เสขิยธรรม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

แม้ว: คนจนจริงเลือกผม

การเมือง - ข่าว
กองบรรณาธิการ
ไทยโพสต์ ฉบับวันที่๑๗ มีนาคม ๒๕๔๘

          'ทักษิณ' เมินสมัชชาคนจน ทิ้งวาทะเด็ดแบ่งแยกรากหญ้าก่อนพาครอบครัวไปหลบร้อนที่ญี่ปุ่น ลั่น 'คนจนที่แท้จริงเขาเลือกผม'

          เวทีชุมนุมหน้ารัฐสภาคึกคัก "พระกิตติศักดิ์" ถล่ม ๔ ปีรัฐบาลสร้างความวิบัติฉิบหาย จวก ส.ส.เลี้ยงไม่เชื่องรับใช้นายทุนมาร ทำตัวเยี่ยงสวนสัตว์ตรงข้ามเขาดิน ยื่นอาวุธให้รัฐบาลข่มขืนประชาชน "ชูวิทย์" แบ่งโซนสีรัฐมนตรี ตั้งกลุ่มใหม่ "วังนกนางแอ่น" ชำแหละ "สุรนันทน์-ยงยุทธ-อดิศร" ได้ดีเพราะน้ำลาย

          พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมครอบครัว เดินทางออกจากประเทศไทยแล้วเมื่อเวลา ๐๘.๒๐ น. ด้วยเที่ยวบินทีจี ๖๗๖ เพื่อพักผ่อนที่ประเทศญี่ปุ่น โดยให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางว่า ในวันเสาร์จะยังมีรายการนายกฯ ทักษิณคุยกันประชาชนตามปกติ โดยตนจะพูดออกอากาศสด เสียค่าโทรศัพท์ทางไกล แพงหน่อย ลงทุนหน่อยไม่เป็นไร เพราะต้องโทรศัพท์จากญี่ปุ่น โดยจะเดินทางกลับในคืนวันที่ ๒๑ มีนาคมนี้ เพื่อประชุม ครม.ในตอนเช้าวันอังคารที่ ๒๒ มีนาคม

          นายกฯ ยังกล่าวถึงกรณีที่ตัวแทนผู้นำชุมชนเรียกร้องให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อคนจน และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมว่า มีอยู่แล้ว และแน่นอนว่าเราจะมีสภาผู้นำชุมชน เพื่อให้ผู้นำชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ได้มีส่วนร่วม และถ้าสมัชชาคนจนสนใจที่จะร่วมมือกัน ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

          ส่วนการที่กลุ่มสมัชชาคนจนได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการภาคประชาชน เพื่อตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล และจะมีการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณไม่ยอมรับพร้อมกับอกว่า เป็นเรื่องของเขา ถ้าอยากจะมาทำงานด้วยกัน ก็มาร่วมกันได้ แต่ถ้าจะตรวจสอบก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ว่ากัน มันเป็นเสรีภาพของแต่ละบุคคล และแต่ละองค์กร

          ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ากลุ่มสมัชชาฯ ต้องการที่จะเชิญไปร่วมรับประทานอาหารด้วยอีกครั้ง นายกฯ ตอบว่า ถ้ามีเวลาก็ได้ ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว มีเวลาก็ไปได้

          "ถ้าผมไม่ช่วยคนจน คะแนนเสียงจะได้ขนาดนี้หรือ คนจนที่แท้จริงเขารู้ คนจนที่แท้จริงส่วนใหญ่เลือกผม"

          เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่สมัชชาคนจนตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบรัฐบาล เพราะไม่เชื่อว่าฝ่ายค้านจะตรวจสอบได้ พ.ต.ท.ทักษิณแย้งว่า ไม่หรอก อย่าไปมองเป็นการเมืองมาก ถ้าสื่อมวลชนไทยเขียนข่าวการเมืองลดลงครึ่งหนึ่ง รับรองว่าประเทศจะเจริญขึ้นเยอะ ตอนนี้การเมืองมากไป ประเทศเล็กแค่นี้ มีสื่อหลายข่าว ฉะนั้นการเมืองมากไปไม่ดี เอาการเมืองแค่ครึ่งหนึ่ง และให้เป็นเรื่องของการบริหารบ้านเมืองอีกครึ่งหนึ่ง ก็แจ๋วเลย

          สำหรับบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจนและพันธมิตรในวันที่สอง เป็นไปอย่างคึกคัก โดยในช่วงเช้าได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ซึ่งทำให้ชาวบ้านที่มาชุมนุมหลายคนต้องขนข้าวของหลบฝนอยู่ในเพิงพักที่ทำด้วยเต็นท์ข้างสวนสัตว์ดุสิต ตรงข้ามอาคารรัฐสภา

          ทั้งนี้ เมื่อเวลาประมาณ ๐๘.๐๐ น. ผู้ร่วมชุมนุมได้ร่วมกันตักบาตรเช้า และถวายภัตตาหารเช้าพระสงฆ์ ๕ รูป จากนั้นได้มีการแสดงธรรมเทศนาเรื่อง "ศาสนากับประชาธิปไตย" โดยพระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ ประธานกลุ่มเสขิยธรรม บนเวทีปราศรัยที่หันหน้าไปทางด้านอาคารรัฐสภา

          ในช่วงหนึ่งของการเทศนา พระกิตติศักดิ์กล่าวว่า "ณ ที่นี้ เราชุมนุมกันอย่างมีเอกภาพ โดยมีสวนสัตว์ดุสิตอยู่เบื้องหลัง ในขณะเดียวกันโดยความบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน อาตมากำลังพูดไปยังสวนสัตว์อีกสวนหนึ่งที่อยู่ข้างหน้า ซึ่งเป็นสวนสัตว์ที่แต่เดิมสัตว์เหล่านั้นเป็นสัตว์ที่เราเลี้ยงให้ข้าวให้น้ำ แล้วมันเชื่อง แต่พอมีนายทุนมารเลี้ยงมันเริ่มไม่เชื่อง และเริ่มที่จะฟังนายทุนมากกว่าเจ้าของของมัน ถามว่าถ้าไม่มีจุดบกพร่องในกฎหมายการเลือกตั้ง แต่เมื่อมีพี่น้องผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นร้อยเป็นพันมาอยู่ที่นี่ ไม่มีตัวแทนมาเยี่ยมยามถามข่าวมากินมานอน มาถามสารทุกข์สุกดิบกันเลย เพียงแค่ชั่วข้ามถนน ทำไมถึงมาไม่ได้ มิหนำซ้ำเรายังอยู่ต่อหน้าสถานที่ที่ชุมนุมของผู้ที่กฎหมายเรียกว่าผู้แทนปวงชนชาวไทย แม้แต่ไปขอใช้ส้วมรัฐสภาเรายังใช้ไม่ได้ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่กินภาษีอากรของชาวบ้านวันนี้ก็ต้องมาอยู่ตรงข้ามกัน และนี่คือความบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน"

          พระกิตติศักดิ์เทศน์ต่อว่า เมื่อเวลา ๐๘.๐๐ น.ที่ผ่านมานี้ นายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาลได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นพาลูกสาวไปเที่ยว ในขณะที่มีคนทุกข์ยากเป็นร้อยมาทวงถามความถูกต้องอยู่ที่นี่ แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ในขณะที่เขาโดนคดีซุกหุ้น คนคนนั้นเล่นละคร มากินข้าวกับสมัชชาคนจนในที่ชุมนุม นี่คืออะไร หากเราไม่โทษในอวิชชา โหมะ มิจฉาทิฐิ ของแต่และคน ก็ต้องยอมรับกันว่านี่คือความบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน การถ่ายโอนอำนาจจากประชาชนไปสู่ตัวแทนประชาชน ที่เรามอบอำนาจให้เขาเหล่านั้นมาเบียดเบียน กระทำย่ำยี หาประโยชน์ สูบเลือดสูบเนื้อจากเราฝ่ายเดียวเท่านั้นหรือ

          พระกิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้ที่อ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนประชาชนไปสังกัดมุ้ง สังกัดวัง สังกัดคอกของนายทุน ก็หันไปรับใช้นายทุน โดยลืมไปว่าอำนาจที่ประชาชนให้ไปนั้นต้องมีความถูกต้องและเป็นธรรมประกอบอยู่ด้วย การที่เรามอบอำนาจให้กับคนที่ขาดสติสัมปชัญญะ ขาดมโนธรรมสำนึก ขาดความรับผิดชอบก็เหมือนกับการยื่นอาวุธให้กับคนบ้า เหมือนกับยื่นอาวุธให้กับคนเมา โดยเฉพาะคนที่มัวเมาอำนาจ จนกลายเป็นว่าเรายื่นใบอนุญาตให้คนบางคณะที่ปราศจากมโนธรรมสำนึก เอาอำนาจไปอย่างมัวเมา

          "ในประเทศพม่า ชนกลุ่มน้อยจำนวนมากถูกข่มเหงรังแกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากฝ่ายปกครอง จนคนทุกข์ยากกลุ่มหนึ่งได้ทำรายงานฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า ใบอนุญาตข่มขืน บอกว่ารัฐบาลพม่าอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐข่มขืน ฆ่า กระทำให้ประชาชนทุกข์ยาก พอถึงวันนี้เราก็ต้องพูดเช่นเดียวกันว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่พวกเราเพิ่งจะเลือกตั้งมาหยกๆ เมื่อ ๖ กุมภาพันธ์นั้น เท่ากับการยื่นใบอนุญาตข่มขืนให้กับนายทุนบางกลุ่ม เข้ามากระทำชำเราประชาชน คนทุกข์ยากทั้งแผ่นดิน" พระกิตติศักดิ์กล่าว

          "มีพุทธพจน์บทหนึ่งกล่าวว่า ที่ใดไม่ประกอบไปด้วยสัตตบุรุษ ที่ปฏิบัติตนอยู่ในศีล อยู่ในธรรม อยู่ในครรลองที่ถูกต้อง ที่นั่นไม่ใช่สภา ถ้าฟากตรงข้ามเรียกว่าสภา ฝั่งนี้ก็เรียกว่าสภามากกว่าฝั่งตรงข้ามอยู่ดี ดังนั้นภายในวันที่ ๑๗ มีนาคม สมาชิกสภาฝ่ายตรงข้ามที่อ้างตนเองว่าเป็นตัวแทนประชาชนไม่ออกมาคารวะเจ้าของอำนาจ ก็แสดงว่าบุคคลเหล่านั้นไม่มีความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยอีกต่อไป" พระกิตติศักดิ์กล่าว

          พระกิตติศักดิ์กล่าวว่า ๔ ปีที่ผ่านมาสร้างความวิบัติฉิบหายโดยที่ไม่สามารถอธิบายได้ เพียงแต่ว่ามันมีน้ำหวาน น้ำตาลเคลือบอยู่ จึงทำให้พี่น้องของเราจำนวนมากยังไม่เห็นความจริง ยังหลงลม หลงผิดในคำหวานเหล่านั้น กับนโยบายการตลาดเหล่านั้น พวกเราเองมีความรู้ความเข้าใจ จำเป็นอยู่ที่จะต้องสรุปบทเรียนให้ชัด และเจือจานไปสู่พี่น้องด้วยให้ ๑๙ ล้านเสียงที่ถูกว่าเป็นอำนาจชอบธรรม เพื่อที่จะทำอะไรก็ได้ในบ้านเมืองนี้ แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่พวกเรา คือ อำนาจของสัจจะของความถูกต้องและเป็นธรรม เป็นสิ่งสำคัญกว่า

          จากนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนประชาชนในกลุ่มสมัชชาคนจน ซึ่งเป็นที่สนใจของชาวบ้านมาก และแกนนำกลุ่มได้บอกเล่าถึงปัญหาที่ตนเองประสบ และอยากให้ฝ่ายค้านเข้ามาช่วยประสานงานในการยื่นเรื่องให้รัฐบาลเข้ามาดูแล โดยนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวกับแกนนำกลุ่มชาวบ้านว่า ปัญหาทั้งหมดที่ชาวบ้านเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือนั้น แบ่งเป็น ๑.ปัญหาเฉพาะเรื่อง ปัญหาเฉพาะพื้นที่ที่มานานและยากที่จะแก้ไขให้จบภายในเร็ววัน โดยพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นสื่อกลางในการส่งข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้กับรัฐบาล ๒.ปัญหาด้านนโยบายพรรคประชาธิปัตย์จะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาว่า ด้านนโยบายของพรรคจะช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ขอให้ทุกคนสบายใจ และต่อไปนี้พรรคประชาธิปัตย์จะทำงานร่วมกับภาคประชาชน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ได้เดินทักทายกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะยายไฮ ขันจันทา ได้เข้ามาพูดคุยแล้วบอกให้นายอภิสิทธิ์ช่วยแก้ไขปัญหาที่ค้างคามาตั้งนาน โดยบอกว่าเป็นเวลากว่า ๒๗ ปี กว่าจะได้ที่ดินกลับคืนมา ตนถึงกลับหมดเนื้อหมดตัว เป็นหนี้เป็นสิน สิ่งที่เดือดร้อนไม่ได้เดือดร้อนอะไร ที่เดือดร้อนคือปากท้องเท่านั้น

          นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมาธิการติดตามตรวจสอบรัฐบาลนโยบายความยากจนและสังคมภาคประชาชน แถลงปัญหาที่มีการนำเสนอในการประชุมของสมัชชาคนจน ๗ เครือข่าย ๗ กรณี อาทิ ให้ยกเลิกนโยบายแปลงทะเลเป็นทุน เขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ยุติสร้างเขื่อน จัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียใหม่ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นต้น

          นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ภาควิชานิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า นโยบายประชานิยม โดยเฉพาะแปลงสินทรัพย์เป็นทุน จะทำให้ประชาชนเป็นหนี้เพิ่ม และในระยะยาวเมื่อประชาชนชำระหนี้ไม่ได้ ที่ดินเหล่านั้นจะหลุดออกไป การบริหารงานของรัฐบาลจะกลายเป็นอำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จ ฉะนั้นทางออกคือภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง

          ทั้งนี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันแรก ซึ่งมี ส.ส.เดินทางมาร่วมประชุมจำนวนมาก และขับรถผ่านสถานที่ชุมนุมของชาวบ้าน กลุ่มชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่หน้าอาคารรัฐสภาได้จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ ส.ส.ในพื้นที่ของตนเอง อาทิ ชาวบ้านจาก จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ ว่าไม่มี ส.ส.ในพื้นที่มาเยี่ยมเยียน ทั้งที่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้นได้ลงไปหาชาวบ้านในพื้นที่ตลอด

          เช้าวันเดียวกันนี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เดินทางเข้ากระทรวงทำงานเป็นวันแรก ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก

          ที่กระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.คลัง พร้อมด้วยนายวราเทพ รัตนากร และนายไชยยศ สะสมทรัยพ์ รมช.คลัง ร่วมกันสักการะศาลพระภูมิประจำกระทรวง และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสร็จแล้วนายสมคิดกล่าวว่า การเข้ามารับตำแหน่งอีกครั้งและทำงานต่อไปอีก ๔ ปี ถือเป็นความท้าทายที่จะทำให้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมีการเติบโตอย่างยั่งยืน

          "ดูอย่างตอนที่ผมไปสักการะศาลและพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.๕ พอปักธูปเสร็จ ปรากฏว่าฝนที่ตกก็หยุดและสว่างขึ้น ก็พูดกับรัฐมนตรีช่วยวราเทพว่าเห็นมั้ยปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเป็นบวกแน่ และก่อนหน้าที่จะลงไปสักการะฝนที่ตกหนักก็หยุด แสดงว่าไม่มีอุปสรรค ฝนที่ตกมาก็สร้างความชุ่มฉ่ำ เศรษฐกิจก็จะชุ่มชื้นและดีไปด้วย ก็พยายามมองในแง่ดี มันก็ทำให้มีความสุข และคิดสิ่งต่างๆ ได้มากมาย" รมว.คลังกล่าว

          สำหรับการแบ่งงานนั้น นายสมคิดบอกว่าตนเองจะดูแลสำนักงานปลัด ธนาคารกรุงไทย นายวราเทพดูแลกรมศุลกากร สรรพสามิต กรมบัญชีกลาง ธ.ก.ส. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โรงงานยาสูบ บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) นายไชยยศดูแลกรมสรรพากร กรมธนารักษ์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

          น.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล รมว.สาธารณสุข กล่าวระหว่างเดินทางเข้าทำงานในกระทรวงเป็นวันแรกว่า กระทรวงว่างเว้นแพทย์มืออาชีพมาเป็นรัฐมนตรีว่าการมานานเกือบ ๑๕ ปี ตนเป็นแพทย์มืออาชีพ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมช.สาธารณสุข เป็นนักบริหารมืออาชีพ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ร่วมช่วยกันทำงานทดแทนบุญคุณแผ่นดิน และขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ข้าราชการทุกคนมีโอกาสได้แสดงความรู้ความสามารถ และความก้าวหน้าในชีวิตราชการอย่างเป็นธรรม

          ด้านนายอนุชินบอกว่า ชอบงานภาคสนามมากกว่างานออฟฟิศ เมื่อเทียบกับกระทรวงพาณิชย์ ตนชอบทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขมากกว่า

          ส่วนนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.ยุติธรรม อยากให้กระทรวงเทกแอคชั่นในปัญหาสิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าความยุติธรรมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม แต่เป็นกระทรวงที่ถึงได้อยู่ใกล้ประชาชน

          รมว.ยุติธรรมยังชี้แจงกรณีคลองด่านว่า เคยชี้แจงมาหลายครั้งแล้วว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต แม้ว่าตนจะกำกับดูแลสำนักงานอัยการสูงสุด แต่คดีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับอัยการ เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.กับศาล ดังนั้นตนไม่เกี่ยวข้องแล้ว และไม่มีความจำเป็นต้องไปแทรกแซง

          "การเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความเสียหายให้ผม ทำให้คนภายนอกเข้าใจผิดในตัวผม ที่ผ่านมาผมไม่เคยดำเนินการใดๆ แต่ตอนนี้ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบรายละเอียด เตรียมดำเนินการตามกฎหมายเพื่อปกป้องชื่อเสียงของผม" นายสุวัจน์ระบุ

          ขณะที่ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย เดินทางไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่เช้าตรู่ โดยมีซินแสตามประกบตลอดเวลา เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พล.ต.อ.ชิดชัย จะใช้ธูปจีนและสิ่งของดีแดงตามความเชื่อด้านโชคลางของคนจีน

          จากนั้นเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กระทรวงมหาดไทย โดยมีนายสมชาย สุนทรวัฒน์ รมช.มหาดไทยร่วมด้วย ส่วนนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.มหาดไทยอีกคน ไปส่งนายกฯ เดินทางไปญี่ปุ่น

          ทั้งนี้ การแบ่งงานในกระทรวง พล.ต.อ.ชิดชัยดูแลกรมการปกครอง สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดกระทรวง นายเสริมศักดิ์ดูแลกรมที่ดิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และโอท็อป ส่วนนายสมชายรับผิดชอบกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์การตลาด (อตก.) การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง

          พล.ต.อ.เฉลิมเดช ชมพูนุท โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ นายดนุพร ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมหารือเพื่อกำหนดแนวทางและมอบหมายหน้าที่ในการทำงาน โดยมีนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ส่งมอบงาน

          พล.ต.อ.เฉลิมเดชกล่าวภายหลังการแบ่งงานว่า ทีมงานโฆษกได้มีการคุยเพื่อแบ่งงานกันเรียบร้อยแล้ว โดยทุกวันจันทร์เป็นหน้าที่ของ น.ส.ศันสนีย์ ส่วนวันอังคารเป็นหน้าที่ของตนเอง และจะมีรองโฆษกเข้าด้วย ๑ คน โดยจะเวียนกันไป ส่วนวันพุธและพฤหัสบดี นายดนุพรจะรับผิดชอบ ส่วนวันศุกร์จะเป็นหน้าที่ของนายเฉลิมชัย และหากเสาร์-อาทิตย์มีการประชุม ก็จะสลับผลัดเปลี่ยนกันไป ส่วนการประชุมของคณะกรรมการประชุมกลั่นกรองจะแบ่งกันรับผิดชอบคนละ ๒ คณะ

          ที่รัฐสภา นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย แถลงว่า ตนขอตั้งฉายารัฐบาลทักษิณ ๒/๑ ว่าเป็นปิกนิกคาบิเนต เพราะไม่ถึง ๖ เดือนจะมีการแต่งตั้งปรับเปลี่ยนใหม่ ในจำนวนรัฐมนตรี ๓๕ คนนี้มีรัฐมนตรีที่ตนตัดสินโดยใช้กระแสสังคมและความเห็นจากประชาชนแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ สีเขียว คือเหมาะสมกับตำแหน่ง สีเหลืองคือ ยังก้ำกึ่งต้องดูการทำงาน และสีแดง คือไม่เหมาะสมและมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นรัฐมนตรีกลุ่มนายกรัฐมนตรี ๑๖ คน กลุ่มวังต่างๆ ๑๒ คน และเป็นตัวแทนนายทุนอีก ๗ คน

          นายชูวิทย์กล่าวว่า รัฐมนตรีสีแดงที่มีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ที่ประชาชนยังติดใจการทำงานที่ผ่านมา และเป็นรัฐมนตรีเก่าที่ไม่มีผลงาน มี ๙ คน ประกอบด้วย นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายประชา มาลีนนท์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายอดิศัย โพธารามิก รมว.ศึกษาธิการ นายวัฒนา เมืองสุข รมว.อุตสาหกรรม และนายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีในโควตาของกลุ่มแก๊งและกลุ่มทุน แต่รัฐมนตรีวังต่างๆ ยังแพ้วังใหม่ที่ทุกวันนี้กำลังดีวันดีคืน คือกลุ่มวังนกนางแอ่น ที่ใช้น้ำลายสร้างรังจนได้ดี เช่น นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ นายอดิศร เพียงเกษ รมช.คมนาคม ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถขยับปรับเปลี่ยนสีได้ขึ้นอยู่กับผลงาน ซึ่งตนจะประเมินทุก ๓-๖ เดือน

          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิเสธว่าไม่มีความคิดในเรื่องการเปลี่ยนสัญลักษณ์ของพรรค เพราะว่าพระแม่ธรณีบีบมวยผมเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน และสมาชิกพรรคมีความรู้สึกผูกพัน สิ่งที่มีการพูดกันอย่างมากคือเรื่องของการปรับเปลี่ยนรูปแบบของที่ระลึก เสื้อยึด เสื้อแจ็กเกต รวมทั้งของที่ระลึกอื่นๆ ที่อาจจะมีการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของคนมากขึ้น แต่เรื่องสัญลักษณ์พรรคไม่มีความคิดเลย

          วันเดียวกันนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวเปิดการจัดอบรม ส.ส.ใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ว่า พรรคจัดฝึกอบรมเพื่อรองรับการอภิปรายนโยบายที่พรรคจะจัดระบบไม่ให้มีศิลปินเดี่ยว ในเรื่องหนึ่งจะทำเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๒-๓ คน เพื่อไม่ให้แต่ละคนพูดซ้ำประเด็นกัน ซึ่งหัวใจของการพูดนั้นอยู่ที่มีอะไรจะบอกประชาชนไม่ใช่แค่ได้พูด เคยเห็น ส.ส.บางคนนั่งอยู่ในห้องกาแฟ พอเห็นที่ประชุมถกเถียงกัน ก็รีบเข้าไปบอกขอสักหน่อยอย่างนี้ไม่ได้ประโยชน์ ทั้งนี้ทักษะและความชำนาญไม่ได้มาตั้งแต่เกิด ซึ่งหากมุ่งมั่นฝึกฝนในที่สุดก็จะทำได้ ขอให้ทุกคนอย่าหยุดพัฒนา แต่หากคิดว่าอยู่แบบเดิมได้ก็ตกขบวน โดย ส.ส.หลายสมัยที่ไม่หยุดพัฒนาจะทิ้งเพื่อนร่วมรุ่นหลายช่วงตัวคนที่เป็นดาวเด่น อย่างนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยหยุดที่จะหาความรู้และทบทวนตลอดเวลา

          นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บรรยายว่า ในการอภิปรายหากเป็นเรื่องดีฝ่ายค้านมักจะถูกตีรวน ดังนั้นหากมีใครประท้วงให้ยืนให้นิ่ง อย่าไปสนใจ อย่าลืมสิ่งที่จะพูด แล้วจะมีคนในพรรคออกมาช่วยยืนบังให้พิง ไม่ต้องห่วงพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยปล่อยน้องใหม่ตายเดี่ยวในสนามรบ นี่คือสิ่งที่ทำกันมารุ่นต่อรุ่น จึงมีคนรุ่นใหม่เข้ามาสานงานต่อได้ อย่างไรก็ตาม นอกจากงานในสภาแล้ว ขอให้ ส.ส.ใหม่สนใจงานในพื้นที่และของพรรคด้วย ทั้ง ๓ มิตินี้ต้องไปด้วยกัน

          นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ผู้อภิปรายต้องทำตัว ๓ อย่าง คือ ๑.ผีดิบ คือต้องนิ่งไม่อย่างนั้นจะเสียสมาธิ ใครจะประท้วงเราอย่างไรก็นิ่งเข้าไว้ ๒.ช่างไม้ คือเจาะจงพูดเฉพาะเรื่องที่ชำนาญ อย่าทำตัวเป็นช่างรับเหมา และ ๓.ลูกไก่ คือหาข้อมูลเองอย่าทำตัวเป็นลูกนก ที่ให้คนอื่นคอยป้อนข้อมูลให้

          เมื่อช่วงค่ำวันที่ ๑๖ มี.ค.ที่สโมสรกองทัพบก ได้มีการจัดงาน "พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ วีรบุรุษประชาธิปไตย" เพื่อให้คนใกล้ชิดของ พล.อ.ชวลิต แสดงมุทิตาจิต หลังอำลาชีวิตทางการเมือง โดยมีผู้มาร่วมการประกอบด้วยอดีต ส.ส.พรรคความหวังใหม่ทั้งหมด และคนใกล้ชิด พล.อ.ชวลิต อาทิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรองนายกฯ นายโภคิน พลกุล ประธานสภาผู้แทนราษฎร พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รมว.มหาดไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกฯ นายอดิศร เพียงเกษ รมช.คมนาคม พล.อ.ธรรมรักศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.มหาดไทย รวมทั้งนายจรูญ จันทร์จำรัสแสง นายทุนของพรรค พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาฯ สมช. พล.ท.ไตรรงค์ อินทรทัต พล.อ.อัครเดช ศศิประภา พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศริประภา อดีต รมช.กลาโหม และมีนายทหารใกล้ชิดจำนวนหนึ่ง

          โดย พล.อ.ชวลิตได้ให้สัมภาษณ์พิเศษในรายการกรองสถานการณ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ ว่า ตนจะละเว้นทางการเมืองซึ่งหมายถึงการไม่ดำเนินการทางการเมืองในรัฐสภา รวมถึงการไม่สมัคร ส.ว.ตามที่เป็นข่าว อย่างไรก็ตาม ทุกคนต้องสัมพันธ์การเมืองตลอด เพราะอยากให้บ้านเมืองดี ที่บอกว่าละเว้นหมายถึงการเมืองในรัฐสภา แต่การเมืองข้างเมืองข้างนอกที่มองเรื่องการจัดตั้งประชาชนในการแก้ไจปัญหาร่วมกัน ส่วนที่มีข่าวว่าคุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ ภริยา จะลงสมัคร ส.ว.ที่ จ.นครพนมนั้น คงไม่สามารถไปบอกแทนได้ เพราะตนไม่สามารถไปจำกัดชีวิตใครขนาดนั้น แต่สังเกตดูคุณหญิงพันธุ์เครือ จะใช้ชีวิตอยู่ที่ จ.นครพนม และค่อนข้างจะลงการเมืองที่ จ.นครพนมด้วย

          พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า ในเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้ทำเต็มที่อยู่แล้ว ท้ายที่สุดก็ต้องทำต่อเพื่อประชาชน หรืออย่างการที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกันเป็นสมัชชาประชาชนภาคใต้ สร้างความเข้าใจร่วมกับพี่น้องข้าราชการในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก อย่างในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เราก็มีผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำอุสตาซ ผู้นำปอเนาะ ผู้นำดาวะห์ ถ้าดำเนินการร่วมกันอย่างยิ่งใหญ่ก็จะเป็นการต่อสู้ที่เป็นประโยชน์เพื่อประชาชนในพื้นที่ภาคใต้

          ส่วนที่มีข่าวว่าจะรวบรวมหนังสือเดอะลาสวอร์นั้น พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า ถือว่าเป็นบันทึกเหตุการณ์ที่แท้จริงที่ทำเป็นบทๆ ในบทที่หนึ่งจะมีทั้งเนื้อหาและข้อมูลที่เก็บไว้ จะเริ่มด้วยเหตุการณ์วันที่ ๔ ม.ค.๔๗ ที่เก็บไว้จำนวนมาก จะมีบทวิเคราะห์และใส่ความคิดเห็นของตนลงไป บทที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องกรือเซะ บทที่ ๓ ว่าด้วยตากใบวันวิปโยค บทต่อไปก็เป็นเรื่องแบ่งโซน ๓ สี บทสุดท้ายก็เรื่อง ๒๕ ขุนพล ซึ่งถือเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์สำคัญ มีการใส่ความเห็นของคนที่ใกล้ชิดเหตุการณ์ลงไปด้วย เป็นการจุดระเบิดความคิดของนักวิชาการด้านความมั่นคงเพื่อได้เห็นข้อมูลอย่างรอบด้าน

          ในส่วนของข้อเสนอแนะ พล.อ.ชวลิตระบุว่า สมมุติว่าวันนี้เราใช้กองพัน ๕ กองพันในพื้นที่ภาคใต้แล้วยังไม่ดีขึ้น เหมือนตอนที่เรามีหนึ่งกองพันจะเหลือ ๑ กองพันได้หรือไม่ การแก้ไขปัญหาต้องเข้าใจและรู้ว่าคนที่เป็นมุสลิมจะฟังคนที่เขารู้จัก อย่างเช่น พล.อ.หาญ ลีลานนท์ ซึ่งที่ผ่านมาก็พูดจาทำความเข้าใจได้

          "ถ้าเอาอย่างคุณอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นคนไม่รู้จัก มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น หรือเหตุที่เกิดอย่าไปมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ บางเรื่องเราควรมองกลับไปสู่สามัญหรือแบ็กทูเบสิก เพื่อแก้ไขปัญหาในจุดเล็กเพื่อจะได้รู้จริงว่าปัญหาอยู่ตรงจุดไหน ผมได้พูดกับ พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ ๔ ชั่วโมง ซึ่งโชคดีที่ท่านรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น และผมก็บอกว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร บางทีไปมองจุดเล็กเป็นจุดใหญ่ ซึ่งผมก็เชื่อว่าท่านคงจะทำอะไรให้ดีขึ้น แต่ถ้าไม่ดีขึ้นผมอาจจะไปช่วย ถ้าท่านเห็นว่าเราไม่ไปยุ่งเกินไป" พล.อ.ชวลิตกล่าว

          พิธีกรถามว่ามีข่าวว่าจะไปเป็นโปรกอล์ฟ พล.อ.ชวลิตบอกว่า ตนอายุ ๗๔ แล้วยังหาวงไม่เจอ มี ๑๘ หลุมก็เปลี่ยนไป ๑๘ วง แต่ไม่ใช่ว่าเล่นกอล์ฟเพราะเป็นกีฬาผู้ดี แต่กอล์ฟทำให้ใกล้ชิดเพื่อน ถึงจะหัวเราะบ้าง ฆ่ากันบ้าง ก็เป็นความสุขของคนแก่ แต่ที่เกลียดที่สุดคือเล่นกอล์ฟคนเดียว เพราะจะถูกมองว่าไอ้นี่มันไม่มีเพื่อน แต่วันนี้ยังยินดีที่มีเพื่อนเต็มไปหมด

          พิธีกรถามว่าชอบฉายาไหนระหว่าง "ขงเบ้งของกองทัพ" กับ "พ่อใหญ่จิ๋วผู้ใจดี" "จิ๋วหวานเจี๊ยบ" "นักเดินทาง ๒ แสน ก.ก." และ "วีรบุรุษประชาธิปไตย" พล.อ.ชวลิตตอบว่า อย่าไปใช้คำที่สูงส่งว่าเป็นวีรบุรุษ เรียกพ่อใหญ่จิ๋วก็ดี เมื่อถามว่าเห็นว่าเป็นฉายาที่สมัชชาคนจนเรียกขาน พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า เห็นว่า ๒-๓ วันจะมาอยู่หน้าสภานี่ พิธีกรบอกว่ามาอยู่แล้ว พล.อ.ชวลิตบอกว่า "เนี่ยแฟนเก่าผมทั้งนั้น"

          พล.อ.ชวิลตยังกล่าวถึงการวิจารณ์วิกฤติเศรษฐกิจปี ๔๐ ว่า อยากเปรียบเทียบว่าคนเป็นโรคมะเร็งแล้วปี ๔๐ ต้องตายถึงอย่างไรมันก็ต้องตาย และการดำเนินการแก้ไขก็ทำอย่างดีที่สุด ในวันที่ประกาศลดค่าเงินบาทก็ได้เขียนใบลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ด้วย แต่มีผู้ใหญ่ขอร้องให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในขณะนั้นให้ดีขึ้นก่อน ซึ่งตนก็พยายามทำเต็มที่จนตลาดหลักทรัพย์ดีขึ้น ค่าเงินบาททรงตัว ดุลบัญชีเงินสะพัดอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

          จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ได้ขึ้นกล่าวด้วยนำเสียงสั่นเครือว่า วันนี้เป็นจังหวะที่ดีในการที่พี่จิ๋วอำลาการเมือง เพราะจะได้พักผ่อนและล้างมือในอ่างทองคำหลังจากที่ท่านได้สร้างผลงานไว้มาก ขอให้มั่นใจว่าท่านไปอย่างสง่างาม เป็นขุนศึกและวีรบุรุษประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ถือเป็นขุนศึกที่ลงจากหลังมาที่มีประชาชนปรบมืออย่างเกรียวกราว เพราะเสียสละเพื่อชาติและพี่น้องโดยไม่คิดถึงตัวเอง ท่านเป็นคนที่สร้างประวัติศาสตร์ โดยการสร้างบ้านเมืองให้มั่นคงในระบอบประชาธิปไตย แม้จะอยู่ท่ามกลางปฏิวัติรัฐประหารก็ไม่ทำเช่นนั้น ท่านอยากให้เป็นการเมืองแบบประชาธิปไตยเต็มใบที่ ในวันนี้เรามีสภา ๗๐๐ คน และมีรัฐบาลพรรคเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ตั้งใจไว้ตั้งนานแล้ว ต่อไปนี้ไม่มีใครจะล้มได้ยกเว้นประชาชน

          ด้าน พล.อ.ธรรมรักษ์ขึ้นกล่าวว่า พล.อ.ชวลิตเป็นผู้บังคับบัญชาและครูที่ดี และไม่เชื่อว่าท่านจะวางมือทางการเมือง เมื่อมีปัญหาก็ต้องเป็นโค้ชให้กับน้องๆ สิ่งที่ตนได้รับมาคือวิชาความรู้ และการได้ร่วมร่างนโยบาย ๖๖/๒๓ จนทำให้คนออกจากป่ามาเป็นรัฐมนตรีตั้งครึ่งคณะรัฐมนตรี การจะไปหาว่าตนเป็นสายเหยี่ยวหรืออีแร้งก็ไม่เป็นความจริง มั่นใจว่าบิ๊กจิ๋วยังรักชาติบ้านเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ และสามารถโดดมาช่วยชาติบ้านเมืองได้หากเกิดปัญหา

          ขณะที่ พล.อ.ชวลิตกล่าวอีกว่า ชีวิตของตนไม่ใช่จะประสบความสำเร็จอย่างเดียว แต่ประสบความล้มเหลวด้วย เหตุการณ์ปี ๔๐ ที่ทำให้บางพรรคการเมืองถอยหลังไปหลายปี ในวันนั้น ตนให้ทนายเสนาะ เทียนทอง ไปดึงพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล ให้เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียว เพราะบ้านเมืองกำลังล่มสลายเหมือนเรือกำลังจม สิ่งที่ตนหวังคือการบริหารงานที่เข้มแข็ง โดยหาคนที่มีความสามารถมาทำงาน ไม่มีฝ่ายค้านสัก ๔-๕ ปี แต่ว่าในวันนั้นประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้มาร่วม แต่อย่างไรก็ตามระบบพรรคเดียวก็มาเกิดขึ้นในสมัยทักษิณ ตนพูดอย่างนี้เพื่อยืนยันว่าสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ นั่นคืออุดมการณ์ที่อยากเห็นในช่วงบ้านเมืองวิกฤติ ประชาธิปไตยไม่ได้เขียนไว้ในหนังสือว่าฝ่ายค้านอภิปรายไม่ได้แล้วไม่เป็นประชาธิปไตย การปกครองระบบประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับในโลกนี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปกครองที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน

          "ท่านเคยทราบไหมว่าผมเคยน้ำตาตกใน เพราะผมจำเป็นต้องทำอะไรกับน้องรักที่ปั้นมากับมือ ตอนที่ผมละวางอำนาจออกมาจากกองทัพผมก็เลือกนายทหารมารับผิดชอบโดยไม่มองในแง่การเมืองเลย มองแต่ความรับผิดชอบทางทหาร และความกว้างขวางในความรู้ ไม่ได้คิดว่าจะล่วงล้ำทางการเมืองอันเป็นจุดที่ทำให้ผมต้องทำบางอย่างที่ขัดแย้งกับเขา เพราะเรื่องอุดมการณ์และบ้านเมืองนั้นเป็นเรื่องสูงสุด แต่วันนี้ถ้าให้ผมกลับไปช่วงปี ๒๙-๓๐ แล้วมาถามว่าจะให้ผมออกจาก ผบ.ทบ.ขอบอกว่าไม่ออก เพราะตำแหน่งหน้าที่นี้ถ้ามีจิตใจสร้างสรรค์ประชาธิปไตยสามารถสร้างได้ดีกว่าเยอะ ผมไปเชื่อเพื่อนคนหนึ่งว่า ผบ.ทบ.ที่สนับสนุนนายกฯ ที่อยู่ในอำนาจถึง ๘ ปี ยังทำมาได้ ทำไมเราไม่ใช้อำนาจตำแหน่งในหน้าที่นำพาบ้านเมืองไปสู่ประชาธิปไตย ผมก็บอกว่าจริงๆ แล้ววิถีทางที่ผมเลือกในวันนั้น ซึ่งวันนี้ผมต้องมาคิดว่าดีหรือไม่ดีกันแน่" พล.อ.ชวลิตกล่าว... .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :