เสขิยธรรม
ความเคลื่อนไหว
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ประสานศาสนิก.. พลิกสถานการณ์ไฟใต้

พิเชฐ ใจชื้น
กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

          ภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะพื้นที่ สามจังหวัดชายแดน กล่าวได้ว่า เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วย วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ซึ่งเปี่ยมด้วยมนต์เสน่ห์ชวนค้นหา แต่เหตุการณ์ความไม่สงบ ที่มีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ได้สร้างความตื่นตระหนก ให้กับคนไทยทั้งประเทศ จนปัจจุบันขวัญและกำลังใจที่เคยดี เริ่มลดน้อยถอยลงไปทุกที

          ล่าสุด เหตุการณ์การสลายม็อบที่หน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ ยิ่งสร้างความสลดใจ ด้วยยอดการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวน ๘๕ คน ซึ่งความเศร้าเสียใจมิได้เกิดเฉพาะแก่บรรดาญาติของผู้เสียชีวิต แต่ภาพสะเทือนขวัญที่ปรากฏในครั้งนี้แทบจะนำมาซึ่งความสูญเสียความหวัง ว่าสันติสุขจะคืนสู่ดินแดนแห่งนี้อีกครั้ง

          จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายฝ่ายพยายามหาหนทางแก้ปัญหา แต่จนทุกวันนี้ วิธีการต่างๆ ที่คิดว่าจะช่วยลดผ่อนความรุนแรง กลับปรากฏผลว่ายังไม่มีแนวทางใดที่สามารถแก้ปัญหาให้หมดสิ้นลงไปได้ ซ้ำร้าย นับวันสถานการณ์กลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ไม่ย่อท้อช่วยกันเร่งหาวิธีแก้ปัญหา เพื่อหวังจะเห็นสันติเกิดขึ้นยังดินแดนภาคใต้ของเรา

          เครือข่ายกลุ่มองค์กรทางศาสนา ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเสขิยกรรม, คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ, สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย, เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย และอัซ-ซะบ๊าส สมัชชายุวมุสลิมไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหา จึงได้ร่วมมือกันหาทางออกโดยจัดให้มีการเสวนาขึ้น ในหัวข้อ ”ประสานศาสนิก... พลิกสถานการณ์ไฟใต้” ณ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา ๑๖ โดยหวังให้ศาสนาเป็นที่พึ่งในการแก้ปัญหา

          ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรทางศาสนามีความกังวลว่า การแก้ไขปัญหาของภาครัฐด้วยการใช้ความรุนแรงเช่นนี้ จะยิ่งทำให้สถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ลุกลามบานปลายกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงเสนอแนะแนวทางให้รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี โดยตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน และต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการแสวงหาทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง

          วิทยากรที่ร่วมการเสวนาในครั้งนี้ประกอบด้วย จอน อึ๊งภากรณ์ สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ, วิทยา วิเศษรัตน์ ประธานที่ปรึกษาสภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย, พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ ประธานกลุ่มเสขิยกรรม และบาทหลวงชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยค้นคว้าศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่อช่วยหาหนทางที่จะใช้หลักของศาสนามาช่วยจรรโลงสถานการณ์ให้ดีขึ้น

          ในการเสวนาในครั้งนี้ มีการแลกเปลี่ยนทัศนคติระหว่างกัน นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาอีกด้วย

          ก่อนเริ่มต้นการเสวนา ได้มีการประกอบพิธีกรรมตามหลักทางศาสนาตามแบบฉบับเฉพาะตนในแต่ละศาสนา ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยไม่มีการแบ่งแยกแม้ว่าจะนับถือศาสนาต่างกัน บ่งบอกถึงการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขถึงแม้จะนับถือศาสนาต่างกัน แต่นั่นก็มิใช่อุปสรรค

          ทางด้านศาสนาพุทธ มีการสวดมนต์และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ ทางคริสต์ศาสนามีการอ้อนวอนพระเจ้าให้ช่วยประทานความสว่างในการแก้ปัญหาให้กับผู้นำประเทศ ชี้แนะแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างนุ่มนวลเพื่อสันติภาพจะได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ศาสนาอิสลามมีการทำพิธีละหมาด เพื่อให้เกิดสันติภาพอยู่คู่กับประเทศและโลกตลอดไป

          ทั้งนี้ ก็ด้วยจุดยืนที่ว่า แม้จะมีความแตกต่างก็เพียงศาสนาที่นับถือไม่เหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันก็คือการอยากจะเห็นสันติภาพที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ตลอดจนอยากเห็นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของสังคมโดยเฉพาะในภาคใต้ในขณะนี้ และศาสนาก็จะเข้ามาเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ให้ผู้คนยึดปฏิบัติ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้อาวุธและจะไม่เกิดการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด

          การเสวนาในครั้งนี้ มีการพูดถึงสถานการณ์ทางภาคใต้โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์ล่าสุดที่อำเภอตากใบ มีการวิจารณ์การทำงานของรัฐในเรื่องของการแก้ไขปัญหาว่ามีความเหมาะสมแล้วหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากได้เกิดมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในเหตุการณ์ครั้งนี้

          จอน อึ๊งภากรณ์ ได้ตั้งคำถามต่อกรณีการเสียชีวิตในระหว่างการเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกนำมายังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ว่า

          "ระหว่างนั้นแต่ละคันที่เข้ามา มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง แต่ไม่ได้มีการวิทยุหรือแจ้งยังรถที่ตามมาว่าบนรถอาจจะมีผู้เสียชีวิตจากการหายใจไม่ออก ไม่ได้มีมาตรการอะไรที่จะป้องกันเหตุ" เขามองว่านี่เป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าเกิดขึ้น

          นอกจากนี้ จอนยังมองว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังประสบปัญหาหนึ่งคือความเข้าใจผิดๆ และการคิดเหมารวมซึ่งบางทีมันไม่ใช่อย่างที่เราคิดเสมอไป อย่างเช่นกรณีตากใบ

          "คนจำนวนมากกำลังสับสนและปะปนเหตุการณ์หลายอย่าง เช่น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวันในจังหวัดภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้นำชาวบ้านแม้กระทั่งของชาวมุสลิมเอง ความรุนแรงรายวัน กับเหตุการณ์ที่ตากใบ มีการโยงเสมือนกับว่า ผู้ที่มาชุมนุมที่ตากใบทั้งหลายทั้งปวง ก็คือผู้ก่อความรุนแรงรายวัน ความเข้าใจตรงนี้ โดยไม่มีขาด การที่ผู้ตรวจสอบไม่ต้องหาข้อเท็จจริง ทำทีเสมือนกับว่า สมแล้วที่ผู้ชุมนุมถูกกระทำเช่นนี้ หรือถูกกระทำน้อยไปด้วยซ้ำ นี่คือความน่ากลัวที่อยู่ในสังคมไทยในปัจจุบันนี้"

          ในขณะที่ พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ ก็ได้ชี้แนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

          "ควรยุติการส่งเสริมในลักษณะที่เน้นให้เกิดความคลั่งชาติ และควรมีตัวกลางในการสร้างสมานฉันท์ ให้ประชาชนพื้นที่ได้มีส่วนร่วมและตัดสินในชะตากรรมของตนเอง แม้ว่าจะเป็นในรูปแบบใดๆ ก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่สร้างความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการก่อการร้ายซึ่งไม่ใช่เป็นการเหมารวมว่าชาวมุสลิมทั้งหมดคือผู้ก่อการร้าย อย่างเช่นการชุมนุมที่ตากใบ เข้าใจผิดว่าเป็นการชุมนุมของผู้ร้าย เพราะฉะนั้น การฆ่าจึงเป็นความชอบธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง กรณีนี้เป็นบทเรียน"

          ในการแก้ปัญหาต้องมองอย่างรอบด้านและมีความจริงใจ

          ในมุมมองของ วิทยา วิเศษรัตน์ มองว่า การแก้ปัญหาสถานการณ์ใต้นั้นต้องอาศัยความจริง

          "การแก้ปัญหาต้องแก้ด้วยความจริง ถ้าโกหกวันนี้ พรุ่งนี้ก็โกหก ปัญหาก็ยิ่งซับซ้อน"

          และเห็นว่าควรมีการสร้างความคุ้นเคยให้เกิดระหว่างกันในทุกศาสนา "ผู้นำแต่ละศาสนาต้องสร้างความสนิทสนมกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกศาสนานำหลักคำสอนที่ตนเองเชื่อมาปฏิบัติกัน" เป็นมุมมองของจอน อึ๊งภากรณ์

          ในหลากมุมมอง ในหลายความเห็นนับเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยการเปิดโอกาส และเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นในทัศนคติที่อาจจะไม่เหมือนเรา ไม่แน่เราอาจจะพบแนวทางใหม่ๆ ที่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้

          สถานการณ์ในภาคใต้ในขณะนี้ นับวันยิ่งมีความรุนแรงขึ้น หลายฝ่ายพยายามหาวิธีแก้ไข ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงดูแล้วไม่น่าจะนำไปสู่การยุติปัญหาได้ดังเช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

          หากเราหันมามองอีกวิธีหนึ่ง คือการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีโดยมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ซึ่งไม่จำเพาะว่าจะต้องนับถือศาสนาเดียวกัน แต่เพียงเราใช้หลักของศาสนาที่เรานับถือและนำมาปฏิบัติ สันติสุขก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าทุกศาสนาย่อมสอนศาสนิกของตนให้เป็นคนดี สิ่งนี้เองที่ทุกศาสนามีร่วมกัน และจะช่วยนำพาสังคมไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติตลอดไป.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม |> ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :