เสขิยธรรม
ประเด็นร้อน
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

"วิษณุ" แฉ ๓ แผน "อันตราย"
ทำลายพุทธ มี๒สังฆราช-ตั้งนิกายใหม่

แถมให้พระแสดงบัญชีทรัพย์สิน เสนอรบ.๒๑แผนคุ้มครองศาสนา


มติชนรายวัน วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๔๐๘

          "วิษณุ"ลั่นจัดระเบียบพุทธศาสนา พร้อมประกาศ ๒๑ นโยบายปฏิรูปพระสงฆ์ไทย ชูนโยบายใช้งานศพเผยแผ่ธรรมะ ใช้กฎหมายทางโลกและทางธรรมปราบพระผิดวินัย ทั้งยกบทบาทไวยาวัจกรเป็นซีอีโอของวัด พร้อมขอพระราชทานเครื่องราชแก่ไวยาวัจกรที่ทำประโยชน์ แย้มอยากให้สำนักงานพระพุทธศาสนาอยู่ใต้ วธ.เพื่อให้งานศาสนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม จากการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การส่งเสริมความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา" จัดโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)วันที่สอง โดยมีพระสังฆาธิการระดับรองเจ้าคณะจังหวัดจนถึงเจ้าคณะภาค ผู้บริหารและข้าราชการ พศ. และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมประมาณ ๓๐๐ รูป/คนนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแล พศ. กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลจัดตั้ง พศ.เพื่อสนองความต้องการของคณะสงฆ์ ทำให้หน่วยงานนี้ เป็นความหวังใหม่ของพุทธศาสนิกชน เพราะปัจจุบันคณะสงฆ์ถูกมองว่าอ่อนแอ แต่เมื่อเริ่มปรับตัว เช่น ออกกฎมหาเถรสมาคม(มส.)เกษียณพระสังฆาธิการอายุ ๘๐ ปี ก็ถูกสังคม และพระสงฆ์คัดค้าน

          "ขณะนี้แนวโน้มที่อันตรายต่อพุทธศาสนามี ๓ เรื่องได้แก่ ๑.การขอมีสมเด็จพระสังฆราช ๒ พระองค์ตามนิกาย หากยอมให้เป็นเช่นนี้ จะส่งผลให้สมเด็จพระสังฆราชไม่เป็นสกลมหาสังฆปริณายกอีกต่อไป ๒.การตั้งนิกายใหม่ ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้รัฐบาลไม่ยอม แต่สำหรับการตั้งนิกายใหม่คงไปห้ามไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญให้อิสระในการนับถือศาสนา ดังนั้นรัฐจะไม่อุปถัมภ์ และคุ้มครองนิกายใหม่ ๓.การแสดงให้เห็นว่าคณะสงฆ์ไม่น่าไว้วางใจ เช่น เสนอออกกฎหมายให้พระสังฆาธิการ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือต่อคณะสงฆ์" รองนายกฯ กล่าว

          นายวิษณุกล่าวด้วยว่า ตนมีนโยบายพัฒนาพุทธศาสนาสอดคล้องกับที่คณะสงฆ์เสนอได้แก่

          ๑.จัดทำแผนพุทธศาสนาแห่งชาติ ครอบคลุมเรื่องการศึกษา เผยแพร่ กฎหมาย การปกครองสงฆ์ทั้งใน และนอกประเทศ ควรเป็นแผน ๕ ปี เพื่อให้ทุกฝ่ายพัฒนาพุทธศาสนาไปในทิศทางเดียวกัน ๒.ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาช่วยงาน พศ. แบ่งเป็น ฝ่ายศาสนบุคคล,ศาสนวินัย,ศาสนวัตถุ,ศาสนธรรม และศาสนพิธี โดยประกอบด้วยพระสงฆ์ และนักวิชาการ เนื่องจาก พศ.มีบุคลากรเพียง ๒๓๐ คนเท่านั้น

          ๓.ขอพระอำนาจสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๙ ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพื่อช่วยกลั่นกรองงานต่างๆ ของมหาเถรสมาคม และกระจายอำนาจบริหารงาน และฝึกพระรุ่นใหม่เตรียมเป็นกรรมการ มส. ๔. จัดตั้งสถาบันอบรมพระสังฆาธิการ ซึ่งรัฐยินดีจัดงบประมาณถวาย

          ๕.จัดตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด เพื่อสนองงานคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค

          ๖.จัดหาอาสาสมัครพุทธศาสนาเพื่อช่วยงานคณะสงฆ์ในจังหวัดต่างๆ

          ๗.นำกฎหมายบ้านเมืองมาเสริมกับกฎหมายคณะสงฆ์เพื่อลงโทษพระสงฆ์ที่ทำผิดพระธรรมวินัย และทำผิดกฎหมายอย่างเฉียบขาด โดยเฉพาะการก่อเหตุไม่เหมาะสมที่มากที่สุดคือการข่มขืน, กระทำชำเรา, ฉ้อโกง, ติดยาเสพติด, ใช้อาวุธปืนทำร้ายผู้อื่น, สะสมอาวุธ, ทำลายโบราณวัตถุโบราณสถาน, ใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งหากเป็นความผิดชัดเจนให้ลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง ถ้าไม่ชัดเจนให้ถอดถอนออกจากการเป็นพระสังฆาธิการและถอดสมณศักดิ์, งดเงินนิตยภัต

          ๘.จัดยกย่องเชิดชูพระสงฆ์ สื่อมวลชนและศิลปินที่สร้างสรรค์ และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม ซึ่งเมื่อครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งว่าพระสงฆ์ดีๆ มีอยู่มาก น่าให้รางวัล นายกรัฐมนตรีจึงรับใส่เกล้าฯ

          ๙.ปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดตั้ง ยุบย้ายวัดทั้งหมด ขณะนี้ได้มอบให้ มส.ตั้งคณะทำงานแก้ไขกฎกระทรวงนี้ โดยเฉพาะปัจจุบันมีการขอตั้งวัดขึ้นใหม่จำนวนมาก และเห็นว่าน่ะจะนำเอาระบบแผนที่ทางอากาศ(GIS) เข้ามาใช้ดูแลการจัดตั้งวัด อีกทั้งผู้ขอจัดตั้งวัดจะต้องส่งรูปถ่ายพื้นที่ และแผนผังของวัดมายัง มส. ด้วย เพื่อไม่ให้การก่อสร้างจริงผิดเพี้ยนไปจากแบบแปลนเดิม

          ๑๐.นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในกิจการคณะสงฆ์ มีจัดทำบัตรประจำตัวพระที่มีรูปประวัติและสมณศักดิ์

          และลายนิ้วมือแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งได้สั่งการให้ มส.เร่งจัดทำทะเบียนวัดเก่า วัดใหม่ วัดร้าง และทำทำเนียบพระ ทำเนียบไวยาวัจกร ทำเนียบศาสนสมบัติ โดยเฉพาะทำเนียบพระจะช่วยป้องกันไม่ให้พระสงฆ์ที่ต้องโทษปาราชิก สึกออกจากความเป็นพระกลับมาบวชใหม่ได้อีก รวมถึงจัดทำบัญชีทรัพย์สินของเจ้าอาวาส ศาสนสมบัติ และวัด แยกออกจากกันอย่างชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลและตรวจสอบ

          ๑๑.ปรับปรุงบทบาทไวยาวัจกร โดยต่อไปไวยาวัจกรจะเป็นซีอีโอของวัด มีหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน และมีผลประโยชน์ตอบแทน เช่น หากดูแลวัดเป็นเวลา ๑๐-๒๐ ปี อาจจะขอพระราชทานเครื่องราชฯให้           ๑๒.จัดตั้งสำนักจัดการศาสนสมบัติที่มีลักษณะเป็นองค์กรอิสระ จ้างมืออาชีพเข้ามาบริหาร อยู่ภายใต้การดูแลของคณะสงฆ์อีกชั้นหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจจะต้องแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ แต่ขณะนี้ก็สามารถดำเนินการได้โดยอยู่ในความดูแลของสำนักงานศาสนสมบัติ แต่บริหารงานในรูปคณะกรรมการและจ้างมืออาชีพเข้ามาบริหาร

          ๑๓.ปรับปรุงบทบาทหน้าที่กรมการศาสนา สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กับ พศ. ให้ชัดเจน เนื่องจากทั้ง ๒ หน่วยงานยังมีงานที่ทับซ้อนกันอยู่

          ๑๔.อยากให้ พศ. ไปอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรมเนื่องจากการให้อยู่คนละหน่วยงานกับกรมการศาสนา จะทำให้การดูแลศาสนาในภาพรวมไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งข้าราชการ พศ. จะขาดความก้าวหน้าในทางราชการ

          ๑๕.จัดตั้งคณะกรรมการศาสนสัมพันธ์แห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้นำศาสนาพุทธ, คริสต์, อิสลาม, พราหมณ์ ฮินดู, ซิกข์ เพื่อให้ผู้นำแต่ละศาสนาได้มาทำความตกลงกันเกี่ยวกับจรรยาบรรณ การเผยแพร่ศาสนา การก่อสร้างโบราณสถาน และศิลปกรรมแต่ละศาสนา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เช่น การก่อสร้างโบสถ์คริสต์ที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมไทยแต่มีไม้กางเขนหน้าโบสถ์ รวมถึงการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ และการสัมมนาวิชาการ และปัญหาสังคม เช่น การทำแท้ง เป็นต้น

          ๑๖.จัดรายการธรรมะภาคปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หลังข่าวช่อง ๑๑, รายการธรรมะภาคภาษาอังกฤษออกอากาศทางวิทยุ และโทรทัศน์ โดยจะระดมพระภิกษุที่จบปริญญาโท และเอก และเก่งภาษาอังกฤษเข้ามาช่วย และจัดรายการตอบปัญหาธรรมะ

          ๑๗.เพิ่มบทบาทพระสงฆ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น แก้ปัญหาโรคเอดส์, ยาเสพติด, การส่งเสริมการอ่าน, ปลูกป่า และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

          ๑๘.สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเผยแผ่ธรรมะโดยจะหาทางจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุให้ แต่เบื้องต้นอาจจะให้จัดสรรคลื่นวิทยุชุมชน และเคเบิลทีวีให้กับพระสงฆ์เพื่อเผยแผ่ธรรมะ

          ๑๙.ส่งเสริมโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา, โรงเรียนวิถีพุทธ และการจัดทำหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนา

          ๒๐.จัดแปลงงานศพให้เป็นธรรมะ เนื่องจากแต่ละวันมีคนเข้าวัดเป็นแสนคน แต่เข้ามาร่วมงานศพเป็นส่วนใหญ่ จึงคิดว่าน่าจะจัดการฟังธรรมะหน้าเมรุอย่างน้อยให้ได้ศพละ ๑ บทก็ยังดี และ๒๑.ส่งเสริมข้าราชการปฏิบัติธรรม โดยให้ข้าราชการลาปฏิบัติธรรมได้ปีละ ๓-๕ วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา ซึ่งจะเสนอที่ประชุม ครม.เร็วๆ นี้

          นายวิษณุกล่าวอีกว่า เรื่องทั้งหมดนี้ รัฐบาลจะเร่งดำเนินการ เรื่องไหนเดินหน้าได้ ก็จะทำไปก่อน ถ้าเรื่องไหนจะต้องแก้ระเบียบกฎหมายก็คงต้องใช้เวลาดำเนินการ เพราะ พศ.ยุคใหม่ จะต้องคิดใหม่ ทำใหม่ บริการใหม่ ไม่มีพระสงฆ์เป็นลูกค้า ก็ต้องทำให้รวดเร็วและถูกต้อง

          "ผมรู้สึกดีใจที่ไม่ได้ยินพระสงฆ์เรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๕ โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ได้ยินมาว่าอาจจะทำให้เกิดเหตุใหญ่โต ซึ่งรัฐบาลเข้าใจว่าทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยต่างมีเหตุผลของตัวเอง แต่รัฐบาลจะทำการแก้ไขแน่ แต่ต้องมีความเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด ส่วนกฎหมายส่งเสริม และคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่พระสงฆ์เรียกร้องเพื่อเป็นกฎหมายลูกตามมาตรา ๗๓ ของรัฐธรรมนูญนั้น จะไปดำเนินการต่อไป" รองนายกฯ กล่าว.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :