบบสันติวิธี เราหวังว่าภาพอย่างแรกที่เห็นอยู่ทุกวันนี้จะค่อยๆหายไป และเกิดภาพอย่างที่สองเข้ามาแทนที่

          เราเชื่อว่าไม่มีความสงบสุขใดที่ได้มาด้วยความรุนแรง แต่จะได้มาก็จากการใช้สันติวิธีเท่านั้น


กลุ่มอาจารย์สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ลักษณ์

ประกอบด้วย

ดร.เลิศชาย ศิริชัย
ดร.แพทริค โจรี
อาจารย์ฐิรวุฒิ เสนาคำ
อาจารย์สมใจ สมคิด
อาจารย์ณรงค์ บุญสวยขวัญ
อาจารย์สิริพร สมบูรณ์บูรณะ.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :