เสขิยธรรม
ประเด็นร้อน
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

พระรับปลุกเยาวชน
'จำลอง' ปัดวุ่นเข้าใจผิดออกตัวไม่รู้เรื่อง 'ซีดีคลั่งชาติ'

กองบรรณาธิการ
นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

          "จำลอง" ปัดไม่รู้เรื่องปลุกเยาวชนคลั่งชาติ อ้างประธานกลุ่มเสขิยธรรมเข้าใจผิดเรื่องอำนาจรัฐครอบงำศูนย์คุณธรรม ด้านพระวีรพันธุ์รับทำงานให้ บก.สส.โน้มน้าวเยาวชนใต้ "โคทม" เตือนระวังแตกแยก เรียกร้องทบทวน เตรียมผนึกคณาจารย์ทำวิจัยดับไฟใต้ ฟอรั่มเอเชียชี้ประชุมยูเอ็นปีหน้าไทยถูกซักหนักแน่ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน แนะจับตารัฐบาลปลุกขวาจัดหวังผลการเมืองแต่ก่อปัญหาระยะยาว

          พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ในฐานะแกนนำศูนย์คุณธรรม อันเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มองค์กรพัฒนาสังคมและเอกชนเพื่อช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุ ๙๖.๕ เมกะเฮิรตซ์ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายนนี้ ว่าไม่ทราบสาเหตุที่พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานกลุ่มเสขิยธรรมและเครือข่ายศาสนิก ๓ ศาสนา แสดงความไม่พอใจต่อการดำเนินการของศูนย์คุณธรรมในการแก้ปัญหาภาคใต้ โดยระบุว่ารัฐบาลได้เข้าแทรกแซงการทำงาน

          ก่อนหน้านี้ พระกิตติศักดิ์เปิดเผยว่า พล.ต.จำลองในฐานะประธานศูนย์คุณธรรม เข้าครอบงำกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ร่วมดำเนินการในนามศูนย์คุณธรรม โดยเบี่ยงเบนแนวทางจากการเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา มาเป็นสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลซึ่งมีลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ อีกทั้งปลุกกระแสคลั่งชาติที่จะนำไปสู่ความแตกแยกรุนแรง โดยกองบัญชาการทหารสูงสุดได้แจกจ่ายวีซีดีที่มีเนื้อหาปลุกเร้าชาตินิยม จนในที่สุดพระกิตติศักดิ์ต้องถอนตัวออกมาจากศูนย์คุณธรรม

          พล.ต.จำลองกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในการประชุมร่วมกันของศูนย์คุณธรรมก็มีการพูดจากันดีๆ อยู่ สาเหตุเชื่อว่าคงมีใครไปพูดให้พระกิตติศักดิ์เกิดความเข้าใจผิด และระแวงว่ารัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานทั้งที่ไม่เป็นความจริง เมื่อพระกิตติศักดิ์จะไม่มาทำงานร่วมกันโดยเฉพาะการลงพื้นที่ภาคใต้ร่วมกันก็ไม่เป็นไร ความคิดหลายอย่างที่เห็นไม่ตรงกันก็เป็นเรื่องธรรมดา เช่นพระกิตติศักดิ์เห็นว่าในการลงพื้นที่ภาคใต้ควรให้สื่อมวลชนติดตามไปด้วย แต่ตนไม่เห็นด้วย เพราะเพิ่งลงพื้นที่ครั้งแรก ไม่ได้ต้องการจะปกปิดข้อมูลอะไร อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพระกิตติศักดิ์คงเข้าใจผิดอะไรหลายอย่าง ซึ่งคงจะหาโอกาสไปทำความเข้าใจกันอีกครั้ง ส่วนเรื่องการทำซีดีแจกในภาคใต้ตนไม่ทราบเรื่องและยังไม่เคยเห็น

          ด้านพระวีรพันธุ์ หัวหน้าสำนักงานกองทัพธรรม กองทัพไทย กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้ออกมาปฏิเสธในเบื้องต้นว่าไม่ทราบเรื่องการแจกวีซีดีของ บก.สส. แต่เมื่อผู้ดำเนินรายการซักถาม พระวีรพันธุ์ก็ยอมรับว่าได้มาช่วยงาน บก.สส.ในการต่อสู้เรื่องยาเสพติดมานานแล้ว เพื่อให้เยาวชนห่างไกลจากยาเสพติด และขณะนี้ก็อยู่ในภาคใต้เพื่อเทศนาให้เยาวชนในภาคใต้รักชาติ โดยซีดีที่มีการเผยแพร่ในภาคใต้ได้เน้นย้ำให้เยาวชนเกิดความรู้สึกรักชาติรักแผ่นดิน แต่ไม่ได้เป็นฝ่ายแจกซีดีเอง

          นายโคทม อารียา ประธานมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงสังคมที่กำลังมีการสร้างกระแสชาตินิยม กรณีกองบัญชาการทหารสูงสุดจัดทำวีซีดีออกเผยแพร่กระตุ้นความรู้สึกประชาชน เรื่องการแบ่งแยกดินแดน ที่เราจะยอมให้เกิดขึ้นอีกไม่ได้แล้ว อันจะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาในภาคใต้ตามแนวทางสันติวิธีไม่ประสบผลสำเร็จ

          ประธานมูลนิธิสันติภาพฯ กล่าวว่า แนวทางคลั่งชาติจะยิ่งเป็นการสร้างความแตกแยกขึ้นภายในสังคมไทย เนื่องจากแนวคิดนี้จะเป็นการแบ่งขั้วให้เป็นสังคมส่วนใหญ่กับสังคมส่วนน้อย ถ้าใครมีความคิดหรือความรู้สึกที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะปัญหาภาคใต้ เช่นการแแก้ปัญหาของรัฐบาล ก็จะถูกมองว่าไม่รักชาติ โดยไม่ได้มองถึงเรื่องความถูกต้อง

          "ไม่ถูกต้องและไม่สมควรจะมาผูกขาดการรักชาติด้วยการสร้างแนวคิดชาตินิยมในภาวะเช่นนี้ เพราะมันคือการสร้างความแตกแยกในระยะยาวกับคนในสังคม ยิ่งกับเรื่องภาคใต้แล้วมันไม่ถูกที่จะมาแบ่งเป็นฝ่ายเขาฝ่ายเรา แล้วทำให้เกิดภาวะเสียงส่วนใหญ่กับเสียงส่วนน้อย เรื่องวีซีดีผมยังไม่เห็นว่ามีเนื้อหาหลักการอย่างไร แต่ทางต้นเรื่องที่จัดทำวีซีดีก็ควรต้องทบทวนและดูเนื้อหาด้วยว่าเป็นการสร้างภาวะชาตินิยมเกินไปหรือไม่ อย่างเรื่องการพับนกกระดาษของนายกรัฐมนตรีก็เป็นแนวทางสันติวิธีที่ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาภาคใต้ยังไม่มีอะไรที่จะเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดสันติที่ยั่งยืนได้" นายโคทมระบุ

          นายโคทมซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลในเดือนธันวาคมนี้ เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดลมีความเป็นห่วงต่อความรุนแรงในภาคใต้เป็นอย่างมาก จึงได้คิดทำโครงการวิจัยเรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้แบบยั่งยืน เพื่อศึกษาปัญหาภาคใต้ว่าเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใด และควรมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้แบ่งคณะทำงานออกเป็น ๒ ฝ่าย คือคณะทำงานที่มีการติดต่อกับหน่วยงานอื่นๆ นอกมหาวิทยาลัย เพื่อมาช่วยกันระดมความคิดเห็นและข้อมูลในการศึกษาปัญหาภาคใต้ เพื่อให้ออกมาเป็นงานวิชาการอย่างเป็นระบบ ล่าสุดมีหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้ตอบรับที่จะมาร่วมทำงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และคณะทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งขึ้น โดยทางมหาวิทยาลัยมหิดลจะทำการศึกษาปัญหาภาคใต้อย่างจริงจังและเป็นระบบ ทั้งการทำงานภาคสนามและภาควิชาการ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเข้าใจปัญหาภาคใต้ต่อสังคม

นายสุริชัย หวันแก้ว อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย และไม่ใช่เป็นเรื่องของการบังคับ การแก้ปัญหาควรมุ่งเน้นไปในแนวทางสันติวิธี ไม่ควรใช้ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพราะจะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นอีก

นายสมชาย หอมละออ เลขาธิการสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรั่มเอเชีย) กล่าวว่า ในการประชุมสมาชิกสหประชาชาติที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เดือนเมษายนปี ๒๕๔๘ เรื่องใหญ่ที่จะถูกนำมาเป็นประเด็นคือปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ที่มีความอ่อนไหวมาก การแก้ไขที่ไม่ถูกจุดจะทำให้เรื่องลุกลามใหญ่โต กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ กระทบต่อเสถียรภาพของภูมิภาคและของโลก

"นานาชาติสนใจเรื่องนี้มาก ยิ่งกว่าปัญหาประชาธิปไตยเสียอีก เพราะมันกระทบและสร้างความแตกแยกไปหมด ไม่เฉพาะไทยกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่เป็นไทยกับโลกมุสลิม เราอยู่ในประเทศไทย เราไม่รู้หรอกว่าในเวทีระหว่างประเทศหน้าตาของไทยเป็นอย่างไร ผมคิดว่ารัฐบาลต้องตอบคำถามเยอะ แต่ก็ไม่รู้จะตอบแบบไหน ขนาดตอบคนไทยยังปิดบัง อ้ำอึ้ง ตอบตัวเองก็ตอบไม่ได้ แล้วจะตอบนานาชาติอย่างไร" นายสมชายตั้งคำถาม

          เลขาธิการฟอรั่มเอเชียกล่าวว่า หากรัฐบาลไทยบริสุทธิ์ใจ มีการทำงานที่โปร่งใส ควรเปิดโอกาสให้สหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบ เว้นแต่เรามีบางสิ่งที่ปิดบังซ่อนเร้น ทั้งนี้สหประชาชาติจะไม่สอดส่องดูแลประเทศสมาชิกที่มีความโปร่งใส

          ผู้สื่อข่าวถามถึงการปลุกกระแสขวาจัด นายสมชายกล่าวว่า มีคนบางกลุ่มที่มีแนวคิดใช้ความรู้สึกมาแก้ปัญหามากกว่าใช้เหตุผลหรือข้อเท็จจริง รัฐบาลไม่ควรสนับสนุนด้วยการยอมให้ปลุกระดมผ่านสื่อของรัฐ ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ แต่มีหลายรายการที่พยายามยั่วยุให้สร้างความแตกแยก ซึ่งต้องถือเป็นความรับผิดชอบรัฐบาลโดยตรง แต่สิ่งที่น่าวิตกไปกว่านั้นคือ ขณะนี้ใกล้ช่วงเลือกตั้งใหญ่ จึงเกรงว่ารัฐบาล พรรคการเมือง จะนำเรื่องความมั่นคงมาปะปนกับผลประโยชน์ แล้วใช้เป็นประเด็นในการหาเสียง หากเป็นเช่นนั้นสถานการณ์คงจะบานปลาย ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย

          ส่วนการพับนกเพื่อสันติภาพ นายสมชายกล่าวว่า การเสนอเรื่องสันติภาพเป็นสิ่งที่องค์กรสิทธิมนุษยชนปฏิบัติอยู่แล้ว การพับนกถ้าทำโดยมีเจตนาแอบแฝง เรื่องดีอาจกลายเป็นความฉาบฉวย ซึ่งเชื่อว่าคนที่พับมีเจตนาแตกต่างกันไป ตอนนี้มีหลายเรื่องที่ต้องการความชัดเจน ความยุติธรรม โดย พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เสนอให้ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจับผู้ก่อความไม่สงบ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ คนที่จับได้จึงมีลักษณะไม่ต่างจากแพะ

          ยังมีความเห็นที่สอดคล้องกันจากนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว.นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ที่กล่าวว่า การประชุมสมาชิกสหประชาชาติทุกๆ ปี ประเทศไทยจะต้องรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสหประชาชาติ ซึ่งในปี ๔๘ ไทยต้องเตรียมคำตอบให้ดี เพราะประเทศและองค์กรมุสลิม องค์กรผู้พิพากษาสากล สมาคมสิทธิมนุษยชน รวมถึงองค์กรอื่นๆ คงจะตั้งคำถามที่ค่อนข้างรุนแรงถึงเรื่องที่มัสยิดกรือเซะ และที่อำเภอตากใบ ซึ่งคร่าชีวิตคนไปเกือบ ๒๐๐ ศพ

          "หากข้อสรุปออกมาว่าไม่มีการขอโทษต่อความผิดฉกรรจ์ ที่ทำให้คนโดนจับต้องตายอย่างอนาถ ไม่นำผู้รับผิดชอบมาขึ้นศาลอย่างที่ทั่วโลกทำกัน กลายเป็นว่าผู้เสียชีวิตดันเดินไปตายเอง ไทยคงจะถูกประณามจากเวทีโลก จึงขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมรับผิดแค่ไหน" นายไกรศักดิ์ระบุ

          นายไกรศักดิ์กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของประเทศไทยขณะนี้ไม่ค่อยดีเท่าไร จากที่ก่อนหน้านี้ไทยถือเป็นประเทศประชานิยม มีเสน่ห์ มีประชาธิปไตย และเสรีภาพ แต่ตอนนี้ภาพนั้นเปลี่ยนไป ต่างประเทศคิดว่าไทยอันตราย มีความเสี่ยง เริ่มถูกมองว่าเป็นประเทศที่ไม่มีเสรีภาพในการพูดความจริง ซึ่งการที่ตนพูดเช่นนี้ ก็จะถูกกล่าวหาว่าขายชาติ

          ด้านความคืบหน้าในการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๒๑ พ.ย.นี้ พล.อ.สัมพันธ์ บุญญานันต์ รมว.กลาโหม ได้พบปะกับดาโต๊ะ นิเดร์ วาบา นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายอับดุลลา อาซิส ยานยา ประธานชมรมครูปอเนาะ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายอุเซน ดาโห๊ะ เลขานุการของดาโต๊ะนิเดร์ นายสาโรจน์ จรจิต หัวหน้าฝ่ายการศึกษาโรงเรียนปอเนาะภาคใต้ นายแสวง มนัสสกุล กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และนายนิรันดร์ พันธรกิจ ผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรี หารือถึงแนวทางความร่วมมือในการแก้ปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

          ดาโต๊ะ นิเดร์ วาบา กล่าวถึงข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาและจัดระเบียบโรงเรียนปอเนาะว่า สถาบันการศึกษาที่สอนศาสนาอิสลามมี ๒ สถาบัน คือ สถาบันโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และสถาบันศึกษาปอเนาะ ซึ่งเป็น ๒ องค์กรใหญ่ใน ๕ จังหวัดภาคใต้ ซึ่งแนวทางของศาสนาอิสลามนั้น สอนให้ดำรงชีวิตอย่างสันติสุขบนแผ่นดินของพระเจ้าอัลเลาะห์ที่สร้างไว้ให้

          "ในวันนี้เราอยู่กันอย่างหลากหลายในเรื่องขนบธรรมเนียมและความแตกต่างทางศาสนา ซึ่งศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประนีประนอม ไม่ใช่ศาสนาสร้างปัญหา เมื่อลูกหลานเราเข้าไปศึกษาใน ๒ สถาบัน จะศึกษาเกี่ยวกับหลักการชีวิตความเป็นอยู่อย่างสันติสุขในโลกนี้และโลกข้างหน้า ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ผมไม่ปฏิเสธ แต่เห็นว่าเป็นส่วนน้อยที่สุด ซึ่งถ้าจะรีบแก้ไขก็แก้ได้ แต่ไม่ทราบว่าเพราะอะไรที่ไม่ได้แก้ไข ปล่อยให้ปัญหาสะสมมากขึ้น แล้วพอจะแก้ปัญหาด้วยวิธีสันติก็ทำไม่ได้ จึงต้องใช้ความรุนแรง ผมคิดว่าเราได้บทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น"

          ดาโต๊ะนิเดร์กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้เป็นไปตามคำเชิญของ รมว.กลาโหม ซึ่งต้องการเชิญมานานแล้ว เพื่อจะได้ตกลงกันร่วมทำงาน ร่วมมือร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมสร้างสันติภาพ สันติสุข ร่วมดูแลปกป้องประเทศชาติโดยสันติวิธีที่จะต้องอาศัยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ดูแลความสงบสุข ขณะเดียวกันอยากขอร้องสื่อให้ช่วยลงข่าวที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ สำหรับพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เราได้ถ่ายทอดให้เยาวชนในโรงเรียนสอนศาสนาซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งครูอาจารย์ ผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียนและประชาชนรอบบริเวณโรงเรียน บางคนสัญญาว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างนี้ตลอดไป เพื่ออนาคตลูกหลาน นอกจากนี้จะเข้าไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในมัสยิดใน ๕ จังหวัดด้วย

          ส่วน พล.อ.สัมพันธ์กล่าวว่า การหารือกันวันนี้ได้ตกลงกันว่าจะร่วมมือกันเพื่อความสงบสุข สันติ ความสามัคคี ความรักกันของคนไทยในภาคใต้ ให้กลับมา โดยผู้นำศาสนาและผู้นำด้านการศึกษามีแผนที่จะดำเนินการร่วมกัน จึงเป็นสิ่งที่น่าดีใจเป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าทุกคนจะสนองพระราชดำรัสด้วยความสามัคคีและความเข้าใจซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังขอเชิญชวนประชาชนให้ช่วยกันส่งความปรารถนาดีถึงพี่น้องใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการพับนก ตนมั่นใจว่าเหตุการณ์ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้จะสงบขึ้น เพราะกระแสพระราชดำรัส ทั้งนี้การหารือกันในวันนี้เป็นสัญญาณที่ดีในความร่วมมือเพื่อสันติสุข ในส่วนของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ยังไม่เข้าใจและเป็นปัญหาอยู่นั้น เราน่าจะแก้ปัญหาได้ ส่วนเรื่องโรงเรียนปอเนาะ รมช.กระทรวงศึกษาธิการกำลังร่วมมือกันแก้ไขปัญหากับผู้นำศาสนา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่

          ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีข่าวว่ามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มวัยรุ่นใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ซื้อรถจักรยานยนต์จำนวนมาก พล.อ.สัมพันธ์กล่าวว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าใครซื้อ แต่ไม่น่าผิดปกติ เพราะการซื้อรถจักรยานยนต์ต้องมีเงินประกันและมีหลักฐาน และคนในภาคใต้ชอบใช้รถจักรยานยนต์อยู่แล้ว

          รมว.กลาโหมกล่าวว่า นักเรียนนักศึกษาบางส่วนที่ยังไม่มีอาชีพนั้น รัฐบาลจะเร่งให้คนกลุ่มดังกล่าวมีงานทำประมาณ ๑ แสนคน และในวันที่ ๒๒ พ.ย. เลขานุการจุฬาราชมนตรีจะเสนอโครงการเพื่อให้เยาวชนมีงานทำ โดยคาดว่าโครงการส่งเสริมอาชีพนี้จะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ภายในเดือนธันวาคม-มกราคม ๒๕๔๘ นี้

          พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ ๔ กล่าวว่า รายละเอียดของแนวทางสันติวิธีที่รัฐบาลพูดถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายละเอียดที่เป็นรูปธรรม และไม่มีใครอธิบายได้ ตนในฐานะที่เคยเป็นแม่ทัพภาคที่ ๔ อยู่ในพื้นที่มานาน เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวของรัฐบาล เพราะเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาระยะยาว แต่เมื่อรัฐบาลไม่มีรายละเอียดแนวทางสันติวิธีจะมีรูปแบบอย่างไร จึงอยากเสนอรัฐให้จัดตั้งองค์กรภาคประชาชนขึ้นมา เพื่อดำเนินการภารกิจแนวทางสันติวิธี โดยองค์กรภาคประชาชนประกอบด้วยตัวแทนรัฐบาล อาจเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงในพื้นที่ที่ประชาชนให้การยอมรับและเข้าใจปัญหา ที่สำคัญต้องมีมุสลิมเข้ามาร่วมทำงานในองค์กรภาคประชาชนที่ว่านี้ ภารกิจขององค์กรภาคประชาชนคือการเจรจากับระดับผู้นำของกลุ่มขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมาถึงวันนี้รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดมาจากรากของปัญหาการแบ่งแยกดินแดน ที่ปัจจุบันยังมีผู้นำองค์กรเคลื่อนไหวทั้งในและต่างประเทศอยู่ การแก้ปัญหาตรงนี้ต้องใช้แนวทางสันติวิธี เจรจาต่อรองกันในทางลับ

          "การใช้แนวทางสันติวิธีแบบนี้จำเป็นต้องใช้เวลา เพราะบางเรื่องที่เขาเรียกร้องมาเราก็ให้ไม่ได้ จะต้องใช้วิธีการเจรจาต่อรอง แต่จะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวได้ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ใช้แนวทางสันติวิธี เพราะไปมองปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาอาชญากรรมทั่วไป ทำให้การแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ไปมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแก้ปัญหา" พล.อ.กิตติกล่าว

          ด้านสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลา ๒๓.๐๐ น. วันที่ ๒๐ พ.ย. คนร้ายปาระเบิดขวดใส่บ้านเรือนข้าราชการ ประชาชน พื้นที่อำเภอเมืองปัตตานีหลายจุด โดยจุดแรกปาระเบิดขวดใส่รถกระบะของดาบตำรวจวสันต์ สาเล็ม ในบ้านเลขที่ ๗๙/๖ หมู่ ๕ บ้านจะนิ่ง ต.บาระเหาะ อ.เมืองปัตตานี ต่อมาปาระเบิดขวดใส่บ้านของนายแพงศรี โยธวงค์ เลขที่ ๑๒ หมู่ ๓ บ้านบี ต.บาราใหม่ อ.เมืองปัตตานี

          เวลาไล่เลี่ยกัน ที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง คนร้ายได้ปาระเบิดขวดใส่บ้านพักข้าราชการอีก ๒ จุด คือบ้านของดาบตำรวจทวี บุญขุนทอง และบ้านพักพนักงาน อบต.เลขที่ ๔๐/๗ ถนนพูนสวัสดิ์ ได้รับความเสียหายเล็กน้อย นอกจากนี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า บ้านของนายนิติกร ศิริสากล อัยการจังหวัดปัตตานี เลขที่ ๑๕๔/๒๙ ซอย ๑๐ ต.ยะรัง อ.ยะรัง ถูกคนร้ายปาระเบิดขวดเข้าใส่ แต่ไม่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งบ้านของ ส.ต.อ.จิระศักดิ์ เล็กมัน เลขที่ ๓/๗ หมู่ ๑ บ้านลือเมาะ ต.สะกาวา อ.ยะรัง ระเบิดขวดถูกเต็นท์รถได้รับความเสียหายเล็กน้อย

          ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผบ.สส. ในฐานะประธานมูลนิธิเพื่อแผ่นดินไทย ได้มอบเงินช่วยเหลือครอบครัว พลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตจากการปะทะหรือถูกลอบทำร้ายจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จำนวน ๗๘ ราย เป็นเงิน ๙๖๐,๐๐๐ บาท

          พล.อ.ชัยสิทธิ์กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ทราบลึกๆ แล้วว่าใครอยู่เบื้องหลัง เป็นกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งกลุ่มค้าของเถื่อน น้ำมันเถื่อน หวยเถื่อน จึงใช้เงินจ้างวัยรุ่นที่ไม่มีความคิดแล้วพยายามชักนำต่างชาติเข้ามาเพื่อให้เกิดความสับสน เรารู้หมดแล้ว อย่าไปหลงทางเข้ากับกลุ่มพวกนี้ อย่าปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาก่อเหตุ

          ขณะที่ พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ ผอ.สสส.จชต. กล่าวว่า การปฏิบัติงานร่วมทหาร ตำรวจ ขณะนี้ได้มีการปรับให้ประชาชนเข่ามามีส่วนร่วม จะมีการประชุมกันเดือนละครั้ง เพื่อสรุปผลการปฏิบัติงาน สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ที่การก่อความไม่สงบซาลงไป ก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่จึงไม่ประมาท

          นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย น.พ.วิชัย เทียนถาวร ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เดินทางไปยังจังหวัดนราธิวาสเพื่อพบปะและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุมภักดีบดินทร ร.พ.นราธิวาสราชนครินทร์

          น.พ.ศิริชัย ภัทรนุทาพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส กล่าวรายงานว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.๒๕๔๗ มีประชาชนเสียชีวิต ๓๕๓ ราย บาดเจ็บ ๖๑๔ ราย มากที่สุดคือ จ.นราธิวาส บาดเจ็บ ๓๘๒ คน เสียชีวิต ๑๓๒ ราย จนถึงขณะนี้สถานการณ์โดยทั่วไปยังไม่น่าไว้วางใจ ข้าราชการที่เกิดความหวาดกลัว ทยอยขอย้ายออกจากพื้นที่จำนวนมาก ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการที่ทำงานใน ร.พ.ชุมชน ขอย้ายถึง ๘๐ คน ซึ่งบางคนน่าเห็นใจ เช่น สามีเป็นตำรวจและย้ายออกจากพื้นที่ไปแล้ว จำเป็นต้องขอย้ายตามสามี จึงได้พิจารณาอนุมัติเป็นรายๆ ตามความจำเป็น แต่หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ ปรากฏว่ามีข้าราชการนับ ๑๐ รายที่เปลี่ยนใจจะทำงานในพื้นที่ต่อ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก

          นางสุดารัตน์กล่าวว่า เพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ จึงได้เพิ่มค่าตอบแทนให้แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นอกจากนี้จะให้สิทธิพิเศษแก่สาธารณสุขอำเภอ ให้ซี ๘ ทุกอำเภอ และหัวหน้าสถานีอนามัยจะให้ซี ๗ ทุกสถานีอนามัย

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการประชุม มีตัวแทนพยาบาลจาก ร.พ.นราธิวาสราชนครินทร์ เรียกร้องให้ รมว.สาธารณสุข พิจารณาทบทวนเพิ่มค่าเสี่ยงภัยสำหรับพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยระบุว่า ปัจจุบันพยาบาลใน จ.นราธิวาสได้ค่าเสี่ยงภัยไม่เหมาะสม คือเดือนละ ๒,๕๐๐ บาท ซึ่งถ้าเทียบกับวิชาชีพอื่น เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ซึ่งได้เดือนละ ๑๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ บาท ถือว่าแตกต่างกันมาก ขณะที่พยาบาลถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าวิชาชีพอื่นๆ

          มีรายงานว่า จากเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการทำร้าย ฆ่าชาวไทยพุทธ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ชาวไทยพุทธที่เข้าไปทำมาหากินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หนีภัยออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ในพื้นที่ ต.ดุซงยอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ชาวไทยพุทธได้อพยพออกจากพื้นที่ทั้งหมด

          มีรายงานจากศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ถึงเหตุร้องเรียนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้ได้รับการร้องทุกข์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขอความช่วยเหลือ เดือดร้อนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตัวสร้างเงื่อนไขให้ประชาชน เป็นอาทิ... .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :