เสขิยธรรม
ความเคลื่อนไหว
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

วิกฤติแม่น้ำของ(โขง)
เมื่อน้ำขึ้น - ลงไม่เป็นธรรมชาติ (๑)

สุมาตร ภูลายยาว - เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คอลัมน์ สดจากประชาสังคม ข่าวสด วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๔๘๕๑ หน้า ๕

ตลิ่งของสองข้างทางน้ำของ
แม้ยืนมองอยู่ยังคอตั้งบ่า
เขาหาบน้ำตามขั้นบันไดมา
แต่ตีนท่าลื่นลู่ดั่งทูเทียน

เหงื่อที่กายไหลโลมลงโทรมร่าง
แต่ละย่างก้าวยันสั่นถึงเศียร
อันความทุกข์มากมายหลายเล่มเกวียน
ก็วนเวียนอยู่กับของสองฝั่งเอย

"นายผี"

          บทกวีที่ยกมานี้เป็นบทกวีของผู้เฒ่าคนหนึ่ง ที่มีโอกาสได้มายืนอยู่บนริมฝั่งของแม่น้ำสายประวัติศาสตร์สายหนึ่ง ที่ครั้งอดีตถูกขีดเส้นให้แบ่งความสัมพันธ์ของคนทั้งสองฝั่งออกจากกัน โดยเงื่อนไขของความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ และได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คน ที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำของ

          จากบทกวีดังกล่าวนี้ แสดงนัยยะของความจริงที่เกิดขึ้นบางอย่าง ให้คนที่ไม่เคยได้รับรู้ความเป็นไปของแม่น้ำสายนี้ได้รับรู้ "เขาหาบน้ำตามขั้นบันไดมา" แสดงให้เห็นว่า คนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำของได้อาศัยแม่น้ำสายนี้เป็นที่เลี้ยงชีวิตมาชั่วหลายอายุคนแล้ว

รู้จักแม่น้ำของ

          แม่น้ำของ หรือ โขง (ของเป็นภาษาเรียกน้ำโขงของคนท้องถิ่น) เป็นแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดมาจากภูเขาจี้ฟู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย บนที่ราบสูงธิเบต เขตจังหวัดหยู่ซู่ มลฑลฉิงไห่ ประเทศจีน โดยมีแม่น้ำจาคูและแม่น้ำอาคูไหลมารวมกัน

          คนจีนทั่วไปเรียก "แม่น้ำหลานซาง" ซึ่งมีความหมายว่า แม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก แต่คนชนชาติลื้อในแคว้นสิบสองพันนาหรือสิบสองปันนา เรียกแม่น้ำสายนี้ว่าแม่น้ำ "ล้านช้าง"

          แม่น้ำของไหลผ่าน ๖ ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา และไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม มีความยาวทั้งสิ้น ๔,๙๐๙ กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก มีจำนวนพันธุ์ปลาที่สำรวจพบ ๑,๒๔๕ ชนิด มีพื้นที่ชุ่มน้ำ ๗๙๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร

แม่น้ำของตอนบนจะได้รับน้ำจากการละลายของหิมะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตอนล่างได้รับน้ำจากเทือกเขาต่างๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำของ

          บริเวณประเทศไทยที่แม่น้ำสายนี้ไหลผ่าน มีแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่คือ ภาคเหนือมีแม่น้ำกก แม่น้ำอิง ในภาคอีสานมีแม่น้ำมูน และแม่น้ำสงคาม ในลาวมี แม่น้ำยอน แม่น้ำงาว แม่น้ำงึม แม่น้ำเทิน แม่น้ำเซกอง

          ในกัมพูชามีโตนเลสาป หรือทะเลสาบเขมร ซึ่งต้นน้ำส่วนหนึ่งต่อเนื่องมาจากเทือกเขาสอยดาวฝั่งตะวันออกของจังหวัดจันทบุรี และในเวียตนามมีแม่น้ำเซซาน

          สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำของ แม่น้ำสายนี้เปรียบเหมือนเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขา ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า ๖๐ ล้านคน มีชีวิตผูกพันอยู่กับแม่น้ำสายนี้ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหาร เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ทำการเกษตร การเดินทาง การขนส่ง ตลอดจนใช้ดื่มกิน และสันทนาการ

วงจรน้ำขึ้น-น้ำลงของแม่น้ำของ

          ระดับน้ำขึ้น-น้ำลง ในแม่น้ำของ จะมีความแตกต่างกัน ระหว่างฤดูฝนและฤดูแล้งถึง ๒๐ เมตร ส่งผลให้ชุมชนที่อยู่อาศัยตามริมฝั่งแม่น้ำ มีวิถีการผลิตที่แตกต่างกันออกไปตามธรรมชาติ น้ำขึ้น-น้ำลง

          ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งน้ำจะรู้และเข้าใจดีว่าปลายเดือนพ.ค.ถึงต้นเดือนมิ.ย.ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่น้ำเริ่มจะขึ้นและมีระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเดือนส.ค. เมื่อเดือนต.ค.มาถึง น้ำจะเริ่มทรงตัวและเริ่มลดลงในเดือนพ.ย. ขณะเดียวกันเดือนที่น้ำลดลงมากที่สุดก็คือเดือนเม.ย.ของทุกปี

มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ วิกฤติระดับน้ำในแม่น้ำของ

          ม.ค.-ก.พ. ๒๕๔๗ เป็นเดือนและปีที่วิกฤติที่สุดของแม่น้ำของ เพราะระดับน้ำในแม่น้ำของลดลงอย่าน่าใจหาย ระดับน้ำซึ่งวัดที่สถานีอุทกวิทยาเชียงแสน เปรียบเทียบกันระหว่างต้นปีถึงวันที่ ๑๖ ก.พ.ปี ๒๕๔๗ กับปี ๒๕๔๖ พบว่าระดับน้ำต่างกันพอสมควร

          นายสมชาย พูนนิคม หัวหน้าศูนย์สำรวจอุทกวิทยาเชียงแสนกล่าวว่า "ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงจริง ๆ ก็ต้องเป็นเดือนเม.ย.ของทุกปี ซึ่งการลดลงของน้ำนั้นจะมีความแตกต่างกันอยู่ที่ประมาณ ๑-๒ เมตร แต่ในปีนี้น้ำกลับลดลงในเดือนก.พ. ระดับน้ำลดลงเหลือ ๑.๖๗ เมตรแล้ว ที่สถานีวัดระดับน้ำอ.เชียงของซึ่งเก็บสถิติของระดับน้ำในเดือนก.พ.ช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนก.พ.พบว่า ระดับน้ำตั้งแต่วันที่ ๑๐-๑๖ ก.พ. เฉลี่ยอยู่ที่ ๐.๙๐ เมตร ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์"

          สภาพวิกฤติของแม่น้ำโขง ไม่ได้เกิดเฉพาะที่เชียงแสนและเชียงของเท่านั้น แต่ยังเกิดทางตอนล่างลงไป และยังส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำสาขา นายรัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ เจ้าหน้าที่ของ IUCN (สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์) ซึ่งในทำงานในพื้นที่จังหวัดนครพนมกล่าวว่า "แม่น้ำของที่จังหวัดนครพนมก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งในปีนี้ก็ลดลงกว่าปีก่อนมาก และเมื่อแม่น้ำของลดลงก็ส่งผลให้แม่น้ำสงคามซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำของลดลงด้วย" .. .


หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม |> ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :