เสขิยธรรม
ความเคลื่อนไหว
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ท่องแดนยาพันหม้อ
กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย
วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๖

คณะธรรมยาตรา
คณะธรรมยาตรา

          การขึ้นล่องแม่น้ำโขง อาจเป็นเรื่องธรรมดา ของนักท่องเที่ยว และคนในพื้นที่ แต่ครั้งนี้ เป็นธรรมยาตรา ล่องเกาะแก่ง เพื่อค้นหาสัจจะของชีวิต และสัมผัสวิถีชีวิต ที่ผูกพันธ์กับสายน้ำ รวมถึงการร่วมรับรู้ปัญหา ที่เกิดขึ้นกับสายน้ำ ที่ไหลผ่านหลายประเทศด้วยกัน ดารารัตน์ วีระพงษ์ มีเรื่องเล่า

          ธรรมยาตรา เป็นการเดินทางเพื่อการเรียนรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แบ่งปันประสบการณ์ โดยผสานเอาแง่มุมทางพุทธศาสนา กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน เข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงเป็นการเรียกร้องให้ใช้ สันติวิธี และ ปัญญา ในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่เป็นประเด็นร้อนในสังคม

          การเดินทางครั้งนี้ เริ่มขึ้นที่เชียงของ เมืองเล็ก ๆ ของเชียงราย หากข้ามโขงไปอีกฝั่งของเชียงของจะเป็นบ้านห้วยทราย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จุดที่นักท่องเที่ยวต้องแวะไปประทับตราเข้าเมือง ก่อนจะเข้าไปเที่ยวชมจุดต่าง ๆ ของลาว คณะธรรมยาตราของเราครั้งนี้มีทั้งหมด ๓๙ คน นำทีมโดย พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ จาก เสขิยธรรม และ ครูตี๋-นิวัต ร้อยแก้ว กับ สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา จาก กลุ่มรักษ์เชียงของ พวกเราจะอยู่ด้วยกันอีก ๘ วันเต็ม ๆ !!

.

โขงขุ่นข้นเชี่ยวกราก
โขงขุ่นข้นเชี่ยวกราก

          ในหน้าฝนอย่างนี้ โขงขุ่นข้นอย่างเห็นได้ชัด แม่น้ำโขงรูปร่างคดเคี้ยวเหมือนงูใหญ่ ครูตี๋ คิดว่า พญานาคก็คือแม่น้ำโขง ที่คดเคี้ยวเลื้อยยาวมาตั้งแต่ทิเบต จนจรดเขมร นั่นแหละ ที่กลายมาเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับพญานาค ก็เป็นเพียงกุศโลบายที่ปู่ย่าตายายวางไว้เท่านั้น เพื่อเตือนให้เราไม่ทำร้ายแม่น้ำ หากเราทำอะไรไม่ดีเมื่อไหร่ พญานาคก็จะลงโทษเรา แม่น้ำจะลงโทษเรา

 

๑.ล่องแม่น้ำโขง

          แม่น้ำโขงนี่ เขาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น ยาพันหม้อ หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่มีอยู่ในแม่น้ำโขง ก็คือ ยาที่รักษาร่างกายเราให้แข็งแรง เป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงร่างกายและสติปัญญาของเรานั่นเอง

          แม้การเดินทางวันแรก เราตั้งใจจะไปให้ถึงปากแบ่ง แต่ก็ไม่เป็นไปดังตั้งใจ เลยเลือกแวะพักริมหาดที่ไร้ผู้คน แต่กว้างพอที่จะกางเต็นท์สำหรับทุกคนนอนได้เย็น ๆ อย่างนี้ เพื่อนร่วมทางกำลังเล่นน้ำกันร่าเริง น้ำโขงขุ่นเย็น สีเหมือนชาเย็น ตอนล่องมาแวะคุยกับแม่หญิงลาว ๓ นางที่กำลังร่อนทองง่วนอยู่ พวกเธอมีกระด้งไม้แผ่นใบใหญ่กลม กับทรายที่ตักขึ้นมา ส่ายร่อนครั้งแล้วครั้งเล่า ค่อย ๆ แยกทรายออกทีละนิด ๆ

แม่หญิงลาวกำลังร่อนทอง
แม่หญิงลาวกำลังร่อนทอง

.

          กระทั่งเหลือไว้แต่เกล็ดทองคำระยับแดด ก่อนจะเอาไปร่อน เขาจะขุดหาเอาจากดินก่อน ด้วยความชำนาญ แม่หญิงสามารถบอกได้ว่า บริเวณใดมีทองบ้าง พอขุดลงไปเจอเกล็ดแวววาวที่ผสมปนเปอยู่กับเม็ดทราย พวกเธอก็จะตักเอาดินนั้นไปใส่กระทะร่อน ผสมน้ำโขงนิด แล้วร่อนส่ายอย่างเป็นจังหวะ กระทั่งเกล็ดทองเผยโฉมออกมากระทบแดดระยับ นี่ทำให้หวนนึกถึงที่เคยได้รู้มาว่า ก่อนจะชื่อ หลวงพระบาง เดิมเมืองนี้ชื่อ เชียงทอง ซึ่งมีความหมายง่าย ๆ ตรงตัวว่า เมืองแห่งทองคำ เหตุก็เพราะว่าเมืองนี้มีทองคำอยู่มากมายในผืนดินนั่นเอง

          ช่วงกลางปีเช่นนี้ สายน้ำไหลเชี่ยวกราก จำนวนนักท่องเที่ยวไม่หนาตาเหมือนหน้าหนาว แต่ก็ไม่เคยหมดไปจากแม่น้ำสายนี้ ตลอดทั้งปียังมีคนเดินทางมาชมความงาม ความอลังการของแม่น้ำโขง ลุ่มลึกของเมืองและวิถีชีวิตผู้คนตลอดสองฝั่งโขง

          ภาพที่เห็นบ่อยที่สุด เห็นจะเป็นภาพของทั้งเด็กน้อย สาววัยแรกรุ่น และรุ่นแรก รวมทั้งหนุ่มฉกรรจ์ออกเรือหาปลาเป็นระยะ ๆ ครูตี๋ เล่าให้ฟังว่า วิธีการหาปลาในแม่น้ำโขงมีหลากหลายมาก หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า ถ้าเป็นน้ำลึก ชาวบ้านจะใช้วิธีการปักเบ็ด แต่ถ้าเป็นน้ำตื้นเขาจะใช้วิธีการหว่านแห หรือใช้สวิงตักปลาเอาเลย ซึ่งวิธีการทั้งหลายที่ว่ามานี้ มาจากการสังเกตวงจรชีวิตของปลานั่นเอง เป็นภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ น่าสนใจมากทีเดียวแล้วการแบ่งหน้าที่ก็จะชัดเจนระหว่างหญิงชาย ไม่มีใครเหนือกว่าใคร

          แต่หน้าที่จะเหมาะสมตามสภาวะของเพศ เช่น หญิงจะยกยออยู่ริมตลิ่ง ส่วนชายจะออกเรือไปกลางแม่น้ำโขง เพื่อหาปลาในจุดที่ลึกกว่า อันตรายกว่า แถมยังบอกอีกว่า เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาคนหนึ่งของเมืองไทยได้มาลงสำรวจน้ำโขงบริเวณอำเภอเชียงของ พบปลาชนิดพันธุ์ใหม่ถึง ๓ ชนิด

ภาวนาริมฝั่งโขง
ภาวนาริมฝั่งโขง

.

          หัวค่ำ สมาชิกที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน ทั้งสงฆ์และฆราวาส จะใช้เวลาส่วนหนึ่ง ไปกับการนั่งสมาธิภาวนาให้แก่สายน้ำโขง และนำสวดมนต์โดย หลวงพี่กิตติศักดิ์ การนั่งสมาธิถือเป็นการพักผ่อนอีกรูปแบบ หลังจากนั้น จะเป็นวงพูดคุย เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง แม่น้ำโขง กับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครั้งนี้เราเน้นไปที่โครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง เพื่อพัฒนาเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ โครงการนี้เกิดจากการลงนามร่วมกันระหว่างรัฐบาลทั้ง ๔ ประเทศ คือ จีน ไทย ลาว และพม่า หลายฝ่ายออกมาคัดค้าน

          เนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น รุนแรงเกินกว่าจะเรียกคืนได้ ไม่ว่าจะเป็นในมุมของวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาบึกซึ่งอาจสูญพันธุ์ได้ แถมไทยกับลาวยังมีปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดน อันเป็นประเด็นเรื่องความมั่นคงของประเทศอยู่ด้วย มติของคณะรัฐมนตรีล่าสุด ระบุให้ระงับการระเบิดไว้ชั่วคราว ขอให้มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่แทนฉบับเก่าที่ไม่ครบถ้วน

          จากการเก็บข้อมูลของกลุ่มรักษ์เชียงของ พบว่า ขอบตลิ่งแถวอำเภอเวียงแก่น พังลงมามากถึง ๔๐ เมตร แม้เดิมจะพังอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มากนัก เป็นการพังตามธรรมชาติ แถมยังมีเกาะแก่งช่วยชะลอความเร็วของน้ำไม่ให้รุนแรงหรือเร็วจนเกินไป ส่งผลแก่งถูกชะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากที่บ้านเวียงแก่นแล้ว ตลิ่งแถวบ้านดอนที่บ้านเมืองกาน บ้านหาดไคร้ บ้านปากอิง บ้านห้วยลึก ก็พังลงมามากเช่นกัน

          การบุกรุกแม่น้ำโขงครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่มีมาตั้งแต่ยุคจักรวรรดินิยม พัฒนารูปแบบวิธีการใหม่ ๆ ตามยุคสมัย ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้มีการดำริให้จัดตั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขงขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มเพื่อให้มีการศึกษาวิจัย สำรวจ และสนับสนุนโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขง ต่อมาเป็นยุคของกลุ่มทุน เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ที่เข้ามาสนับสนุนโครงการพัฒนาอย่างเต็มกำลังในปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในลุ่มแม่น้ำโขงมาก

          เมื่อทางกลุ่มรักษ์เชียงของลองไปสอบถามถึงโครงการนี้กับชาวบ้านว่ารู้เรื่องหรือไม่ คำตอบคือ ชาวบ้านไม่รู้เรื่องโครงการนี้มาก่อนเลย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ชัดเจนมาก เมื่อแก่งไม่อยู่ ปลาก็หายไปด้วย เรือเล็ก ๆ ของชาวบ้านก็ไม่มีแหล่งทำมาหากิน วิถีชีวิตชุมชนก็จะล่มสลายไปในที่สุด เกาะแก่งในแม่น้ำโขงถือเป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยศิลปินธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์เอง ก็ยังสร้างไม่ได้ และถ้าหากเกาะแก่งหมดไป ก็ยากที่จะเอาคืนมา

หมอกยามเช้า
หมอกงามยามเช้า

          เคยไปคุยกับพี่น้องชาวเขมร และชาวลาว ถึงเรื่องนี้ พอได้ยินเขาก็ตกใจ ทำอะไรไม่ได้ ทางเวียดนามเองก็เป็นกังวล เพราะบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของเขานั้น ถือเป็นแหล่งปลูกข้าวของโลกเลยทีเดียว ไม่เพียงเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบ ยังจะมีไปถึงทะเลสาบเขมรด้วย

          อากาศยามเช้า เห็นภูเขาถูกปกคลุมไปด้วยหมอกหนา ดูสวย เย็น และแสนสบาย ลมแม่น้ำพัดมาเอื่อย ๆ เหมาะกับการนั่งคิด นั่งเขียน จิบกาแฟ เสียงพระสวดมนต์ตอนเช้าดังกังวานก้องหุบเขา สายน้ำไหลเอื่อย เรือเทียบท่านิ่งสงบ ภาพเพื่อนร่วมทางนั่งสมาธิโดยมีขุนเขาเขียวขจีโอบล้อม ผืนทรายเย็นเฉียบและสายน้ำโขงไหลเอื่อย เป็นฉากที่สวยน่าประทับใจ

.

บุญมี
บุญมี--คนขับเรือ

          ระหว่างทาง มีชาวบ้านเอาปลาและตัวตุ่นตากแห้งมาขายริมฝั่ง เราเทียบเรือเข้าไปดู มีปลาหนังหลายชนิด ตุ่นรมควัน ตัวเหี้ยที่เพิ่งตายใหม่ ๆ ผ้าซิ่นทอมือ บุญมี-คนขับเรือ ซื้อปลามาเต็มกะละมังใหญ่ เอาไว้ทำกินมื้อเย็น ลาภปากของพวกเรา กินข้าวแล้วพวกเราตกลงกันว่า จะไปบ้านหาดเต๊อะ เพื่อร่วมงานประจำปีของหมู่บ้าน พวกเขาจะหยุดทำงานในไร่ที่ตรากตรำมาตลอดทั้งปี ในงานคนในหมู่บ้านจะไม่ออกนอกหมู่บ้าน ห้ามเดินทาง และคนภายนอก ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในหมู่บ้านเหมือนกัน เพราะพวกเขาต้องการพูดคุยกันเองในหมู่บ้าน

          ถึงอย่างนั้นก็ตาม พอบุญมีเข้าไปคุยในฐานะที่เป็นคนบ้านนี้ ก่อนค่ำ ผู้ใหญ่บ้านก็ให้ ๓ สาวใหญ่ใจดี พายเรือมาเชิญพวกเราไปร่วมงาน เพราะถือว่าเป็น หมู่ ของอ้ายบุญมี เราซึ้งจนน้ำตาคลอ ยิ่งพอเห็นเขายกมือไหว้เชิญ และบอกว่า มาเด้อ มาฮ่วมบุญกัน ผู้ใหญ่ให้มาเซิญ แถมพอตอนพายเรือกลับ ทั้งสามนางก็ร้องเพลงเสียงใสก้องคุ้งน้ำ เป็นเพลงภาษาลาวที่ไพเราะมาก แม้เราจะจับความได้ไม่ทั้งหมดก็ตาม

          ในงานมีการฟ้อนรำหมู่ หญิงสาววัยแรกแย้มที่สุดในหมู่บ้านราว ๑๐ นางนั่งหน้าแฉล้มใส่ซิ่นสวยรอให้ชายมาซื้อตั๋วโค้งออกไปรำ โดยรายได้จากการขายตั๋วจะนำไปทำนุบำรุงวัดและพัฒนาหมู่บ้าน คืนนี้พวกเราร่วมทำบุญไปด้วยเงินลงขันรวมกันประมาณ ๕,๐๐๐ บาท ชาวบ้านหาดเต๊อะดีใจใหญ่ และเอ่ยชื่นชมบุญมีออกไมโครโฟนดังเป็นระยะ ๆ

          เรือล่องมาจนถึงถ้ำติ่ง เราจอดแวะเพื่อขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปจำนวนนับร้อย ที่ชาวบ้านนำมาประดิษฐานไว้ที่นี่ด้วยความศรัทธา จากถ้ำติ่งก็ไปแวะอีกครั้งที่บ้านสร้างไห ที่นี่เป็นชุมชนทอผ้า พอไต่เนินขึ้นไปถึงหมู่บ้านก็จะเห็นผ้าทอวางขายนักท่องเที่ยวเป็นแถวยาว เช่นเดียวกับเหล้าลาว ทั้งที่เป็นแบบเพียว ๆ และมีสัตว์ดองไว้ภายใน และที่นี่เราพบซากเขาฟาน ซึ่งเป็นกวางขนาดเล็กและจะงอยปากนกเงือกวางขายอยู่ด้วย! แม้แต่ร้านที่ขายเครื่องแกะสลักจากกระดูกสัตว์ และเขาสัตว์ก็มีอยู่ด้วย ๑ ร้าน

 

๒.สู่หลวงพระบาง

          ใช้เวลาไป ๓ วัน ๒ คืนในการเดินทาง และแล้วเราก็มาถึงจุดที่เรียกได้ว่าเป็นเมืองจริง ๆ จุดแรกของการเดินทาง--หลวงพระบาง เช้าแรกนี้ อาจารย์ทรงยศ แววหงษ์ จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นไกด์นำชมเมือง เริ่มง่าย ๆ จากวังเจ้ามหาชีวิต ฟังสรุปภาพรวมทั้งหมดก่อนเดินไปดูรายละเอียดของวัด วังแต่ละแห่ง นอกจากวังแล้ว วัดที่เป็นที่สุดแห่งความงามก็คงหนีไม่พ้น วัดเชียงทอง

วัดเชียงทอง
วัดเชียงทอง

          อาจารย์ทรงยศ บรรยายได้น่าประทับใจ สนุกและเข้าใจง่าย เชื่อมโยงให้เห็นภาพทั้งศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี วิถีชีวิต ความเชื่อ รวมถึงประเด็นเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วงบ่ายอาจารย์พาไป บ้านผานม และแวะคารวะหลุมศพของ อองรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ที่มาทิ้งชีวิตไว้ริมน้ำคานแสนสงบที่เขารัก

          กลับเข้าเมืองมาเราแวะขึ้นไปดูพระอาทิตย์ตกบนพูสี จุดสูงที่สุดที่เป็นสะดือเมืองของหลวงพระบาง น่าเสียดายที่ไม่เห็นพระอาทิตย์ตก เพราะฟ้าปิด แต่ภาพเมืองหลวงพระบางที่ทอดตัวนิ่งอยู่เบื้องล่างก็น่าประทับใจไม่น้อย ไม่ว่าจะขึ้นมาดูกี่ครั้ง ความรู้สึกก็ยังสดใหม่อยู่เสมอ ไม่เคยเบื่อเลย

          จากพระธาตุพูสี เราไปเดินดู ตรอกข้าวเหนียว เขาตั้งชื่อว่าอย่างนี้จริง ๆ อาจเป็นการเลียนแบบจาก ตรอกข้าวสาร แถวย่านบางลำภูในกรุงเทพฯ แต่พอมาถึงเมืองลาว คนลาวกินข้าวเหนียวมากกว่าข้าวสาร เลยตั้งชื่อถนนคนเดินสายนี้ว่า ตรอกข้าวเหนียว เราเห็นว่าชื่อเข้าท่าและเหมาะดี มีเวลาแวะกิน ข้าวเปียก ร้านเดิมที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากไปรษณีย์ รสชาติไม่ทำให้ลูกค้าผิดหวังเลยแม้แต่น้อย

          ตอนเช้าปลุกตัวเองขึ้นมาราวตี ๕ เพื่อเตรียมตัวตามเพื่อนไปใส่บาตร เราไม่ถนัดเรื่องใส่บาตรสักเท่าไหร่นัก แต่อยากไปด้วยเพราะอยากจะเก็บภาพสวย ๆ เช่นนี้ไว้ หลังการใส่บาตร ก็จะแวะไปกินกาแฟร้าน ประชานิยม ที่คนนิยมสมชื่อ คุณป้าคนขายคนเดิม ก็ยังมีใบหน้าอมยิ้มเปี่ยมสุข ดูไม่แก่ลงเลยแม้จากวันแรกที่พบกันเมื่อ ๕-๖ ปีก่อนจนกระทั่งมาถึงเช้านี้

          จากร้านประชานิยม สิ่งที่ขาดไม่ได้ที่หากใครมาหลวงพระบางจะต้องแวะไปชม คือ ตลาดเช้า เพราะที่ตลาดเช้าเป็นเหมือนศูนย์การเรียนรู้ที่ดีเยี่ยมอย่างหนึ่ง หากสังเกตให้ดีจะเห็นวิถีชีวิตของผู้คน พืชอาหารตามฤดูกาล แม้แต่ปลาที่หามาได้ ก็สะท้อนฤดูกาล และจังหวะเวลาในการดำรงชีวิตคนหลวงพระบางได้เป็นอย่างดี

 

๓.เข้าเวียงจันทน์

          เราใช้เวลาราว ๒ วันเดินดูเมือง ผู้คน และภาพของการพัฒนาที่แทรกเข้ามายังเมืองหลวงแห่งนี้ แม่น้ำโขงช่วงหลวงพระบาง-เวียงจันทน์ แตกต่างจากช่วงเชียงของ-หลวงพระบาง อย่างเห็นได้ชัด ป่าไม้ส่วนมากที่ขึ้นอยู่บนเขาสองฝั่งโขง ส่วนใหญ่เป็นป่าไผ่ที่เกิดจากพื้นที่เกษตรกรรมที่ถูกทิ้งร้าง และเหมือนเช่นคืนก่อน ๆ บนแม่น้ำโขง เราเลือกจอดพักริมหาด คณะเราเลือกทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำบนชายหาดที่ห่างไกลชุมชน เริ่มจากการนำสวดมนต์ของหลวงพี่กิตติศักดิ์ ภาวนาสืบชะตาแม่น้ำ ก่อนจะนำดอกไม้ไปลอยน้ำ และขออโหสิกรรมหากมีสิ่งใดที่เราได้กระทำล่วงละเมิดแม่น้ำไป

          คืนก่อนจะเข้าเวียงจันทน์ การพูดคุยยกสุดท้ายเกี่ยวกับแม่น้ำโขง เริ่มขึ้นอย่างออกรสชาติอีกครั้ง ครูตี๋ บอกว่า ในลุ่มแม่น้ำโขงมีประชาชนอาศัยอยู่ตลอดสายประมาณ ๖๐ ล้านคน และมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า ๑๐๐ ชนเผ่า มีชนิดพันธุ์ปลา ๑,๒๔๕ ชนิด พบในประเทศไทย ๒๘๙ ชนิด ในแม่น้ำสาขาที่พบมากที่สุด คือ แม่น้ำมูล มีจำนวน ๑๖๙ ชนิด ถือเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ปลาสูงเป็นอันดับ ๓ ของโลก

          "ตอนที่ยังเป็นเด็ก ๆ พ่อซื้อปลาบึกให้กินกิโลละ ๑๕ บาทเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ปลาบึกหายาก ราคาถีบตัวขึ้นมาสูงถึง ๓๐๐-๔๐๐ บาท และเดี๋ยวนี้จับปลาบึกกันไม่ได้แล้ว ในอดีตชาวบ้านไม่ได้จับปลาบึกมาเพื่อขาย แต่จับมาแบ่งปันกันกิน วิธีการจับปลาบึกในอดีตไม่มีการวางมอง แต่ชาวบ้าจะทำห้างสูงขึ้นมา มีคนนั่งเฝ้าบนห้างนั้น สับเปลี่ยนเวรกัน" ครูตี๋ เล่า

          "หากมีปลาบึกว่ายเข้ามาจะเห็นแต่ไกล เพราะน้ำห้วงจะเงียบสงบ ปลาบึกตัวใหญ่มาที น้ำจะกระเพื่อมเห็นชัด แล้วคนที่เห็นจะส่งข่าวบอกเพื่อน ๆ แล้วใช้ สะเบ็ง ซึ่งเป็นหอกติดสายเชือกเหนียวหนืดยิงไปที่ปลาบึก หรือไม่ก็ใช้แหเหวี่ยงจับเอา บางครั้งอาจใช้ กวัก ซึ่งมีลักษณะเป็นถุง พอปลามาก็จะขว้างหินใส่น้ำให้ปลาตกใจ มันก็จะวิ่งเข้าถุงให้จับได้ บางครั้งก็อาจใช้มองหรือตาข่ายด้วย"

          พ่อเฒ่าในตระกูลแสงเพชร ซึ่งเป็นตระกูลที่จับปลาบึกกันมาตลอด เล่าให้ครูตี๋ฟังว่า พอยิงสะเบ็งไปโดนตัวปลา ปลาบึกจะลากสะเบ็งไปไกล ต้องลากถูกันอยู่นาน พอจับมาได้ เอาไปแลกช้างได้ ๑ ตัว บริเวณจับปลายอดนิยม คือ บริเวณหาดแวง บ้านหาดไคร้ เพราะเป็นช่วงที่น้ำตื้น จนช่วงหนึ่งถึงกับมีคำขวัญประจำเชียงของว่า "แอ่วเชียงของ ท่องเมืองลาว สาวสวนส้ม ชมปลาบึก"

.

          แต่วันนี้ หลายสิ่งหลายอย่างกำลังจะเหลือเป็นเพียงตำนานไว้เล่าขานว่า กาลครั้งหนึ่งนานมา...

          การเดินทางตลอดระยะเวลานาน ๘ วันครั้งนี้ การเดินทางเพื่อพบกับความจริงดังกล่าว นำความรู้สึกหลากหลายให้กับนักเดินทาง ที่แน่ ๆ คือ ไม่เพียงแต่เข้าใจว่า โครงการพัฒนาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการระเบิดแก่ง เพื่อพัฒนาเส้นทางการเดินเรือพาณิชย์ นั้นส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อทั้งชีวิตและสิ่งแวดล้อม ความงามของแม่น้ำโขงนำมาซึ่งความประทับใจ ในขณะเดียวกัน ภาพที่เห็นแม่น้ำโขงถูกกระทำก็นำความรันทดใจมาให้ผู้ร่วมทาง

          หลายคนลงความเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่คนเมืองอย่างเรา ๆ จะทำอะไรสักอย่างเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขงอันเป็นที่รักสายนี้ จะทำได้มากน้อยแค่ไหน ก็คงต้องรอดูและเอาใจช่วยกันต่อไป .. .


หมายเหตุ
- ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารเส้นทางสีเขียว กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
- กลุ่มธรรมยาตรารักษาลำน้ำโขง ได้ร่วมกันจัดทำหนังสือรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการเดินทางล่องลำน้ำโขง ตลอดเส้นทางเชียงของ-หลวงพระบาง-เวียงจันทน์ รวมทั้งแง่มุมต่าง ๆ ที่ได้พบสัมผัสโดยผู้เข้าร่วมเดินทาง ถ่ายทอด รวบรวมออกมาเป็นหนังสือขนาดพ็อคเกตบุ๊ค โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเสขิยธรรมและ WWF (World Wide Fund For Nature) ประเทศไทย ทั้งนี้ รายได้ส่วนหนึ่งจะนำไปสมทบการทำงานเพื่อการอนุรักษ์ลำน้ำโขงของกลุ่มรักษ์เชียงของ ท่านสามารถร่วมสนับสนุนการทำงานและร่วมอนุรักษ์แม่น้ำโขงได้โดย สั่งจองหนังสือซึ่งจะวางแผงในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ติดต่อได้ที่

สำนักงานกลุ่มเสขิยธรรม
เลขที่ ๑๒๔ ซ.วัดทองนพคุณ ถ.สมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร.๐๒-๘๖๓-๑๑๑๘

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม |> ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :